วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
27/10/2008
ที่มา: 
เว็บไซต์ล้านนาคดี http://lanna.mju.ac.th/ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ "ทุกภาพ ทุกตัวอักษร มอบเป็นวิทยาทานแด่ทุกท่าน"

ปัจจัยไม้


ปัจจัยไม้
เป็นภาชนะทำด้วยไม้สักแกะเป็นรูปสัตว์ต่างๆ ภายในตัวสัตว์เจาะเป็นรางลึกเพื่อบรรจุของมีค่า เครื่องหมากพลูยาสูบ และสิ่งของอื่นๆถวายพระภิกษุสงฆ์ หรือเก็บไว้ในบ้านเรือนของตน

ปัจจัยไม้เดิมทีเดียวเกิดจากประเพณีการเทศน์มหาชาติ ซึ่งน่าจะเริ่มมีใช้ปัจจัยมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าทรงธรรมแล้วเพราะคนไทยสมัย นั้นนิยมฟังและรับกัณเทศน์ ซึ่งสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพิเคราะห์สาเหตุ การเทศน์มหาชาติเป็นที่

นิยมกันในพวกคนไทยเพราะมีสาเหตุสรุปได้ ๓ ประการ คือ

๑ . เชื่อกันว่าเป็นพุทธวัจนะ ซึ่งพระพุทะเจ้าตรัสประทานแด่ภิกษุสงฆ์ พุทธบริษัท ณ นิโครธาราม ในกรุงกบิลพัสดุ์ผู้ใดสดับย่อมเกิดสิริมงคลเป็นกุศลบุญราศี ผู้แสวงบุญจึงมุ่งหมายจะบำเพ็ญ

๒ . เชื่อกันว่าพระศรีอาริยเมตไตรยเทพบุตร ซึ่งจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต ถ้าผู้ใดปรารถนาจะเกิดในสมัยพระศรีอาริย์ที่เต็มความสมบูรณ์พูนสุขแล้ว ต้องตั้งใจเรื่องพระเวสสันดรชาดกให้ครบหนึ่งพันคาถาในวันและคืนเดียวกัน

๓ . การฟังเทศน์มหาชาติทำให้เกิดความสนุกเพลิดเพลิน เพราะเป็นเรื่องราวที่สนุกสนาน พระภิกษุสงฆ์ ผู้เทศนาล้วนมีความสามารถจะเทศน์ได้อย่างไพเราะ บางครั้งทำให้พุทธศาสนิกชนผู้ฟังเทศน์ดีใจ และร้องไห้ไปกับเรื่องราวที่เทศน์

ดังนั้นเมื่อถึงประเพณีการเทศน์มหาชาติชาวบ้านจะรับใบฎีกา ซึ่งเป็นใบตอบรับเป็นเจ้าของกัณฑ์เทศน์การเทศน์มหาชาติทั้งหมดมี ๑๓ กัณฑ์ แต่ละกัณฑ์จะมีเจ้าภาพหลายๆคน ขันกัณฑ์เทศน์ก็ใช้ขันเงิน ขันทองเหลืองเป็นภาชนะใส่ของที่เป็นปัจจัยถวายพระ เช่นใส่ธูปเทียน ดอกไม้ เงินทอง เครื่องหมาก เครื่องยาสูบ ยารักษาโรค อาหารแห้ง เป็นต้น เมื่อพระเทศน์จบ เจ้าของกัณฑ์จะประเคนปัจจัยดังกล่าว แล้วหยิบสิ่งของใส่ย่ามพระ หากไม่ห่อสิ่งของไว้สิ่งของจะปนกันหมด โดยเฉพาะเงินทองของมีค่า ที่ชาวบ้านถวายพระเพื่อนำไปสร้างถาวรวัตถุ หรือการใช้จ่ายภายในวัดอาจหายได้ เจ้าของกัณฑ์เทศน์บางคนที่มีฝีมือการแกะสลักไม้ จึงคิดทำตัวสัตว์ด้วยไม้สัก เช่น เป็นตัวนก ไก่ ปลา ลิง หมู แมว เป็นต้น ภายในทำเป็นกล่องหรือเป็นรางลึกใส่ของมีค่าหรือสิ่งอื่นถวายพระ การถวายพระจะประเคนปัจจัยไม้ไปทั้งหมด พระสงฆ์เมื่อรับแล้วจะไปเปิดดูที่กุฏิ นำของมีค่ามารวมกันเพื่อพัฒนาวัดต่อไป สำหรับปัจจัยไม้ที่ชาวบ้านทำขึ้นจะเก็บไว้ใส่สิ่งของประเภทเครื่องหมาก พลู ยาสูบ ไว้ต้อนรับญาติโยมที่มาทำบุญที่วัด นอกจากนี้ปัจจัยไม้ยังใช้ใส่เหรียญไว้โปรยทานตอนนาคเข้าโบสถ์ ปัจจัยไม้ดังกล่าวจะทำเป็นรูปนกแก้ว นกกระจาบ นกเขา เป็นต้น ระยะหลังๆ ปัจจัยไม้นำมาใช้ในบ้านเก็บของมีค่าต่างๆ รวมทั้งใส่หมากพลูยาสูบต้อนรับแขกมาเยี่ยมบ้าน แต่ปัจจุบันนี้การทำปัจจัยไม้แกะสลักรูปสัตว์เป็นอาชีพอย่างหนึ่งของชาวบ้าน ซึ่งประดิษฐ์เป็นของที่ระลึกขายให้ชาวไทย และชาวต่างประเทศที่เดินทางมาเที่ยว นับเป็นการสร้างเสริมเศรษฐกิจให้แก่หมู่บ้านอีกทางหนึ่งด้วย

ผู้ให้ข้อมูล

๑ . ทองอินทร์ ปลาเงิน , นาย อายุ ๗๒ ปี บ้านเลขที่ ๓๕ หมู่ ๓ ต . บ้านโคก อ . เมือง จ . เพชรบูรณ์

๒ . บุญเกลียว แดงโชติ , นาย อายุ ๖๙ ปี หมู่ ๕ ต . วังทอง อ . วังทอง จ . พิษณุโลก

๓ . วิชัย พรหมมา , นาย อายุ ๖๘ ปีบ้านเลขที่ ๔๕ หมู่๓ ต . บ้านโคก อ . เมือง จ . เพชรบูรณ์

๔ . สมนึก เข็มพงษ์ , นาย อายุ ๖๖ ปี บ้านเลขที่ ๒๐๗ หมู่ ๗ ต . สามแยก อ . วิเชียรบุรี จ . เพชรบูรณ์

๕ . สุวรรณ เพ็งน้อย , นาย อายุ ๖๗ ปี บ้านเลขที่ ๗๗๗ หมู่ ๓ ต . หนองพระ อ . วังทอง จ . พิษณุโลก