วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
21/10/2008
ที่มา: 
สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ http://art-culture.chiangmai.ac.th/

นาฏดุริยการล้านนา วันอังคารที่  16  สิงหาคม  2548 - กลองสิ้งหม้อง

  กลองสิ้งหม้อง



กลองสิ้งหม้อง
  เป็นกลองหน้าเดียว ลักษณะคล้ายกลองยาว ซึ่งกลองเป็นชื่อเรียกตามเสียงกลองที่ตีรับกับเสียงค้องโหม้ง ซึ่งเป็นเครื่องกำกับจังหวะเวลาบรรเลงเสียงดัง "สิ้งหม้อง ๆ"


วิธีการสร้างกลองสิ้งหม้อง

กลองสิ้งหม้อง  เป็นกลองที่มีโครงสร้างที่ค่อนข้างธรรมดาไม่ซับซ้อน ไม้ที่ใช้สร้างอาจใช้ไม้ที่หาได้ง่าย เช่น ไม้ขนุน ไม้มะม่วง  และไม้ฉำฉา เป็นต้น

ขนาดและสัดส่วนของตัวกลอง แต่เดิมใช้ขนาดของหน้ากลองกำหนดสัดส่วนอื่น กล่าวคือความยาวของไหกลองยาว ๑ เท่าของหน้ากลอง  ความยาวจากไหกลองถึงก้นกลองยาว ๒ เท่าของหน้ากลอง

ปัจจุบัน “สล่ากลอง” (ช่างทำกลอง) ได้ปรับเปลี่ยนสัดส่วนไปบ้าง ทั้งนี้อาจเป็นการปรับปรุงคุณภาพเสียงตามประสบการณ์ให้ได้เสียงตามต้องการ สัดส่วนที่นิยมปัจจุบันคือหน้ากลองกว้างประมาณ ๒๐ - ๓๐ เซนติเมตร ความยาวไหประมาณ ๒๕ - ๓๐ เซนติเมตร และความยาวส่วนท้ายประมาณ ๔๓ - ๔๕ เซนติเมตร

หนังสำหรับหุ้มหน้ากลองนั้น ใช้หนังวัวตัวเมีย วิธีการหุ้มขึงให้ตรึงโดยใช้สายเร่งเสียงยึดโยงระหว่างคร่าวหูหิ่งกับเล็บ ช้าง ดึงให้หนังอยู่ตัวจนใช้การได้

การติดขี้จ่า
การติดถ่วงหน้าหรือขี้จ่าตรงหน้ากลองเพื่อให้ได้เสียงดังกังวานตามต้องการนั้น วิธีการเหมือนกับกลองอื่นๆ โดยทั่วไป กล่าวคือติดตรงกลองของหน้ากลองโดยอาจเพิ่มหรือลดขี้จ่าตามความพอใจของผู้ตี

การประสมวง
การประสมวงของวงกลองสิ้งหม้อง ไม่มีอะไรซับซ้อนเพียงแต่มีกลองสิ้งหม้อง ๑ ใบ สว่า (ฉาบขนาดกลาง) ๑ คู่ และฆ้องโหม้ง ๑ ใบ ก็ประสมวงได้ หรืออาจมีการเพิ่มจำนวนฉาบ และฆ้องมากขึ้น  ก็เป็นเพียงเพิ่มความดังกระหื่มมากขึ้น เท่านั้น


จังหวะและลีลาการตี

จังหวะของวงกลองสิ้งหม้องใช้เสียงฆ้องตีเป็นจังหวะยืนพื้น ส่วนกลองและฉาบตีสลับเสียงกันบ้าง

โอกาสที่ใช้ตี
วงกลองสิ้งหม้องใช้ตีประกอบการฟ้อนเชิง ฟ้อนดาบ และใช้ตีในขบวนแห่โดยทั่วไป
    
สนั่น ธรรมธิ สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
(ภาพประกอบโดยเสาวณีย์  คำวงค์)

ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ต้นฉบับ : http://art-culture.chiangmai.ac.th/academic/natha/2548/08/16/