วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
29/10/2008
ที่มา: 
สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ http://art-culture.chiangmai.ac.th/

บทความ นาฏดุริยการล้านนา วันอังคารที่  24  มกราคม  2549 - ฟ้อนสาวไหม (6)

    แม่ครูบัวเรียว รัตนมณีภรณ์ อายุ ๔๖ ปี (พ.ศ.๒๕๓๕)
ต้นตำรับแห่งการฟ้อนสาวไหมด้วยลีลาอันอ่อนช้อยงดงาม
จนกลายเป็นสัญลักษณแบบหนึ่งของศิลปะล้านนา

   ฟ้อนสาวไหม (6)

หลังจากที่นางบัวเรียว รัตนมณีภรณ์ได้พบกับนางพลอยสี  สรรพศรีแล้ว ท่ารำในการฟ้อนสาวไหมก็ได้รับการปรับปรุงในเชิงบูรณาการ พร้อมกับมีการเรียงท่าจากการฟ้อนสาวไหม เป็นภาษาสมัยใหม่ เพื่อให้ง่ายแก่การเข้าใจ ดังนี้


ที่เป็นที่รู้จักกันในปัจจุบัน
1.  ไหว้  (นั่ง)
2.  บิดบัวบาน
3.  บังสุริยา
4.  ม้วนไหมใต้ศอกซ้าย
5.  ม้วนไหมใต้ศอกขวา
6.  ม้วนไหมซ้ายล่าง
7.  ม้วนไหมขวาล่าง
8.  สาวไหมกับเข่าซ้าย
9.  ม้วนไหมวงศอก (แล้วลุกขึ้น)
10.  สาวไหมช่วงสั้นรอบตัว
11.  วัน  (วน)  ไหมซ้าย
12.  สาวช่วงยาวรอบตัว (หมุนตัวเดิมวงกลม)
13.  คลี่ปมไหม
14.  พุ่งกระสวยเล็ก
15.  สาวขึ้นข้างหน้า
16.  ขึงไหมข้างหน้า
17.  ม้วนเป็นขดโดยใช้ศอกซ้าย
18.  ม้วนเป็นขดโดยใช้ศอกขวา
19.  สาวรอบตัวอีก
20.  เอามาม้วนใต้ศอกซ้ายอีก
21.  ไหว้  (นั่ง)     

นอกจากนี้ ขณะที่มีการปรับปรุงท่ารำฟ้อนสาวไหมอยู่นั้น นางพลอยสีก็ได้ถ่ายทอดฟ้อนลาวแพน และรำอวยพรให้แก่นางบัวเรียวอีกด้วย หลังจากนั้นฟ้อนสาวไหมได้รับการเผยแพร่ จนเป็นที่รู้จักกว้างขวางขึ้น โดยแสดงตามงานต่าง ๆ ทั้งที่เชียงราย เชียงใหม่ กรุงเทพฯ และแสดงออกทางโทรทัศน์ช่อง  8  ลำปาง

จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ.  2521 วิทยาลัยนาฎศิลปเชียงใหม่ ได้ติดต่อขอให้นางพลอยสี ไปถ่ายทอดฟ้อนสาวไหมให้แก่อาจารย์ฝ่ายนาฏศิลป์ ตามนโยบายขอวิทยาลัยที่จะค้นคว้ารวบรวมการฟ้อนรำ และดนตรีพื้นเมืองมาปรับปรุงและจัดเข้า ในหลักสูตรการศึกษาของวิทยาลัย ตั้งแต่นั้นมาวิทยาลัยก็ได้บรรจุการฟ้อนสาวไหมเข้าในหลักสูตรวิชาหนึ่ง

 

น.ส. บัวเรียว  สุภาวสิทธิ์  ฟ้อนสาวไหม ที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ขณะนั้นอายุได้  21  ปี (ประมาณ พ.ศ. 2510)

เพลงที่วิทยาลัยนาฏศิลปใช้ประกอบคือ “เพลงซอปั่นฝ้าย” ท่อนแรกเป็นทำนองเพลงซอของจังหวัดน่าน แต่งโดยนายไชยลังกา  เครือแสน ส่วนท่อนที่สองเจ้าสุนทร ณ เชียงใหม่ แต่งเพิ่มเติมอีก วงดนตรีที่ใช้บรรเลงเป็นวงดนตรีพื้นเมืองประเภทสะล้อ-ซึง

ส่วนฟ้อนสาวไหมของนางบัวเรียว ก็ยังคงถ่ายทอดสู่ศิษย์คนแล้วคนเล่าอยู่ สถานภาพของนางบัวเรียวปัจจุบันอยู่ในชั้น “แม่ครู” และผู้ที่สืบทอดเจตนารมณ์โดยบริสุทธิ์ก็เห็นจะได้แก่บุตรสาวทั้ง  3  คน คือ นางสาวสายไหม  นางสาวสายชล และนางสาวสนธยา รัตนมณีภรณ์ ท่ารำที่แม่ครูใช้ถ่ายทอดเป็นมาตรฐานมี  13  ท่า ดังนี้

1.  เทพพนม
2.  บิดบัวบาน
3.  สาวไหมช่วงยาว
4.  ม้วนไหมซ้าย
5.  ม้วนไหมขวา
6.  ม้วนไหมกวง
7.  ม้วนไหมใต้เข่า
8.  ม้วนไหมใต้ศอก
9.  สาวไหมรอบตัว
10.  ปั่นไหมในวง
11.  พุ่งหลอดไหม
12.  คลี่ปนไหม
13.  ทอเป็นผืนผ้า

ข้อสรุปเรื่องฟ้อนสาวไหมยังไม่สามารถสรุปได้ในคราวนี้ โปรดติดตามในวันจันทร์ต่อไป

  สนั่น   ธรรมธิ
สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
(ภาพประกอบโดยพิชัย  แสงบุญและเสาวณีย์  คำวงค์ )

ขอบคุณข้อมูลจาก  สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่