วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
29/10/2008
ที่มา: 
เว็บไซต์ล้านนาคดี http://lanna.mju.ac.th/ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ "ทุกภาพ ทุกตัวอักษร มอบเป็นวิทยาทานแด่ทุกท่าน"

ลอบ

 

ลอบ เป็นเครื่องมือดักจับปลาที่สานด้วยไม้ไผ่ ใช้หวาย เถาวัลย์ หรือลวดรัดโครงไม้ ลอบมีช่องว่างให้ปลาว่ายเข้าไปติดภายใน ลอบที่ใช้อยู่ในพื้นบ้านมีอยู่ ๓ ประเภท คือ ลอบนอน ลอบยืน และลอบกุ้ง

  • ลอบนอน ใช้ดักปลาสำหรับน้ำไหล มักจะมีหูช้างอยู่ในปากลอบด้วย โดยใช้แผงเฝือกต่อจากหูช้างทั้งสองข้างกั้นขวาง แม่น้ำ ลำคลอง วางลอบอยู่ในแนวนอน

ลอบนอนมีลักษณะเป็นทรงกระบอก ก้นลอบเป็นรูปรี ๆ สามารถปิดเปิดเอาปลาออกทางก้นลอบได้ ลอบนอนมีความยาวตั้งแต่ ๑ - ๒ เมตร เหลาซี่ไม้ไผ่กลม ๆ ประมาณ ๒๐ ซี่ มัดด้วยหวาย เถาวัลย์ หรือลวด ไม้ไผ่แต่ละซี่ห่างกันเกือบถึง ๓ เซนติเมตร หากจะดักปลาตัวเล็กก็เรียงซี่ไม้ไผ่ให้ชิดกัน ปากลอบดักปลาทำงา ๒ ชั้น เมื่อปลาว่ายเข้าไปแล้วจะออกมาไม่ได้อีก ลอบนอกใช้กับน้ำไหลไม่ต้องใช้เหยื่อล่อ ลอบนอนอีกประเภทหนึ่งใช้กับน้ำนิ่งในฤดูที่ปลาวางไข่ตามริมหนองน้ำ เรียกว่าลอบเลาะ เวลากู้ลอบนอนก็จะเปิดฝาลอบส่วนก้นลอบ เปิดฝาเทปลาใส่ข้องได้ทันที

  • ลอบยืน ใช้ดักปลาในน้ำลึก จะใช้แผงเฝือกกั้นแม่น้ำหรือไม่ก็ได้ การดัดลอบยืนจะดักน้ำลึกกว่าลอบนอน หากใช้เฝือกกั้นก็ดักลอบยืนไว้ตามน้ำนิ่งใกล้ ๆ กอหญ้า สุมทุมพุ่มไม้ที่อยู่ในน้ำ ปลาที่เข้าไปมักเป็นประหลาดุก ปลาช่อน ปลาตะเพียน ปลากด เป็นต้น ลอบยืนมีลักษณะเหมือนกับทรงขวดที่วางตั้งไว้ แต่ส่วนปลายลอบยืนนั้นมัดปลายยืนนั้นมัดปลายซี่ไม้ไผ่เข้ารวมกัน ตรงด้านข้างทำงายาวผ่าเกือบตลอด ลอบยืนมีหลายรูปแบบหลายขนาด อาจจะเล็กหรือใหญ่ต่างกัน ลอบยืนบางชนิดเมื่อวางตั้งแล้วจะสูงท่วมหัวคน
  • ลอบกุ้ง ใช้ลอบนอนหรือลอบยืนก็ได้ แต่การสานซี่ไม้ไผ่จะต้องมีระยะชิดกัน ไม่ให้กุ้งลอดออกไปได้ บางทีใช้ตาข่ายถี่ ๆ หรือผ้ามุ้งคลุมรอบตัวลอบ กุ้งจะว่ายหนีออกไปไหนไม่ได้ เหยื่อที่ใช้ เช่น กากน้ำปลา รำละเอียดผสมดินเหนียวปั้นเป็นก้อนเป็นต้น