นาฏดุริยการล้านนา สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ - ปี่ชุม (2)

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
28/10/2008
ที่มา: 
สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ http://art-culture.chiangmai.ac.th/

บทความ นาฏดุริยการล้านนา วันอังคารที่  20  กันยายน  2548 - ปี่ชุม (๒)

ปี่ชุม (๒)

การทำปี่ชุม (อ่าน – ปี่จุม) มีรายละเอียดเพิ่มเติมจากอังคารที่แล้ว ทั้งการปรับเสียงและการเจาะรูให้ได้ขนาดตามสูตรที่ต้องสัมพันธ์กัน

เสียงเพี้ยน

ในกรณีที่เสียงปี่เพี้ยนไม่ได้ระดับ  จะเกิดความผิดปกติของตำแหน่งของรู หรือ ลิ้นปี่
    ๑. เกิดจากลิ้น
๑.๑   ถ้าเสียงปี่ต่ำเกินไป เรียกว่า “เสียงหนัก” ให้ใช้มีดขูดที่โคนของลิ้นปี่
๑.๒  ถ้าเสียงปี่สูงเกินไป เรียกว่า “เสียงเบา” ให้ใช้มีดขูดที่ปลายของลิ้นปี่ หรือจำง่ายๆ คือ “เสียงหนักขูดเก๊า (โคน) เสียงเบาขูดปล๋าย”

    ๒. เกิดจากรู  กรณีนี้รูอาจจะไม่ได้ระดับเสียงอาจจะสูงหรือต่ำเกินไป
๒.๑  ถ้าเสียงเพี้ยนไปทางสูง ให้ใช้ปูน (ที่ใช้เคี้ยวกับหมาก) หรือขี้ครั่งถมหรืออุดด้านบนของรูปี่ จนเสียงปี่ได้ระดับดี
๒.๒ ถ้าเสียงเพี้ยนไปทางต่ำ ใช้ปูนหรือขี้ครั่งอุดด้านล่างของรูปี่แล้วใช้เหล็กแหลมเผาไฟเจาะบากขึ้น ด้านบน จนเสียงปี่ได้ระดับตามที่ต้องการ เมื่อปรับแต่งรู และลิ้นของปี่ได้สมบูรณ์แบบแล้ว  ก็อาจจะตัดส่วนปลายของปี่ที่เผื่อไว้นั้นทิ้งไป

  •     การเจาะรูปี่

เมื่อทำปี่ก้อยได้แล้ว ช่างก็จะใช้ปี่ก้อยเป็นมาตรฐาน อย่างเช่น ในการเจาะรูปี่เล็กนั้น จะนำไม้ไผ่ที่มีขนาดเล็กถัดลงมาจากปี่ก้อยมาเทียบเข้ากับปี่เพื่อวัดขนาด แล้วเจาะรูโดยวัดเทียบรูสุดท้ายของปี่เล็กให้ตรงกับตำแหน่งรูที่สี่ของปี่ก้อย ในกรณีที่มิได้ใช้ไม้ไผ่ลำเดียวกันอาจจะวัดตรงกับตำแหน่งรูที่สามก็ได้ เพื่อให้เสียงได้ระดับกัน

การเจาะรูปี่ทำปี่กลางและปี่แม่ก็ใช้วิธีวัดเทียบกับปี่ก้อยเช่นเดียวกับปี่เล็ก โดยรูแรกของปี่กลางจะตรงกับตำแหน่งรูที่สี่ของปี่ก้อย และรูแรกของปี่แม่จะตรงกับรูที่เจ็ดของปี่ก้อย

  •     เพลงที่นิยมใช้ปี่ชุมบรรเลง

ทำนองเพลงที่วงปี่ชุมบรรเลงเพื่อประกอบการขับซอมี  ๘  ทำนองคือ

๑.  ตั้งเชียงใหม่
๒.  ชาวปุ หรือ จะปุ
๓.  ละม้าย
๔.  เงี้ยว
๕.  อื่อ
๖.  พระลอ (ล่องน่าน)
๗.  พม่า
๘.  ซอน่าน

ทำนองเพลงเหล่านี้ เป็นทำนองที่ใช้ชุดปี่เป่าร่วมกันเพื่อประกอบการขับซอ และใช้บรรเลงเป็นหลัก  ส่วนทำนองเพลงอื่นๆ ผู้เล่นจะนำมาบรรเลงก็ย่อมได้

  •      การเป่า

ในการเป่าปี่แบบล้านนานั้น ผู้เป่าจะต้องอมส่วนที่มีลิ้นทั้งหมด หันส่วนปลายไปทางซ้ายของผู้เป่า ใช้ลิ้นแตะที่ลิ้นของปี่เพื่อบังคับเสียงและผู้เป่าต้องระบายลมได้ คือเป่าอย่างต่อเนื่องไม่มีการหยุดพักหายใจหรือหยุดน้อยที่สุด

  •     การประสมวง

การบรรเลงของวงปี่ชุม ส่วนใหญ่จะบรรเลงเพื่อประกอบการขับซอของล้านนา ซึ่งการประสมวงดังกล่าวมี ๓  ลักษณะ  คือ

ปี่ชุมสาม ใช้ปี่  ๓  เลา คือ ปี่แม่  ปี่กลาง และปี่ก้อย
ปี่ชุมสี่ ใช้ปี่  ๔  เลา คือ  ปี่แม่  ปี่กลาง  ปี่ก้อย และปี่เล็ก
ปี่ชุมห้า ใช้ปี่  ๕  เลา คือ  ปี่แม่  ปี่กลาง (๒ เลา)  ปี่ก้อย และปี่เล็ก

ต่อมาไม่นิยมใช้ปี่ชุมห้า เพราะมีปี่กลาง ๒ เลา จึงต้องเอาปี่กลางออกไปเลาหนึ่ง คงเหลือปี่  ๔  เลา เรียกว่า ปี่ชุมสี่ และภายหลังได้ตัดปี่แม่ออกเพราะเห็นว่าไม่มีความจำเป็น  จึงเหลือปี่เพียง  ๓  เลากลายเป็น ปี่ชุมสาม และได้เพิ่มซึงซึ่งเป็นเครื่องดีดเข้ามาอีกตัวหนึ่ง  นัยว่าซึงให้จังหวะกระชับขึ้นสำหรับซึงที่ใช้บรรเลงร่วมกับปี่ชุมนิยมใช้ซึงกลาง ปัจจุบันวงปี่ชุมที่นิยมบรรเลงนั้น  เป็นวงปี่ชุมสาม  ซึ่งประกอบด้วยเครื่องดนตรีดังนี้

๑. ปี่กลาง
๒. ปี่ก้อย
๓. ปี่เล็ก
๔. ซึงกลาง

  •     ตำแหน่งการประสมวง


ในการใช้ปี่ชุมและซึงกลางบรรเลงประกอบการขับซอนั้น  จะมีการวางตำแหน่งไว้บน “ผาม” (ร้านชั่วคราวมีหลังคา สำหรับการแสดงขับซอ)  ดังนี้

การบรรเลงของวงปี่ชุมโดยเฉพาะการบรรเลงประกอบการขับซอ ผู้เล่นดนตรีและผู้ขับซอทุกคนจะต้องอยู่ในตำแหน่งที่กำหนดไว้เสมอ เพราะทั้งช่างปี่และช่างซอต้องฟังเสียงซึ่งกันและกัน เครื่องดนตรีต้องสัมพันธ์กับคนขับซอด้วย ในตำแหน่งที่กำหนดไว้นั้น จะเห็นได้ว่าปี่ก้อย ซึ่งเป็นปี่นำวง และซึงเป็นตัวให้จังหวะต้องอยู่ใกล้ช่างซอ ส่วนปี่แม่และปี่กลางที่มีเสียงทุ้มต่ำต้องอยู่ระหว่างปี่เล็ก ซึ่งมีเสียงแหลมเล็กและมีลูกเล่นที่สัมพันธ์กับเสียงขับของช่างซอ

สนั่น   ธรรมธิ สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
(ภาพประกอบโดยพิชัย  แสงบุญ และเสาวณีย์  คำวงค์)

ขอบคุณข้อมูลจาก  สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ต้นฉบับ : http://art-culture.chiangmai.ac.th/academic/natha/2548/09/20/