วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
27/10/2008
ที่มา: 
เว็บไซต์ล้านนาคดี http://lanna.mju.ac.th/ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ "ทุกภาพ ทุกตัวอักษร มอบเป็นวิทยาทานแด่ทุกท่าน"

มอง
 
มอง หมายถึงท่อนไม้ขนาดใหญ่ อย่างที่ใช้ทำเป็นเสาสำคัญในการสร้างฝาย แต่โดยปกติแล้วจะหมายถึงเครื่องมือที่ใช้ตำข้าวของชาวบ้านทั่วไป ประกอบด้วยไม้ครกทำจากขอนขนาดใหญ่ส่วนหนึ่งกับตัวมอง ซึ่งเป็นกระเดื่องที่ประดิษฐ์ขึ้นเพื่อทุ่นแรงและสะดวกในการตำข้าว ตัวมองประกอบไม้ท่อนหนึ่ง ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑๕ เซนติเมตร ยาวประมาณ ๔ เมตร ทำหน้าที่เป็นกระเดื่องใช้ตำข้าวเรียกว่า มอง หรือแม่มอง ทำจุดหมุนเพื่อการกระดกไว้กับตัวมอง โดยค่อนมาทางหางมองโดยมีแกนสอดจากแม่มองไปสอดเข้ากับรูของไม้ที่ปักอยู่ข้าง ๆ ซึ่งเรียกปีกมองเมื่อเหยียบหรือมีน้ำหนักหรือแรงกดที่หางมอง แม่มองจะกระดกขึ้นสูงประมาณ ๑ เมตร เมื่อปล่อยหางมองแล้ว มองก็จะตกลงมาทำให้ไม้ที่ทำเป็นสากครกที่เสียบแน่นอยู่ที่หัวแม่มองกระแทกลง เพื่อตำข้าว

ตามตำราโบราณว่าด้วยการทำมองนั้น ท่านให้เอาตอกมาเวียนรอบศีรษะของผู้เป็นเจ้าของ แล้วใช้ตอกนั้นวัดจากหัวหรือปลายสุดของมองเข้าไป ถ้าถึงที่ไหนก็ให้เจาะรูสำหรับสอดสากในที่นั้น จากนั้นใช้ช่วงเท้าเจ้าของวัด โดยวางเท้าสลับซ้ายขวาจากรูเสาไปจนถึงหางมอง พร้อมทั้งกล่าวคำโฉลกที่ดี แล้วจึงเจาะรู เพื่อสอดปีกมองหรือแกนหมุนของครกกระเดื่องในที่นั้น ทั้งนี้ โฉลกมอง มีดังนี้

ไร้ต่อเถ้า (ไม่ดี)

อยากเข้าทุกปี (ไม่ดี)

บ่อยากเข้าสักปี (ดี)

เปนดียิ่งกว่าท่าน (ดี)

อยู่บ้านบ่เจ็บก็ไข้ (ไม่ดี)

ท่านไว้กูเปนดี (ดี)

มีบ่รู้เสี้ยง (ดี)

ทั้งนี้ครกมอง หรือครกที่ใช้รองรับมองนั้น ก็มีวิธีวัดโฉลกไว้ด้วย โดยเริ่มที่ ๒ ศอก กับ ๑ ฝ่ามือ โฉลกไว้ด้วย โดยเริ่มที่ ๒ ศอกกับ ๑ ฝ่ามือ โฉลกต่อ ๑ คำ มีดังนี้

๒ สอก ปลายฝ่ามือ ชื่อว่าโขงชุมพูมาเฝ้า เข้าล้นขื่อยุท่างกิน

๒ สอกปลาย ๒ ฝ่ามือ ชื่อว่า พิษงูงอด

๒ สอกปลาย ๓ ฝ่ามือ ชื่อว่า กอดขุมคำ

๒ สอกปลาย ๔ ฝ่ามือ ชื่อว่า ชุมพูพื้นน้ำ เข้าบ่ซ้ำยุท่างกินแลทาน


วิธีใช้

ชาวบ้านจะเหยียบปลายหางของมอง เพื่อให้หัวมองให้ลอยขึ้นจากครก แล้วค้ำด้วยไม้ค้ำไว้เสียก่อนแล้ว จึงเทข้าวเปลือกที่ต้องการจะตำลงไปในครก จากนั้นจะเริ่มตำข้าว โดยใช้เท้าข้างหนึ่งเหยียบให้น้ำหนักตัวกดลงบนหางมอง เมื่อหัวมองยกขึ้นถึงจุดที่สูงที่สุดแล้วก็จะปล่อยให้ตกลงมา น้ำหนักของมองถ่ายลงบนสากเพื่อไปตำข้าว ชาวบ้านจะเหยียบหางมองแล้วปล่อยเป็นจังหวะๆ ไปเรื่อยๆ

ในกรณีที่สาวๆ จะอยู่นอก หรือทำงานตอนกลางคืนเพื่อให้หนุ่มไปเยือนนั้นอาจมีหญิงสาวหลายคนรวมตัวกันตำ ข้าวและอาศัยแรงงานของหนุ่มทั้งหลายให้ช่วยตำข้าวด้วย พบว่าในตอนเริ่มงานดังกล่าวนั้นกลุ่มสาวอาจ “ แดะหางมอง ” หรือเหยียบครกกระเดื่องแล้วปล่อยให้มีจังหวะถี่เร็วเป็นสัญญาณว่าบรรดาสาวๆ เริ่มตำข้าวแล้ว (โดยเข้าใจกันทั่วไปว่าถ้าหญิงอายุมากตำข้าวนั้น จังหวะในการตำข้าวจะไม่ถี่เร็วเหมือนสาวๆ) และหนุ่มก็มักจะไปจีบสาวในที่นั้น ซึ่งก็หมายความว่านอกจากจะได้ข้าวสารและแกลบตามปกติแล้วก็อาจได้ไมตรี ระหว่างหนุ่มสาวเพิ่มขึ้นอีกด้วย

สากที่ใช้ในการตำ เพื่อให้เปลือกข้าวแตกออกจากเมล็ดข้าวนั้นเรียกว่า สากกล้อง มีลักษณะเป็นไม้ท่อนขนาดเขื่องและหัวตัด เมื่อตำข้าวโดยใช้สากกล้องไประยะหนึ่งแล้วชาวบ้านจะนำข้าวขึ้นมาร่องด้วย เหิง และฝัดด้วยกระด้งเพื่อแยกเปลือกข้าวที่หลุดแล้วออกไป จากนั้นจึงตำใหม่โดยใช้สากซ้อม คือสากที่มีส่วนหัวมนและขนาดย่อม เพื่อแยกแกลบและเมล็ดข้าวสารต่อไป

ในการตำข้าวนั้น นิยมราวไว้บริเวณหางมอง เพื่อไว้เกาะเพื่อทรงตัวในขณะเหยียบมองตำข้าวไว้ด้วย

มองหรือ ครกมองนี้ นอกจากจะใช้ตำข้าวแล้ว ยังอาจใช้ตำอย่างอื่นด้วย เช่น ตำหยวกกล้วยเพื่อต้มเป็นอาหารหมูดำเฝ่าหรือดินขับอย่างที่ใช้ในการทำบอกไฟ หรือพลุ เป็นต้น


อนึ่ง มอง ยังแปลว่ากะเทยอีกด้วย


มอง (๒)

หมายถึงตาขายขนาดใหญ่ใช้ขึงขวางทางน้ำ เพื่อจับปลาขนาดใหญ่ เช่น ปลาบึก ปลาเลิม ปลาเค้าหรือปลาแค้ เป็นต้น

โดยหลักการแล้ว มองที่ใช้จับปลาแล้วก็คล้ายกับ แน่ง ที่ใช้จับปลาทั่วไป แต่มองจะถักให้มีตากว้างประมาณหนึ่งคืน คะเนให้กว้างเท่ากับทางน้ำและจัดทำให้ยาวพอที่จะขวางทางน้ำได้ตามต้องการ

พบว่าพรานปลาบึก ในลำแม่ของ หรือน้ำแม่โขงที่หาดไคร้ อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ใช้ มอง ในการจับปลาบึกที่ว่ายทวนน้ำขึ้นไปวางไข่ มองของชาวบ้านหาดไคร้นั้นถักด้วยเชือกไนลอนสีขาวแขวนอยู่กับเชือกที่มีเส้น ผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑ เซนติเมตร และมีทุ่นไม้ร้อยกับเชือกดังกล่าวเป็นระยะเพื่อช่วยให้ขอบบนของมองอยู่ใน ระดับปริ่มน้ำ เมื่อปลาว่ายมาชนมองเข้าก็จะดิ้นและส่วนเงี่ยงหรือเหงือกจะเกี่ยวติดอยู่กับ มองนั้น

  • มองน้ำ

มองน้ำหรือเครื่องมือที่ใช้ตำข้าว โดยอาศัยพลังน้ำชาวบ้าน โดยจะสร้างครกมองไว้บริเวณน้ำตกและออกแบบหางมองให้มีลักษณะเป็นกระเปาหรือ อย่างภาชนะบรรจุน้ำมีเส้นผ่าศูนย์กลางของขอบปากกระเปาะประมาณ ๕๐ เซนติเมตร ครกมองสามารถทำงานได้เอง โดยการทำรางต่อน้ำจากน้ำตกมาที่กระเปาะหางมอง เมื่อน้ำถูกบรรจุเต็มกระเปาะจะทำให้หางมองมีน้ำหนักมากกว่าหัวมอง แม่ครกก็จะกระดกขึ้น น้ำจะถูกเทจากกระเปาะ หัวมองก็จะตกลงมาในตำแหน่งเดิมติดต่อกันไปเช่นนี้ตลอดเวลา

ส่วนครกมองที่ใช้พลังน้ำของชาวเขานั้น เป็นครกมองพลังน้ำอีกลักษณะหนึ่งที่ใช้พลังน้ำตกหมุนระหัดให้แขกไม้ที่ติด อยู่ที่แกนเฟืองระหัดไปกดหางมองให้แม่มองกระดกอีกต่อหนึ่ง หากเป็นมองน้ำชุดใหญ่แล้ว จะมีครกตั้งแต่ ๓-๔ หลุม มองที่ใช้พลังน้ำแบบนี้สามารถตำข้าวได้พร้อมกันหลายครก นับเป็นเทคนิควิทยาพื้นบ้านใช้พลังงานธรรมชาติที่มีประสิทธิภาพอย่างหนึ่ง