เครื่องมือของใช้ล้านนา - ครุ (อ่าน “ คุ ”)

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
22/10/2008
ที่มา: 
เว็บไซต์ล้านนาคดี http://lanna.mju.ac.th/ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ "ทุกภาพ ทุกตัวอักษร มอบเป็นวิทยาทานแด่ทุกท่าน"

ครุ (อ่าน “ คุ ”)
 

ครุ มีสองชนิดคือ ครุ สำหรับน้ำและสำหรับข้าว ส่วนครุที่ใช้ตักและขนย้ายน้ำนั้นมักเรียกว่า น้ำครุ เดิมเป็นภาชนะสาน มีความกว้างประมาณ 25 เซนติเมตร และสูงประมาณ 35 เซนติเมตร สานอย่างแน่นหนาและยาด้วยชันเพื่อให้ขังน้ำได้ น้ำครุนี้สามารถบรรจุน้ำได้ประมาณ 15 ลิตร ด้านล่างมีชิ้นไม้อย่างไม้สักพาดรองรับเป็นรูปกากบาท ตรงส่วนปากมีไม้ทำเป็นขาไขว้กัน สูงพอประมาณเพื่อใช้จับหิ้วหรือหาบด้วยไม้คานชนิดอ่อน

ต่อมาเมื่อชาวล้านนาค้าขายกับทางกรุงเทพฯ แล้ว ก็ได้รับครุที่ทำด้วยแผ่นเหล็กบางชุบด้วยสังกะสีมาใช้แทนครุสานแล้วก็ทำให้ สะดวกขึ้นกว่าเดิม และในการหาบน้ำนั้น จะมีขอน้ำครุทำด้วยเหล็กขดเป็นตะขอเกี่ยวกับไม้คานและเกี่ยวกับงวงน้ำครุ เวลาหาบน้ำนั้น น้ำอาจจะกระเพื่อมกระฉอกบ้างตามความสามารถของผู้หาบ ถ้าผู้หาบแอวซื่อ คือไม่มีการโยกย้ายส่ายสะโพกเลี้ยงตัวให้ตรงแล้ว น้ำจะกระฉอกจากครุได้มาก

ในแง่ของน้ำครุเหล็ก มีปริศนาของล้านนาถามกันว่า “ ออกบ้านใคร่หัวฮิฮิ พลิกมาน้ำตาย้อยแก้ม ” ซึ่งก็จะเฉลยว่าขณะที่หาบน้ำครุเปล่าไปตักน้ำนั้น เสียงตะขอเหล็กจะเบียดกับงวงน้ำครุมีเสียงเอี๊ยดๆ แต่เมื่อถึงตอนหาบน้ำกลับนั้น น้ำจะกระฉอกย้อยออกมาสองข้างของน้ำครุดังกล่าว

ทั้งนี้ น้ำครุ อาจเป็นปี๊บน้ำมันก๊าดเต็มลูก หรืออาจเป็นถังพลาสติกก็มี และในสังคมที่ไม่อาจหาครุได้ ไม่ว่าชนิดถังเหล็ก ปี๊บน้ำหรือถังพลาสติก ก็จะใช้กระบอกไม้จำนวนหลายๆ กระบอกหาบกันแทนครุ

ส่วนครุที่ใช้สำหรับตีข้าวนั้น เป็นภาชนะสานลักษณะคล้ายกระจาดขนาดใหญ่ ส่วนปากกว้างราว 2.5-3.0 เมตร ส่วนก้นกว้างประมาณ 1.0-1.5 เมตร สูงประมาณ 1 เมตรสานด้วยตอกผิวไม้สีสุก เป็นต้น กว้างประมาณ 1 นิ้ว หนาเกือบครึ่งเซนติเมตร ยาวประมาณ 3-4 เมตร ลักษณะส่วนก้นของครุมีสองแบบ คือแบบกลมและแบบเหลี่ยมอย่างกระจาดโดยเฉพาะในเขตเชียงใหม่ ลำพูน เป็นต้น นิยมทำส่วนก้นให้กลม โดยที่ในขณะสานนั้นจะต้องขุดดินลงไปตามขนาดที่ต้องการ และตรงก้นกลางทำเป็นเนินขึ้น ในขณะสานซึ่งสานด้วย “ ลายอำ ” นั้น ก็จะต้องเหยียบตอกที่สานลงให้เข้าแบบและใช้ค้อนไม้ทุบให้เข้าที่จนได้ขนาด ที่ต้องการ ในส่วนปากนั้นเมื่อตัดเรียบแล้วก็จะใช้ไม้ไผ่ขนาดยาวอัดประกบแล้วใช้หวายรัด ให้แน่นหนา แล้วใช้เครือเถาเนื้อแข็งโตประมาณหนึ่งนิ้ววางทับบนปากปละใช้หวายตรึงให้ แน่นหนาอีกครั้งหนึ่ง

ส่วนครุอย่างนี้ ในแถบลำปางซึ่งนิยมทำส่วนก้นให้เป็นเหลี่ยมแบบกระจาด และจะเรียกภาชนะนี้ว่า แอ่ว

ครุ หรือ แอ่ว จะใช้ในการนวดข้าวโดยทำหน้าที่เป็นลานนวดข้าวเคลื่อนที่ คือนำแหล่งนวดข้าวไปหาฟ่อนข้าว ซึ่งตรงกันข้ามกับตาลาง (อ่าน “ ต๋าลาง ” ) ที่ต้องขนฟ่อนข้าวไปหาแหล่งนวด เมื่อชาวนาเกี่ยวข้าวและตากข้าวไว้สักสามแดดแล้ว ก็จะไปเมาะข้าว คือใช้ ม้าว คือเชือกยาวประมาณ 1 เมตรไปมัดรวบเอาฟ่อนข้าวไปรวมไว้เป็นเมาะหรือเป็นกองย่อมๆ ทั่วไปในนา จากนั้นก็จะช่วยกันหามครุหรือแอ่วไปยังเมาะเข้าเหล่านั้นแล้วใช้ไม้หีบหรือ ไม้หนีบรัดเอาฟ่อนข้าวและฟาด โดย ให้ด้านรวงข้าวลงกระทบกับก้นครุจนเห็นว่าเมล็ดข้าวร่วงไปหมดแล้วจึงจะนำเอา ฟางไปกองรวมกนไว้เพื่อเก็บไปในภายหลัง เมื่อข้าวที่เมาะนั้นหมดไปแล้ว ก็จะหามครุดังกล่าวแอ่วคือเที่ยวไปยังเมาะอื่นๆ ต่อไป พอเห็นว่ามีข้าวในครุนั้นมากแล้ว ก็จะตักข้าวออกมาและใช้กา (อ่าน “ ก๋า ” ) คือพัดขนาดใหญ่มีสีดำเพราะว่างไว้เหนือข่าไฟมาพัดเอาข้าวลีบและเศษฟาง ข้าวออกแล้วจึงขนข้าวเข้ายุ้งต่อไป

เมื่อชาวนาใช้เครื่องยนต์ในการนวดข้าวแล้ว บทบาทของครุและตาลางก็ลดลง และได้พบว่ามีผู้นำเอาครุหรือแอ่วไปประดับทำเป็นซุ้มสำหรับรับประทานในร้าน อาหารที่มีบรรยากาศแบบชายทุ่ง และก็มีผู้ใช้ครุทำเป็นเพิงพักสำหรับนั่งเล่นก็มีเช่นกัน