วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
27/10/2008
ที่มา: 
เว็บไซต์ล้านนาคดี http://lanna.mju.ac.th/ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ "ทุกภาพ ทุกตัวอักษร มอบเป็นวิทยาทานแด่ทุกท่าน"

หลัว

 


หลัว หรือ ฟืน เป็นสิ่งจำเป็นในการก่อไฟเพื่อการหุงต้ม ชาวบ้านจัดหาฟืนมาไว้ข้างๆ แม่ชีพไฟหรือเตาไหให้มีปริมาณพอใช้การได้อย่างสม่ำเสมอ ในการนำฟืนมาวางไว้นี้ นิยมใส่ไว้ในซองหลัวหรือกวยหลัว (อ่าน “ ก๋วยหลัว ” ) ซึ่งเป็นตะกร้าสานให้ตาห่างๆ ซึ่งอยู่ใกล้กับแม่ชีไฟ ถ้าไม่มีซองหลัวหรือกวยหลัวแล้ว ก็จะวางหลัวไว้ที่กองหลัว (อ่าน “ ก๋องหลัว ” ) ซึ่งอยู่ใกล้ๆ กับแม่ชีไฟ

หลัวหรือฟืนที่ใช้นี้จะเป็นท่อนไม้ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๕ เซนติเมตร ยาวประมาณ ๑ ศอก หลัวที่ได้จากการผ่าท่อนไม้ขนาดใหญ่จะเรียกว่าหลักโบะ ส่วนฟืนที่ได้จากกิ่งไม้ที่ตัดเป็นท่อนตามต้องการจะเรียกว่า หลัวค้อน (ไม่นิยมใช้ไม้ไผ่ในการทำเป็นฟืน) ชาวบ้านจะเก็บหลัวที่ตัดหรือผ่าแล้ว และผ่านการตากให้แห้งสนิทแล้วนำไปเรียงไว้ในแอ้มหลัว คือบริเวณที่มีหลักปักไว้เพื่อประคองอยู่ด้านข้างของกองหลัวเพื่อให้หลัว ทั้งหมดเรียงกันอยู่อย่างเป็นระเบียบ และแอ้มหลัวมักจะอยู่ในบริเวณที่ไม่ถูกฝน เช่น ใต้ถุนบ้านหรือใต้ถุนยุ้งข้าว เป็นต้น

อนึ่งฟืนที่เป็นท่อนขนาดใหญ่ที่ใช้สุมไฟเพื่อไล่ริ้นยุงหรือการย่างพริกแห้งนั้น เรียกว่าดุ้นหลัว ทั้งนี้สามารถแยกกล่าวถึง หลัว ได้ดังนี้

หลัวสามารถจำแนกชนิดต่างๆ ได้ ดังนี้

  • หลัวโขบ

หลัวโขบ คือหลัวที่ผ่าออกมาเป็นซีกๆ แล้วนำใส่เกวียนบรรทุกมาบ้าน หลัวโขบนั้นส่วนใหญ่มักเป็นไม้ประเภทเนื้ออ่อน เช่น ไม้มะเฟืองดง ไม้ปอขี้แฮด ไม้พันแถ ไม้ฮ่าง เป้ฯต้น เพราะไม้เหล่านี้ส่วนมากเป็นไม้ใหญ่ เมื่อต้นเล็กๆ หรือขนาดพอเหมาะ คนก็ไม่เอามาเป็นหลัว เนื่องจากไม้อื่นๆ มีจำนวนมากมายนั่นเอง ไม้เหล่านี้บางท่อนหรือบางต้นมีขนาดสองสามคนโอบก็มี เมื่อล้มขอนนอนไพรหรือหักโค่นลง จะเอามาบ้านทั้งท่อนหรือทั้งต้นไม่ได้ เนื่องจากใหญ่โตเกินกำลังที่จะเอามาบรรทุกเกวียนนั่นเอง ดังนั้นจึงมีการผ่าออกเป็นท่อนๆ หรือซีก

การผ่าไม้ขนาดใหญ่นั้นทำได้ลำบาก เพราะลำไม้ใหญ่หรือลึกกว่าคมขวาน จึงต้องใช้ขวานสับเข้าไปให้เป็นรอย จากนั้นก็เอาลิ่มไม้มาตอกเข้าไปในแนวตรงกันหลายๆ อัน แล้วตกลิ่มจนไม้ผ่าออกเป็นสองซีกหรือสามสี่ซีกตามต้องการ จากนั้นก็เอาบรรทุกเกวียนมาบ้านแล้วก็ตัดทอนลงให้สั้นตามต้องการและผ่าออก เป็นท่อนๆ ตามความเหมาะสม หรือยัดเข้าไปในเตาไฟขณะทำอาหารได้ หลังจากนั้นก็เอาเก็บไว้ในแอ้มหลัว เพื่อรอการนำไปใช้ต่อไป

  • หลัวค้อน

หลัวค้อน คือหลัวที่เป็นท่อนขนาดพอเหมาะมือ อาจจะใหญ่กว่าความพอเหมะมือบ้าง เล็กกว่าบ้างเล็กน้อยก็ได้ ไม้หัวค้นส่วนมากมักเป็นไม้เบญจพรรณหรือไม้ทั่วไป เช่น ไม้เหียง ไม้ทึง ไม้เพา ไม้แงะ ไม้ส้าน ไม้ตึ่ง ไม้มะเฟืองดง ไม้ปอขี้แฮด เป็นต้น และยังรวมถึงไม้จากต้นไม้ในสวน เช่น ลำไยหรือมะม่วง เป็นต้น

การตัดหลัวค้อนนั้น มักตัดมาเป็นท่อนๆ ตามความยาวสุดของกิ่งไม้ที่สามารถใช้เป็นฟืนได้ จากนั้นก็แบกโดยการมัดมาทีละท่อนสองท่อน หรือคนที่มีล้อเกวียนก็เอาล้อเกวียนลากมาบ้าน จากนั้นก็เอามาทอนให้สั้นลงขนาดศอก ถ้าท่อนไหนใหญ่เกินพอดี คือใหญ่เกินจะเข้าในแม่ชีไฟได้ ก็จะจัดการผ่าให้เล็กลง บางทีก็อาจจะผ่าสอง ผ่าสาม ผ่าสี่ คือท่อนหนึ่งๆ ผ่าออกเป็นสองส่วน สามส่วน สี่ส่วนก็ได้ การเอาหลัวค้อนมาตัดและผ่าที่บ้านต้องทำให้เสร็จเสียก่อนที่มันจะต่ำทึก คือหนึกหนากหรือแห้ง เพราะถ้าปล่อยให้มันหนึกหนากแล้วจะตัดลำบาก สู้ตัดเมื่อมันยังดิบไม่ได้

เมื่อตัดหลัวนี้แล้วก็ปล่อยทิ้งไว้ให้แห้ง บางคนเอามาสุมกันโดยตั้งกองสุมรวมกัน บางคนก็ทิ้งไว้อย่างนั้น ปล่อยให้แห้งไปเองตามธรรมชาติ ซึ่งเสียเวลาอีกหลายวัน จากนั้นเมื่อมีเวลาว่างก็จะเอาไปเรียงซ้อนกันในร่ม อาจจะเป็นผามหลัว ผามมอง หรือ หลองเข้า ก็ได้

  • หลัวเตาไฟควาย

หลัวเตาไฟควาย คือฟืนที่ใช้สุมไฟไล่ยุงให้ควายซึ่งเป็นสัตว์ใช้แรงงาน โดยเฉพาะการทำนาเนื่องจากในหน้านานั้น ชาวนากับควายมีความใกล้ชิดกันมาก ดังนั้นเมื่อเห็นวัวควายถูกริ้นยุงไต่ตอมก็อดสงสารไม่ได้ ก็ต้องมีการสุมไฟไล่ยุงให้ การสุมไฟย่อมใช้ฟืนเป็นตัวสำคัญ เลยเรียกรวมๆ ว่า หลัวเตาไฟควาย ไม้ฟืนเหล่านี้ส่วนมากมักหาเอาเองตามบ้าน เช่น ตอไม้ผุ เศษไม้ที่ไม่ใช้ประโยชน์อย่างอื่น บางทีก็ไปหาเอาตามชายป่าใกล้บ้านก็มี เมื่อได้มาแล้วก็ตัดให้สั้นประมาณศอกเศษๆ แล้วเอามาสุมไฟโดยเอาไม้เล็กๆ ประกอบด้วย เมื่อติดไฟดีแล้วก็เอาหญ้าสดบ้าง ใบไม้บ้างโปะเข้าไป จากนั้นก็เอาขี้วัวขี้ควายมาโปะอีกชั้นหนึ่ง เพื่อจะเกิดควันมากและไหม้ช้าตลอดคืน ดังนั้นบ้านใดมีวัวควาย จะเห็นว่าพอถึงตอนเย็น บ้านนั้นจะมีควันคลุ้งไปหมด ดังนั้นไม้หลัวเตาไฟควายจึงไม่เลือกไม้จะเป็นไม้อะไรก็ได้

  • หลัวท่อน (อ่าน “ หลัวต้อน ” )

หลัวท่อนคือหลัวไม้แก่นทั่ว ๆ ไป จะเป็นไม้อะไรก็ได้ เช่น ไม้ทึง ไม้เหียง ไม้มะเฟืองดง ไม้ปอขี้แฮด ไม้เบาะเส้า ไม้หนังดำ ไม้พ่อง ไม้ส้าน ไม้แคแล ไม้แคแถ ไม้แคค่อง ไม้เกล็ดปลิ้น ไม้บ่าขี้อ้าย ไม้พุย ไม้พันแถ เหล่านี้ เป็นต้น เรียกว่าเป็นไม้เกือบทุกชนิด ยกเว้น ไม้สัก ไม้ประดู่ ไม้แดง ไม้เลียง ไม้มันปลา ซึ่งเป็นไม้เนื้อแข็ง ผ่าทำเป็นฟืนยาก สำหรับไม้สักนั้นผ่าง่าย แต่เวลาเอามาดังไฟ จะมีควันมากกว่าไม้อื่น ๆ รวมทั้งมีถ่านมีขี้เถ้ามาก คนไม่นิยมกัน ไม้เหล่านี้มักเป็นไม้ขอนนอนไพร ไม้ตายขาน บางคนไปกานไว้เพื่อให้ตายขานเป็นเวลานาน ๆ จนคนอื่นมาเอาไปเสียก่อนก็มี และไม้ที่ได้จากพืชสวน เช่น กระท้อน ลำไย มะม่วง ขนาดเดียวกันก็ถือเป็นหลัวท่อนได้

การไปหาหลัวท่อนนั้น ส่วนมากเอกล้อเกวียนเข้าไปในป่าลึก ๆ ต้องห่อเข้าทอน (อ่าน “ เข้าตอน ” ) หรือห่ออาหารกลางวันไปกินด้วยและมักไปกันหลายคน เมื่อได้ไม้ตามต้องการแล้วก็ช่วยกันตัดเป็นท่อนให้มีความยาวขนาดพอที่จะใส่ เรือนเกวียนได้ คือไม่ยาวล้ำออกมามาก แต่บางทีไปพบมันยาวเกินนั้นไปบ้างก็เอามาด้วย โดยไม่ตัดให้สั้นลงแต่อย่างใด เมื่อเอามาบ้านแล้วก็เอามากองไว้ก่อน หากมีเวลาว่างก็จะตัดออกเป็นท่อนสั้นขนาดศอก บางทีก็เอาหงายไว้ให้คนนั่งเล่นแทนเก้าอี้ก็มี แล้วก็ใช้ขวานผ่าออกเป็นท่อนเล็กขนาดใส่ในเตาไฟได้สะดวก เวลาเก็บก็เอาใส่ในระหว่างเสาผามหลัว ผามฅวาย หรือผามมอง เรียกว่าใส่แอ้มหลัว บ้านใดมีหลัวเหล่านี้มากสองสามแอ้มก็พอใช้ได้ตลอดปี ก็แสดงว่าบ้านนั้นคนขยันหมั่นเพียรในการงาน ใครผ่านไปมาก็เห็นก็ยังนึกชมในใจว่า คนบ้านนี้ขยัน

  • หลัวผีตาย (อ่าน “ หลัวผีต๋าย ” )

หลัว ผีตาย คือฟืนที่ใช้เผาศพคนตายในป่าช้า สมัยก่อนเมื่อคนเราเปลี่ยนจากการฝั่งศพมาเป็นการเผา ก็ไปหาฟืนในป่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งชนบทบางแห่งป่าช้าอยู่ใกล้กับป่าฟืนการไปหาฟืนนั้นง่ายมาก เพียงแต่ขอแรงหนุ่ม ๆ สัก ๓-๔ คนไปหามาเท่านั้น ก็พอใช้งานแล้ว บางแห่งไปช่วยกันแบกมาเท่านั้นไม่ต้องออกแรงใช้มีดใช้ขวานแต่อย่างใด การเผาศพใช้ฟืนมากประมาณ ๑ ลำเกวียน สำหรับศพแล้ว ไม่มีใครรังเกียจกันในเรื่องการหาฟืน แต่กลับถือว่าได้บุญกุศลมากเสียอีก ดังปรากฏในธัมม์หรือคัมภีร์เรื่องอานิสงส์ทานคราบ เป็นต้น ในสมัยที่เตาเผาศพยังไม่เป็นเมรุ ไม้ฟืนที่เผาก็เป็นไม้ทั่วไปเหมือนกับฟืนที่ใช้ในบ้าน เพียงแต่ท่อนโตกว่าเท่านั้น พอบ้านเมืองเจริญขึ้น ฟืนหายากขึ้นทุกทีก็มีการบอกบุญขอฟืนมาเผาศพด้วย บางหมู่บ้านก็กะเกณฑ์คนหนุ่มสาวออกไปตัดฟืน บางหมู่บ้านก็เก็บเอามาจากบ้านในหมู่บ้านนั้นหลังคาเรือนละท่อนจึงเกิดมี ประเพณีใหม่ขึ้นว่า ถ้าได้ยินเสียงสัญญาณกะหลกหรือกลองที่ตีสัญญาณบอกว่ามีคนตาย เมื่อเวลาไปร่วมงานศพก็จะเอาฟืนไปด้วยเสมอ อย่างน้อยบ้านละ ๑ ท่อน และมากยิ่งกว่านั้นก็มีการนำเอาข้าวสารไปด้วยหลังคาละทะนาน บางหมู่บ้านก็มีเงินติดไปร่วมทำบุญด้วยหลังคาละ ๑๐ บาท ก็เลยกลายเป็นการเข้ากลุ่มฌาปนกิจไปในตัว บางหมู่บ้านก็มีข้อตกลงกันว่า เมื่อมีศพในหมู่บ้าน คนในหมู่บ้านนั้นต้องมาช่วยงานศพอย่างน้อยสองวัน คือวันตายกับวันเสีย ต้องมีปี่พาทย์ ฆ้อง กลองวงด้วย คือมีปี่พาทย์ลาดตะโพน หรือการประโคมดนตรี ดังนั้นเพื่อเป็นการเสมอหน้ากันว่าคนจนหรือรวยก็มีคนมาช่วยงานศพเท่า ๆ กัน หรือเกือบจะเท่า ๆ กัน
กล่าวกันว่าหากใช้หลัวจากไม้ที่ผลมีรสเปรี้ยว เช่นไม้มะม่วง ไม้มะปราง ไม้มะไฟแล้ว เมื่อเผาศพ ๆ จะลุกขึ้นนั่งเองได้
ส่วน หลัวที่ใช้เผาศพพระสงฆ์หรือเจ้านายชั้นผู้ใหญ่จะใช้ไม้ที่มีกลิ่นหอม หรืออาจใช้ไม้ธรรมดาแต่ทาด้วยขมิ้นหรือใช้กระดาษทองคาดหัวท้ายก็ได้

  • หลัวเมตร

หลัวเมตร ก็คือหลัวที่ยาวเป็นเมตรนั่นเอง โดยข้อเท็จจริงหลัวเมตรนั้นไม่ได้ยาว ๑ เมตร แต่มีความยาวเพียง ๙๐ เซนติเมตรเท่านั้น นั่นคือ ความยาว ๑ หลา คนไทยเราไม่นิยมเรียกขานความยาวว่า “ หลา ” แต่ถนัดเรียกว่า “ เมตร ” มากกว่า เลยเรียกว่า “ หลัวเมตร ” มาจนติดปากกันทั้งบ้านทั้งเมือง หลัวเมตร คือหลัวท่อนหรือหลัวโขบที่ตัดให้ได้ความยาว ๙๐ เซนติเมตร แล้วนำมาผ่าออกให้ได้ขนาดตามต้องการนั่นเอง

การทำหลัวเมตร สมัยก่อนจะใช้ในกิจการของโรงบ่มยาสูบ การรถไฟเป็นส่วนใหญ่ คนทั่วไปไม่ใช้หลัวชนิดนี้ เพราะใหญ่และยาวจนเข้าเตาไฟไม่ได้ สมัยก่อนการทำเตาบ่มใช้หลัวเมตรทั้งสิ้น โดยการขออนุญาตจากป่าไม้อำเภอ ทางราชการจะเก็บค่าธรรมเนียมหรือภาษี ลูกบาศก์เมตรละประมาณ ๗-๑๐ บาท ซึ่งนับว่าแพงเอาการในสมัยประมาณ พ.ศ.๒๕๐๐ ในแต่ละปีทางโรงบ่มขนาดใหญ่ประมาณ ๘-๑๐ เตา ใช้หลัวเมตรประมาณ ๒๐๐ เมตร (ลูกบาศก์เมตร) ขึ้นไป ดังนั้นการทำลายป่าแบบถูกกฎหมายจึงมีมาก ไม้ที่ใช้มักเป็นไม้เบญจพรรณ คือไม้เนื้ออ่อน เช่น ไม้ยาง ไม้มะเฟืองดง ไม้ปอขี้แฮด เป็นต้น ไม้เหล่านี้ต้นโตๆ ทั้งนั้น อย่างน้อยก็เป็นโอบขึ้นไป เมื่อตัดเป็นท่อนประมาณ ๙๐ เซนติเมตรแล้ว ก็จะใช้ขวานอเมริกันผ่านั้นและถ้าไม้แตกก็ตอกลิ่มให้แตก การใช้ขวานอเมริกันผ่านั้น ก็เพราะหน้าขวานมีความกว้าง น้ำหนักเหมาะมือ ขวานไทยสู้ไม่ได้ก็ตรงนี้เอง เมื่อผ่าออกมาแล้ว และได้จำนวนมากพอก็จะปักหลักไม้ขนาดเท่าขาห่างกันสองต้นตามความยาวเป็นเมตร เอาหลัวนี้ใส่จนเต็ม และให้มีความสูง ๑ เมตรโดยตลอด ดังนั้นหลัวเมตร ก็คือหลัวที่มีความยาวของที่บรรจุ ๑ เมตร แต่ตัวหลัวท่อนหนึ่งๆ ยาวเพียง ๙๐ เซนติเมตรเท่านั้น ราคาซื้อขายที่ป่าก็ประมาณเมตรละ ๑๒ บาท(พ.ศ.๒๕๐๐) จะเห็นว่าถูกมาก แต่อย่าลืมว่า ตอนนั้นการไปรับจ้างดำนา เกี่ยวข้าว ค่าแรงวันละ ๗-๘ บาท เท่านั้น

  • หลัวไม้บั่ว

หลัวไม้บั่ว หรือ หลัวบั่ว คือไม้ฟืนที่เป็นไม้ประเภทไม้ไผ่นั่นเอง ตามธรรมดาคนเราไม่ใช้ไม้บั่วมาทำฟืน คนไหนเอามาทำฟืน เพื่อนบ้านมักจะเยาะเย้ยว่าเป็นหน้าตัวเมียหรือพู้เมียคือกะเทยบ้าง เพราะการไปหาหลัวบั่วนั้นมันง่ายเกินไป ไม่สนศักดิ์ศรีของความเป็นชาย หลัวบั่วจะใช้ในกรณีเดียวคือ เอามาเผาเหล็กรัดตีนล้อเกวียนเท่านั้น เพราะว่ามันไหม้เร็ว ลุกติดไฟง่ายพร้อมๆ กัน

การไปหาหลัวไม้บั่วก็ไปหาเอาตามป่า ส่วนมาใช้ไม้ไผ่กันเป็นพื้น เพราะไม้ไผ่ค่อนข้างจะหนา หาง่าย เพียงแต่ไปหาตัดเอาตามกอไผ่ ใกล้ลำน้ำ บางแห่งกอไผ่ตายเป็นกอๆ ก็ตัดเอามาทั้งกอก็มี

หลัวบั่วอีกประเภทหนึ่ง คือ ฟากผุ ตงผุ อาจจะเป็นดงบ้าน ยุ้งข้าว หรืออะไรก็แล้วแต่ ส่วนมาไม้เหล่านี้เมื่อหมดอายุ เราก็จะเอาทิ้งไป แล้วเอาอันไหมใส่เข้าไปแทน พวกผู้หญิงมักเอามาต้มบอนให้หมู ต้มหยวกบ้างก็เท่านั้นเอง การเอาไม้ฟากเก่า ไม้ตงผุมาเป็นเชื้อเพลิงนั้น ในล้านนาถือกันว่าต่ำอย่างยิ่ง ไม่ควรทำ ดังนั้นจึงไม่มีใครเอามาทำฟืนนึ่งข้าวหรือทำกับข้าวแต่อย่างใด

  • หลัวไม้ล่ำ/หลัวไม้ลำบอ

ไม้ล่ำ หรือ ไม้ลำบอ ก็คือไม้ที่มีขนาดพอเหมาะ เส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน ๘ นิ้ว แต่ก็ใหญ่กว่าหลัวค้อน หากเป็นไม้ที่ได้จากป่าก็มักเป็นไม้เบญจพรรณ เช่น ไม้เหียง ไม้ทึง ไม้มะเฟืองดง ไม้หนังดำ ไม้ปอขี้แฮด ไม้ตึ่ง ไม้เส้าเบาะ ไม้เกล็ดปลิ้น ไม้ส้าน ไม้จะล่อควายไห้ ไม้แคค่อง ไม้แคแล ไม้พันแถ ไม้แคแถ เหล่านี้เป็นต้น หลัวไม้ล่ำบางทีก็เป็นไม้ตายขาน บางทีคนไปกานไว้ก่อนตั้งหลายเดือนหรือร่วมปีเพื่อให้มันตายขานเพราะมันเบา เอากลับมาบ้านได้ง่าย อาจจะแบกมาทีละท่อนหรือใส่เกวียนมาก็ได้ เมื่อถึงบ้านแล้วจึงจะทอนให้สั้นในภายหลัง พวกที่แบกมาทีละท่อนนั้น มักเป็นพวกที่เข้าป่าเสมอๆ และไม้ที่ได้จากต้นไม้ในบ้านอย่างมะม่วงหรือลำไยที่ขนาเดียวกันนี้ ก็เรียกว่า หลัวไม้ต่ำ ด้วยเช่นกัน

เมื่อเอามาบ้านแล้ว ก็ตัดทอนให้สั้นลงประมาณท่อนละศอกเศษ แล้วก็จัดการผ่าออกให้มีขนาดที่จะใช้การได้ ตากแดดให้แห้งสนิท จากนั้นก็เก็บไว้ใน

  • หลัวเสี้ยน

หลัวเสี้ยน คือ เศษฟืนหรือฟืนที่เกรียกให้เป็นชิ้นบางๆ มีขนาดยาวประมาณ ๑ คืบ ใช้สำหรับช่วยให้ไฟติดได้ง่ายในการก่อไฟ ในการเริ่มก่อไฟในเตานั้น ชาวบ้านนิยมใช้ฟืนสองดุ้นวางให้ปลายชนกันทำมุมประมาณ ๔๕ องศา แล้วใช้หลัวเสี้ยน วางพาดบนดุ้นฟืนให้อยู่ในท่าเอน จากนั้นจึงใช้หลัวเสี้ยนอีกอันหนึ่งจุดไฟแล้วสอดเข้าใต้หลัวเสี้ยนที่วางไว้ ก่อนหน้านั้น เมื่อเห็นว่าไฟลุกแล้ว จึงใช้ฟืนวาทับลงบนหลัวเสี้ยนนั้นอีกทีหนึ่ง แล้วรอจนไฟติดดี ซึ่งหากจำเป็นก็อาจใช้กล้องเป่าไฟ เป่าลมช่วยให้ไฟติดดีก็ได้

นอกจากนี้ บางท่านกล่าวถึงหลัวเสี้ยนอีกแง่หนึ่งว่า หลัวเสี้ยน คือ หลัวที่ผ่ามาจากท่อนไม้ในป่าท่อนโตๆ โตเกินกว่าคนเราจะแบกมาได้คนเดียว สมัยก่อนไม้ในป่ามีมากมาย ทั้งไม้ล้มขอนนอนไพร ไม้สดยืนต้น ไม้ตายขานคือไม้ที่ยืนต้นตายเป็นแนว เมื่อไม้เหล่านี้ล้มขอนก็มักมีคนมาตัดเอาไปเป็นหลัว ไม้บางอย่างเป็นไม้เนื้อแข็ง ยากแก่กาเอามีดหรือขวานมาตัด บางทีท่อนก็โตเกินไป ต้องใช้มุยโบะหลัวหรือขวานสำหรับผ่าฟืนมาผ่าเอา จากนั้นก็นำตอกมามัดแล้วหาบกลับบ้านทีละหาบ ใช้ทำครัวได้นาน ๓-๔ วัน จากนั้นก็มาผ่าเอาไปอีก ไม้เนื้อแข็งเหล่านี้ ได้แก่ ไม้ตะเคียน ไม้ประดู่ ไม้แดง ไม้แงะ ไม้เพา เป็นต้น การโบะหลัวเสี้ยนนั้นก็ใช่ว่าทำได้ง่ายๆ เพราะเนื้อไม้มักจะสน ไม่โล่งอย่างที่คิด หลัวที่ออกมาย่อมหนาบ้าง บางบ้าง สั้นๆ ยาวๆ ไม่เป็นระเบียบ มักจะมีเสี้ยนมาก จึงเรียกว่าหลัวเสี้ยน บางคนก็เอาเลื่อยมาตัดเป็นท่อนขนาดพอเหมาะที่จะแบกไปบ้านได้ หรือบางคนตัดออกเป็นท่อนขนาดศอกหนึ่งหรือศอกเศษๆ ใช้ขวานผ่าเป็นท่อนๆ แล้วมัดแบกกลับบ้านก็มี ดังนั้นการไปเอาหลัวอย่างนี้มักเป็นการไปเอาแบบชั่วคราว หรือคนที่ไม่มีล้อเกวียนที่จะลากเท่านั้น ส่วนคนที่มีล้อเกวียนก็ไม่เอาไปบ้านเพราะมันผ่ายาก เป็นเสี้ยนมากดังกล่าว

  • หลัวหิงพระเจ้า

หลัวหิงพระเจ้า หลัวพระเจ้า หรือหลัวหิงไฟพระเจ้า คือฟืนที่พระสงฆ์สามเณรและชาวบ้านจัดหามารวมทำเป็นกองแล้วจุดไฟถวายตอนใกล้ รุ่งในฤดูหนาว เพื่อถวายแก่พระพุทธรูปในวิหาร ชาวล้านนาถือว่าพระพุทธรูปเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้า เป็นเหมือนกับมีชีวิตจิตใจ มีความรู้สึกว่าหนาวหรือร้อน เมื่อถึงหน้าหนาวก็คิดว่าพระพุทธรูปหนาว จึงได้จัดหาฟืนจุดไฟให้พระพุทธรูปได้ผิงไฟเพื่อแก้หนาว โดยเฉพาะในช่วงเดือน ๔ ของล้านนาซึ่งตรงกับประมาณเดือนธันวาคม-มกราคม ซึ่งมักจะมีพิธีทานเข้าใหม่ ทานเข้าล้นบาตร และทานหลัวหิงไฟพระเจ้า ในระหว่างเดือน ๔ ที่มีการเก็บเกี่ยวหรือเกี่ยวเข้าเอาเฟือง เมื่อเวลาใดว่าง ชาวบ้านก็จะหาหลัวพระเจ้าหรือฟืนเพื่อก่อไฟถวายแก่พระพุทธรูปไปด้วย ไม้สำหรับทำหลัวผิงพระเจ้ามีหลายชนิด เช่น ไม้ชี่ กิ่งไม้พันแข เป็นต้น แต่ต่อมาไม้พวกนี้หายากจึงหันมาเอากิ่งไม้ฉำฉา ซึ่งมีกิ่งสวยงามและหาง่าย เมื่อได้กิ่งไม้ตามที่ต้องการจึงนำมาปอกเปลือกให้เห็นเนื้อไม้เป็นสีขาวตาก แดดให้แห้ง บางคนก็ทาขมิ้นให้มีสีเหลืองและมีกลิ่นหอม เมื่อก่อนใช้ขนาดความยาวประมาณ ๑ วา ถ้าขนาดสั้นก็ประมาณ ๑ ศอก เมื่อแห้งแล้วจึงนำมาถวายให้พระสงฆ์ที่วัดช่วยจัดการให้ พระภิกษุสามเณรก็จัดรวมกันเข้าไว้เป็นกอง กองหลัวหรือกองฟืนแต่ละกองมีจำนวน ๘๐ ดุ้น เท่ากับอายุของพระพุทธเจ้า ถ้าฟืนมีจำนวนมากกว่านี้ก็จัดเป็นอีกกองหนึ่ง โดยจัดไปตั้งสุมไว้ที่ลานข่วงตรงกับหน้าพระประธานที่หน้าวิหารตั้งถ่าง โคนออกให้ปลายสุมเข้าหากัน ข้างในใส่ใบคาแห้งไว้ เมื่อถึงเวลาประมาณตี ๔ เจ้าอาวาสหรือพระภิกษุจะนำไฟมาจุดเพื่อให้กองฟืนลุกโชน และว่าพระพุทธรูปจะได้ผิงไฟนั้นให้คลายหนาว ผลดีของการจุดหลัวผิงพระเจ้า ก็คือทำให้บริเวณนั้นมีความอบอุ่น ดีสำหรับผู้เฒ่าผู้แก่ที่มาทำบุญที่วัด จะได้คลายหนาวได้บ้าง

ต่อมาสมัยหลัง พระภิกษุน้อยเณรหนุ่มพากันออกหาฟืนเพื่อเตรียมไว้เป็นหลัวพระเจ้า ชาวบ้านเมื่อเห็นพระภิกษุสามเณรจัดหาฟืนมาเองก็เลยปล่อยให้เป็นหน้าที่ของ พระเณร พระภิกษุสามาเณพที่เกเรก็อ้างการไปตัดหาหลัวหิงพระเจ้า เพื่อเที่ยวในป่าแล้วทำการไล่เหล่าล่าสัตว์ เช่น กระรอก เป็นต้น ซึ่งกลายเป็นเรื่องสนุกสนานของพระหนุ่มเณรน้อยไป และเป็นจุดหนึ่งที่ทำให้พระภิกษุสามเณรประพฤติย่อหย่อนในพระธรรมวินัย จนสมัยพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ เจ้าหลวงเชียงใหม่ ลำดับที่ ๖ (พ.ศ.๒๓๙๙-๒๔๑๓) พร้อมทั้งพระสงฆ์ระดับผู้ปกครอง จึงได้ตั้งระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ขึ้น ห้ามพระภิกษุสามเณรเข้าป่าล่าเถื่อน การณ์ทั้งหลายก็ดีขึ้นเรื่อยมา

ฟืนที่ใช้หลัวหิงไฟพระเจ้านี้ปกติยาวประมาณ ๑ วา แต่โบราณนั้นเมื่อพระเณรเป็นผู้ตัดก็ตัดยาว ๒-๓ วา นำมาสุมที่ลานหน้าวิหารเป็นกองสูง ข้างในนอกจากจะใส่ใบคาแล้ว ยังนำท่อนไม้ไผ่หรือประทัดใส่ไว้ด้วย เพื่อให้เกิดเสียงดังสนั่นหวั่นไหวอีกด้วย ต่อมาไม้หายากขึ้น พระสงฆ์และชาวบ้านเห็นว่าเป็นสิ่งไม่จำเป็น จึงค่อยเลิกและหายไป ปัจจุบันที่ยังมีอยู่บ้างก็มีในท้องถิ่นชนบท บางแห่งเท่านั้นที่ยังทานหลัวหิงไฟพระเจ้าอยู่

บางท่านให้ข้อมูลว่า หลัวหิงพระเจ้า เป็นธรรมเนียมจากชาวไทใหญ่ ซึ่งเรียกว่า ทานเคียะหรือทานต้นเคียะ (อ่าน “ ตานเกี๊ยะ ” ) โดยการเอาไม้หลัวมาสุมกันเป็นกองโตสูงท่วมหัว แล้วมีงานรื่นเริงกันพร้อมกับการทำบุญไปด้วย หลัวส่วนหนึ่งจะเก็บไว้ให้พระสงฆ์เอาไว้ใช้ต่อไป กลางคืนมีการเทศน์การละเล่นต่างๆ เช่น การเต้นโต ฟ้อนกิ่งกะหล่า ฟ้อนเชิง ฟ้อนดาบ ตบมะผาบ เป็นต้น