วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
22/10/2008
ที่มา: 
เว็บไซต์ล้านนาคดี http://lanna.mju.ac.th/ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ "ทุกภาพ ทุกตัวอักษร มอบเป็นวิทยาทานแด่ทุกท่าน"

น้ำบวย

 
น้ำบวย หรือกระบวย
เป็นเครื่องใช้สำหรับตักน้ำหรือของเหลวต่างๆ ประกอบด้วยส่วนสำคัญสองส่วนคือ คันสำหรับจับถือและภาชนะส่วนที่ตักน้ำ โดยทั่วไปแล้ว คันหรือด้ามสำหรับจับนี้มักจะทำจากไม้สัก และส่วนที่ตักน้ำมักจะทำจากกะลามะพร้าว

กะลามะพร้าว
ที่จะใช้ทำกระบวยนี้จะต้องเลือกเอากะลาที่ไม่แก่จนเกินไป เพราะกะลาที่แก่จัดนั้นเนื้อมักจะเปราะซึ่งเมื่อเจาะรูใส่คันถือนั้นมักจะ แตกง่าย มะพร้าวที่มักใช้กะลาทำกระบวยนั้นมักจะเลือกเอาขนาดที่เปลือกผง คือ ผิวที่บอกลักษณะว่าเปลือกมะพร้าวขึ้นขุยแล้ว ซึ่งกะลาข้างในมักจะเป็นสีน้ำตาลแต่เนื้อหนึกและแน่น ในการผ่ามะพร้าวนั้น จะผ่าให้เลยครึ่งไปด้านบนเพื่อให้ปากของกะลานั้นสอบเข้าพอสมควร ใช้มีดหรือเครื่องมือที่เป็นขอเหล็กขูดทั้งภายนอกและภายในให้เกลี้ยง แล้วเจาะรูรูปสี่เหลี่ยมขนาดประมาณ ๑.๕ เซนติเมตร ส่วนคันถือของกระบวยนั้นให้ทำขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๒.๐-๒.๕ เซนติเมตร ส่วนปลายให้บากโค้งตามรูปของกะลาและทำเดือนขนาดสวมกับรูได้พอดี และในส่วนของเดือยที่ยื่นเข้าไปนั้นให้ทำสลักตรึงกะลาให้แน่นอยู่กับคันถือ สลักที่ทำนั้นอาจเป็นชิ้นไม้กว้างประมาณ ๒ เซนติเมตร ยาวประมาณ ๗ เซนติเมตร สวมลงในร่องที่บากไว้กับเดือย หรืออาจเจาะรูที่เดือยให้ชิดกับกะลาแล้วเหลาไม้ไผ่ให้ส่วนปลายเบนโค้งได้ ตอกลงไปที่เดือยและก็อาจมีผู้ใช้ตะปูตอกแทนสลักเดือยก็ได้

ส่วนที่ทำเป็นคันถือนั้น หากเป็นน้ำบวยที่ตักน้ำจากหม้อไปดื่มแล้ว คันน้ำบวยมักจะมีความยาวประมาณ ๓๐ เซนติเมตร ซึ่งพ่อบ้านหรือผู้ประดิษฐ์แต่ละคนอาจทำให้มีลวดลายหรือประดับประดาด้วยการ สลักเนื้อไม้ให้มีรูปร่างต่างๆ ตามความต้องการได้

น้ำบวยที่ทำจากกะลามะพร้าวขนาดเล็กอาจใช้ตักแป้งผสมเพื่อหยอดหลุดขนมครก หรือหากจะใช้ตักน้ำมันหมูร้อนๆ ในกระทะแล้ว ก็มักใช้กะลาขนาดใหญ่และคันจับอย่างยาว ถ้าใช้ตัดน้ำเพื่อชำระล้างสิ่งของต่างๆ แล้วก็อาจใช้น้ำบวยที่มีกะลาขนาดใหญ่และคันถือสั้น ซึ่งในประเด็นนี้ บางคนอาจใช้กะโหลกน้ำเต้าแทนก็ได้ ส่วนน้ำบวยที่ต้องการความอลังการแล้วก็อาจทำด้วยเงินหรือทองคำก็ย่อมจะได้

น้ำบวยที่ใช้ตักน้ำดื่มจากหม้อนั้น มักจะวางไว้ที่ซองน้ำบวย คือที่สำหรับวางกระบวยอยู่ข้างๆ หม้อน้ำ ส่วนกระบวยที่ใช้ตักน้ำล้างเท้า อาจใช้ปากกระบวยเกาะไว้กับไม้หลักที่ปักไว้หรือแขวนกับตะปูซึ่งตอกไว้กับเสา ที่อยู่ใกล้ๆ ก็ได้
มี เรื่องเล่ากันว่า เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์หนึ่งได้จัดหม้อน้ำไว้ให้คนเดินทางผ่านไปมาดื่มกินไว้ ที่หน้าคุ้ม ที่ซองน้ำบวยนั้นจะมีน้ำบวยขนาดเล็กและขนาดใหญ่ไว้ หากคนเดินทางมาใช้กระบวยเล็กตักน้ำกินเกินกว่าหนึ่งครั้งก็จะถูกลูกกระสุน ที่ทำจากข้าวเหนียวตากแห้ง และคนที่ใช้กระบวยใหญ่แล้วกินน้ำไม่หมดก็จะโดนลูกกระสุนเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ถือว่าเป็นการลงโทษผู้ที่ไม่รู้จักประมาณในการตักน้ำดังกล่าว