เครื่องมือของใช้ล้านนา - กล่องเข้า (อ่าน “ ก่องเข้า ” )

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
27/10/2008
ที่มา: 
เว็บไซต์ล้านนาคดี http://lanna.mju.ac.th/ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ "ทุกภาพ ทุกตัวอักษร มอบเป็นวิทยาทานแด่ทุกท่าน"

กล่องเข้า (อ่าน “ ก่องเข้า ” )

กล่องเข้า หรือ กล่องข้าว เป็นเครื่องจักสานที่ใช้เป็นภาชนะบรรจุข้าวเหนียวนึ่งแบบล้านนา พบว่าเครื่องใช้ประเภทนี้อาจแยกได้ว่ามีสองชนิด คือชนิดที่สานขึ้นอย่างง่ายๆ และมีขนาดย่อมเพื่อนำไปใช้นอกสถานที่ และชนิดที่สานขึ้นอย่างบรรจงเพื่อใช้งานปกติในเรือน

กล่องเข้า ชนิดสานอย่าง่ายเพื่อบรรจุข้าวไปกินนอกสถานที่หรือใช้ในเรือนของผู้มีรายได้น้อยนั้น พบว่าสานขึ้นจากใบตาล และนิยมเรียกว่า กล่องเข้าใบตาล (อ่าน “ ก่องเข้าใบต๋าน ” ) โดยนำใบตาลที่ยังไม่แก่มาแต่งให้มีความกว่างประมาณ ๒ เซนติเมตร ยาวตามช่วงใบ แล้วสานด้วยลายตานเป็นรูปสี่เหลี่ยม กว้างและสูงประมาร ๑๗ เซนติเมตร พอถึงบริเวณปากคือสูงจากระดับก้นประมาณ ๑๕ เซนติเมตรแล้ว จะสานให้มีขนาดเล็กลงประมาณครึ่งเซนติเมตร ส่วนก้นมักมีไม้อย่างไม้สัก กว้างและหนาประมาณ ๒.๐ x ๐.๕ เซนติเมตร วางเป็นรูปกากบาทยันที่มุมของก้น กล่องเข้า

ส่วนฝาของกล่องเข้าใบตาล นี้ ก็จะใช้ใบตาลขนาดเดียวกับที่ใช้สานตัวมาสานให้มีขนาดเดียวกับตัว แต่มีความลึกประมาณ ๕ เซนติเมตร เพื่อว่าจะวางสวมกันได้พอดี

ส่วนหูของกล่องเข้าใบตาล นี้ อาจใช้หวายถักไว้เป็นรูปครึ่งวงกลมสองอันไว้คนละด้าน อยู่ใกล้กับขอบปากทั้งส่วนตัวและส่วนฝา ใช้เชือกปอฟั่นเป็นเชือกสองเกลียวยาวประมาร ๗๐ เซนติเมตร ร้อยทั้งตัวและฝาเข้าด้วยกัน ส่วนที่เหลือให้เป็นหูหิ้ว

ในระยะหลังมีผู้ใช้แถบพลาสติกที่ใช้รัดหีบห่อพัสดุมาสาน กล่องเข้า แบบเดียวกับสาน กล่องเข้าใบตาล โดยว่าวัสดุที่ใช้สานแบบใหม่นี้หาได้ง่าย ราคาถูก และให้ความคงทนต่อการใช้งาน

สำหรับ กล่องเข้าที่สานขึ้นด้วยตอกเพื่อใช้เป็นภาชนะใส่ข้าวเหนียวประจำวันนั้น มักจะทำให้มีขนาดความกว้างและสูงประมาณ ๒๐ เซนติเมตร ตรงกันอาจทำให้เล็กกว่าส่วนปากเล็กน้อย การสานนั้นมักสานสองชั้น คือด้านในใช้ตอกแบบค่อนข้างกว่างสานเพื่อขึ้นรูปไว้ก่อน จากนั้นจึงใช้ตอกที่เกลาให้เล็กสานด้วยลายนิยมของแต่ละท้องถิ่นเสริมขึ้นไป วนเกือบถึงส่วนปากแล้วจึงเม้มริมเพื่อรองรับฝาที่จะปิดลงมา

ส่วนฝาของกล่องข้าวนี้ก็จะสานสองชั้นคล้ายกัน เพียงแต่หากเป็น กล่องเข้า ทรงป้อม ส่วนฝาก็มักจะทำให้ไม่ลึกและผายออกเพื่อครอบกับส่วนตัวได้พอดี แต่หาก กล่องเข้า มีส่วนสูงมากกว่าส่วนกว้าง ก็มักจะทำฝาปิดให้เป็นทรงกระบอกเตี้ย และจะมีการทำไม้กากบาทรองส่วนก้นกับทำหูและเชือกร้อยคล้ายกับ กล่องเข้าใบตาล นั้น กล่องเข้า แบบนี้หากบรรจุข้าวไปถวายพระหรือใช้นอกสถานที่แล้วจะมีขนาดย่อมลง

เมื่อนึ่งข้าวสุกแล้วและเทลงไปคนใน กัวะเข้า เพื่อระบายความร้อยลงแล้ว แม่บ้านจะเลือกข้าวส่วนทามิได้ค้างคืนลงรองด้านล่าง ส่วน เข้าเอยน หรือข้างค้างคืนที่นึ่งใหม่นั้นจะบรรจุภายหลัง และในการกินข้าวนั้น โบราณห้ามไว้ว่า บ่หื้อกินบกจกลง คือห้ามคดข้าวเป็นรูลงไป แต่ให้เกลี่ยคดข้าวให้ทั่วกล่อง หากยัง กินบกจกลง แล้ว จะทำให้เกิดพิบัติแก่ข้าวและทรัพย์สินทั้งปวง
อนึ่ง กล่องเข้า ชนิดที่พกพาไปใช้นอกบ้านและมีทรงแบบ จะเรียกว่า แอ็บเข้า