วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
28/10/2008
ที่มา: 
สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ http://art-culture.chiangmai.ac.th/

บทความ นาฏดุริยการล้านนา  วันอังคารที่  1 ตุลาคม 2548- เพลง (3)

    เพลง (3)

เพลง บรรเลงล้านนาที่ใช้บรรเลงและสืบต่อกันมา บางเพลงไม่ทราบที่มา เช่นเพลงกล่อมนางนอน แต่บางเพลงพอมีร่องรอยให้ศึกษาอยู่บ้าง เช่น ปี่จุมห้า  ฉัตร  สาวไหม(เชียงราย) เป็นต้น

  •    ปี่จุมห้า 

เพลงปี่จุมห้า เป็นเพลงที่นิยมใช้ปี่จุมบรรเลง มักบรรเลงโหมโรงก่อนมีการขับซอ

  •     ฉัตร

เพลงฉัตรเพลงนี้ น่าจะเป็นเพลงที่แต่งขึ้นโดยครูเพลงไทยเดิม เพราะลักษณะของทางเพลงมีการเหลื่อมแบบจารีตนิยมของดนตรีไทยภาคกลาง

  •     สาวไหม

เพลงสาวไหมเป็นเพลงที่ใช้บรรเลงประกอบการฟ้อนสาวไหม โดยเฉพาะฟ้อนสาวไหมแบบฉบับของครูบัวเรียว  รัตนมณีภรณ์ ซึ่งได้สืบทอดการฟ้อนจากนายกุย  สุภาวสิทธิ์ ผู้เป็นบิดา

เพลงนี้ไม่ปรากฏว่าเดิมชื่อเพลงอะไร ใครเป็นผู้แต่ง เมื่อครูดนตรีของวัดศรีทรายมูล อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ชื่อนายโม  ใจสม  นำเอาเพลงนี้มาบรรเลงประกอบการฟ้อนสาวไหม จึงได้ชื่อว่าเพลง “สาวไหม” ลีลาและสำเนียงเพลงมีส่วนคล้ายคลึงกับเพลงลาวสมเด็จ จึงมีผู้แสดงความเห็นเป็น 2 ฝ่ายด้วยกัน คือฝ่ายแรกเห็นว่าเพลงสาวไหมเดิมคือเพลงลาวสมเด็จนั่นเอง เมื่อใช้ดนตรีพื้นเมืองบรรเลงโดยนักดนตรีพื้นเมืองจึงทำให้สำเนียงผิดเพี้ยน ไปจากของเดิม ฝ่ายหลังเห็นว่า นายโม  นำเอาสำเนียงเพลงลาวสมเด็จมาแต่งขึ้นใหม่ อย่างไรเสีย ทั้งสองฝ่ายก็ยังไม่มีหลักฐานยืนยันความเห็นของตน

อย่างไรก็ตาม ยังมีเพลงที่แต่งขึ้นใหม่ โดยคีตกรชั้นครู ซึ่งมีที่มาพอเป็นข้อมูลเบื้องต้นดังนี้

  •     ขึ้นหิ้ง

เพลงขึ้นหิ้ง เป็นเพลงบรรเลงที่อาจารย์วิเทพ  กันธิมา แห่งวิทยาลัยนาฎศิลป์เชียงใหม่ แต่งให้นางสาววาสนา  ร่มโพธิ์ เพื่อใช้ประกอบการฟ้อนประดิษฐ์ ชื่อ “ฟ้อนจุมสะหรี” ในงานวิทยานิพนธ์ของ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2532

  •     ฝ้ายคำ

เพลงฝ้ายคำเป็นเพลงบรรเลงที่แต่งขึ้นโดย นายสุชาติ  กันชัย แต่งเมื่อวันที่ 14  กุมภาพันธ์  พ.ศ. 2526

  •     หริภุญชัย

เพลงหริภุญชัยแต่งโดย นายสุชาติ  กันชัย เมื่อวันที่  11  มิถุนายน  พ.ศ. 2527 ลีลาและสำเนียงของเพลงเป็นสำเนียงมอญ ด้วยเห็นว่าพระนางจามเทวี ปฐมกษัตริย์ของหริภุญชัยมีเชื้อสายมอญ และเพื่อให้ผสมกลมกลืนกับล้านนาจึงใช้จังหวะกลองตึ่งนงมาประกอบจังหวะเพลง

  •     กาสะลอง

เพลงกาสะลอง เป็นเพลงบรรเลงที่แต่งขึ้นโดย นายสุชาติ  กันชัย แต่งเมื่อวันที่  6  สิงหาคม  พ.ศ. 2529

  •     ไทอ่างขาง

เพลงไทอ่างขาง เป็นเพลงบรรเลงแต่งโดย นายสุชาติ  กันชัย  เมื่อวันที่ 11  มิถุนายน พ.ศ. 2529 เพลงนี้ผู้แต่งนำเอาสำเนียงการพูดของชาวไทใหญ่ (ที่เรียกตนเองว่า “ไต”) ที่อาศัยอยู่บริเวณดอยอ่างขาง อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ มาดังแปลงแต่งเป็นทำนองเพลงขึ้น และให้ชื่อสอดคล้องกับความเป็นมาว่าเพลง “ไทอ่างขาง” และเพื่อให้รสชาติของเพลงเป็นไทใหญ่จึงให้กลองมองเซิง ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีที่นิยมในหมู่ไทใหญ่ เป็นเครื่องประกอบจังหวะ

  •     ฟ้าฮ่าม

เพลงฟ้าฮ่าม เป็นเพลงบรรเลงแต่งโดย นายสุชาติ  กันชัย

  •     โหมโรงเอื้องล้านนา

เพลงโหมโรงเอื้องล้านนา เป็นเพลงบรรเลงสำหรับโหมโรงโดยเฉพาะของวงดนตรีพื้นบ้าน คณะ “เอื้องล้านนา” สังกัดชมรมพื้นบ้านล้านนา สโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพลงนี้ นายสุชาติ  กันชัย  เป็นผู้แต่ง

  •     พู่ชมดวง

ชื่อเพลงหากเขียนตามเสียงจะเป็น “ปู้จมดวง” หมายถึง แมลงภู่เชยชมดอกไม้ เพลงนี้ผู้แต่งคือ นายสุเทพ  แสนมงคล  แต่งเมื่อเดือน กรกฎาคม  2532  โดยปรับทำนองจากเพลงรอบเวียง ผสมผสานกับเพลงกาสะลอง

ข้อมูลเรื่องของเพลงทั้งหมดนับเป็นสิ่งสำคัญทางด้านการศึกษาเพลงพื้นบ้าน เชิงนัยประวัติ ผู้เขียนจึงคัดเป็นบันทึกไว้เผื่อผู้สนใจจะได้นำไปใช้ประโยชน์ต่อไป


    สนั่น   ธรรมธิ
สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ขอบคุณข้อมูลจาก  สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่