วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
29/10/2008
ที่มา: 
สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ http://art-culture.chiangmai.ac.th/

บทความ นาฏดุริยการล้านนา วันอังคารที่  31  มกราคม  2549 - ฟ้อนสาวไหม (จบ)

    ฟ้อนสาวไหม (จบ)

    ดังที่กล่าวมาแต่ต้นในช่วงระยะเวลาประมาณ  50  ปีที่ผ่านมา การฟ้อนสาวไหมมีความเป็นมาที่สรุปได้โดยสังเขป และอาจเขียนเป็นแผนภูมิ โดยจะเลือกเอาบุคคล ผู้เกี่ยวข้องที่ผู้เขียนกล่าวถึงได้ ดังนี้ การเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่ง มีความเป็นไปเป็นของธรรมดา ในช่วงระยะ  50  ปีนั้น  20  ปีแรกการเปลี่ยนแปลงอาจมีไม่มาก แต่ระยะ  30  ปีให้หลัง การฟ้อนสาวไหมเผยแพร่ขยายวงกว้าง จนไปสู่ระดับชาติความแตกต่าง ของลีลาท่ารำย่อมมีมากขึ้น และในความแตกต่างนี้เอง ก็เริ่มเกิดความไข้วเขวด้านนัยประวัติท่ารำ รวมไปถึงเพลงประกอบด้วย อย่างไรก็ตามหากไม่มีการเปลี่ยนแปลง ปรับแต่งให้เหมาะสมก็คงไม่มีฟ้อนสาวไหมแบบที่เห็นให้ชม จนเป็นที่เชิดชูด้านศิลปวัฒนธรรมของ ล้านนาในยุคปัจจุบัน เพราะถ้าหากจะให้สตรีผู้มีบุคลิกนิ่มนวลชดช้อย ไปฟ้อนในท่าทางรวดเร็ว หลอกล่อและคึกคะนองแบบเชิงสาวไหม ก็คงไม่น่าดูเท่าไรนัก



    สิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามคือ

    ควรมีการศึกษาอย่างเป็นวิชาการ โดยศึกษาทั้งความเป็นมา และความเป็นไป แยกแยะให้ออกว่าอะไรเก่าอะไรใหม่ อะไรมีอยู่ก่อนแล้ว อะไรเพิ่มเติมมาภายหลัง โชคดีที่ยังมีแหล่งข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ต่อการศึกษาหลงเหลืออยู่ ท่ารำของพ่อครูกุยยังมีให้เห็นอยู่ ซึ่งดูได้จากศิษย์ของ พ่อครูคำสุข  ท่ารำที่ถูกดัดแปลงมาระดับหนึ่ง ดูได้จากแม่ครูบัวเรียวหรือทายาท และท่ารำที่กรมศิลปากรเข้าไปมีอิทธิพล ก็ดูได้ที่วิทยาลัยนาฎศิลปเชียงใหม่ ถ้าไม่มีอดีตก็ไม่มีปัจจุบัน และหากไม่มีปัจจุบันก็ไม่มีอนาคตเช่นกัน แม่ครูบัวเรียว  รัตนมณีภรณ์ นับเป็นบุคคลสำคัญที่น่ายกย่อง ในฐานะที่เป็นผู้เชื่อมอดีตกับปัจจุบันอย่างแนบเนียน โดยการนำเอาศิลปะการฟ้อน ในชั้นเชิงของชายมาประยุกต์ดัดแปลง เป็นศิลปะการฟ้อนรำของสตรีผู้มีธรรมชาติอ่อนหวาน และบุคคลที่ควรสรรเสริญได้แก่ นาฎกรทุกท่านที่มีส่วนสร้างสรรค์ ฟ้อนสาวไหมให้มีความงดงาม ประณีตบรรจงได้อย่างน่าชื่นชม จนกลายเป็นมรดกอันล้ำค่ำของชาติในปัจจุบัน

    สนั่น ธรรมธิ
    สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ขอบคุณข้อมูลจาก  สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่