วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
30/10/2008
ที่มา: 
สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ http://art-culture.chiangmai.ac.th/

บทความ นาฏดุริยการล้านนา วันอังคารที่  14  มีนาคม  2549 - ฟ้อนน้อยไชยา

    น้อยไชยา

ในสมัยพระราชชายาเจ้าดารารัศมี พระองค์ทรงนิพนธ์ละครร้องแบบล้านนาขึ้นเรื่องหนึ่ง คือ “น้อยไชยา” โดยโปรดให้ท้าวสุนทรพจนกิจ เสนาแผนกกองรักษ์ของเจ้าอินทวโรรสสุริยวงส์เป็นผู้รจนาบทร้อง (เพลงซอ) ประกอบเรื่อง

คำว่า “น้อย” เป็นคำนำหน้าชื่อของผู้ที่เคยบวชเป็นสามเณรมาก่อน “ไชยา” เป็นชื่อตัวละครเอกในเรื่อง คำนี้แม้จะออกเสียงว่า “ไจยา” แต่เวลาเขียนต้องสะกดเป็น “ไชยา” ซึ่งมีความหมายว่า ชัยชนะ มีตัวอย่างมากมายที่เขียน ช  ในภาษาเขียนแต่ออกเสียง จ ในภาษาพูดเช่น เชียงใหม่ – เจียงใหม่,  เชียงราย – เจียงฮาย,  ชาวบ้าน – จาวบ้าน ฯลฯ ชื่อนี้มีหลายแห่งเขียน “ไจยา” ตามเสียงพูด แต่ขอเรียนให้ทราบว่าผิดหลักอักษรศาสตร์ มีบางแห่งเขียน “ใจยา” ยิ่งผิดใหญ่เพราะถ้าเขียนอย่างนี้ต้องอ่าน “ใจ๋ยา” ความหมายยิ่งเพี้ยนไปมาก

กุลบุตรของชาวล้านนาสมัยก่อน เมื่อเข้าไปบวชในพระพุทธศาสนา ไม่ว่าจะบวชเป็นสามเณรหรือพระภิกษุ จะได้รับการตั้งฉายาเป็นภาษาบาลี เพื่อใช้เรียกชื่อแทนชื่อเดิม เช่นเด็กชายมา บวชเป็นสามเณรได้รับฉายาว่า “คันธา” ก็จะเรียกชื่อว่า “คันธาสามเณร” หรือนายหมื่น บวชเป็นพระภิกษุได้รับฉายาว่า “เตชา” ก็จะเรียกชื่อว่า “เตชาภิกขุ” และหากลาสิกขาออกมาก็มักจะเรียกติดปากว่า “น้อยคันธา” (อ่าน – กันธา) และ “หนานเตชา” (อ่าน – เต๋จา) ไปโดยปริยาย

น้อยไชยา ก็เช่นเดียวกัน ตอนเป็นเด็กจะชื่อเด็กชายอะไรก็ได้ เมื่อเข้าไปบวชเรียน ก็ได้รับฉายาเป็นภาษาบาลีว่า “เชยฺยาสามเณร” เขียนตามอักขรวิธีของภาษาล้านนาเป็น “ไชยาสามเณร”  และเมื่อลาสิกขาออกมาก็ได้ชื่อว่า “น้อยไชยา” (อ่าน – ไจยา)


    เรื่องย่อ

พระยาสามล้านเป็นเพื่อนกับท้าวไชยลังกา โดยที่พระยาสามล้านมีเคหสถานอยู่บริเวณแจ่งกระต๊ำ ส่วนท้าวไชยลังกา ตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณนอกประตูเวียงเชียงใหม่ พระยาสามล้านมีบุตรชายชื่อ “ไชยา” และมีผู้ดูแลเป็นพี่เลี้ยงชื่อ “หนานตุ้ย” ท้าวไชยลังกามีลูกสาว ซึ่งกำพร้าแม่ตั้งแต่เล็ก ชื่อ “แว่นแก้ว” ผู้ดูแลเป็นพี่เลี้ยงแว่นแก้ว ชื่อ “นางเกี๋ยง” นอกจากนี้ท้าวไชยลังกายังมีภรรยาใหม่ชื่อ “อุษา” ครอบครัวทั้งสองใกล้ชิดกัน และหมายมั่นจะให้ไชยาและแว่นแก้วได้แต่งงานกัน ส่วนไชยากับแว่นแก้วก็รักใคร่ชอบพอกันอยู่แล้ว บังเอิญมีเศรษฐีโรงเลื่อยชาวไทใหญ่ชื่อ “ส่างนันตา” อาศัยอยู่แถบบ้านวังสิงห์คำ ติดลำน้ำปิง มีโอกาสได้พบเห็นแว่นแก้ว ก็รู้สึกพึงพอใจ ด้วยความที่ส่างนันตาเป็นคนใจร้อน จึงได้ไปเจรจาขอหมั้นหมายแว่นแก้วจากท้าวไชยลังกาและนางอุษา ฝ่ายนางอุษาซึ่งเป็นแม่เลี้ยงก็พออกพอใจ เพราะเห็นว่าเป็นเศรษฐีเจ้าของโรงเลื่อย มีฐานะดี ส่วนท้าวไชยลังกายังไม่ได้ตกปากรับคำเพราะจะต้องถามจากเจ้าตัว คือแว่นแก้วก่อน

เมื่อแว่นแก้วรู้เรื่องที่ส่างนันตามาขอหมั้นหมายตน จึงรีบให้พี่เลี้ยงของตนคือนางเกี๋ยง ไปนัดหมายไชยาให้ไปปรึกษาเรื่องนี้กันที่ห้วยแก้ว น้อยไชยา แว่นแก้ว และพี่เลี้ยงทั้งสอง ก็ไปพบกันตามที่นัดหมาย บังเอิญส่างนันตาเกิดมาพบเข้า จึงมีปากเสียงและส่างนันตาได้หาเรื่องน้อยไชยาจนเกิดทะเลาะวิวาทกัน ส่างนันตาโกรธมากและขู่จะไปฟ้องศาล                 เมื่อกลับมาจากห้วยแก้วแล้ว ส่างนันตาได้เอาเรื่องนี้ไปฟ้องท้าวไชยลังกาที่บ้าน พร้อมใส่ความว่าไชยาและแว่นแก้วประพฤติเลยประเพณี ท้าวไชยลังกาจึงเรียกแว่นแก้วกับนางเกี๋ยง ออกมาถามความจริง ทั้งสองคนก็ปฏิเสธว่าไม่ได้ทำอย่างนั้น ส่างนันตาจึงไปฟ้องศาลเพื่อให้ตัดสินความ เมื่อส่างนันตานำความไปถึงโรงถึงศาลแล้ว ศาลก็ทำการไต่สวนความเป็นมาว่าเรื่องราวเป็นอย่างไร ฝ่ายของส่างนันตาได้ใส่ความต่าง ๆ นานา น้อยไชยาก็ได้แก้ข้อกล่าวหาที่ฟ้อง ศาลจึงต้องถามคนกลาง คือ แว่นแก้วว่าเป็นอย่างไร ผลสุดท้าย ศาลก็ตัดสินว่าไชยาไม่มีความผิดใด ๆ ทั้งสิ้น ส่างนันตาโกรธมากถึงกับกล่าวอาฆาตไชยาไว้

หลังจากกลับจากศาลแล้ว น้อยไชยาจึงให้พ่อของตน คือ พระยาสามล้านไปสู่ขอแว่นแก้วจากท้าว ไชยลังกา ท้าวไชยลังกาก็อนุญาตให้ทั้งสองแต่งงานกัน ส่วนส่างนันตาซึ่งผิดหวังจากแว่นแก้ว และเคียดแค้นน้อยไชยามาก ก็คอยหาโอกาสที่จะแก้แค้นให้ได้

น้อยไชยาได้ยกขบวนขันหมากมาทำพิธีแต่งงานกันที่บ้านท้าวไชยลังกา และในขณะที่กำลังส่งตัวเข้าหอนั้น ทางส่างนันตาก็ได้ลอบยิงน้อยไชยา น้อยไชยาเสียชีวิตหรือไม่ เรื่องนี้เล่ากันเป็นสองกระแส โดยที่กระแสหนึ่งว่า ไชยาเสียชีวิตทันที อีกกระแสหนึ่งว่า ไชยาหนีเอาตัวรอด และกลับมาอยู่กินกับแว่นแก้วอย่างมีความสุข
ฟ้อนน้อยไชยา

    ฟ้อนน้อยไชยา

ฟ้อน น้อยไชยา เป็นการฟ้อนแสดงท่าประกอบ (รำตีบท) ในฉากที่ไชยากับแว่นแก้วขับซอโต้ตอบกันที่ห้วยแก้ว สำหรับกระบวนฟ้อน พระราชชายาเจ้าดารารัศมี ทรงประดิษฐ์ขึ้นโดยมีท้าวสุนทรพจนกิจเป็นผู้รจนาบทซอ ทำนองซอที่ใช้ คือ ทำนองล่องน่าน (ปัจจุบันเรียกทำนองพระลอหรือพระลอล่องน่าน) ส่วนการแต่งกายไม่ได้กำหนดไว้แน่นอน เท่าที่พบเห็นส่วนใหญ่จะแต่งกายแบบล้านนานิยม หากจะให้ สอดคล้องกับเผ่าพันธุ์ไชยาควรแต่งกายแบบไทยวน (คนเมือง) เพราะไชยาเป็นชาวเชียงใหม่ และแว่นแก้วควรแต่งกายแบบสตรีไทเขิน เพราะแว่นแก้วเป็นลูกสาวชาวไทเขิน ที่อาศัยอยู่บริเวณนอกประตูเชียงใหม่


สนั่น   ธรรมธิ
สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
(ภาพประกอบโดย พิชัย แสงบุญ)

ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่