วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
22/10/2008
ที่มา: 
เว็บไซต์ล้านนาคดี http://lanna.mju.ac.th/ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ "ทุกภาพ ทุกตัวอักษร มอบเป็นวิทยาทานแด่ทุกท่าน"

โคม (อ่าน “ โกม ” )

               

 

โคม หมายถึงตะเกียงหรือสิ่งประดิษฐ์สำหรับจุดไฟให้แสงสว่าง ซึ่งชาวล้านนาโบราณจะมีโคมใช้ไม่แพร่หลาย คงจะมีแต่ในราชสำนัก ในวัด และในบ้านของผู้มีอันจะกินเท่านั้นเพราะน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นสิ่งที่หาได้ ยาก ชาวบ้านทั่วไปจะใช้ก่อไฟด้วยฟืนท่อนโตๆ เพื่อให้แสงสว่างในเรือน และใช้ขี้ย้า (อ่าน “ ขี้ญ้า ” ) หรือชันผสมเศษไม้ผุห่อด้วยใบตองมัดเปลาะทำเป็นท่อนจุดไฟไว้ในที่ซึ่งไม่อาจ ก่อกองไฟได้ เมื่อเดินทางเวลากลางคืนจะใช้ไม้แคร่คือไม้ไผ่ทุบแล้วมัดรวบเป็นเปลาะๆ จุดไฟ ซึ่งทั้งขี้ยาและไม้แคร่นั้นจะต้องมีการเขี่ยไฟเป็นระยะๆ ให้ไฟลุกอยู่เสมอ

ปรากฏ คำว่าโคมในฐานะของตะเกียงในตำนานเมืองสุวรรณโคมคำอันมีร่องรอยอยู่ที่ริมแม่ น้ำโขงตรงกันข้ามกับปากน้ำแม่กก อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย โดยมีเรื่องเล่าว่า ในครั้งที่ลอยแพสุวรรณมุขทวารราชกุมารซึ่งถูกใส่ความว่าอุบาทว์เพราะประสูติ ออกจากปากของนางอุรสาราชเทวีนั้น เมื่อไอยะมหาอุปราชทราบข่าวจึง “ ..ให้ตั้งการบวงสรวงนาคา ปักเสาประทีปโคมทอง บูชาทุกท่าน้ำ... ” เพียงแต่ในตำนานนั้นมิได้บอกลักษณะของโคมหรือเชื้อเพลิงที่ใช้ไว้ด้วย

โคมทำเป็นภาชนะทรงกลมปากแคบสำหรับใส่น้ำมันเชื้อเพลิงเรียกว่าออม ฝาที่ปิดนั้นมีท่อสำหรับสอดไส้ตะเกียงอยู่ด้วย และไส้ตะเกียงจะจุ่มอยู่ในน้ำมันเชื้อเพลิงนั้นตลอดเวลาการปรับให้โคมส่อง แสงสว่างมากหรือน้อยนั้นทำได้โดยการปรับไส้ตะเกียงจากปากท่อ หากต้องการให้สว่างมากก็ดึงไส้ตะเกียงให้สูงจากปากท่อจนได้ระดับที่ต้องการ

ไม้มีหลักฐานระบุว่าน้ำมันที่เป็นเชื้อเพลิงสำหรับโคมนั้นเป็นน้ำมันจากสิ่งใด แต่อาจมาจากน้ำมันมะพร้าวและน้ำมันพืชชนิดอื่น ต่อมาเมื่อมีการค้าขายกบชาวต่างประเทศในสมัยรัยกาลที่ 5-6 แล้ว จึงเริ่มใช้น้ำมันก๊าด และใช้ปี๊บน้ำมันก๊าดนั้นมาตัดแต่งทำเป็นโคมและเครื่องใช้อื่นๆ อีกหลายอย่าง

โคมที่ใช้เป็นน้ำมันก๊าดเป็นเชื้อเพลิงนี้ ตัวโคมทำด้วยปี๊บน้ำมันก๊าดซึ่งเป็นแผ่นเหล็กชุบดีบุกทำให้มีรูปร่างและขนาด อย่างกระป๋องนมข้น ด้านบนยกนูนสูงขึ้นเล็กน้อย ทำท่อขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3 เซนติเมตร สูงประมาณ 2 เซนติเมตร ใช้เป็นช่องทางสำหรับเติมน้ำมัน มีฝาปิดขนาดที่พอสวมกันได้สนิท กึ่งกลางของฝาปิดนั้นทำเป็นท่อขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.7 เซนติเมตร ยาวประมาณ 5 เซนติเมตร บัดกรีติดอยู่ ส่วนเส้นโคมทำด้วยเส้นด้ายขนาดสอดเข้าไปในท่อกลางได้ไม่แน่นจนเกินไป

โคมน้ำมันก๊าดดังกล่าวอาจทำให้เป็นโคมสูงได้ ด้วยการต่อก้านขนาดประมาณ 2 เซนติเมตร ยาวประมาณ 20 เซนติเมตร เชื่อมเข้ากับส่วนกลางของก้นโคม ตอนล่างของก้านนั้นเชื่อมเข้ากับฐานซึ่งทำด้วยแผ่นเหล็กชุบดีบุกทำเป็นเชิง ผายออก ข้างในบรรจุทรายเพื่อให้มีน้ำหนักมิให้โคมล้มง่ายส่วนโคมแบบต่ำนั้นคือโคม แบบเดียวกันแต่ไม่ต่อฐาน แต่อาจมีคันถือยื่นออกจากตัวโคมก็ได้ และบ้างก็จัดทำกระบังไว้ด้านบนแล้วทำหูหิ้วเพื่อใช้นิ้วในเวลาเดินทางได้ ด้วย

ทั้งนี้พบว่ามีโคมชนิดต่างๆ ที่เป็นเครื่องใช้ในครัวเรือนและเครื่องใช้ในพิธีกรรมดังนี้

  • โคมค้าง (อ่าน “ โกมก้าง ” )

โคม ค้าง คือโคมที่จะต้องติดตั้งหรือแขวนไว้บนค้างหรือที่สูง ดวงโคมที่นำมาติดตั้งบนค้างนี้มักทำโครงด้วยไม้ไผ่ปะด้วยกระดาษ เป็นโคมทรงกลมหักมุมที่เรียกกันว่าโคมรังมดส้ม มีประทีปหรือเทียนจุดให้แสงสว่าง ทั้งนี้อาจทำเป็นรูปอื่นอย่างรูปหมี รูปไก่ รูปนกยูง รูปดาวห้าแฉก รูปเครื่องบิน รูปจรวด ก็อาจทำได้ตามที่เห็นว่างาม และยังอาจใช้โคมแบบญี่ปุ่นหรือจีนมาทำโคมค้าง ก็ได้อีกด้วย

ค้างโคม คือที่แขวนหรือติดตั้งโคมนั้นมักจะเป็นเสาหรือหลักที่มักทำด้วยไม้ไผ่ มีกิ่งยื่นออกมาสำหรับแขวนโคมซึ่งการแขวนโคมนั้นอาจใช้เชือกผูกที่โคมแล้ว ชักขึ้นไปติดอยู่กับกิ่งของค้างโคม หรืออาจนำโคมขึ้นไปแขวนกับค้างโดยตรงก็ได้

การจุดโคมค้างนิยมทำกันอย่างมากในเทศกาลยี่เพง (อ่าน “ ยี่เปง ” ) คือวันเพ็ญเดือนยี่ ซึ่งตรงกับวันเพ็ญเดือนสิบสองของไทยกลาง ในวันนั้นจะมีการจุดประทีปโคมไฟรวมทั้งบอกไฟดอก คือดอกไม้เพลิง บอกไฟดาวคือพลุที่ยิงขึ้นไปเห็นเป็นดาวตกจากท้องฟ้า พร้อมทั้งบอกไฟหรือดอกไม้ไฟชนิดอื่นๆ อีกเป็นอันมาก ในตอนพลบค่ำของวันยี่เพงนั้นจะมีการเทศน์จากคัมภีร์ชื่ออานิสงส์ผางประทีป เมื่อจบแล้วก็จะจุดประทีปโคมไฟตามบ้านเรือนขึ้นพร้อมๆ กัน

  • โคมตั้ง

โคมตั้ง หมายถึงโคมที่จุดแล้วตั้งไว้ให้ส่องสว่างในครัวเรือนหรือบูชาพระรัตนตรัย (โดยไม่แขวนหรือติดต้งกับค้างอย่างโคมค้าง)

  • โคมบอก

โคมบอก คือโคมที่ใช้กระบอกไม้ไผ่หรือกระป๋องเป็นกระบังและกรอบป้องกันมิให้ไฟดับ ง่าย เป็นโคมที่ทำขึ้นได้ง่ายราคาไม่แพง แต่ใช้ประโยชน์เกินคุ้ม มีใช้กันทั่วไปโดยเฉพาะคนที่ต้องเดินทางในเวลากลางคืน

การประดิษฐ์โคมบอกนี้ไม่ยุ่งยาก นำไม้ไผ่ที่ผ่าแล้วเป็นกีบมีลักษณะคดงอเล็กน้อย ความกว้างประมาณ 4-5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 80 เซนติเมตร ประมาณตรงกลางตามความยาวเจาะรูขนาด 1*1 เซนติเมตร ส่วนโคนไม้ที่ต้องใช้เป็นด้านล่างนั้นถากเหลาให้แหลม แล้วจึงใช้ไม้จิงหรือไม้ไผ่ก็ได้ที่มีความกว้างประมาณ 6 เซนติเมตร ยาวประมาณ 7 เซนติเมตร ด้านความยาวทำเป็นเดือยอกแล้วสอดเดือยเข้ากับรูของด้าม โดยให้ด้ามที่คดไปด้านหลัง บางคนใต้แป้นนี้ทำเป็นช่องสำหรับใส่ไม้ขีดด้วย แป้นด้านบนเจาะให้เป็นรอยบุ๋มให้มีความใหญ่เท่ากับตัวตะเกียงที่จะใช้ เมื่อทำด้ามเสร็จแล้วหากระป๋องที่มีความกว้างของปากประมาณ 9 เซนติเมตร ยาวประมาณ 12 เซนติเมตร เจาะรูด้านหลังของกระป๋องให้เป็น 2 รู เพื่อร้อยลวดให้ติดกับด้าม ด้านข้างที่จะเอาเป็นด้านบนเจาะรูเล็กๆ สัก 8-9 รู ด้านข้างอีกด้านหนึ่งเจาะรู 1 รู ให้ใหญ่พอที่จะสอดกับหลอดตะเกียงได้ ใช้ตะเกียงน้ำมันก๊าดขนาดเล็กตั้งบนแท่นแล้วขยับกระป๋องลงสอดกับกระบอกไม้ ไผ่ ใช้ด้านที่เปิดโล่งเป็นด้านหน้าและใช้ด้านที่มีไม้ไผ่กำบังความร้อนในเวลา ที่จับถือไป

โคมบอกนี้นิยมใช้ส่องหาปลาหากบในเวลากลางคืนไฟจากโคมบอกจะพุ่งออกเป็นลำผ่าน ปากกระป๋อง ทำให้ข้างหน้ามีแสงสว่าง มองเห็นสิ่งต่าง ๆ ได้ดี และเมื่อมีลมพัดไฟก็ไม่ดับด้วย เมื่อต้องการใช้มือทั้งสองข้างหาปลาหรือทำอย่างอื่น ก็ปักโคมลงกับดิน ทำให้สามารถใช้มือทั้งสองข้างได้

นอกจากการใช้โคมบอกในการส่องสัตว์แล้วยังใช้ในการทำงานในทุ่งนาในเวลากลางคืน เช่น เอาหญ้านา ถอนต้นกล้า ส่องจับตัวแมลงที่มารบกวนพืชผล และยังใช้ส่องในการเดินทางในเวลากลางคืนอีกด้วย

  • โคมบ้อก (อ่าน “ โกมบ๊อก ” )

โคมบ้อก คือตะเกียงน้ำมันก๊าดที่ทำจากสังกะสีหรือกระป๋อง ซึ่งมีส่วนครอบเป็นกระบังทำด้วยสังกะสี ครอบไว้เป็นหลังคา และหุ้มด้านข้างเพื่อป้องกันไม่ให้ตะเกียงดับง่ายส่วนครอบหรือกระบังนี้จะ ใช้แถบสังกะสีเป็นส่วนฐานสวมกับตะเกียงได้พอดี ชาวบ้านจะถือตะเกียงหรือแถบสังกะสีที่โยงจากกระบังนั้นเพื่อส่องไฟตามต้อง การ โดยมากแล้วชาวบ้านจะใช้ โคมบ้อก หรือตะเกียงที่มีกระบังนี้ในการเดินทางหรืออาจใช้ส่องปลาหรือส่องกบได้เป็น อย่างดี

โคมบ้อก ที่ใช้ปล้องไม้ไผ่ทำเป็นครอบนั้น บางท้องที่เรียก โคมว้อ

  • โคมผัด

โคม ผัด คือโคมที่หมุนได้ ซึ่งคล้ายกับที่ทางภาคกลางเรียกว่า โคมเวียน โคมนี้ทำเป็นรูปทรงกระบอกขนาดกว้างประมาณ 50 เซนติเมตร สูงประมาณ 70 เซนติเมตร หุ้มด้วยกระดาษสาหรือกระดาษว่าวสีขาว อาจทำเป็นสองชั้นหรือชั้นเดียวก็ได้ หากทำครอบสองชั้นแล้ว ชั้นในจะมีภาพต่าง ๆ ปิดไว้เป็นระยะ ๆ พองาม มีสายหรือซี่โยงจากกรอบเข้าหาแกนกลางซึ่งทำเป็นตุ่มไว้ในก้นถ้วย ปิดแถบกระดาษเข้ากับสายหรือซี่ชั้นในโดยให้มีมุมและระยะที่ลงตัว เมื่อจุดเทียนซึ่งติตั้งไว้กลางโคมนั้น ความร้อนจากเปลวเทียนจะไปกระทบแถบกระดาษและจะผลักส่วนที่เป็นโครงครอบนั้น ให้ผัดคือหมุนไปเรื่อยๆ เงาของภาพที่ปิดไว้จะส่องไปกระทบกับครอบชั้นนอก สร้างความเคลื่อนไหวด้วยแสงและเงาได้ในระดับหนึ่ง

วิธีการทำโคมผัดนี้มีอยู่หลายวิธี
บางทีก็อาจมีรูปแบบบางอย่างแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับเคล็ดวิธีหรือตำราของแต่ละคนเช่น

แบบที่ 1

ตำราของครูบาอ่อง วัดป่าแดง โดยนายสม กว้างปัญจะ บ้านเลขท่ 42 หมู่ 4 บ้านใหม่ห้วยทราย ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ มีส่วนประกอบดังนี้

1. กล่องจอภาพ ทำเป็นโครงสีเหลี่ยมขนาดใหญ่กว่าตัวโคมชั้นในติดกระดาษทึบเว้นเป็นช่องสี่ เหลี่ยมไว้สำหรับเป็นจอภาพ ซึ่งปิดด้วยกระดาษแก้วหรือกระดาษสาบาง

2. ตัวโคม ประกอบด้วย

2.1 แกนกลาง ทำจากไม้มะห้าหรือไม้อื่นๆ ถากแต่งเป็นรูปกรวย หัวตัดเจาะรูตรงปลายและใช้เข็มเย็บผ้าฝังให้ปลายเข็มโผล่พ้นปลายแกนไม้ ประมาณ 1 เซนติเมตร

2.2 โครง

ก. แบ่งครึ่งความยาวของแกน แล้วเจาะข้างแกนให้ทะลุด้านตรงข้าม 3 รู

ข. เหลาไม้ไผ่จนเป็นเส้นแข็งเรียวเล็ก ยาวประมาณ 30 เซนติเมตร เมื่อสอดเข้าไปในไม้แกนกลาง ปลายจะชนกันพอดี จึงเป็นเส้นรัศมี 6 เส้น

ค. ทำขอบวงกลม เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 60 เซนติเมตร แล้วมัดปลายเส้นรัศมีทั้ง 6 เส้น ติดกับขอบวงกลม

ง. ทำขอบวงกลมเล็ก ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5 นิ้ว แล้วมัดติดรัศมีแกนกลาง ทำโครงไม้ไผ่เหลายาว 30 เซนติเมตร อีก 6 เส้น มัดแทรกระหว่างโครงหลักทั้ง 6 เส้น โดยให้ปลายด้านหนึ่งชนติดกับตัวแกนกลาง แล้วมัดติดกับโครงกลมเล็กด้านใน ส่วนปลายอีกด้านหนึ่งมัดติดกับขอบวงกลมชั้นนอกพอดี ทำให้มีโครงรัศมีทั้งหมด 12 เส้น (ซี่)

จ. ทำขอบกลมฐานล่าง โดยมีเส้นผ่าศูนย์กลางเท่ากับขอบบนคือ 60 เซนติเมตร

ฉ. ทำเสาโครง 12 ซี่ แต่ละซี่มีความยาวเท่ากับ 2/3 ของเส้นผ่าศูนย์กลาง คือ 2/3 ของ 60 ได้แก่ 40 เซนติเมตร โดยติดกับแกนโครงในแนวตั้ง ให้ติดกับขอบฐานล่างและขอบบน การติดเสาโครงนี้ ครั้งแรกจะติด 6 ซี่ แล้วติดแทรกอีก 6 ซี่

ช. แบ่งตัวโครงออกเป็น 3 ส่วน เริ่มจากฐานล่าง นับขึ้นไป 1 ส่วน แล้วติดไม้ขอบคร่าว 1 เส้น ส่วนที่สองติดอีก 1 เส้น

ซ. ติดกระดาษสาบางหุ้มรอบโครง

ญ. ติดกระดาษว่าวสีต่างๆ หุ้มหลังโครง แล้วเจาะกระดาษให้เป็นปีก หรือลิ้น เพื่อเป็นตัวดันให้โคมหมุนเมื่อได้รับความร้อนจากเปลวเทียน

2.3 หลักโคม

เป็นฐานไม้มีแกนหลัก และใช้ผางประทีป หรือถ้วยประทีปเจาะรูที่ก้นถ้วยแล้ววางครอบที่ปลายหลัก สำหรับปักแกนโคม

แบบที่ 2

วิธีสร้าง

1. ตัวโคม ทำเช่นเดียวกับแบบแรก

2. กล่องจอภาพ

ทำเป็นทรงกลม ไม่มีแกน มีขอบโครงบนและฐานแบบเปิด ที่สำคัญคือต้องมีขนาดใหญ่กว่าตัวโคม เพื่อให้โคมหมุนได้สะดวก กล่องจอภาพนี้จะแบ่งความสูงเป็น 3 ส่วน โดยมีไม้ขอบคร่าวติดแบ่งไว้ ส่วนที่หนึ่ง (นับจากฐาน) และส่วนที่สาม ต้องติดกระดาษสีทึบโดยรอบ เว้นส่วนกลางไว้เป็นจอภาพ ซึ่งติดด้วยกระดาษแก้วใส เพื่อให้เห็นภาพชัดเจน

แบบที่ 3

โดย นายวัน สุวรรณ บ้านห้วยทราย หมู่ที่ 4 ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

วิธีทำ

1. ตัวโคมไฟ

ก. โครงสร้าง เหมือนแบบที่ 1,2

ข. ตัวโคมแบ่งเป็น 2 ส่วน แต่มีเสาเพียง 6 เสา พื้นที่ว่างจะใช้เชือกด้ายขึงสลับกันเป็นตาข่ายทั่วโคม จากนั้นก็นำรูปต่างๆ ซึ่งทำจากกระดาษสีทึบ เช่น สีดำ สีน้ำเงิน เป็นต้น ใช้กาวทาแปะติดตาข่าย การติดรูปจะต้องติดให้สมดุลกัน หากน้ำหนักโคมไม่สมดุลกัน โคมจะไม่หมุน

2. ทำโครงจอภาพ เช่นเดียวกับแบบที่ 2 (โครงครอบด้านนอก เปิดหัว-ท้าย) แต่ต่างกันคือวิธีนี้จะใช้กระดาษสาบางตดหุ้มทั้งหมด เมื่อนำไปวางรอบตัวโคน และจุดเทียนหรือประทีปที่ฐานโคม ความร้อนจะทำให้โคมหมุน เมื่อมองจากภายนอกก็จะเห็นเงาภาพต่างๆ

  • โคมไฟฉาย

โคมไฟฉาย หมายถึงไฟฉายรูปทรงกระบอก ซึ่งใช้ถ่านไฟฉายที่ผลิตจากโรงงานเป็นตัวป้อนพลังไฟฟ้า ทำให้เกิดแสงที่หัวเทียน (อ่าน “ หัวเตียน ” ) หรือหลอดไฟ ซึ่งเมื่อมีกรวยบังคับแสงด้วยแล้ว ก็จะช่วยให้แสงไฟฉายส่องเป็นลำได้ตามต้องการ

  • โคมรังมดส้ม (อ่าน “ โกมฮังมดส้ม ” )

โคมรังมดส้ม เป็นโคมที่ใช้ประดับตกแต่งสถานที่ให้งดงามยามค่ำคืน ซึ่งอาจแยกเป็นสองส่วน คือส่วนที่กำเนิดแสงสว่าง และส่วนครอบที่สร้างความสวยงาม ซึ่งส่วนที่ให้ความสว่างนั้นอาจเป็นประทีปเทียนไข หรือไฟฟ้าก็ได้ ส่วนที่เป็นโครงครอบนั้นจะใช้ไม้ไผ่เหลา ทำเป็นทรงกลมหักมุมเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 30 เซนติเมตร โดยหักมุมเป็น 16,24 หรือ 36 เหลี่ยมตามต้องการ ผูกตรึงด้วยด้ายให้แน่นหนา แล้วปิดด้วยกระดาษสา หรือกระดาษแก้วสีต่างๆ โดยรอบ ยกเว้นส่วนบนที่เปิดให้เป็นช่องระบายควัน และด้านข้างช่องหนึ่งจะมีกระดาษปิดเฉพาะส่วนบน เพื่อให้สามารถเปิดเพื่อวางหรือจุดประทีป หรือเทียนไขสำหรับโคมดวงนั้นได้ด้านล่าง ซึ่งเป็นที่วางประทีปหรือเทียนไขนั้นอาจทำด้วยไม้กระดาษแข็ง หรือวัสดุอื่นที่สามารถรองรับน้ำหนักดังกล่าว

ทั้งนี้ ส่วนบนที่เป็นช่องระบายควัน อาจทำกระบังรูปสามเหลี่ยมทรงสูงล้อมช่องนั้นเพื่อความสวยงามก็ได้ และกระดาษซึ่งใช้ปิดช่อง เพื่อวางประทีปหรือวางเทียนไขนั้น นิยมทำให้ยาวห้อยลงมา เพื่อถ่วงน้ำหนักและเพื่อความสวยงามส่วนด้านล่างของโคมรังมดส้มนี้ อาจมีการใส่หางที่ตัดเป็นลวดลาย ประดับโคมโดยทั่วไปเพื่อความสวยงามอีกก็ได้สำหรับโคมรังมดส้ม ที่ใช้หลอดไฟฟ้าเป็นตัวกำเนิดแสงสว่างนั้น บางคนอาจทำรังมดส้มห้อยต่อกัน 3-5 อัน หรือมากกว่านั้นก็มี

  • โคมล้อ

โคมล้อ คือโคมที่ใช้เป็นเครื่องส่องสว่างประจำล้อหรือล้องัว คือเกวียนที่เทียมด้วยวัว โคมล้อดังกล่าวมีสองส่วน คือส่วนที่เป็นตัวตะเกียง และส่วนที่เป็นเรือนหรือกรอบตะเกียงนั้นตัวโคม หรือตะเกียงที่ใช้ส่องแสงนั้น คือโคมธรรมดาที่ใช้น้ำมันก๊าดเป็นเชื้อเพลิง ส่วนเรือนของโคมชนิดนี้ เป็นโครงไม้สักขนาด กว้างประมาณ 15 เซนติเมตร เป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส สูงประมาณ 30 เซนติเมตร ใช้กระจกตัดเป็นชิ้นใส่เฉพาะด้านหน้า และด้านข้าง ส่วนด้านหลังกับบน และล่างทำด้วยไม้สักนิยมทำบานเปิดทางด้านข้าง เพื่อเป็นช่องสำหรับนำตะเกียง เข้า-ออก ได้ และต้องมีช่องระบายควันด้านบนของเรือนโคมด้วย

การใช้งานโคมล้อนั้น จะใช้เป็นเครื่องมือส่องสว่างในการเดินทางด้วยเกวียนฝ่าไปในความมืด เช่น บรรทุกข้าวเปลือกมาจากท้องทุ่ง หรือนำข้าวเปลือกไปส่งโรงสี ในยามตะวันลับฟ้า เจ้าของเกวียนจะแขวนโคมชนิดนี้จำนวนหนึ่งหรือสองดวงไว้ด้านหน้าของเรือน เกวียน

  • โคมลอย

เป็นคำที่ภายหลังนิยมใช้เรียกเครื่องเล่นทำด้วยกระดาษ ลักษณะเป็นถุงขนาดใหญ่ใช้ลมร้อนบรรจุภายในให้ลอยขึ้นไปได้เดิมเรียกว่าว่าว รม (อ่าน “ ว่าวฮม ” ) หรือ ว่าวควัน

โคมหูกระต่าย (อ่าน “ โกมหูขะต่าย ” )

โคมหูกระต่าย เป็นโคมที่ใช้ประดับในเทศกาลยี่เพง หรือวันเพ็ญเดือนสิบสอง สามารถแยกได้เป็นสองส่วน คือส่วนที่ให้แสงสว่างและส่วนที่เป็นเรือนโคม ส่วนที่ให้แสงสว่างนั้นมักจะใช้ประทีปมากกว่าตะเกียง และในระยะหลังนิยมใช้ไฟฟ้าแทนประทีป

โคมหูกระต่ายมีฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างประมาณ 10 เซนติเมตร เจาะรูทั้งสี่มุม ใช้ไม้ไผ่เหลาขนาดประมาณครึ่งเซนติเมตร ปักลงในรูนั้นทำเป็นปีกขึ้นไปโดยดัดขอบบนให้โค้ง และสูงประมาณ 20 เซนติเมตร ผายด้านบนให้กว้างประมาณ 15 เซนติเมตร จะได้เรือนโคมลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมมีปลายบานออกจากกัน ใช้กระดาษว่าวหรือกระดาษแก้วสีต่างๆ ปิดทั้งสี่ด้านของเรือนโคม และเปิดช่องด้านบนเมื่อใช้งานก็วางประทีปหรือเทียนที่จุดไฟลงที่กลางเรือน โคมนั้น

ส่วน ฐานของโคมหูกระต่ายนั้น อาจทำด้วยกาบกล้วยชิ้นจากลำต้นมะละกอหรือแผ่นไม้ก็ได้ และอาจใช้วางประดับอยู่กับที่หรืออาจทำให้ถือไปมาได้ หากจะทำให้ถือไปได้นั้นฐานของเรือนโคมอาจทำด้วยชิ้นไม้สัก และเจาะรูตรงกลางสำหรับใส่ด้ามซึ่งมีความยาวประมาณ 25 เซนติเมตร

  • โคมอี้ดด้า

โคมอี้ดด้า หมายถึงตะเกียงเจ้าพายุซึ่งมีช่อการค้าว่า Aida ดังกล่าว เมื่อมีการใช้งานอย่างกว้างขวางแล้ว ชื่อการค้านั้นจึงเป็นคำเรียกของตะเกียงประเภทนี้ไปทั้งๆ ที่มีเครื่องหมายการค้าอื่นอีกหลายชนิด เช่น Coleman หรือ Butterfly เป็นต้น

โคมอี้ดด้านิยมใช้เพื่อให้แสงสว่างแก่กิจกรรมที่มีคนจำนวนมาก เช่น การเล่นลิเก การขับซอ การนวดข้าวตอนกลางคืน การเตรียมอาหารเพื่องานเลี้ยงอย่างทำบุญขึ้นบ้านใหม่ เป็นต้น