วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
27/10/2008
ที่มา: 
เว็บไซต์ล้านนาคดี http://lanna.mju.ac.th/ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ "ทุกภาพ ทุกตัวอักษร มอบเป็นวิทยาทานแด่ทุกท่าน"

ชงโลง


ชงโลง บางทีก็เรียกว่า โชงโลง กะโซ้ หรือที่โพงน้ำ ชงโลงเป็นเครื่องมือชนิดหนึ่งของชาวบ้าน ซึ่งใช้สำหรับวิดน้ำหรือโพงน้ำ ส่วนใหญ่ใช้วิดน้ำเพื่อทำการเพาะปลูกพืชพรรณต่าง ๆ หรือวิดน้ำจับปลาไว้เป็นอาหาร ชงโลงมีลักษณะคล้ายเรือครึ่งท่อน แต่มีลักษณะเล็กกว่า วัสดุที่นำมาทำชงโลงใช้ผิวไม้ไผ่จักเป็นตอก และมักจะสานเป็นลายสองหรือลายสาม ที่ปลายขอบจะเหลาไม้ไผ่หนาประมาณครึ่งเซนติเมตร แล้วใช้ไม้ไผ่ประกบตอกที่สานสานในส่วนปลายขอบ เพื่อให้มีความคงทนถาวรไม่หลุดลุ่ยได้ง่ายไม้ไผ่ที่ใช้สำหรับประกบนั้นจะมัด ด้วยหวาย ซึ่งชาวบ้านมักจะเรียกว่า การขอดหัวหรือการขอดหัวแมลงวัน เป็นการผูกมัดเงื่อนหวายให้แน่นวิธีหนึ่ง

ชงโลงมีด้ามยาว ๆ ทำด้วยไม่ไผ่เช่นกัน ไม้ไผ่ส่วนปลายที่ติดกับปากชงโลงใช้ไม้จริงค่อนข้างเหนียว สมัยโบราณนิยมใช้ไม้ข่อยเจาะรูไม้ไผ่แล้วใช้ไม้ข่อยสอดรูให้ได้พอดิบพอดี มีลักษณะเหมือนไม้กางเขน ใช้หวายผูกมัดไม้ข่อยอีกครั้ง ส่วนปลายบนอาจจะทำในลักษณะค้ำยันด้วยไม้ไผ่สามเส้า ชาวบ้านเรียกขาหยั่ง เอาปลายเชือกมัดหลักที่ค้ำยันนั้น เวลาโพงน้ำหรือวิดน้ำจะจับด้ามชงโลงตักน้ำสาดไปข้างหน้า

ปัจจุบัน การใช้ชงโลงวิดน้ำเพื่อการเกษตรหรือการจับสัตว์น้ำ มักไม่ค่อยใช้กันเหมือนในอดีตแล้ว เพราะมีเครื่องสูบน้ำเข้ามาใช้แทนที่ บางสถานที่ยังมีการใช้ชงโลงอยู่บ้าง แต่ชงโลงแทนที่จะสานด้วยไม้ไผ่ จะใช้กระป่องหรือปี๊บทำเป็นชงโลงใช้วิดน้ำแทน

ผู้ให้ข้อมูล

๑ . บุญเกลียว อิ่มขุนทอง , นาย อายุ ๖๘ ปี บ้านเลขที่ ๖๔ ต . วังทอง อ . วังทอง จ . พิษณุโลก

๒ . เปย น้อยทิม , นาย อายุ ๖๘ ปี บ้านเลขที่ ๑๒ หมู่ ๖ ต . โตนด อ . คีรีมาศ จ . สุโขทัย

๓ . สงัด เขียวขำ , นาย อายุ ๖๐ ปี บ้านเลขที่ ๑๓๖ หมู่ ๓ ต . วังน้ำคู้ อ . เมือง จ . พิษณุโลก

๔ . สำเนียง กุฎิมณี , นาย อายุ ๗๓ ปี บ้านเลขที่ ๔๑ / ๑ ต . ในเมือง อ . เมือง จ . สุโขทัย

๕ . อู๊ด ศรีสวัสดิมงคล , นาย อายุ ๖๐ ปี บ้านเลขที่ ๑๒๐ / ๑ หมู่ ๗ บ้านหัวปลาสร้อย ต . วังนกแอ่น

อ . วังทอง จ . พิษณุโลก