วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
28/10/2008
ที่มา: 
สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ http://art-culture.chiangmai.ac.th/

บทความ นาฏดุริยการล้านนา วันอังคารที่ 25 ตุลาคม 2548 - เพลง (3)

เพลง (3)

อังคารที่แล้วได้กล่าวถึงเพลงสำหรับประกอบการขับซอ คราวนี้จะเสนอเรื่องราวของเพลงบรรเลงที่เป็นที่นิยมบรรเลงกันโดยทั่วไป

  •     ปราสาทไหว

เพลง ปราสาทไหวเป็นเพลงเก่าแก่ของล้านนา ไม่ปรากฏชื่อผู้แต่ง มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปบ้าง ในบางท้องถิ่น เช่น เพลงแห่ เพลงแหย่ง และ เพลงลาก เป็นต้น

  •     ฤาษีหลงถ้ำ

เพลง ฤาษีหลงถ้ำเป็นเพลงโบราณอีกเพลงหนึ่งของล้านนาไม่ปรากฏชื่อผู้แต่ง ทำนองเพลงที่มีแต่เดิมนั้นมีจังหวะลงตัวแบบล้านนา หากไม่เอาหน้าทับกลองในอัตราจังหวะสองชั้นของดนตรีไทยมาจับ เพราะหากเอาเกณฑ์ของดนตรีมาจับจะขาดหน้าทับไป 2 จังหวะ ต่อมาเจ้าสุนทร ณ เชียงใหม่เห็นว่าควรเพิ่มเติม จึงเพิ่มตรง   - - - ร  ฟซฟด จากครั้งเดียวเป็น 2 ครั้งเป็น - - - ร  ฟซฟด - - - ร  ฟซฟด

  •     พม่า

เพลงพม่าเป็นทำนองเพลงที่ใช้บรรเลงประกอบการขับซอ ชื่อเพลงบางแห่งเรียกเพลง “เจ้าสุวัตร” หรือ “นางบัวคำ” สาเหตุเพราะท้าวสุนทรพจนกิจแต่งบทซอเรื่อง “เจ้าสุวัตร – นางบัวคำ” โดยใช้ทำนองนี้

  •     พระลอเลื่อน

เพลงพระลอเลื่อนหรือบางแห่งเรียก “ล้อเลื่อน” เป็นเพลง ๆ เดียวกับเพลง “นาคบริพัตร” ซึ่งแต่งโดยครูเทวาประสิทธิ์ พาทยโกศล เมื่อชาวล้านนานำมาบรรเลงทำให้สำเนียงออกทางล้านนา ซึ่งมิได้ผิดเพี้ยนจากของเดิมมากนัก

  •     ปุมเหม้นหรือปุมเป้ง

เพลงปุมเหม้นหรือปุมเป้ง ไม่ปรากฏนามผู้แต่ง เพลงนี้มีท่วงทำนองคล้ายคลึงกับเพลง “ปั่นฝ้าย” มาก ออกจะมีความคล้ายคลึงกันจนอาจกล่าวได้ว่าเป็นเพลงเดียวกันเลยทีเดียว เพลงนี้ยังมีความสับสนเรื่องชื่อเพลงอยู่ บางแห่งเรียก “ขงเบ้ง” “ปุ๋มเปง” ลำนำชนบทเป็นต้น

  •     แห่หน้อย

เพลงแห่หน้อย เป็นเพลงบรรเลงที่มีทางเพลงคล้ายเพลงปราสาทไหว นิยมบรรเลงแพร่หลายในเขตอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ชมรมพื้นบ้านล้านนา สโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้นำมาเผยแพร่เมื่อ พ.ศ. 2527 จนเป็นที่นิยมในเขตจังหวัดเชียงใหม่และลำพูนในปัจจุบัน

  •     ล่องแม่ปิง

เพลงล่องแม่ปิง เป็นทำนองเพลงที่ไพเราะอ่อนหวาน ไม่ปรากฏนามผู้แต่ง

  •     รอบเวียง

เพลงรอบเวียง เป็นทำนองเพลงที่มีสำเนียงคล้ายเพลงล่องแม่ปิง ไม่ปรากฏนามผู้แต่ง เพลงนี้มีชื่อเรียกต่างกันออกไปเช่น มอญดำ มอญคำ สร้อยเวียงพิงค์ กล่อมนางนอน และลาวเดินดงเป็นต้น เพลงรอบเวียงแต่เดิมมีท่อนเดียว ต่อมามีผู้แต่งเพิ่มอีก 2 ท่อน และเรียกชื่อว่า “แหย่งลำพูน”

  •     ปั่นฝ้าย

เพลงปั่นฝ้าย เป็นทำนองประกอบการขับซอทำนองหนึ่งของเมืองน่าน ผู้แต่งคือ นายไชยลังกา เครือเสน ช่างซอศิลปินแห่งชาติ (2448 - 2535) โดยปรับปรุงจากเพลงรำวงโบราณชื่อเพลง “ชักใบ”

ต่อมาเจ้าสุนทร  ณ  เชียงใหม่ ได้แต่งท่อนที่สองเพิ่มเติมอีก มีลักษณะ “ล้อ” และ “เหลื่อม” เหมือนเพลงไทยเดิม เพลงปั่นฝ้ายทางบรรเลงจึงมีสองท่อน ปัจจุบันเพลงนี้นิยมใช้บรรเลงประกอบการฟ้อนสาวไหม

  •     กุหลาบเชียงใหม่

เพลงกุหลาบเชียงใหม่ เป็นเพลงที่มีท่วงทำนองอันไพเราะและอ่อนหวานอีกเพลงหนึ่ง ไม่ปรากฏนามผู้แต่ง

  •     อื่อ

อื่อ เป็นทำนองโบราณของล้านนา ใช้ประกอบการขับซอ ไม่ปรากฏชื่อผู้แต่ง เพียงแต่สันนิษฐานกันว่ามีวิวัฒนาการมาจากเพลงกล่อมเด็ก นิยมใช้ประกอบการขับซอในเนื้อหาพรรณนาทั่วไป ตลกขบขัน และอวยชัยให้พร

ทำนองนี้นิยมบรรเลงในวงปี่ชุมและวงสะล้อ-ซึง โดยทั่วไปจังหวะของเพลงนี้ลงจังหวะแบบล้านนา แต่หากเอาหน้าทับกลองในอัตราสองชั้นแบบดนตรีไทยมาจับจะไม่ลงจังหวะ

  •     ผีมดกินน้ำมะพร้าว

เพลง ผีมดกินน้ำมะพร้าว เป็นเพลงบรรเลงที่ใช้ประกอบการฟ้อนโดยเฉพาะการฟ้อนผีมด เพลงนี้ จะใช้บรรเลงขณะที่ร่างทรงกำลังดื่มน้ำมะพร้าวตามพิธี ภายหลังนิยมนำไปบรรเลงในการฟ้อนผีอื่น ๆ เช่นฟ้อนผีเม็ง ผีเจ้านาย ผีเจ้าบ้าน เป็นต้น

  •     ผีมดห้อยผ้า

เพลงผีมดห้อยผ้า เป็นเพลงบรรเลงที่ใช้ประกอบการฟ้อนผี ชื่อเพลง “ผีมดห้อยผ้า” เป็นชื่อที่เรียกขานกันในหมู่นักดนตรีเท่านั้น ในความเป็นจริงแล้วการห้อยผ้าเป็นพิธีกรรมเฉพาะการฟ้อนผีเม็ง

  •     มวย

เพลงมวย เดิมคือเพลงแขกบรเทศ ซึ่งประพันธ์ทำนองโดยพระประดิษฐ์ไพเราะ (ครูมีแขก) ชาวล้านนานำมาประกอบการชกมวย โดยบรรเลงในอัตราจังหวะ 2 ชั้น ขณะที่นักมวยไหว้ครู และบรรเลงในอัตราจังหวะชั้นเดียวขณะที่นักมวยชกกัน นอกจากนี้ยังนิยมบรรเลงประกอบการฟ้อนเชิง ฟ้อนดาบและหอกอีกด้วย

  •     มอญลำปาง

เพลงมอญลำปาง เป็นเพลงบรรเลงที่ใช้ประกอบการฟ้อนผีเม็งของชาวลำปาง ซึ่งเรียกชื่อเพลงว่า “มอญเก๊าห้า” (มอญต้นหว้า) นายอุดม  หลีตระกูลไปพบเมื่อปี พ.ศ. 2536 จึงนำมาเผยแร่จนเป็นที่นิยมในเชียงใหม่และลำพูน จึงเรียกชื่อตามแหล่งที่มาว่า “มอญลำปาง”

  •     ปราสาทไหวยอง       

เพลงปราสาทไหวยอง เป็นเพลงบรรเลงที่นิยมบรรเลงในเขตเมืองยองประเทศพม่า ชาวไทยองแถบนั้นเรียกชื่อเพลงว่า “ปราสาทไหว” นายลิปิกร  มาแก้วไปพบเมื่อ พ.ศ. 2536 จึงนำมาเผยแพร่ในเชียงใหม่และเรียกตามแหล่งที่มาว่า “ปราสาทไหวยอง”

  •     กล่อมนางนอน

เพลงกล่อมนางนอน เป็นเพลงบรรเลงของชาวล้านนาทั่วไป ไม่ปรากฏที่มาและชื่อผู้แต่ง

  •     รำวงแม่ปิง กระต่างลอยคอ เปิดปราสาท

เพลงทั้งสามเพลง เป็นเพลงประเภทเพลงรำวง อยู่ในลักษณะเพลงรำโทนของภาคกลาง ซึ่งเป็นที่นิยมในสมัย จอมพล ป. พิบูลสงครามดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี


เพลง ต่าง ๆ ที่กล่าวมานิยมบรรเลงมาแต่อดีต บางเพลงอาจยืมจากถิ่นอื่น บางเพลงอาจพัฒนาแต่งเติมขึ้นบ้าง และยังมีอีกส่วนหนึ่งที่แต่งขึ้นใหม่ ดังจะได้นำมากล่าวถึงในอังคารต่อไป


    สนั่น   ธรรมธิ
สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่