วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
29/10/2008
ที่มา: 
สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ http://art-culture.chiangmai.ac.th/

บทความ นาฏดุริยการล้านนา วันอังคารที่  10  มกราคม  2549 - ฟ้อนสาวไหม (4)

ฟ้อนสาวไหม (4)

กล่าวถึงหลักฐานที่สนับสนุนข้อสรุปว่า พ่อครูกุย สุภาวสิทธิ์(บิดาของนางบัวเรียว  รัตนมณีภรณ์) และพ่อครูคำสุข  ช่างสาร เป็นศิษย์ของพ่อครูปาน  คำมาแดง นั้น  ผู้เขียนได้นำเอา “คำเรียกครู” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของบทไหว้ครูมาเปรียบเทียบให้ดู ในฉบับวันอังคารที่ผ่านมา ฉบับนี้มาต่อกันที่เรื่องของ “ขุมเจิง” และ “แม่ลาย”

คำว่า “ขุม” หมายถึงหลุม “เจิง” คือชั้นเชิง คนโบราณเวลาถ่ายทอดชั้นเชิงการต่อสู้ จะขุดหน้าดินให้เป็นหลุมลึกพอให้เห็น เพื่อกำหนดจุดหรือตำแหน่งการวางเท้า และเมื่อจะย้ายเท้าให้มีชั้นเชิง ก็ต้องเพิ่มจำนวนขุมให้มากขึ้น ขุมทีมากขึ้นจะมีหลักกำหนดในการย้ายเท้าตามตำรา จึงเกิดผังการเดินเท้า เรียกว่า “ขุมเจิง” การย่างย้ายเท้าต้องถูกต้องทั้งเชิงรุก เชิงรับและเชิงถอย อีกทั้งต้องกะระยะจังหวะการเหยาะย่างให้ถูกกระบวนยุทธ ที่เรียกว่า “ย่างขุม” การได้ฝึกฝนให้เกิดทักษในการย่างขุม จะทำให้เกิดลักษณาการที่สง่างามในเชิง ยุทธลีลา ขุมเจิงที่พ่อครูทั้งสามใช้เป็นประจำมี  3  ขุมเจิงได้ขุมสิบสอง ขุมสิบหกและขุมสิบเจ็ด

จากการที่ผู้เขียนได้ศึกษาเชิงทฤษฏีและเชิงปฏิบัติ จากนายคำคง  สุระวงศ์ (บุตรของนายปุก  สุรวงศ์ ซึ่งเป็นศิษย์พ่อครูปวน) พ่อครูคำสุข  ช่างสารและนางบัวเรียว  รัตนมณีภรณ์ ปรากฏว่าใช้หลักการตรงกัน แสดงว่ามาจากครูเดียวกัน
สำหรับแม่ลายนั้น เป็นสิ่งสำคัญควบคู่กับขุมเจิง กล่าวคือขุมเจิงเป็นทฤษฏีของการเดินเท้า ส่วนแม่ลายจะเป็นทฤษฏีของการเคลื่อนไหวของร่างกายส่วนบน โดยเฉพาะลำแขนและมือ คำว่า “แม่” คือ แบบฉบับ "ลาย” คือลวดลายหรือลีลา (ชาวไทใหญ่เรียกการฟ้อนเจิงด้วยมือเปล่าว่า “ก้าลาย” ก้า หมายถึง ฟ้อน ลาย คือลวดลายหรือชั้นเชิง) แม่ลาย หมายถึง แบบฉบับของศิลปะ ใช้กับศิลปการฟ้อนเจิงโดยเฉพาะ และถ้าจะอนุมานเข้ากับภาษาไทยภาคกลางก็น่าจะหมายถึง “ท่ารำ”


แม่ลายของการฟ้อนเจิงสาวไหมที่มีส่วนคล้ายคลึงกันมาก มี  2  ฉบับ คือของพ่อครูกุยและของพ่อครูคำสุข ในที่นี้จะยกตัวอย่างที่เป็นลายมือของพ่อครูกุย เขียนด้วยอักษรล้านนา สามารถปริวรรตเป็นอักษรไทยกลาง ได้ว่า สางฟ้อน ยกขาซ้ายเข้าจิ ลางซ้าย ควักตาตีนซ้ายหงายอ้งทั่งออก ตบมือตบขนาบ กำสามติดหน้าผาก ฅิดก้อยลวาดตีนผม ปัดสันขาไว้แอว หย่อนซ้ายลงทืบพึด (อ่านตื้บปึ๊ด) ตบมืออุ่มอก ยกขาซ้ายผัด ไสเข้าตาศอก แป็บขาซ้ายย่ำลง ปัดสันขาไว้แอว ตบพึด ผายมือขึ้นทวยกันจื้ด ๆ ตบพึด ตบมืออุ่มอก ตีตาตีนซ้ายย่ำออกไป เหลียวซ้าย ยกขาขวา ไล่สันขาตาตีน ตบมือฮูดเข้าหาศอก ตีสันขาซ้ายแป็บ ๆ กำสามติดหน้าผาก ฅิดก้อยลวาดตีนผม ปัดสันขาไว้แอว ย่อตัวนั่งลง ยกขาขวาสันขาตาตีน ย่ำ…

ส่วนแม่ลายของพ่อครูคำสุข ที่ผู้เขียนได้รับการถ่ายทอด ขอยกตัวอย่างมาประกอบ ซึ่งปริวรรตเป็นอักษรกลาง ได้ว่า ตีน ซ้ายเข้าจิ หยุด ลางซ้าย คัวดตาตีนซ้ายหงายอ้งทั่งออก ตบมือตบขนาบ ตีมะผาบวิดขึ้นฟ้อนยกขาขวา สันขาตาตีน ตบมือฮูดเข้าหาตาศอก ขาซ้ายไปแป็บ ปัดสันขาไว้แอว…

แม่ลายดังกล่าวเป็นลวดลาย หรือท่วงท่าที่จะต้องสัมพันธ์กับขุมเจิง ที่กล่าวถึงตอนต้น การที่จะออกลีลาในแง่นาฏศิลป์จะต้องศึกษาเรียนรู้ ทั้งภาคทฤษฏีและภาคปฏิบัติ จนเกิดทักษะจนสามารถนำเสนอ ในเชิงศิลปะได้อย่างงดงาม และที่สำคัญการฟ้อนเจิงสาวไหมที่สง่างามนั้น มีข้อยืนยันที่อ้างมาว่า เป็นต้นแบบหรือที่มาของฟ้อนสาวไหมในปัจจุบัน การเชื่อมโยงพัฒนาการจะเป็นดรรชนีชี้บ่งให้เห็น และจะเป็นเช่นไรนั้น ขอให้อดใจรอในวันอังคารหน้า

สนั่น   ธรรมธิ
สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
(ภาพประกอบโดยพิชัย  แสงบุญและเสาวณีย์  คำวงค์ )

ขอบคุณข้อมูลจาก  สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่