เครื่องมือของใช้ล้านนา - เรือกาบปลี

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
27/10/2008
ที่มา: 
เว็บไซต์ล้านนาคดี http://lanna.mju.ac.th/ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ "ทุกภาพ ทุกตัวอักษร มอบเป็นวิทยาทานแด่ทุกท่าน"

เรือกาบปลี

เรือแบบนี้เป็นเรือที่มีขนาดเล็กชนิดหนึ่ง เกิดจากการประกอบขึ้นจากแผ่นไม้กระดานต่อเข้าด้วยกัน เรียงจากส่วนท้องขึ้นถึงแคมทั้ง 2 ข้าง ส่วนท้องมีรูปกลมมน

อุปกรณ์ ที่ใช้ในการสร้างประกอบเรือมี ดังนี้


•  แผ่นกระดานไม้สักขนาดกว้างประมาณ 6-7 นิ้ว หนาประมาณ ? นิ้ว

•  ไม้สักขนาด 5x 2 นิ้ว

•  ไม้สักขนาด 1 x ? นิ้ว ยาวเท่ากับความยาวของแผ่นไม้กระดาน

•  ตะปู ( ในยุคก่อนใช้หมุดทำด้วยซอไม้ไผ่ )

•  ยางไม้ ( น้ำมันยาง ชัน )


วิธีสร้าง

เริ่มจากการสรรหาท่อนไม้สักที่มีลำต้นตรงไม่มิด ดูลายไม้ให้ตรงตลอด แผ่นไม้กระดานที่จะนำมาประกอบเรือกาบปลีแต่เดิมนั้น ต้องเป็นแผ่นไม้กระดานที่ผ่าออกจากท่อนไม้ด้วยการใช้ลิ่มตีออกเป็นแผ่น ๆ ไม้กระดานที่ได้จากการเลื่อยถือว่าไม่ดี เพราะจะทำให้มีรอยแตกและการร้าวของแผ่นไม้ได้ง่าย ดังนั้นจึงต้องใช้การผ่าท่อนไม้ด้วยลิ่ม จึงต้องคัดเลือกท่อนไม้สักที่ตรงทั้งต้นและของเนื้อไม้ เมื่อได้ท่อนไม้มาแล้วเก็บไว้ในที่ร่มมีอากาศผ่านอย่างน้อย 1 ปี ให้ท่อนไม้นั้นแห้งจึงทำการผ่า ถ้าผ่าในขณะที่ยังไม่แห้ง เมื่อเป็นแผ่นแล้วมักจะมีรอยแตกได้ง่าย วิธีผ่าต้องใช้ความชำนาญ และความมีประสบการณ์ของผู้ผ่า โดยเริ่มผ่าท่อนไม้ออกเป็นสองซีกเสียก่อน จากนั้นจึงทำการตีผ่าซอยออกให้เป็นแผ่นไม้กระดานที่ใช้ต่อเรือกาบปลี ที่มีขนาดเล็ก ใช้ไม้กระดานหนาประมาณ ? นิ้ว กว้างประมาณ 6- 7 นิ้ว การผ่านต้องผ่าให้หนาประมาณ 1 นิ้ว เมื่อได้ไม้กระดานที่ผ่าออกมาแล้ว ก็จะเก็บผึ่งลมไว้อย่างน้อย 2-3 เดือนขึ้นไป เมื่อไม้แห้งสนิทดีแล้วจึงใช้ขวานถากแต่งให้เรียบตรง และเมื่อถากแต่งแล้วก็จะเหลือความหนาของไม้ประมาณ ? นิ้ว เรือกาบปลีที่ใช้เป็นพาหนะทั่วไปใช้ไม้กระดาน 5 แผ่น อย่างมากก็ 7 แผ่นเท่านั้น

การประกอบ

เมื่อมีอุปกรณ์ครบแล้วจึงเริ่มประกอบเรือ เริ่มจากการเอาแผ่นไม้กระดาน 1 แผ่น มาวางตะแคงกับพื้นดินแล้วจึงตีหลักประกบ เพื่อให้ไม้กระดานแผ่นนั้นมีรูปโค้งทิ้งไว้ประมาณ 10 วัน เมื่อเห็นว่าไม้กระดานแผ่นนั้นโค้งจนอยู่ตัวแล้ว จึงนำเอาแผ่นไม้กระดานอีก 4 แผ่น มาถากด้านข้างออกให้เรียวไปทางหัวและท้าย แล้วจึงเอาทดลองประกบต่อเข้าด้วยกันกับแผ่นกลางที่โค้งนั้นข้างละ 2 แผ่น เมื่อเข้ารูปกันดีแล้วจึงเอาไม้ไผ่กีบเล็ก ๆ มาวัดอ้อมด้านนอกของเรือตั้งแต่แคมหนึ่งไปถึงอีกแคมหนึ่ง เอาไม้นั้นมาวัดตั้งแต่หัวถึงท้ายให้ได้โฉลกที่เป็นมงคล เมื่อวัดไม้ได้ก็ทำการตัดความยาวออกให้ตรงกับโลก

เอาไม้กีบขนาด 4 x 2 นิ้ว ยาวตั้งแต่กลางลำเรือถึงแคมเรือมาถากให้เป็นรูปโค้งตามท้องเรือด้านใน ตั้งแต่กึ่งกลางท้องเรือขึ้นถึงแคมข้างละ 1 อัน จัดใส่เป็นคู่ ๆ เรียกว่าไม้ดูกงู ความยาวของแต่ละคู่จะไม่เท่ากัน ตรงกลางจะยาวและจะค่อย ๆ สั้นไปที่หัวและท้ายของเรือ ใส่ระยะห่างกันประมาณ 50 เซนติเมตร จำนวนกี่คู่ก็แล้วแต่ความยาวของเรือ การวางไม้ดูกงูนั้นที่รอยต่อตรงกลางท้องเรือจะไม่ให้ติดกัน คือให้ห่างกันประมาณ 1 นิ้ว เมื่อใช้งานแล้วเกิดมีรอยรั่วซึมของน้ำ น้ำจะได้ไหลไปรวมกันอยู่ตรงกลางทำให้ตักออกทิ้งได้ง่าย เมื่อวางไม้ดูกงูแล้วจึงตีตะปูหรือใส่สลักไม้ เพื่อยึดไม้กระดานให้ติดแน่นกับไม้ดูกงู จากนั้นจึงประกบรอยต่อของไม้กระดานด้านนอกด้วยไม้กีบขนาดเล็ก ที่มีความหนาประมาณ ? นิ้ว กว้างประมาณ 1 นิ้ว เหลาให้เรียบแบนแล้วตอกตะปูยึดกับไม้ดูกงู แล้วจึงขัดแต่งด้านในและด้านนอกให้เรียบร้อยอีกครั้งหนึ่ง

เมื่อแต่งเรือให้เข้ารูปแล้วยังอาจมีรอยรั่ว ซึ่งอาจเกิดเพราะการเข้าไม้ไม่สนิทหรือมีรูเจาะ ก็จะยารูรั่วเหล่านั้นโดยจัดเรือคว่ำลงกับพื้น แล้วนำเอายางไม้หรือชันมาเคี่ยวให้ละลายแล้วทาตรงที่มีรอยต่อของไม้โดยรอบ ก็เป็นอันเสร็จวิธีในการสร้างเรือ

การใช้งาน

เรือกาบปลีมีลักษณะท้องกลมมน ใช้ในการบรรทุกของที่ไม่หนักมาก ใช้บรรทุกพืชผลทางการเกษตรจากสวนออกสู่ตลาด ใช้ในการประมงน้ำจืด เช่นทอดแหหาปลา ใช้งานสะดวก สามารถพายเข้าไปในลำน้ำลำเหมืองที่แคบหรือน้ำไม่ลึกได้ จึงเป็นที่นิยมของชาวบ้านชาวเมืองที่อยู่ใกล้น้ำทั่วไป

วิธีเก็บเรือ

เรือโกลน และเรือกาบปลี เป็นเรือที่มีขนาดเล็ก การเก็บจึงง่าย โดยการฝังเสา 4 ต้น แล้วพาดด้วยราวไม้ ความกว้างประมาณ 80 เซนติเมตร ความยาวกะให้สั้นกว่าความยาวของเรือประมาณ 2 เมตร สูงจากพื้นประมาณ 1 เมตร เมื่อเรือไม่ได้ใช้งานก็ยกขึ้นคว่ำไว้บนราวนั้น

เรือโกลน เป็นเรือที่โกลนหรือขุดขึ้นจากต้นไม้ทั้งท่อนเป็นเรือที่มีขนาดไม่ใหญ่ บรรทุกคนได้ประมาณ 5-6 คน ลักษณะทั่วไปของเรือโกลนมีรูปเกือบสี่เหลี่ยม ( ยกเว้นเรือแข่ง )

การสร้าง
เริ่มจากการคัดเลือกต้นไม้สักที่มีเนื้อไม้ที่ดี คือไม่มีตาขนาดใหญ่ ลำต้นสวน เนื้อไม้ไม่บิดไปมา แล้วจึงวัดให้ได้ขนาดความยาวที่ต้องการ ทิ้งท่อนไม้ดังกล่าวไว้ในที่ร่มมีอากาศผ่านอย่างน้อย 6 เดือนขึ้นไป เพื่อให้ท่อนไม้นั้นแห้งพอสมควร จากนั้นจึงใช้ขวานถากแต่งให้เป็นลักษณะเรือคือตรงกลางกว้าง 2 หัว ท้ายสอบเข้า ส่วนท้องด้านนอกทั้งหัวและท้ายก็ถากจากล่างขึ้นไปให้เชิดขึ้น โดยมีส่วนท้องแบนประการหนึ่ง คือการวัดขนาดกว้างของด้านนอกจากแคมหนึ่งไปถึงอีกแคมหนึ่ง แล้วนำไปวัดตั้งแต่หัวเรือถึงหางเรือให้ได้ถูกตามโฉลก จึงจะเป็นเรือที่เป็นมงคล เมื่อถากเป็นเค้ารูปทรงของเรือ แล้วจึงขุดไม้ส่วนในออกยาวไปตามไม้ให้เหลือแคมเรือทั้ง 2 ข้างหนาประมาณ 1 นิ้ว ไม้ 1 ท่อนใช้เนื้อไม้นิดเดียว นอกนั้นขุดทิ้งออกเป็นเศษไม้ทั้งหมด เหมือนกับคำพูดที่ว่า “ ฆ่าช้างเอางา ” เมื่อได้รูปทรงพอประมาณแล้วนำลงแช่น้ำไว้สักประมาณ 10 วัน เพื่อให้ยางไม้ออกจากเนื้อไม้ ถ้าทิ้งไว้กลางแจ้งแล้ว ความบางของไม้ที่เหลืออยู่อาจจะทำให้เนื้อไม้มีรอยแตกขึ้นได้ เมื่อนำขึ้นจากน้ำแล้วทิ้งไว้ในร่มผึ่งให้แห้ง จากนั้นจึงทำการถากขูดให้ความหนาเท่ากัน และถากแต่งให้เกลี้ยง

การใช้งาน เรือโกลน เป็นเรือที่ใช้ส่วนบุคคล ใช้เป็นพาหนะเดินทางน้ำ โดยสารได้ประมาณ 5-6 คน ใช้บรรทุกเข้าของ หรือสิ่งของที่เป็นสินค้าไม่มากนัก เดนทางไปค้าขายระยะใกล้ หรือบรรทุกพืชผลทางการเกษตร

ส่วนดีของเรือโกลน อยู่ตรงที่ไม่มีรอยต่อของแผ่นไม้ไม่ต้องใส่ยางไม้หรือคอยระวังในการรั่วซึม ของน้ำ นอกเสียจากเมื่อใช้ไปนาน ๆ อาจจะมีรอยแตกก็ใช้ยางไม้อุดทาที่รอยแตกเท่านั้นเอง ส่วนเสียของเรือโกลนคือหนักและการพลิกคว่ำง่าย เนื่องจากมีส่วนท้องที่มนนั้นเอง การทรงตัวในน้ำจึงไม่ค่อยดี

  • เรือขนาดใหญ่

วิธีสร้างและวิธีประกอบเรือขนาดใหญ่ ใช้วิธีเดียวกับการสร้างเรือกาบปลี เพียงแต่ว่าขยายให้มีขนาดความกว้าง สูง และความยาวมากกว่าเรือกาบปลีเท่านั้น ส่วนท้องของเรือแบบนี้จะต่างจากเรือกาบปลีเท่านั้น ส่วนท้องของเรือแบบนี้จะต่างจากเรือกาบปลี คือเรือขนาดใหญ่ชนิดนี้จะมีส่วนท้องแหลม ทำให้บรรทุกของได้มาก แต่จะวิ่งได้ในน้ำที่มีความลึกเท่านั้น ลักษณะของหลังคาจะเป็นรูปโค้ง บ่างลำจะโค้งอยู่ประมาณตรงกลาง บางลำส่วนโค้งของหลังคาก็จะค่อนไปทางส่วนหางของเรือ และสิ่งที่จำเป็นต้องทำยิ่งกว่าเรือขนาดเล็ก ก็คือทำความยาวให้ได้กับโฉลกที่เป็นมงคล เรือขนาดใหญ่บางชนิดมีชื่อเรียกตามลักษณะรูปร่างของเรือ บางชนิดมีชื่อเรียกตามการใช้งาน บางชนิดเรียกชื่อกันมาแต่ไม่รู้ความหมายก็มี ดูเหมือนจะเรียกชื่อเป็นภาษาอื่นที่ไม่ใช่ภาษาไทย

  • เรือท้องช้าง

การ ที่เรียกเรือแบบนี้ว่าเรือท้องช้าง อาจเป็นการเรียกตามลักษณะรูปร่างขอเรือ เพราะเป็นเรือขนาดใหญ่ การสร้างการประกอบใช้วิธีเดียวกับการประกอบเรือกาบปลี แต่ส่วนท้องของเรือท้องช้างจะไม่แหลมกินน้ำลึกเหมือนเรือ หางแมงป่อง ส่วนท้องจะมีลักษณะมนกลม ลักษณะของส่วนท้องจะหย่อนการทรงตัวจึงไม่ดีเท่ากับเรือ หางแมงป่อง หรือเรือแม่ปะ

  • เรือสะดอ

คำว่า สะดอแปลว่าครึ่ง ๆ กลาง ๆ ดังนั้น เรือสะดอ เมื่อแปลโดยศัพท์ก็หมายถึงเรือขนาดกลาง ส่วนท้องจะมีความแหลมมากกว่าเรือสะล่า การสร้าง การประกอบใช้วิธีเดียวกันกับเรือสะล่าหรือเรือกาบปลี

เรือสะดอมีหลังคาโค้งตรงกลางแต่ไม่ยาวตลอดลำเรือคงมีไว้บังแดดเท่านั้นเอง เรือชนิดนี้นิยมใช้ในการบรรทุกสินค้าออกไปค้าขายที่ไม่ไกลมาก คือติดต่อค้าขายกับเมืองบริวารของเชียงใหม่ และยังใช้เป็นเรือโดยสารได้อีกด้วยเพราะวิ่งได้เร็วกว่าเรือที่มีขนาดใหญ่

  • เรือสะล่า

เรื่อสะล่า ตรงกับเรือชะล่าของภาคกลาง เป็นเรือชนิดเล็ก แต่มีขนาดใหญ่และยาวกว่าเรือกาบปลี วิ่งได้เร็ว ใช้ในการบรรทุกพืชผลทางการเกษตร และนิยมใช้ในการประมง

  • เรือหางแมงป่อง ( อ่าน “ เฮือหางแมงป่อง ”)

เรือหางแมงป่อง หรือ เรือแม่ปะ เป็นเรือขนาดใหญ่ที่ใช้เดินทางขึ้นล่องตามลำน้ำแม่ปิงในสมัยโบราฯ ถ้ามีขนาดย่อมเรียกว่า เรือสะดอ หรือ เรือสีดอ และมีลักษณะของเรือดังนี้

หัวเรือทำด้วยไม้ทั้งท่อน ด้านบนแบนเรียบตลอด ด้านล่างเป็นเหลี่ยมรูปจั่วแต่กลับเอาด้านแหลมลง ตอนบนของหัวเรือนี้ยกเชิดสูงขึ้นนิด ๆ สำหรับลูกถ่อขึ้นไปเหยียบพร้อมกับออกแรงถีบส่งให้เรือพุ่งไปข้างหน้า ตอนถัดจากหัวเรือขึ้นไปเป็นลานไม้กระดานกว้างพอ ที่คนถ่อขึ้นไปยืนได้หลาย ๆ คน โดยไม่เกะกะกีดขวางทางกัน เมื่อลูกเรือเอาไม้ถ่อยันดินใต้น้ำแล้วจะออกแรงเดินพร้อมกับถีบเรือส่งให้ เรือพุ่งไปข้างหน้า เมื่อถ่อพ้นหัวเรือที่ยกสูงนั้นไปแล้ว ก็จะดันไม้ถ่อเดินเลียบไปตามแคมหัวเรือไปจนสุดช่วงลานไม้กระดานนี้แล้วจึง ดึงเอาไม้ถ่อกลับขึ้นมา แล้วยกขวางลำเรือให้สูงพอพ้นหัวลูกถ่อคนถัดไปที่ถ่อตามคนแรกมานั้น จากนั้นจึงเดินกลับไปตั้งต้นถ่ออีกวนเวียนเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ ถ้าเป็นเที่ยวขาขึ้น เรือต้องทวนกระแสน้ำที่เชี่ยว ลูกถ่อจะต้องออกแรงอย่างหนักและต้องทำด้วยความรวดเร็ว

ตอนกลาง ลำเรือ ซึ่งเป็นส่วนที่กว้างที่สุดของเรือ คือ ที่สำหรับบรรทุกสัมภาระ มีหลังคาโค้ง ทำด้วยไม้ไผ่สานทาด้วยชัน เพื่อป้องกันแดดและฝนระหว่างทาง บนหลังคาเรือนี้ยังมีหลังคาเสริมอีกชั้นวางซ้อนบนราวงไม้ไผ่ สามารถดันเลื่อนออกมาได้เมื่อฝนตกหนัก เป็นการป้องกันฝนสาด

ส่วนท้ายซึ่งถัดจากห้องสัมภาระ คือห้องสำหรับโดยสาร ซึ่งทำยกพื้นสูงกว่าระดับห้องสัมภาระ หลังคาห้องโดยสารนี้แยกออกต่างหากกับหลังคาห้องสัมภาระ และทำหลังคาสูงสามารถมองเห็นทิวทัศน์ได้ ทางด้านข้างมีหน้าต่างไม้กระดานเลื่อนเปิดปิดได้

ถัดจากห้องโดยสารนี้ไป จึงเป็นลานไม้กระดานท้ายเรือเช่นเดียวกับตอนหัวเรือ แต่ลานนี้มีระยะสั้นกว่าส่วนหัวเรือเล็กน้อย เพราะส่วนนี้ไม่มีความจำเป็นจะต้องใช้แรงงานคนถ่อมากเท่ากับส่วนหัวเรือ

ตรงสุดของลานท้ายเรือนี้ เป็นที่นั่งของคนถือท้ายซึ่งนั่งคัดท้ายเรือด้วยใบพายขนาดใหญ่ เพื่อให้เรือแล่นไปตามทิศทางที่ต้องการ คนถือท้ายนี้ส่วนมากเป็นคนวัยอาวุโสที่ชำนาญการเดินเรือและรู้จักร่องน้ำได้ ดี

ส่วนปลายท้ายสุดของเรือ เป็นไม้ทั้งท่อนเช่นเดียวกับหัวเรือ ส่วนมากแบนและใหญ่กว่าหัวเรือ เรือบางลำทำท้ายเรือเชิดสูงมากและบากเป็นปากฉลาม จึงเรียกเรือหางแมงป่องแต่บางลำยกสูงพองงามเท่านั้น