วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
27/10/2008
ที่มา: 
เว็บไซต์ล้านนาคดี http://lanna.mju.ac.th/ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ "ทุกภาพ ทุกตัวอักษร มอบเป็นวิทยาทานแด่ทุกท่าน"

หลุก

หลุก ตรงกับคำว่าระหัดในภาคกลาง แต่ในล้านนาแล้วหมายถึงสิ่งประดิษฐ์ที่ทำให้หมุนรอบตัวเองเพื่อประโยชน์ บางอย่าง เช่น หมุนเพื่อสาวถังตักน้ำขึ้นจากบ่อ หมุนเพื่อวิดน้ำหรือหมุนเพื่อทอดกำลังไปใช้อย่างอื่น แต่ในความหมายที่เป็นที่รับรู้กันทั่วไปกันมากคือว่า หลุกเป็นสิ่งประดิษฐ์ขนาดใหญ่ในลักษณะกังหันทำด้วยไม้ไผ่ สร้างขึ้นเพื่อชักน้ำไปใช้ในแหล่งเกษตรกรรมหรือใช้กำลังจากน้ำไหลไปขับ เคลื่อนครกกระเดื่องได้ หลุกนี้อาจจำแนกได้จากแหล่งต้นของกำลังขับเคลื่อนคือเป็นหลุกที่ใช้กำลังของ น้ำ และหลุกที่ใช้กำลังของสัตว์อย่างวัวหรือควาย

หลุกซึ่งอาศัยพลังน้ำขับเคลื่อนเพื่อชักน้ำเข้าสู่ไร่นานั้น ประกอบด้วยส่วนต่างๆ ดังนี้

๑. ล้อหลุก มีลักษณะเป็นโครงลูกล้อ กว้างประมาณ ๖๐ เซนติเมตร มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๔-๕ เมตร ซึ่งมีโครงไม้ไผ่ยื่นเป็นรัศมีออกมาจากเพลากลางซึ่งทำด้วยไม้จิง ส่วนปลายของไม้โครงนั้นจะใช้ไม้ไผ่ตรึงให้เป็นลูกล้อ ขนาดใหญ่และตรงส่วนปลายของโครงไม้จะติดแผงไม้ไผ่สานที่จะจุ่มลงไปในน้ำ เพื่อให้กระแสน้ำผลักให้ล้อของหลุกหมุนได้อย่างต่อเนื่อง

๒. ภาชนะตักน้ำ เป็นกระบอกไม้ไผ่ตัดทำภาชนะตักน้ำและผูกยึดติดกับซี่หลุกที่บริเวณขอบล้อใน ลักษณะเอนนอน เมื่อหลุกหมุนไปกระบอกไม้ไผ่จะตักน้ำขึ้นมาจากแหล่งน้ำแล้วเทราดลงที่รางรับ น้ำวนเวียนกันอยู่ตลอดเวลาโดยอัตโนมัติ

๓. รางน้ำ
มักทำด้วยไม้ไผ่ขนาดใหญ่ผ่าซีกทะลวงข้อให้ทะลุถึงกันทุกปล้อง จัดวางให้ตรงกับตำแหน่งของน้ำที่เทลงจากกระบอกไม้ข้างหล้อหลุก จากรางนี้จะมีท่อรับน้ำทำด้วยไม้ไผ่ขนาดใหญ่อย่างไม้สีสุก ไม้ไผ่ดังกล่าวจะต้องทะลวงข้อให้โล่งตลอดหรืออาจใช้สิ่วเจาะตามตำแหน่งข้อ ไม้ก็ได้ ไม้ไผ่ที่ใช้เป็นท่อน้ำนี้จะทอดจากรางน้ำไปถึงตลิ่ง ซึ่งชาวบ้านมักจะขุดร่องรับน้ำมาต่อเข้าอีกทีหนึ่ง

อนึ่งในบริเวณลำห้วยหรือบริเวณที่น้ำไหลแรง และมีฝั่งน้ำต่ำนั้น หลุกที่ทำขึ้นเพื่อใช้งานในท้องที่ดังกล่าว มักจะไม่ทำให้ใหญ่โตและซับซ้อนเหมือนในบริเวณลำน้ำสายใหญ่ ดังที่กล่าวมาแล้ว หลุกน้ำห้วยมักจะใช้ไม้ไผ่ยื่นออกจากเพลาเป็นคู่ๆ ในรัศมีวงกลมแล้วสานแผงไม้ไผ่ติดเข้ากับปลายซี่ไม้นั้น หลุก ดังกล่าวมักพบเพื่อใช้ในการทำมองน้ำ หรือครกกระเดื่องพลังน้ำ เป็นต้น

การชักน้ำของหลุกที่อาศัยพลังงานจากกระแสน้ำนี้ เป็ฯวิธีการของเกษตรกรที่มีฐานะพอสมควร เพราะการทำหลุก ต้องใช้ทุนมาก ส่วนเกษตรกรที่มีฐานะด้อยนั้น มักจะต้องใช้ภาชนะตักน้ำไปรดพืชของตน ซึ่งจะทำได้ในขอบเขตจำกัด ถ้าใช้หลุกแล้วก็อาจชักน้ำไปใช้ได้มาก ในอดีตมีการทำหลุกเพื่อใช้งานตามริมแม่น้ำใหญ่ที่มีตลิ่งสูง และไม่สามารถผันน้ำเข้าถึงโดยระบบเหมืองฝายได้ แต่ในปัจจุบันนี้มีการใช้หลุกน้อยลงเพราะเมื่อถึงหน้าน้ำแล้วหลุกมักจะถูก น้ำพัดพาให้พังทลายไป เมื่อถึงหน้าแล้งก็ต้องทำใหม่อีก และต้นทุนในการทำหลุกแต่ละตัวก็พอๆ กับราคาของเครื่องสูบน้ำ

บุญยัง ชุมศรี

หลุกพัดน้ำ (อ่าน “ หลุกปั๊ดน้ำ ” )

หลุกพัดน้ำ ในส่วนที่เป็นของเล่นนั้น โดยมากเป็นการเล่นของเด็กชายอายุแปดขวบโดยประมาณ จะเล่นตามท้องร่องที่มีน้ำไหล

อุปกรณ์การเล่น

๑. ก้านกล้วยประมาณ ๑ ก้าน

๒. ไม้เหลากลมหนา ยาวประมาณไม้เสียบลูกชิ้น ๗ แท่ง ไม้เหลากลม ยาวประมาณ ๖ นิ้ว ๖ แท่ง ไม้เหลากลมยาวประมาณ ๑๐ นิ้ว ๑ แท่ง

๓. ง่ามไม้เล็กๆ ขนาดประมาณหัวแม่มือ ยาวประมาณ ๑.๕ ฟุต จำนวน ๒ ง่าม


วิธีเล่น

นำง่ามไม้ไปปักลางน้ำที่ไหลโดยให้ง่ามอยู่เหนือระดับน้ำสัก ๑ นิ้ว เมื่อเอากังหันหรือหลุกวางลงบนง่ามแล้ว แรงน้ำจะพัดให้หลุกหุน ถ้าน้ำไหลแรงกังหันหรือหลุกก็จะหมุนเร็ว


วิธีทำกังหัน

ปาด ก้านกล้วยให้ยาวประมาณ ๖ นิ้ว จำนวน ๗ อัน อันแรกเอาไม้เสียบกลางจากหัวไปท้ายด้วยไม้ยาว ๑๐ นิ้ว เหลือไม้ด้านละเท่าๆ กัน ไม้อีก ๖ อันปักด้านหัวท้ายข้างละ ๓ โดยปักทแยงให้มีระยะห่างเท่ากัน และระยะปลายไม้ห่างเท่าๆ กัน แล้วเอาก้านกล้วยเสียบด้านข้างให้มีความยาวเสมอกับอันกลาง โดยปักเป็นคู่ๆ คือจากปักหัวท้ายให้ตรงกัน นำเอาง่ามไม้ปักดินห่างกันประมาณ ๗ นิ้ว เอาก้านกล้วยพาดแล้วเอามือลองหมุนดู ถ้าหมุนได้ก็ถือว่าใช้ได้

หลุกแรงควาย

หลุกที่อาศัยแรงสัตว์อย่างวัวหรือควายนี้ ใช้ชักน้ำจากบ่อน้ำขนาดใหญ่เข้าสู่แปลงเกษตร ลักษณะของหลุกแรงควายประกอบด้วยเฟืองไม้ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑.๒๐ เมตร จำนวน ๒ ตัว วางประกอบทำมุมฉากแก่กัน ทำคันลากติดกับเพลาตัวนอน อาศัยควายฉุดคันลากที่ติดอยู่กับแกนเฟือง ตัวนอนไปฉุดเฟืองตัวตั้ง และแกนเฟืองตัวตั้งจะเป็นส่วนเดียวกันกับแกนเพลาล้อกว้านที่หมุนอยู่เหนือ บ่อน้ำ

ล้อกว้านมีลักษณะเป็น ล้อกลม มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑.๐๐ – ๑.๕๐ เมตร มีแขนเป็นซี่ๆ มีห่วงโซ่คู่หนึ่งพาดอยู่ ความยาวของห่วงโซ่จะยาวต่ำลงถึงระดับน้ำในบ่อ ที่ห่วงโว่จะผูกภาชนะตักน้ำไว้เป็นระยะๆ เมื่อล้อกว้านหมุนก็จะพาโซ่และภาชนะตักน้ำให้หมุนตาม ภาชนะจะตักน้ำในบ่อขึ้นมาเทบนรางที่ตั้งรองรับไว้ และมีรางน้ำต่อไปสู่แปลงเกษตร

ควายที่ใช้ฉุดหลุกนั้น สามารถนำมาฝึกให้ทำงานได้ในเวลาสั้นๆ ขณะที่ควายเดินวนรอบแกนเฟืองจะถูกปิดตา โดยใช้กะลามะพร้าวครอบตาผูกรักไว้ด้วยผ้าขาวม้า

จากการสำรวจพบว่า เคยมีหลุกแรงควายใช้กันอย่างแพร่หลายที่บ้านดง หมู่ที่ ๖ ตำบลบ่อแฮ้ว อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง ยังใช้งานมาถึงประมาณปี พ.ศ.๒๕๒๕ ปัจจุบันเลิกใช้แล้ว ถูกทอดทิ้งจมดิน เหลือหลักฐานให้ศึกษาเพียง ๒-๓ เครื่อง รวมทั้งเครื่องที่นายหรั่ง ปาโกวงศ์ ผู้ใหญ่บ้าน ได้มอบให้ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดลำปาง นำไปติดตั้งให้ประชาชนชมที่วนอุทยานน้ำตกแจ้ซ้อน อำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปาง

หลุกแรงควายระบบที่เคย มีใช้ในจังหวัดลำปาง พบว่ามีใช้ในชนบทบางประเทศ เช่น ปากกีสถาน สาธารณรัฐประชาชนจีน อินดีเซีย และอียิปต์ มีหลักฐานว่ามีใช้มานานนับพันปีมาแล้ว