วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
27/10/2008
ที่มา: 
เว็บไซต์ล้านนาคดี http://lanna.mju.ac.th/ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ "ทุกภาพ ทุกตัวอักษร มอบเป็นวิทยาทานแด่ทุกท่าน"

ซ้า


ซ้า ในความหมายของชาวล้านนาตรงกับ “ ตะกร้า ” ในภาษาไทยกลาง ซึ่งเป็นภาชนะสานให้โปร่ง มีหลายรูปร่างและหลายขนาด มีลักษณะที่ร่วมกันคือสานขึ้นอย่างง่าย ๆ ใช้สำหรับใส่สิ่งของต่าง ๆ เช่น ผัก ผลไม้ มีเชือกสำหรับหิ้วหรือหาบคอนเหมือนกระบุง และซ้านี้จะมีเป็นคู่หรือเดี่ยวก็ได้ เช่น

  • ซ้าเข้า คือตะกร้าใส่อาหาร ซึ่งมักหมายถึงที่จัดไปถวายพระ
  • ซ้าวง คือตะกร้าที่มีคันสำกรับถือ แทนที่จะหิ้วที่สายหรืออุ้มอย่างซ้าอื่น ๆ
  • ซ้าจังหัน คือตะกร้าที่บรรจุอาหารไปถวายพระ
  • ซ้าเพียด คือกระบุงขนาดย่อม จัดเป็นตะกร้าชนิดสานทึบ
  • ซ้าเพาะ (อ่าน “ ซ้าเป๊าะ ” ) คือตะกร้าที่ต้อง เพาะคือวางบนท่อนแขน หรือตะกร้าที่ทรงป้อม ขนาดไม่ใหญ่นักเมื่อใส่ของแล้วก็พอที่จะนำพาไปได้สะดวก
  • ซ้าล้อม คือตะกร้าแบบ ” ชะลอม ” ของภาคกลาง
  • ซ้าลุ่น คือภาชนะสานขนาดใหญ่ปากกว้าง ใช้เป็นที่สำหรับดีดฝ้ายให้ขึ้นปุย
  • ซ้าหลัว คือตะกร้าบรรจุฟืน โดยมากอยู่ใกล้กับเตาไฟ
  • ซ้าหวด คือ ภาชนะสานถี่ด้วยลายตาน ใช้สำหรับการล้างเข้าหม่าคือข้าวที่แช่ไว้ข้ามคืนให้หมดกลิ่นน้ำข้าวมวกก่อนนำไปใส่ไหนึ่ง

  • ซ้าหีควาย คือตะกร้าสานโปร่ง ใช้ขนหินหรือดินอย่างปุ้งกี๋แต่มีขนาดเล็กกว่า

ซ้าเข้า

ซ้าเข้า ซ้าเข้าบาตร หรือซ้าจังหัน คือตะกร้าที่ทำพิเศษเพื่อใส่อาหารไปถวายพระที่วัดเท่านั้น การจัดทำก็จะแล้วแต่ลักษณะนิยมในท้องถิ่น หรือการจัดหาได้ของชาวบ้านผู้มีจิตศรัทธา แต่ละรายไป บ้างก็เป็นตะกร้าสานถี่ทึบมีฝาปิดเรียบร้อย บ้างก็เป็นตะกร้าสานโปร่งไม่มีฝาปิด และบ้างก็จะเป็นซ้างวงหรือตะกร้ามีหูหิ้ว ในซ้าเข้าดังกล่าวก็จะบรรจุอาหารที่ปรุงขึ้นในบ้าน หรืออาหารที่ซื้อมาจากตลาด เพียงแต่จะคัดให้ดีกว่าที่กินในครัวเรือน เช่น หากแกงไก่ใส่ผักกาดก็จะเลือกตักส่วนที่มีตับหรือเนื้อไก่ล้วน ๆ ไปถวายโดยจงในจะตักผักกาดแต่น้อย เป็นต้น ในกลุ่มไทเขิน นิยมใช้อูบ แทนซ้าเข้าจังหัน ซึ่งอูบจะเป็นภาชนะที่กลึงจากท่อนไม้หรือทำแบบเครื่องเขิน

ซ้าเพาะ(อ่าน “ ซ้าเป๊าะ ” )

ซ้าเพาะ มัพบทั้งที่เป็นแบบกระบุงขนาดย่อม คือสานทึบและแบบที่สานโปร่ง โดยแบบที่สานทึบนั้นอาจใช้บรรจุสิ่งที่มีขนาดเล็กอย่างข้าวสารได้ด้วย แต่ทั่วไปมักเป็นตะกร้าสานโปร่งในส่วนตัว ส่วนที่บริเวณปากนั้น มักสานลายตานทึบก่อนจะเม้มริมและใส่ไม้ไผ่เหาประกบขอบปากให้แน่นหนา ทั้งนี้เพื่อใส่ของเล็ก ๆ น้อย ๆ รวมทั้งวัสดุปรุงอาหาร เช่น ใส่ผัก ใส่มะเขือ ใส่มะปราง ใส่ห่อขนม ฯลฯ เป็นต้น เป็นที่เข้าใจกันว่าซ้าแบบนี้ สามารถเพาะคือวางบนท่อนแขนและหงายมือจับขอบของตะกร้าเมื่อเคลื่อนย้ายได้

แต่ในบางกรณี บางท่านใช้ซ้าเพาะรวมไปถึงซ้าหีควายหรือภาชนะอย่างปุ้งกี๋อีกด้วย

ซ้าลุ่น

ซ้าลุ่น บ้างออกเสียงเป็น “ สะลุ่น ” เป็นอุปกรณ์ในการเตรียมฝ้ายเพื่อจะนำไปปั่น ซึ่งซ้าลุ่นนี้จัดได้ว่ามีขนาดใหญ่กว่าพวกซ้าทั้งหลาย เพราะมีส่วนปากกกว้างประมาณ 70 เซนติเมตร ส่วนลำตัวมีขนาดกว้างและยาวเท่าปาก แต่ส่วนก้นสอบลงทาปิด การสานนั้นสานด้วยลายตาน ทึบโดยวางตอกซังให้ห่าง

ซ้าลุ่นจะใช้ในการยิงฝ้าย (อ่าน “ ญิงฝ้าย ” ) คือใช้กงยิงฝ้ายซึ่งมีลักษณะคล้ายคันธนูที่มีด้ามหนึ่งโป่งมากกว่าอีกด้าน หนึ่งเป็นอุปกรณ์ เมื่อตากฝ้ายที่อีดคือหีบเอาเมล็ดฝ้ายออก และนำไปตากให้ฟูขึ้นบ้างไปในซ้าลุ่นประมาณหนึ่ง ขยุ้มมือ แล้วจึงใช้กงยิงฝ้ายดีดที่กองฝ้ายนั้นจนฟูขึ้นเป็นปุย หลังจากนั้นจึงจะนำฝ้ายที่ ฎยิงฎ แล้วไปทำเป็นหางฝ้าย คือ พันกับแกนไม้ยาวให้มีลักษณะเป็นหลอด เพื่อนำไปปั่นเป็นเส้นด้ายต่อไป

ซ้าหวด

ซ้าหวด เป็นเครื่องจักสานพื้นบ้านล้านนา ใช้ใส่เข้าหม่า หรือข้าวเหนียวที่แช่น้ำไว้เพื่อล้างให้หมดกลิ่นก่อนจะนำไปนึ่ง ที่ก้นของซ้าหวดจะมีไม้กลม 2 อันวางขัดเป็นกากบาทที่มุมทั้งสี่เพื่อช่วยรับน้ำหนัก และเสริมความแข็งแรงอีกขั้นหนึ่ง รูปทรงของซ้าหวดนี้อาจจะต่างกันไปบ้าง คือบางคนอาจสานเป็นทรงป้อม หรือบางคนอาจสานเป็นทรงกระบอกปากผายตี่เหมือนกันก็คือ ตอกที่ใช้มีขนาดความกว้างประมาณ 4 มิลลิเมตร ตอกที่ใช้สารจะใช้ทีละ 2 เส้น ขึ้นรูปก้นเป็นลายสอง ลายสานจะให้มีช่องว่างเล็กน้อยเพื่อจะให้น้ำไหลผ่านได้สะดวก ในส่วนตัวซ้าหวด จะใช้ตอกที่นำมาขึ้นลายโดยตอกสานใช้สานเรียงทีละ 1 เส้น ส่วนตอกซังจะใช้ทบกัน 2 เส้น และลายตัวของซ้าหวดจะสานให้ชิดติดกันเพื่อไม่ใช้ข้าวสานที่ล้างหลุดออกมาได้ พอสานถึงระดับของแล้วจะใช้ตอกกลมเส้นเล็ก ๆ สานประมาณ 6-7 เส้น สานให้ลายชิดติดกันเพื่อเป็นการเสริมขอบปากให้มีความแข็งแรง จากนั้นจึงเก็บปลายตอก โดยบิดตอกซังให้เป็นเกลียวแล้วพับสอดปลายลงไปในบริเวณลายที่สานเป็นขอบปาก

ซ้าหีควาย

ซ้าหีควาย เป็นภาชนะสานโปร่งที่มีลักษณะเป็นกระบะ ซึ่งคนมองว่าคล้ายอวัยวะเพศของควายตัวเมีย ชาวล้านนาจะใช้ซ้าชนิดนี้ในการขนย้ายดินหรือหิน อย่างใช้ในการตีฝาย(อ่าน “ ตี๋ฝาย ” ) คือซ่อมฝายกั้นน้ำ ซึ่งมักจะสานขึ้นใช้เป็นการเฉพาะกิจ เมื่อเสร็จงานนั้นแล้วก็อาจทิ้งไปได้เพราะสานง่ายและไม่ใช้วัสดุมาก

ในการสานนั้น จะใช้ตอกที่จักติดผิวสานให้มีขนาดใหญ่กว่าใบจอบเล็กน้อย ด้านท้ายจะสานยกขึ้นเป็นขอบ ปล่อยให้ส่วนปากผายราบลงเป็นกระบะโดยมีตาห่างประมาณ 1.5 เซนติเมตร ส่วนที่ใกล้ขอบจะสานเป็นลายตานทึบเพื่อความแข็งแรง แล้วจึงพับตอกซังที่เหลือเก็บเป็นขอบโดยบิดตอกให้โค้งไปตามขอบภาชนะและสอด ปลายตอกที่เหลือลงข้างล่าง