วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
28/10/2008
ที่มา: 
สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ http://art-culture.chiangmai.ac.th/

บทความ นาฏดุริยการล้านนา วันอังคารที่ 13  ธันวาคม 2548 - ฟ้อนเจิง (มือเปล่า)

ฟ้อนเจิง (มือเปล่า)

  


ดังที่เคยกล่าวมาในช่วงต้น ๆ ว่า “ฟ้อนเจิง” เป็นการร่ายรำ ตามกระบวนท่าจากแบบแผนที่แสดงออกถึงศิลปะในการต่อสู้ของชาย ซึ่งท่ารำนั้นมีทั้งท่าที่ผู้รำแต่ละคนจะใช้ความสามารถเฉพาะตัว ในการพลิกแพลงให้ดูสวยงามไม่ว่าจะเป็นฟ้อนเจิงไม้ค้อน เจิงหอก เจิงดาบ หรือเจิงมือ

 

การฟ้อนเจิงโดยมีอาวุธอยู่ในมือได้กล่าวถึงไปแล้ว คราวนี้จะเสนอเรื่องของการฟ้อนด้วยมือเปล่า ซึ่งเรียกกันโดยทั่วไปว่า “ฟ้อนเจิง”

จากการศึกษา
การฝึกฟ้อนเจิงจะเริ่มจากการหัดเดินเท้า คือย่างเท้าให้มีกระบวนท่าเสียก่อน โดยฝึกย่างไปตามขุมเจิงคือผังหรือตำแหน่งที่กำหนด ซึ่งมักจะปักไม้ ฝังก้อนอิฐหรือหินไว้ตามตำแหน่งที่ถูกต้อง การย่างจะต้องไปตามขุมทั้งในจังหวะรับและหนี พร้อมนั้นจะต้องวาดมือออกไปให้สัมพันธ์กับเท้าที่ก้าวอยู่ให้สมดุลและเพื่อความสวยงาม

  



ขุมสำหรับการหัดย่างหรือ เดินของครูแต่ละสำนักนั้น มีจำนวนต่างกันไป นับตั้งแต่ 3 ถึง 32 ขุม เช่น การฝึกย่างเท้าให้สัมพันธ์กับมือ ถือเป็นความรู้พื้นฐานหรือแม่ลายหลักที่เรียก “แม่ไม้” ซึ่งเมื่อฝึกแม่ไม้ได้ครูจะเริ่มสอนลีลา ที่เห็นว่าเหมาะกับบุคลิกของผู้ฟ้อน ลีลาดังกล่าวเรียกว่า “ลูกไม้” และลีลาการฟ้อนเจิงของแต่ละสำนัก ก็มีลวดลายต่างกันออกไป แต่ก็ให้อรรถรสที่เร้าใจในลีลาท่วงท่า ในการต่อสู้ไม่ยิ่งหย่อนกัน ดังจะเห็นได้จากลีลาของ “พ่อครูเจิง” ท่านหนึ่ง ชื่อ คำปวน  คำมาแดง (เสียชีวิต) ได้บัญญัติท่าฟ้อนเจิงของท่านไว้ว่า

“ตีน ซ้ายเข้าจิ หยุด ลางซ้าย ฅวัดตาตีนซ้าย หงายอ้งทั่งออก ตบมือตบขนาบ ตีมะผาบวิดขึ้นฟ้อน ยกขาขวาสันขาตาตีน ตบมือฮูดเข้าหาตาศอก ขาซ้ายไปแป็บ ปัดสันขาไว้แอว ไส ผายมือขึ้นชืดชืด ทืบตีนลง ควักบนตบบน ตบมือตบมะผาบวิด-ขึ้นฟ้อน ซ้ายเข้าหาแอว ผายมือไปหื้อจอด ตบมือนอกอุ่มอก ซ้ายเกี้ยวก้น ตีเจ หลังมือหล่อ เหลียว แป็บตาตีนซ้าย สางฟ้อน เขิง แทงมือไล่ศอก ยุ่มเอาตาศอกออก- ผ็อกปลายมือ ค้อมขึ้นค้อมลง ซ้ายเข้าอกก่องขวา ขวาเข้าอกก่องซ้าย ยุ่มสามในอก ขึ้นหน้าผาก นิ้วก้อยลวาดตีนผม ซ้ายเข้าอกขวาปลดเข้าง่อน ขวาเข้าอกซ้ายปลดเข้า-ง่อน ยกขาขวาในอ้งนอกหลัง บิดบัวบานหน้าแฅ่ง ฉีก สาวไหม เข้าแม่บ่ากอก งมปลา ตีตาตีนขวาคว่างเข้าไป

ท่าฟ้อนที่ยกตัวอย่างมา หากจะอธิบายเป็นตัวอักษรคงยากแก่การทำความเข้าใจ เพราะติดขัดเรื่องการใช้ภาษาอย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งการใช้ตัวอักษรอย่างเดียว ไม่สามารถถ่ายทอดอากัปกิริยาที่เคลื่อนไหวได้หมด จึงขอนำเสนอพอเป็นตัวอย่างไว้เท่านั้น การฟ้อนเจิงในปัจจุบันยังเป็นที่นิยมกันอยู่ หากแต่ทรัพยากรศิลปินดูเหลือน้อยเต็มที โดยเฉพาะศิลปินระดับครูส่วนใหญ่จะอายุมากแล้ว การสืบทอดความรู้ไว้จึงน่าจะเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ควรรีบกระทำ ก่อนที่ศิลปะอันล้ำค่าจะเลือนหายไปกับกาลเวลา

 สนั่น   ธรรมธิ
สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
(ภาพประกอบโดยจรัสพันธ์  ตันตระกูล พิชัย  แสงบุญ และเสาวณีย์  คำวงค์)

ขอบคุณข้อมูลจาก  สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่