วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
28/10/2008
ที่มา: 
สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ http://art-culture.chiangmai.ac.th/

บทความ นาฏดุริยการล้านนา วันอังคารที่  22 พฤศจิกายน    2548 - ฟ้อนเจิง (2)

    ท่าฟ้อน (ลายเจิง)

หากจะกล่าวถึงชั้นเชิงในการใช้หอกโบราณของล้านนาก็มีชื่อแม่ท่าที่มักจะ ปรากฏในคัมภีร์ใบลานล้านนา เรื่องมหาเวสสันดรชาดก ซึ่งส่วนใหญ่จะมีอยู่ในกันฑ์มหาราช ฉบับ (สำนวน) ต่าง ๆ เช่น ในกัณฑ์มหาราช กัณฑ์ที่ 11 ฉบับไผ่แจ้เรียวแดงได้พรรณนาชื่อท่ารำหรือแม่ท่าไว้ดังนี้


“…เชิง อันนึ่งชื่อว่า
เปนโคมคลองหมากเต้า
นางเหยี้ยมปล่องลงแทง
พอฟ้อนเฟื่องสว่างสงวน
ชาวแม่มาดสมแสน
ช้องนางควี่ขะแจขำ
ขุนใหม่หม้าเช็กคาย
ขุนใหม่หม้าด่วนเสด็จ
ท่านหื้อรางวัลเมียนาง
ศักดิ์ใหม่หม้าปรากฏ

แม่มอมเกี้ยวปราสาทโรงทอง
สามสุมเส้าคระชินชิดช่อง
แม่ปราบฟองแรงรีบร้อน
เกล้ากลางพลสักสวาด
ตาแหลวแมนเชิงถี่
พวกพลจำช้างม้า
ขุนแสนสายเชื้อฟ้า
อาสาการพระบรพิตรเข้มข้น
กินเมืองขวางเขี่ยงฟ้า
เมื่อนั้นแลนา…”

นอกจากนี้ก็ยังมีปรากฏในวรรณกรรมไทยเขินเรื่องกาลาซาเครือดอก ซึ่งปริวรรตโดย ดร.อนาโตล เป็ลติเยร์ (พ.ศ. 2533) ได้มีการกล่าวถึงเชิงหอกว่า

“ตนท่านเจ้าฤาษี สอนชายมีหากได้ ลายหอกไม้แหลมยาว แม่สาวมือทาววักลูบ ซัดเข้าหูบคืนมา วืนไปหาตำศอก ซัดเข้าออกหนคืน ลุกจุกยืนแล้วนั่ง ดูคัดคั่งเร็วไว”

ชื่อ แม่ท่าดังกล่าวทำให้เราได้ทราบถึงความสำคัญของอาวุธชนิดนี้ จากความหลากหลายของกระบวนยุทธที่ปรากฏ แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า เราไม่สามารถชมภาพท่าทางนั้นได้ เพราะการใช้หอกได้หมดสมัยไป อย่างไรก็ตามยังมีผู้สืบทอดไว้ได้บ้าง เช่น พอครูมานพ  ญาระณะ (พัน) ซึ่งปัจจุบันท่านยังถ่ายทอดให้ศิษย์เป็นปกติ แต่ออกมาในรูปแบบของการฟ้อนเป็นหลัก การฟ้อนหอกของพ่อครูมานพ มีทั้งการใช้หอกเล่มเดียวและหอกคู่ซึ่งมีท่าฟ้อนดังนี้
    1.    สางหลวง
2.    ปรมะ
3.    หลดศอกข้ามหอก
4.    คีมไฮ
5.    ช้างงาหลั่ง
6.    สนส้นสนปลาย
7.    หมอกมุงเมือง

เมื่อการฟ้อนหอกอยู่ในรูปแบบของการแสดง จึงมักมีการกำหนดรูปแบบของการแต่งการ และจังหวะดนตรีให้เหมาะสมกับการแสดงด้วย

  •     การแต่งกาย

การแต่งกายฟ้อนหอกก็เช่นเดียวกับฟ้อนดาบ คือ สมัยก่อนอาจใส่ชุดนักรบโบราณ แต่ปัจจุบันนี้มักแต่งกายเหมือน ๆ กัน คือ นุ่งกางเกงสะดอ และสวมเสื้อหม้อห้อมคาดด้วยผ้าขาวม้า

 

  •     ดนตรีประกอบ

เครื่องประโคมสำหรับการฟ้อนหอก อาจใช้วงปี่พาทย์ล้านนา (เต่งถิ้ง) หรือวงกลองปูเจ่ สิ้งหม้อง สะบัดชัยตามแต่สะดวก การฟ้อนหอกปัจจุบันมีให้เห็นน้อยมาก ยิ่งการแสดงยิ่งหาดูได้ยาก นอกจากจะมีการฟ้อนในพิธีฟ้อนผี เช่นฟ้อนผีมต มีเม็ง ผีเจ้านาย เป็นต้น ศิลปะการฟ้อนหอกหากไม่รีบอนุรักษ์ไว้ อาจสูญหายไปในเวลาไม่ช้านี้

สนั่น   ธรรมธิ
สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
(ภาพประกอบโดยพิชัย  แสงบุญ และเสาวณีย์  คำวงค์)

ขอบคุณข้อมูลจาก  สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่