วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
30/10/2008
ที่มา: 
สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ http://art-culture.chiangmai.ac.th/

บทความ นาฏดุริยการล้านนา วันอังคารที่  7  มีนาคม  2549 - ฟ้อนม่านมุ้ยเชียงตา หรือฟ้อนก่ำเบ้อ

 

ฟ้อนม่านมุ้ยเชียงตา หรือฟ้อนก่ำเบ้อ

    ฟ้อนชนิดนี้ เป็นการฟ้อนที่ยังมีการเรียนการสอนกันอยู่ ด้ายความเป็นมานั้น ศาสตราจารย์ ดร.อุดม  รุ่งเรืองศรี เรียบ เรียงไว้ในสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ เล่ม  ๙  หน้า  ๔๘๒๙ - ๔๘๓๐  ว่าเป็นกระบวนฟ้อนที่เกิดขึ้นจาก พระดำริของพระราชชายาฯ โดยการจ้างนักแสดง ชาวพม่าและมอญมาสอนให้ ชาวพม่าที่มาสอนให้เป็นชาย ส่วนนักแสดงชาวมอญเป็นหญิง ชื่อเม้ยเจ่งต่า การถ่ายทอดแต่ละครั้งพระราชชายาฯ จะเสด็จมาควบคุมอย่างใกล้ชิด ทรงเห็นว่าท่ารำของผู้ชายไม่น่าดูนัก จึงรับสั่งให้ครูผู้หญิงแสดงท่ารำของระบำพม่า ที่เคยแสดงในที่รโหฐานของกษัตริย์พม่า ให้ทอดพระเนตร ครั้นได้ชมก็พอพระทัย จึงได้ทรงดัดแปลงร่วมกับครูฟ้อนในวัง  กลายเป็นระบำหรือฟ้อนชุดใหม่ ทรงให้ผู้ฟ้อนทั้งหมดแต่งกายเป็น “กำเบ้อ” ซึ่งตรงกับคำในภาคกลางว่า “ผีเสื้อ” แสดงครั้งแรกในงานฉลองตำหนัก ของพระองค์ที่สร้างขึ้นใหม่บนดอยสุเทพ ใช้วงปี่พาทย์ผสมพิเศษบรรเลงประกอบการฟ้อน

    เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเลียบมณฑลพายัพและเสด็จมาเสวยพระกระยาหารค่ำ พระราชชายาฯ จึงจัดฟ้อนชุดนี้แสดงให้ทอดพระเนตร แต่งทรงเปลี่ยนเครื่องแต่งกาย จากชุดผีเสื้อมาเป็นชุดระบำในที่ระโหราฐ ตามคำบอกเล่าเดิมผสมกับภาพในหนังสือเรื่องพระเจ้าสีป้อ ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ เป็นแบบอย่าง ฟ้อนกำเบ้อ หรือระบำผีเสื้อ จึงกลายเป็น “ฟ้อนม่านมุ้ยเชียงตา” เมื่อปีพุทธศักราช  ๒๔๖๙

    หลังปีพุทธศักราช  ๒๔๖๙  มีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องการแต่งตัวของผู้ฟ้อนเกิดขึ้น ทำให้กลายเป็น ๒ แบบ กล่าวคือ

    แบบที่  ๑  ผู้ แสดงทั้งหมดเป็นสตรีล้วน จำนวนประมาณ  ๑๐ - ๑๖  คน แต่งกายแบบพม่าคือ นุ่งผ้าถุงแบบพม่ายาวกรอมเท้า สวมเสื้อแขนยาว ชายเสื้อสั้นแค่เอว มีขอบลวดอ่อนให้ชายงอนขึ้นไปจากเอวเล็กน้อย มีผ้าแพรสีต่าง ๆ คล้องคอชายผ้ายาวลงมาถึงระดับเข่า เกล้าผมมวยไว้กลางศีรษะและปล่อยชายผมลงข้างแก้ม มีดอกไม้สดประดับมวยผมและมีอุบะห้อยลงมากับชายผม
    แบบที่  ๒  ผู้ แสดงแต่งกายเป็นชายพม่าแถวหนึ่ง สตรีพม่าแถวหนึ่ง ทั้ง ๆ ที่มีบันทึกแสดงไว้เป็นหลักฐานชัดแจ้งว่า …ในงานฉลองกู่ (สถูป) ที่ทรงสร้างขึ้นใหม่ (เพื่อบรรจุอัฐิพระญาติที่กระจัดกระจายอยู่ในสถานที่ต่าง ๆ มารวมไว้เป็นแห่งเดียวกัน) หม่อมแส หัวหน้าครูฝึกได้ทูลถามว่า “ฟ้อนม่านมุ้ยเชียงตานี้จะใช้การแต่งกายเป็นชายแถวหนึ่ง หญิงแถวหนึ่งจะสมควรไหม” ทรงรับสั่งตอบว่า  “…เราซ้อมโดยใช้แบบอย่างระบำในที่รโหฐานของเขา ก็ต้องรักษาระเบียบประเพณีของเขาไว้ ระบำชุดนี้ต้องใช้หญิงล้วนตามธรรมเนียม หากว่าท่ารำซ้ำกันจะตัดออกเสียบ้างก็ดีจะได้ไม่เบื่อตา การรักษาประเพณีเดิมเป็นเรื่องสำคัญมาก ถ้าอยากจะใช้การแต่งกายเป็นพม่าชายบ้างก็ดัดแปลงม่านเม่เล้เป็นชายแถวหนึ่งหญิงแถวหนึ่งได้”

    สำหรับผู้ร่วมประดิษฐ์ดัดแปลงท่ารำของพม่ามาเป็นของเชียงใหม่นั้น เป็นแม่ครูในวังพระราชชายาฯ และในคุ้มเจ้าหลวงเชียงใหม่ ได้แก่ แม่ครูจาด  หม่อมแส  หม่อมพัน  หม่อมดำฯ

    ดนตรีบรรเลงประกอบการฟ้อน

    ใช้วงปี่พาทย์ไม้แข็งบรรเลงประกอบการฟ้อน เพลงที่ใช้บรรเลงมีสำเนียงพม่าจึงเรียกกันว่า “เพลงม่าน” แต่คนไทยที่ไปได้ยินคนพม่าบรรเลงเพลงนี้ในพม่า บอกว่าชาวพม่าเรียกเพลงนี้ว่า “เพลงโยเดีย” (ไทยอยุธยา) และไม่สามารถสืบหาความเป็นมาของเพลงได้

    ทำนองเพลงม่านดังกล่าวอาจารย์มนตรี  ตราโมท ได้วิจารณ์ไว้ในบทความเรื่อง “ฟ้อนม่านมุ้ยเชียงตา” ในวารสารศิลปากร ฉบับที่  ๑  ปีที่  ๒  (มิถุนายน)  ๒๔๙๑  หน้า  ๒๗  กล่าวว่า

    “…ทำนองเพลงที่บรรเลงประกอบฟ้อนม่านมุ้ยเชียงตา ถ้าถอดออกมาพิจารณาทีละประโยค ๆ จะเห็นว่า เพลงต้นจะมีทำนองของไทยภาคกลางผสมอยู่มา  แต่จะมีสำเนียงแบบพม่า ส่วนเพลงที่สองจะมีสำเนียงเพลงแบบไทยเหนือคือ “เพลงล่องน่าน” เป็นพื้น ส่วนเพลงถัด ๆ ไปก็มีทั้งทำนองไทยภาคกลาง ไทยเหนือ พม่า  และมอญ ผสมผสานกันไป”
    สำหรับชื่อฟ้อน “ม่านมุ้ยเชียงตา”  นั้น แยกได้เป็น  ๒  คำ คือ คำว่า “ม่าน”  และ “มุ้ยเชียงตา” โดยม่าน หมายถึง พม่า ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งฟ้อนแบบพม่าหรือครูพม่า และมุ้ยเชียงตา คือชื่อของครูสอนชาวมอญที่ชื่อ “เม้ยเจ่งต่า”

        ปัจจุบันการฟ้อนม่านมุ้ยเชียงตาลดความนิยมลง เพราะเหตุปัจจัยหลายประการเช่นหาครูสอนยาก เพลงที่ใช้ประกอบมีคนเล่นได้น้อยคน ดนตรีที่ใช้เป็นวงเต่งถิ้งมีคนบรรเลงในวงจำกัด ท่ารำซับซ้อนยืดยาวยากแก่การจดจำ ปัจจัยเหล่านี้ ชวนให้วิตกกันว่าฟ้อนชนิดนี้จะเสื่อมความนิยมไปเรื่อย ๆ จนสูญหาญไปในที่สุด
   
สนั่น  ธรรมธิ
สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
( ภาพประกอบโดยพิชัย  แสงบุญ และเสาวณีย์  คำวงค์)

ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่