วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
28/10/2008
ที่มา: 
สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ http://art-culture.chiangmai.ac.th/

บทความ นาฏดุริยการล้านนา วันอังคารที่  29 พฤศจิกายน 2548 - ฟ้อนดาบ (1)

   


ฟ้อนดาบ (1)

การฟ้อนดาบ คือการร่ายรำด้วยลีลา หรือชั้นเชิงในการต่อสู้ด้วยดาบ โดยท่ารำมีทั้งเชิงรุก รับ เชิงหลบหลีกรวมถึงเชิงหลอกล่อ และแต่ละท่ารำ มักมีชื่อท่า ที่เรียกว่า “แม่” เช่น แม่บิดบัวบาน แม่เกี้ยวเกล้า แม่ปลาต้อนหาด เป็นต้น ชื่อท่ารำหากจะรวบรวมในเขตล้านนาแล้ว พบว่ามีมากกว่าร้อยชื่อ ซึ่งหากจะนำมากล่าวให้หมดก็คงเกินความจำเป็น อย่างไรเสียจะขอยกตัวอย่างชื่อ แม่ ที่ พ่อครูคำ กาไวย์ ศิลปินแห่งชาติสาขาการแสดงพื้นบ้าน พ.ศ. 2535 ได้เรียบเรียงเป็นคำคล้องจองไว้เพื่อสอนศิษย์ ดังนี้


1.         บิดบัวบาน
2.         เกี้ยวเกล้า
3.         ล้วงใต้เท้ายกแหลก
4.         มัดแกลบก้องลงวาง
5.         เสือลากหากเหล้นรอก
6.         ช้างงาทอกตวงเต็ก
7.         กำแพงเพ็กดินแตก
8.         ฟ้าแมบบ่ทันหัน
9.         ช้างงาบานเดินอาจ
10.      ปลาต้อนหาดเหินเหียน
11.      อินท์ทือเทียนถ่อมถ้า
12.      เกินก่ายฟ้า
13.      สวักก้นพระยาอินท์
14.      แซวซูดน้ำบินเหิน
15.      สางลายเดินเกี้ยวกล่อม
16.      คีมไฮ (คีมไร)
17.      ถีบฮ้วง
18.      ควงโค้งไหลสองแขน
19.      วนแวนล้วงหนีบ
20.      ชักรีบแทงสวน
21.      มนม้วนสีไคล
22.      ชักแทงใหม่ถือสัน
23.      ช้างตกมันหมุนวนเวียนรอบ
24.      เสือคาบรอกลายแสง
25.      สินส้น
26.      สินปลาย
27.      ลายแทง
28.      กอดแยง
29.      แทงวัน
30.      ฟันโข่
31.      บัวบานโล่
32.      ลายสาง

 


นบน้อม ขอกราบก้มลงวาง ท่าฟ้อนดาบทั้ง  32  ท่านี้ บางท่าใช้ชื่อที่ปรากฏมาแต่เดิม บางท่าแต่งเติมให้คล้องจองและบางท่าแต่งขึ้นใหม่ โดยอาศัยแนวจากการพรรณานาท่ารำอาวุธที่ปรากฏในมหาชาติภาคพายัพ ฉบับสร้อยสังกรซึ่งสอบทานโดยพระธรรมราชานุวัตร (ฟู  อัตตสิโว) ที่ว่า

“…ดาบกับลานี้กูถือเอาหอกด้ามยาวปลายสามฝูเชิงกลิ้งดูไววะวาด คระครุบครุคราบเยียะทะลิงทะลาย ชะเลยดายเชิงจ้าน แม้สี่ด้านเลยไป เชิงชายไวทรงแทบ เชิงหอกอันนึ่งชื่อว่าแม่หมัดนอนแกลบกองวาง แม่เสือลากหาง เหินหอกช้างงาทอกตวงเต็ก กำแพงเพ็กดิ้นตาย พาดพิกแวดไวเวียน อินท์ทือเทียนถ่อมถ้า เกินก่ายฟ้าเอาพระยาอินทร์ นางเกี้ยวเกล้าชิดชินเชิงถี่ ช้องนางควี่เวียนวน อีเพ็กชายสนกินหยาบใจเคริงขาบปานไฟ ตีนมือไวเที่ยงเท้า เขานันละเล้าจากันว่าจักบิดเบี่ยงฟ้าเอาอินท์…”

ท่าต่าง ๆ แม้จะมีชื่อใหม่ แต่ก็แตกแขนงจากของเดิมที่ครูคำ  กาไวย์ซึ่ง มีอยู่  16  ท่า คือ
1.       บิดบัวบาน
2.       เกี้ยวเกล้า
2.       ปลาต้อนหาด
4.       แทงวัน
5.       ฟันโข๋
6.       แซวจุ่มน้ำ
7.       ทือเทียน
8.       คนไฮ
9.       ถีบฮ้วง
10.    ฮ้วงบน
11.    เกินก่ายฟ้า
12.    แวนควง
13.    เหน็บแฮ้
14.    สีไคล
15.    แถวปลาย
16.    ลอยลม

เมื่อเทียบท่าฟ้อนดาบทั้ง  32  ท่าที่ครูคำ  กาไวย์ ได้กำหนดไว้เทียบกับชื่อของแม่ท่าเดิมที่มีอยู่  16  ท่านั้น เห็นว่า บางท่าใช้ชื่อเดิม บางท่าขยายความเพิ่ม และบางท่าบัญญัติขึ้นใหม่ โดยต้องการให้ง่ายต่อการจดจำและการถ่ายทอด ทั้งนี้ท่ารำทั้ง  32 ท่านั้น อาจมีการเรียกแผกไป ดังจะได้กล่าวถึงต่อไปในวันอังคารหน้า

    สนั่น   ธรรมธิ
สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
(ภาพประกอบโดยพิชัย  แสงบุญ และเสาวณีย์  คำวงค์)

ขอบคุณข้อมูลจาก  สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่