วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
22/10/2008
ที่มา: 
เว็บไซต์ล้านนาคดี http://lanna.mju.ac.th/ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ "ทุกภาพ ทุกตัวอักษร มอบเป็นวิทยาทานแด่ทุกท่าน"

ฉัตต์ (อ่าน “ สัต ”)


ฉัตต์ หรือ “ ฉัตร ”
คือเครื่องประดับคล้ายร่ม สิ่งประดิษฐ์เท่าที่พบจากศัพท์หมวดบาลี-ล้านนา มีดังนี้ ฉัตต์รวงข้าว-ฉัตรทำด้วยรวงข้าว ฉัตต์ดอกไม้ ฉัตต์อันสานด้วยไม้ดอก ฉัตต์ขาว ฉัตต์ดอกคำ-ฉัตรที่มีลวดลายทำด้วยทองคำ ฉัตต์ผ้าเหลือง ฉัตต์ขาวยับห้อยดอกคำ ฉัตต์แดง

ส่วนความหมายในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานพ.ศ.2525 ได้ให้ความหมายไว้ว่า หมายถึงเครื่องสูงชนิดหนึ่งมีรูปคล้ายร่มที่ซ้อนกันขึ้นไปเป็นชั้นๆ ชั้นบนมีขนาดเล็กกว่าชั้นล่างลดหั่นกันไปโดยลำดับ สำหรับแขวน ปัก ตั้ง หรือเชิญเข้าขบวนแห่เป็นเกียรติยศ

ชาวล้านนานิยมทำฉัตรประดับไว้บนหลังคาโบสถ์ วิหารและยอดเจดีย์ตามวัดต่างๆ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะชาวล้านนาได้รับเอาอิทธิพลการทำฉัตรมา พร้อมกับพระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ ผ่านมาทางเมืองมอญและพม่า เนื่องจากพม่านิยมทำฉัตรประดับไว้บนหลังคาโบสถ์ วิหารและเจดีย์ เช่นเดียวกับลาวและล้านนา

ชาวล้านนาเชื่อกันว่า ฉัตรคือเรื่องกั้นหรือเครื่องบังแสงแดดและลมฝน อีกทั้งเป็นเครื่องประดับพระเกียรติยศ หรือเครื่องรายกกุธภัณฑ์อย่างหนึ่งของพระมหากษัตริย์ และในฐานะที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประสูติ ในวรรณะกษัตริย์ดังนั้นจึงนำเอาฉัตรมาประดับพระเกียรติยศ และถือเป็นการถวายราชสักการบูชาต่อพระพุทธองค์ด้วย นอกจากนี้ยังเชื่อกันว่าหากผู้ใดสร้างฉัตรถวายทานประดับบนหลังคาโบสถ์วิหาร หรือยอดเจดีย์แล้ว ผลานิสงส์ที่ได้รับจะทำให้คนผู้นั้นได้ไปเกิดในสวรรค์เมื่อสิ้นชีวิตไปจาก โลกนี้แล้ว ถ้าหากจะได้เกิดมาเป็นมนุษย์อีกครั้ง ก็จะได้เกิดในตระกูลสูงศักดิ์ มีเกียรติยศและทรัพย์สมบัติ ตลอดทั้งข้าทาสบริวารเป็นอันมาก

โดยทั่วไปฉัตรเป็นร่มทำด้วยผ้าหรือวัตถุอย่างอื่น แต่ถ้าเป็นร่มกระดาษ ในล้านนาและอยุธยาใช้คำว่า ทุงยู หรือ ทงยู จิตร ภูมิศักดิ์ อธิบายว่าคำดังกล่าวเป็นคำภาษาเขมร เขมรปัจจุบันเขียนทางยู ออกเสียง เตียงยู แปลว่าร่มกระดาษ ไทยยืมคำนี้มาใช้แต่โบราณดังปรากฏในกฎมณเฑียรบาล โดยถือเป็นเครื่องยศอย่างหนึ่งว่า “ บันดาศักดิ์หัวเมืองนา 5,000 ขี่ยั่วร่มทุงยู ” (กฎมณเฑียรบาล ในกฎหมายตราสามดวงหน้า 35) ในวรรณกรรมเรื่อท้าวฮุ่งหรือท้าวเจืองก็กล่าวถึงร่มทุงยู

หลักฐานทางกฎหมายโบราณและวรรณคดีดังกล่าวบ่งชัดว่า ทุงยู คือร่มใหญ่คันยาว กางบังให้เกิดร่มแก่คนบนหลังช้างได้ และเป็นเครื่องยศอย่างหนึ่ง ดังภาพสลักที่นครวัดซึ่งกรณีเชียงใหม่ ได้ปรากฏเป็นชื่อวัดทุงยู

ความเป็นมาและแนวคิดในการสร้างฉัตต์

พระ ครูเนตร สิริจันโท เจ้าอาวาสวัดพวกแต้ม อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ผู้ซึ่งสืบทอดฝีมือการทำฉัตต์มาจากอาจารย์เก่าแก่ของท่าน ได้พูดถึงความเป็นมาและแนวคิดในการทำฉัตต์จากอดีตจนถึงปัจจุบันว่า ฉัตต์คงพัฒนามาจากร่มที่ใช้กางป้องกันแดดฝนกันอย่างธรรมดาทั่วไป ในหมู่ประชาชนแต่ต่อมาเมื่อสังคมมีการแบ่งเป็นชนชั้นวรรณะขึ้น รูปแบบของฉัตต์ก็เริ่มพัฒนาแตกต่างกันออกไป ส่วนหนึ่งก็กลายเป็นของสูง เป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์สำหรับพระมหากษัตริย์ และเชื้อพระวงศ์ในระดับต่างๆ กัน ตลอดจนพระสงฆ์รวมถึงศาสนสถานต่างๆ ที่ถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นของสูง เช่น เจดีย์ หรือพระบรมธาตุก็จะมีฉัตต์เพื่อเพิ่มความสง่างาม

นอกจากนี้ท่านพระครูเนตร สิริจันโท ยังให้ความเห็นอีกว่า ฉัตรอาจจะมาจากลักษณะที่เป็นปริศนาธรรมทางพุทธศาสนา อันหมายถึงเครื่องบูชาเทียบระดับแห่งการบรรลุธรรมแห่งองค์พระศาสดา อันเป็นฝ่ายศาสนจักรฝ่ายหนึ่งกับกษัตริย์อันเป็นฝ่ายอาณาจักรฝ่ายหนึ่ง คติทางพุทธศาสนาถือว่าพระพุทธเจ้ามีศักดิ์สูงกว่าพระมหากษัตริย์อยู่แล้ว การแบ่งชั้นโดยการใช้ฉัตรมีหลายอย่าง เช่น ฉัตร 5 ชั้น เป็นการบูชาพระเจ้า 5 พระองค์ ฉัตร 7 ชั้น บูชาโภชงค์เจ็ด ฉัตร 9 ชั้น เป็นการบูชาพระนวโลกุตธรรมเจ้า 9 ประการ

ในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ตอนพระยาเจืองรบชนะเท้ากวาเจ้าเมืองแกว และได้เป็นพระยาในเมืองแกวนั้นเจ้าลุ่มฟ้าเพาพิมานซึ่งเป็นเจ้าเมืองฮ่อได้ เป็นประธาน ในงานทำพิธีราชาภิเษกแก่ขุนเจือง โดยกล่าวว่า

“ ท้าวพระยาทั้งหลาย ก็หื้อแปลงตำหนักตูบผามเตมพูเหิดทังมวลแล้ว ก็ตั้งปราสาทท่ามกลางพูเหิด สูง 135 วา กว้าง 950 วา มีเสวตฉัตร 770 ดวง อ่างคำใส่น้ำอบน้ำหอม สูง 3 ศอก กว้าง 6 ศอก หนัก 140,000 คำ ”

รูปแบบของฉัตรประเภทต่างๆ ที่ปรากฏในงานวรรณกรรมของล้านนาจากเอกสารโบราณในรูปของคำภาษาบาลีที่รวบรวม โดยอุดม รุ่งเรืองศรี และบำเพ็ญ ระวิน มีทั้งหมด 10 แบบ คือ

•  อนฺนฉตฺต หมายถึงฉัตต์รวงข้าว (รวงข้าว)

•  ปุปฺผฉตฺต หมายถึงฉัตต์ดอกไม้-ประดับด้วยดอกไม้

•  อาวลิฉตฺต หมายถึงฉัตต์อันสานด้วยไม้ตอก

•  เสตฉตฺต หมายถึงฉัตต์ขาว 7 ชั้น

•  กุสุมฉตฺต หมายถึงฉัตต์ดอกคำ

•  ฉตฺตมณฺฑลกมลก หมายถึงฉัตต์มณฑปใบไม้

•  จีวรวตฺถฉตฺต หมายถึงฉัตต์ผ้าเหลือง

•  เสตกุสุมฺภปุปฺผฉตฺต หมายถึงฉัตต์ขาวยับห้อยดอกคำ

•  เสตโก เสยฺยรตฺตฉตฺต หมายถึงฉัตต์ขาวผ้าไหมแดงเป็นยับย่อย

•  รตฺตฉตฺต หมายถึงฉัตต์แดง

ซึ่งเห็นได้ว่าฉัตรดังกล่าวน่าจะแตกต่างกันที่วัสดุและลวดลายที่ใช้ประดับ คือ

ฉัตต์รวงข้าว คือ ฉัตต์ที่ประดับด้วยรวงข้าวหรือทำเป็นรูปรวงข้าว

ฉัตต์ดอกไม้ คือ ทำลวดลายประดับเป็นรูปดอกไม้หรือประดับด้วยดอกไม้ในพิธีพลีกรรม

ฉัตต์อันสานด้วยไม้ตอก คือตัวฉัตต์ที่ใช้สำหรับในพิธีพลีกรรม จะทำด้วยไม้ตอกแล้วประดับ

ด้วยกระดาษสีลวดลายต่างๆ ให้สวยงาม หรือฉัตต์ที่ใช้ตอกสานคุมเข้าเป็นรูป

ฉัตต์ขาว 7 ชั้น ทำด้วยไม้ประดับด้วยกระดาษลวดลายสีขาวล้วน มี 7 ชั้น

ฉัตต์ดอกคำ ทำด้วยแผ่นทองเหลืองตัดแต่งลวดลายเป็นรูปดอกไม้หรือกระหนกต่างๆ แล้วปิดด้วยทองคำ

ฉัตต์มณฑปใบไม้ ทำลวดลายเป็นมณฑปด้วยใบไม้

ฉัตต์ผ้าเหลือง ประดับด้วยผ้าเหลืองให้มีลักษณะต่างๆ

ฉัตต์ขาวยับห้อยดอกคำ ตัวฉัตรสีขาวแต่กาบชายห้อยประดับด้วยโลหะปิดทองคำเปลว

ฉัตต์ขาวผ้าไหมแดงเป็นยับย่อย ตัวฉัตรแต่งประดับด้วยผ้าไหมแดงเป็นพู่ห้อยระย้า

ฉัตต์แดง คือ ฉัตต์ที่ทำด้วยสีแดง หุ้มด้วยผ้าแดง หรือมีลวดลายสีแดงล้วน

พระครูเนตรสิริจันโท เจ้าอาวาสวัดพวกแต้มได้อธิบายเพิ่มเติมอีกว่า รูปแบบของฉัตต์ทั้ง 10 นั้น ต่างกันในหลายลักษณะ ได้แก่ โครงสร้าง วัสดุ ลวดลายที่ประดับและหน้าที่ที่ถูกนำไปใช้ โดยทั่วไป ฉัตรที่ใช้ในราชพิธีหรือใช้ประดับรอบองค์พระธาตุเจดีย์ ภายในวิหารแล้วจะใช้วัสดุที่คงทนถาวร โดยทำด้วยโครงเหล็กแล้วหุ้มหรือประดับลวดลายด้วยแผ่นทองเหลือง และลงรักปิดทองคำเปลว หรือทองคำแผ่น แต่ถ้าใช้ในพิธีพลีกรรมต่างๆ จะสานด้วยไม้ตอกสูงขึ้นไปเป็นชั้นๆ แล้วประดับด้วยกระดาษ หรือผ้าขาว ผ้าเหลือง ผ้าแดง ตามชื่อที่ปรากฏ

แต่อย่างไรก็ตาม พระครูเนตร สิริจันโท กล่าวว่ายังไม่เห็นปรากฏเป็นหลักฐานทางลายลักษณ์ อักษรถึงหน้าที่ และรูปแบบต่างๆ ในการกำหนดตำแหน่งสำหรับกษัตริย์เชื้อพระวงศ์ และเจ้านายฝ่ายเหนืออย่างชัดเจนแต่อย่างใด

ส่วนประกอบของฉัตต์

ฉัตรประเภทต่างๆ จะประกอบด้วยส่วนประกอบต่างๆ นับจากฐานขึ้นสู่ปลายยอด ดังนี้

• คันฉัตรหรือแกนฉัตร ถ้าใช้ในพิธีพลีกรรม จะทำด้วยไม้ ถ้าใช้ในราชพิธีหรือประดับรอบองค์เจดีย์หรือหลังคาโบสถ์วิหารต่างๆ จะทำด้วยเหล็ก

•  ใบไร (ใบโพธิ์ ไทร) ใช้ห้อยประดับส่วนล่าง

•  เดง (กระดิ่ง กระดึง)

•  กาบสา เป็นแผ่นทองเหลืองตัดลวดลายแบบต่างๆ เป็นเชิงฉัตร

•  ดอกคอ ลวดลายดอกไม้อยู่ระหว่างกึ่งกลางวงชั้นฉัตรแต่ละชั้น

•  ดูกงู เป็นส่วนขดลวดที่ใช้ยึดโครงชั้นฉัตรแต่ละชั้น

•  กระจังตาอ้อย (กระจังบน) เป็นลวดลายบัวหงายประดับส่วนบนดูกงู เพื่อให้สวยงาม

•  เครือยอด เป็นเชิงชั้นล่างถัดจากช่อลงมาคล้ายเปลวเพลิงประกบอยู่กับแกนคันฉัตร 2 ด้าน

•  ช่อ คล้ายเครือยอดแต่อยู่สูงถัดขึ้นไปอีกชั้นหนึ่งใบใหญ่กว่าเครือยอด

•  กาบปลี อยู่ถัดขึ้นไปจากช่อ ลักษณะคล้ายกันแต่ใบเล็กกว่า

•  ยอดปลี คือ ส่วนปลายยอดสุด คล้ายปลีกกล้วยปลายแหลม สวมปิดรูช่องคันฉัตร

ประเภทและชนิดของฉัตร

ฉัตรของล้านนามีอยู่ 2 ประเภท คือ

1. ฉัตรปักในศาสนสถาน

2. ฉัตรตั้งในพิธี

1. ฉัตรปักในศาสนสถาน มี 2 รูปแบบคือ


1.1 ฉัตรยอดแหลม

เป็นฉัตรที่ใช้สำหรับปักประดับในศาสนสถานต่างๆ เช่นบนหลังคาโบสถ์ วิหาร ปลายยอด

เจดีย์ หรือพระบรมธาตุสำคัญๆ เช่น พระธาตุดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ พระธาตุหริภุญชัย จังหวัดลำพูน พระธาตุช่อแฮ จังหวัดแพร่ พระธาตุแช่แห้ง จังหวัดน่าน และตามหลังคาโบสถ์วิหารของวัดทางภาคเหนือทั่วไป

ลักษณะ ของฉัตรจะเป็นฉัตรทรงสูงเป็นชั้นๆ ชั้นล่างสุดจะมีโคนฐานของชั้นกว้างสุด และชั้นต่อไปจะเล็กลงไปจนสุดปลายแหลมเรียกว่าจิกฉัตร หรือ ช่อทุง นิยมทำกันเป็นหลายชั้นตามคติความเชื่อทางศาสนา เช่น 5 ชั้น 7 ชั้น หรือ 9 ชั้น ฉัตรยอดแหลมโดยมากทำด้วยโครงเหล็ก และแต่งประดับลวดลายกาบและส่วนอื่นๆ ด้วยทองเหลืองและลงรักปิดทองทับภายหลัง

1.2  ฉัตรปีกกว้าง

เป็นฉัตรที่ใช้สำหรับกางประดับ และกันแดดกันฝนแก่พระพุทธรูปที่ประดิษฐานอยู่ในที่โล่ง

แจ้ง หรือพระประธานตามโบสถ์วิหาร บางแห่งก็มีลักษณะของฉัตรปีกกว้าง จะมีลักษณะคล้ายร่มหรือสัปทนของของภาคกลาง คือสามารถใช้เป็นสิ่งประดับเพื่อความสวยงามก็ได้ หรือทำเป็นแบบหลังคาทึบเพื่อกันแดดกันฝนจริงๆ แก่พระพุทธรูปได้ ฉัตรปีกกว้างตัวโครงทำด้วยเหล็กเส้นดัด ส่วนปีกหรือหลังคาทำด้วยวัสดุ 3 แบบ คือ แบบหลังคาโปร่ง หุ้มด้วยเหล็กลวด เป็นตาข่ายทาสีแดงแบบหลังคาทึบ หุ้มด้วยสังกะสี ทาสีแดงหรือลงรักปิดทอง และแบบหลังคาทึบหุ้มด้วยแผ่นเหล็กปลอดสนิม

2. ฉัตรตั้งในพิธีกรรม

เป็นฉัตรที่ใช้สำหรับปักตั้งในพิธีกรรมทางศาสนา เช่น พิธีพุทธาภิเษก พิธีทำบุญฉลอง (ปอยหลวง) พิธีฝังลูกนิมิต พิธีทำบุญสืบชะตาเมือง เป็นต้น

ฉัตรตั้งในพิธีกรรมส่วนมากจะทำด้วยวัสดุที่หาง่ายในท้องถิ่น โดยโครงฉัตรทำด้วยไม้ๆไผ่ แล้วประดับด้วยวัสดุต่างๆ เช่น รวงข้าว ดอกไม้ ใบไม้ ผ้าเหลือง ผ้าขาว ผ้าแดง

ฉัตรวัดพวกแต้ม

วัดพวกแต้มเป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่งในเขตอำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ปัจจุบันมีพระครูเนตร สิริจันโท เป็นเจ้าอาวาส พระครูเนตรเป็นลูกศิษย์ของครูบาเขียว ขันติโย อดีตเจ้าอาวาสวัดพวกแต้ม พรครูเนตรได้รับการถ่ายทอดวิชาการทำฉัตร และสัปทนมาตั้งแต่สมัยยังเป็นสามเณร จนกระทั่งปัจจุบันเป็นแหล่งผลิตที่ใหญ่ และมีผู้นิยมใช้ประดับตามวัดต่าง ๆ มากที่สุด

รูปแบบของฉัตรวัดพวกแต้ม

แม้ว่าวัฒนธรรมของล้านนาจะยังคมรักษาเอกลักษณ์ ความเป็นตัวของตัวเองไว้ได้เพียงใดก็ตาม แต่ก็ยังได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมส่วนกลางเข้ามาอยู่มาก ทั้งนี้เพราะต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยทางเศรษฐกิจ ค่านิยม ระบบการศึกษา ตลอดจนฐานะทางสังคมของคนท้องถิ่นที่เริ่มเปลี่ยนแปลงไป

รูป แบบของฉัตรวัดพวกแต้มก็เช่นเดียวกัน แม้จะยังคงรักษาความเป็นเอกลักษณ์ของล้านนาเอาไว้ แต่ส่วนหนึ่งก็ต้องประยุกต์และผสมผสานเข้ากับรูปแบบของ “ ทางใต้ ” เพราะลูกค้าอันได้แก่ศรัทธาและเจ้าวัดอื่นๆ ที่มาสั่งทำต้องการตามแบบนั้น การทำฉัตรของวัดพวกแต้ม จึงต้องทำตามแบบที่ได้รับการกำหนดมา ดังนั้นรูปแบบของฉัตรวัดพวกแต้มทั้งฉัตรยอดแหลม และฉัตรปีกกว้างจึงมีรูปแบบที่แตกต่างกันไปตามลวดลายที่ประดับเป็น 3 รูปแบบ ดังนี้


1. ฉัตรแบบพื้นเมืองของล้านนา

เอกลักษณ์ ของฉัตรแบบล้านนาอยู่ที่ลวดลายที่ประดับระหว่างชั้น ลวดลายจะมีลักษณะที่หยาบและใหญ่กว่าของภาคกลาง มีชื่อลายต่าง ๆ กัน เช่น ลายดอกจันทน์ ลายกาบสา ลายเครือเถา ลายก้ามปู ลายขูด ลายสร้อย ลายสับปะรด เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่จะมีลักษณะเป็นแบบลายเรียบ ๆ ส่วนของกาบเป็นลายกาบสาธรรมดาคล้ายๆ กับลายบัวย้อยหรือกาบแบบบัวกลีบปลายเสา ส่วนประกอบหลักๆ ของฉัตรพื้นเมือง ได้แต่ กระจัง ดอกคอ และกาบ


2. ฉัตรแบบประยุกต์

มีลักษณะทางศิลปะแบบประยุกต์ระหว่างล้านนากับพม่าเงี้ยว โดยพม่ากระจัง จะยื่นออกมาหรือที่เรียกว่า “ ลายฟ้อน ” เหมือนมือที่ฟ้อนหงายนิ้วงอโค้งออกมา ส่วนปลายดูอ่อนช้อย ส่วนกาบจะยกสันขึ้นทำให้ดีมีเหลี่ยมเงาได้สัดส่วน

3. ฉัตรแบบทรงกระบอก

มีลักษณะค่อนข้างไปทางแบบภาคกลาง หรือเรียกว่า “ แบบใต้ ” โครงสร้างเป็นแบบล้านนา แต่ลวดลายใช้แบบภาคกลาง เช่น ลายกระหนก ลายอุบะย้อยแบบที่ครอบพระแก้วมรกต ส่วนมากมักไม่มีกระจัง บางแห่งจะใช้ไฟเบอร์หล่อลายเป็นแผ่น ๆ แล้วนำมาประกอบปิดทองทีหลัง

ฉัตรของวัดพวกแต้มเป็นฉัตรที่มีลักษณะเฉพาะตัว เพราะสืบทอดมาจากช่วงก่อน ๆ ดัดแปลงเสริมแต่งให้มีลักษณะที่ประณีตสวยงาม ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับการออกแบบและโครงสร้างที่สอดคล้องได้สัดส่วนกัน

ช่างทำฉัตรพวกแต้ม

ช่างจะแบ่งหน้าที่กันคนละส่วน เช่น ช่างเหล็กจะทำส่วนโครงเหล็ก เชื่อม ดัดเหล็ก ช่างต้องดอก (ตอก ฉลุ) ช่างสี เป็นต้น โดยศึกษาแบบตัวต่อตัวไม่มีภาคทฤษฎี เรียนรู้ จากการดูและทำตามา ส่วนใหญ่จะเป็นพวกชาวบ้านและเด็กรุ่น ๆ ใกล้ ๆ วัดนั่นเอง โดยมีพระครูเนตร สิระจันโท เป็นผู้วาดลวดลายลงบนกระดาษ แล้วให้ช่างนำไปลอกลายลงบนแผ่นทองเหลืองเสร็จแล้ว จึงตอกฉลุเป็นลวดลายให้แตกต่างออกไปบ้าง แล้วแต่ “ ท่านอาจารย์ ” จะออกแบบมาให้ รายได้ตามผลงาน บางชิ้นก็ขาดทุนเพราะบางวัดก็ขอให้ร่วมเป็นการทำบุญไปด้วย งานมีตลอดปีเฉลี่ยปีละ 90-100 ชิ้น

วัสดุอุปกรณ์และขั้นตอนในการผลิต

อุปกรณ์สำคัญ ๆ ได้แก่

1. เหล็กเส้นขนาด 2 หุน 2. แผ่นทองเหลือง 3. ทองคำเปลว 4. ค้อน 5. ตะปูตอกลาย 6.ตะปูย้ำลาย 7. เครื่องเชื่อม 8. ตะกั่วและน้ำกรด 9. ปากกาจับงาน 10. กรรไกรตัดแผ่นทองเหลือง 11. สีกันสนิม สีแดง รัก 12. หัวแร้ง 13. ตลับเมตร 14. เขียงไม้ (ไว้สำหรับตอกแผ่นทองเหลือง) 15. เครื่องตัดเหล็ก 16. สว่าน 17. คีม 18. เดง (ระฆัง) 19. ยอดปลี (หล่อด้วยทองเหลือง)

ขั้นตอนการผลิต

•  สล่าเค้า (อ่าน ” สะหล่าเก๊า ” ) หรือช่างใหญ่ คือท่านพระครูเนตร จะเป็นผู้ออกแบบลวดลายลงบนกระดาษลอกลาย แล้วจึงนำไปลอกลงบนกระดาษแข็ง

•  กดแบบลอกลายลงบนแผ่นทองเหลือง

•  ตัดบาย ฉลุลาย และย้ำลายลงบนแผ่นทองเหลือง

•  ขึ้นโครงเหล็กเป็นชั้น ๆ

•  ตีกระดูกงู ซึ่งมีลักษณะ เป็นแผ่นทองเหลืองโค้งกลมใช้ประดับและยึดของฉัตร

•  ประกอบลวดลายแผ่นทองเหลือง และกระดูกงูเข้ากับโครงฉัตร

•  ทาสีแดงลงบนฉัตรที่ประกอบแล้ว

•  ลงรัก หรือพ่นสีแล้วปิดทองบนฉัตรด้านนอก

•  ใส่ระฆังประดับฉัตร

•  ใส่ยอดปลี

ราคาฉัตรและค่าแรงงาน

ราคาของฉัตร(พ.ศ.2538) จะขึ้นอยู่กับขนาดโครงสร้างและแบบของฉัตรแต่ละหลัง เช่น ฉัตรขนาด 20 นิ้ว ราคาต้นทุนประมาณ 3,500-4,000 บาท ค่าแรง+กำไร ประมาณ 1,00-1,300 บาท รวมแล้วตกประมาณคนละ 2,000-5,000 บาทต่อเดือน ขึ้นกับฝีมือและงานที่ทำ

นอกจากที่วัดพวกแต้มแล้ว ช่างทำฉัตรสกุลล้านนายังมีอยู่บ้างบางแห่ง เช่นที่ วัดแม่ข่าได้ และวัดแม่คือ อำเภอดอยสะเก็ด แต่ที่นิยมและถือว่าลวดลาย และรูปทรงสวยงามขึ้นชื่อที่สุดก็ได้แก่ ฉัตรวัดพวกแต้มนี่เอง ปัจจุบันช่างสกุลล้านนาจากวัดพวกแต้มมีผลงานฉัตรปรากฏทั่วไป ตั้งแต่วัดพระธาตุดอยสุเทพ วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร วัดพวกช้าง วัดพันแหวน วัดพวกแต้ม หอประชุมสิริกิติ์ ตลอดจนถึงวัดไทยในต่างประเทศ เช่น ในสหรัฐอเมริกา และเนปาล นับเป็นสมบัติทางด้านวัฒนธรรมอันล้ำค่าของล้านนาที่ควรมีผู้สนใจสนับสนุนและ สืบทอดต่อไปตราบชั่วลูกหลาน