วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
28/10/2008
ที่มา: 
สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ http://art-culture.chiangmai.ac.th/

บทความ นาฏดุริยการล้านนา  วันอังคารที่  11  ตุลาคม  2548 - เพลง

 

เพลง   

คำว่า “เพลง” เฉพาะในภาษาล้านนาถือว่าเป็นคำยืมจากภาษาไทยภาคกลาง ซึ่งเดิมนั้นใช้คำว่า “ระบำ” หมายถึงท่วงทำนอง (melody) และจังหวะ (rhythm) ของเพลง

  •     ประเภทของเพลง

การแบ่งประเภทของเพลงอาจแบ่งได้หลายอย่างเช่น แบ่งตามจังหวะ แบ่งตามสำเนียง หรือท่วงทำนอง แบ่งตามเครื่องดนตรีที่นิยมบรรเลง หรือแบ่งตามบทบาทที่ใช้งานเป็นต้น ซึ่งถ้าจะกล่าวโดยรายละเอียดจะยุ่งยากและซับซ้อนเกินไป ในที่นี้จึงจะขอแบ่งง่าย ๆ เป็น 2 ประเภทคือ
1. ประเภทที่ใช้ประกอบการขับร้อง
2. และประเภทที่นิยมนำมาบรรเลง
     

  •     เพลงที่ใช้ประกอบการขับร้อง

เพลง ที่ชาวล้านนามีมาแต่อดีต มีทั้งเพลงอื่อละอ่อน (เพลงกล่อมเด็ก) เพลงประกอบการละเล่นของเด็ก เพลงชาวบ้าน เพลงในพิธีกรรม เพลงซอ ในที่นี้ขอเสนอเฉพาะเพลงซอซึ่งเป็นเพลงปฏิพากย์ที่มีหลักเกณฑ์ที่ค่อนข้างชัดเจนและมีดนตรีประกอบ

เพลงซอ หรือ ทำนองซอ หากแบ่งตามเขตวัฒนธรรม จะแบ่งได้เป็น 2 เขต คือเขตล้านนาตะวันตก และล้านนาตะวันออก โดยที่เขตล้านนาตะวันตกจะซอหรือขับซอเข้ากับปี่ คือใช้ปี่เป็นหลักในการบรรเลงประกอบ ส่วนล้านนาตะวันออกจะขับซอเข้ากับซึงและสะล้อ ล้านนาตะวันตกได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง และลำพูน ในเขตนี้จะขับซอเข้าปี่กับการบรรเลงเรียกลักษณะโดยรวมว่า ซอเชียงใหม่ ส่วนล้านนาตะวันออกได้แก่ น่าน แพร่ ลำปาง (บางส่วน) เชียงราย (บางส่วน) และพะเยา เขตนี้จะขับซอเข้ากับซึงและสะล้อ เรียกลักษณะโดยรวมว่า ซอน่าน

  •     ทำนองซอ

ในเขตล้านนาตะวันตก มีทำนองซอหลายทำนองได้แก่ เชียงใหม่ตั้งเชียงใหม่ หรือขึ้นเชียงใหม่ ชาวปุ ละม้าย พม่า อื่อ ล่องน่าน หรือ พระลอล่องน่านและเงี้ยว ด้านล้านนาตะวันออกมีทำนองซอน่าน ลับแลปั่นฝ้ายและพม่า ทำนองซอดังกล่าวหากจะเสนอผ่านการอ่านก็คงต้องใช้ตัวโน้ต ซึ่งยากแก่การทำความเข้าใจ สำหรับผู้ที่ไม่มีพื้นฐานทางดนตรี กระนั้นบางอย่างที่เป็นข้อมูลที่น่าสนใจหรือทรงคุณค่าด้านการศึกษาก็น่าจะ กล่าวถึง ซึ่งผู้เขียนจะได้กล่าวโดยสังเขปต่อไป

  •     ระบำหรือทำนองเชียงใหม่

ชื่อของทำนองเชียงใหม่ มักมีคำว่า ตั้ง หรือ ขึ้น นำหน้า เพราะทำนองนี้เป็นทำนองสำหรับตั้งต้น หรือขึ้นต้น ก่อนทำนองอื่นทั้งหมด เนื้อหาของการซอส่วนใหญ่เป็นบทเกริ่นนำเรื่อง ก่อนจะขึ้นการขับซอช่างปี่ (คนเป่าปี่) จะ เขิง คือเป่าเสียงยาวไปพร้อม ๆ กัน เพื่อฟังความพร้อมของเสียงและจังหวะซึ่งกันและกัน เมื่อได้จังหวะช่างซอฝ่ายชายจะใช้คำขึ้นต้นว่า “ต๋วง” หรือ “ตว๋าง” ซึ่งอาจมาจากภาษาบาลีคือ “ตวํ” ที่เป็นคำสรรพนามบุรุษที่สอง หรืออาจมาจากคำว่า “ตั๋ว” แล้วทอดเสียงยาว การขึ้นต้นบางคนอาจใช้คำว่า “เถิง” หรือ “หลอน” ก็มี ส่วนช่างซอฝ่ายหญิงมักขึ้นต้นด้วยคำว่า “นาย” การขับซอจะสับเปลี่ยนขับโดยใช้เวลาตามแต่เห็นสมควร แล้วจึงเปลี่ยนทำนองเป็นทำนองชาวปุ โดยมีทำนองจ๊อยเชียงแสนเป็นทำนองเชื่อม เรียกว่า กลายเชียงแสน

  •     ระบำหรือทำนองชาวปุ

ระบำชาวปุหรือที่เรียกตามการออกเสียงว่า จะปุ เป็นระบำหรือทำนองที่สองที่ช่างซอใช้ขึ้นบทซอรับจากระบำเชียงแสน เนื้อหาของบทซอจะเริ่มต้นเรื่องไปสักระยะหนึ่งจะเปลี่ยนเป็นระบำละม้ายต่อไป

  •     ระบำหรือทำนองละม้าย

ระบำ หรือทำนองละม้าย เป็นทำนองซอต่อจากทำนองชาวปุ ช่างซอนิยมใช้ประกอบการขับซอดำเนินเรื่อง เรื่องของเพลงยังมีต่อ อดใจรอพบกันอังคารหน้าครับ

    สนั่น   ธรรมธิ สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
(ภาพประกอบโดยจรัสพันธ์  ตันตระกูล และเสาวณีย์  คำวงค์ )


ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ต้นฉบับ : http://art-culture.chiangmai.ac.th/academic/natha/2548/10/11/