วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
28/10/2008
ที่มา: 
สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ http://art-culture.chiangmai.ac.th/

บทความ นาฏดุริยการล้านนา วันอังคารที่  18  ตุลาคม  2548 - เพลง (2)

เพลง (2)

ระบำหรือทำนอง ที่ใช้ประกอบการขับซอยังมีอีก สำหรับการดำเนินเรื่องนอกจากจะใช้ทำนอง “ละม้าย” แล้ว ช่างซอสามารถเปลี่ยนบรรยากาศไปเป็นทำนองอื่น ๆ ได้แก่ พม่า อื่อ ล่องน่าน เงี้ยว โดยแต่ละทำนองมีเกร็ดที่น่าสนใจดังนี้

  •     ทำนองพม่า

เป็นทำนองที่ใช้บรรเลงประกอบการขับซอ ชื่อทำนองบางแห่งเรียกว่า ซอเจ้าสุวัตร หรือ ซอนางบัวคำ สาเหตุเพราะท้าวสุนทรพจนกิจ (บุญมา สุคันธศีล) กวีในพระราชสำนักพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ได้แต่งบทซอจากนิทานชาดกเรื่อง “เจ้าสุวัตรนางบัวคำ” โดยใช้ทำนองนี้ นอกจากนี้ยังพบว่ามีการใช้ทำนองหม่าไปประกอบการขับซอเล่น ๆ  ที่เรียก “ซอว้อง” คือบทสั้น ๆ ใช้คำซอกลับไปกลับมาเช่นบทที่ว่า

หมาหางกิด          ไต่คันนาด้อมด้อม
หมาหางก้อม        ไต่คันนาดิดดิด


  •     ทำนองอื่อ

เป็นทำนองโบราณ ใช้ประกอบการขับซอ มีผู้รู้บางท่านสันนิษฐานว่ามีวิวัฒนาการมาจากเพลงอื่อละอ่อน (เพลงกล่อมเด็ก) นิยมใช้ประกอบการขับซอในเนื้อหาพรรณทั่วไป ตลอดขบขับและอวยชัยให้พร สำหรับชื่อทำนองบางท้องถิ่นเรียกว่า “ซอดาววี” เพราะมีผู้แต่งบทซอจากนิทานชาดกเรื่อง “ดาววีไก่หน้อย” โดยใช้ทำนองดังกล่าว

  •     ทำนองล่องน่าน

เป็นทำนองซอที่นิยมใช้ในบทซอพรรณนาธรรมชาติ ป่าเขาสำเนาไพร ทำนองนี้กล่าวกันว่ามาจากเมืองน่าน อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีหลักฐานใด ๆ ยืนยันคำกล่าวนี้ นอกจากชื่อระบำคือ “ล่องน่าน” แล้ว ในครั้งเมื่อพระราชชายาเจ้าดารารัศมีโปรดให้ท้าวสุนทรพจนกิจแต่งบทซอเรื่อง พระลอ ได้ใช้ทำนองนี้พรรณาตอนที่นางรื่นนางโรยเดินทางในป่า จึงนิยมเรียกชื่อทำนองนี้ว่า “พระลอ” หรือ “พระลอล่องน่าน” ต่อมาเมื่อพระราชชายาฯ โปรดให้ท้าวสุนทรพจนกิจ แต่งบทซอเรื่อง “น้อยไชยา” ขึ้นอีก ท้าวสุนทรฯได้ใช้ทำนองนี้แต่งบทซอตอนน้อยไชยานัดพบกับแว่นแก้วที่ห้วยแก้ว และเพื่อให้สอดคล้องกับการฟ้อนในฉากนี้ จึงมีนักดนตรีฝีมือดีแต่งสร้อยเพลง (Introduction) ก่อนการขับซอทำนองนี้จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “น้อยไชยา”

  •     ทำนองเงี้ยว

เป็นทำนองที่ใช้ประกอบในการขับซออีกทำนองหนึ่ง นิยมใช้ในเนื้อหาหรือบทที่เศร้าสลด ปัดเคราะห์ อวยชัยให้พร และขับซอลาเจ้าภาพ

  •     ทำนองเงี้ยวลา

เป็นทำนองซอคล้ายทำนองเงี้ยว ท่วงทำนองแบ่งเป็นสองท่อน ปัจจุบันไม่เป็นที่นิยมแล้ว

  •     ทำนองเสเลเมา

เป็นทำนองซอที่ตัดตอนมาจากทำนองเงี้ยวลา กล่าวคือตัดตอนเอาท่อนแรกมาเท่านั้น และได้ชื่อว่า “เสเลเมา” เพราะคำร้องมักขึ้นต้นด้วยคำว่า เสเลเมา เสมอ

  •     ทำนองซอน่าน

เป็นทำนองสำหรับประกอบการขับซอ โดยเฉพาะการขับซอแบบเมืองน่าน ช่างซอส่วนใหญ่ใช้ขับซอดำเนินเรื่อง

  •     ทำนองลับแลง

เป็นทำนองสำหรับประกอบการขับซอแบบเมืองน่านเช่นกัน จากการให้สัมภาษณ์ของพ่อครู ไชยลังกา  เครือเสน (ถึงแก่กรรม) อดีตครูซออาวุโสของจังหวัดน่านได้ความว่า ท่านเองเป็นผู้นำเอาทำนองนี้มาจากอำเภอลับแล (แต่เดิมเรียก “ลับแลง”) จังหวัดอุตรดิตถ์ แล้วคิดเนื้อใส่ทำนองถ่ายทอดให้ลูกศิษย์

สำหรับช่างซอโดยเฉพาะช่างซอในเชียงใหม่ เรียกทำนองนี้ว่า “ล่องน่าน” ทั้งนี้อาจเห็นว่ามาจากเมืองน่าน ระบำหรือทำนองลับแลง ช่างซอนิยมใช้ประกอบบทซอที่มีบรรยากาศเศร้าสร้อย และมักใช้ในการ และมักใช้ในการขับซออำลาเจ้าภาพ

  •     ทำนองซอปั่นฝ้าย

เป็นทำนองประกอบการขับซอทำนองหนึ่งของเมืองน่าน ผู้แต่งคือ พ่อครูไชยลังกา เครือเสน โดยปรับปรุงจากเพลงรำวงโบราณชื่อเพลง “ชักใบ” เหตุที่เรียกทำนอง “ปั่นฝ้าย” เพราะเดิมที่มีการแต่งเนื้อร้องที่กล่าวถึงการทำไร่ฝ้าย ตั้งแต่แรกเริ่มจนกระทั่งถึงปั่นเป็นเส้นฝ้าย

เรื่องราวของเพลงเป็นเรื่องที่ยากแก่การถ่ายทอดเป็นข้อความ ผู้เขียนได้พยายามกล่าวถึงรายละเอียดเท่าที่จะกล่าวได้ ถ้าจะให้ดีกว่านี้ ควรฟังจากเสียงประกอบ อย่างไรเสียหากต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมโปรดดูข้อมูลหัวข้อ “เพลงซอ” ซึ่งผู้เขียนนำเสนอใน สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ เล่มที่ 9 หน้า 4766 - 4782 เนื้อหาในนั้นจะมีตัวอย่างคำซอ (เนื้อร้อง) พร้อมตัวโน้ตประกอบ ซึ่งอาจช่วยทำความเข้าใจได้ในระดับหนึ่ง

สนั่น   ธรรมธิ สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
(ภาพประกอบโดยเนติ  พิเคราะห์ และเสาวณีย์  คำวงค์ )

ขอบคุณข้อมูลจาก  สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่