วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
31/10/2008
ที่มา: 
สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ http://art-culture.chiangmai.ac.th/

บทความ นาฏดุริยการล้านนา วันอังคารที่  25  เมษายน  2549 - พ่อครูวิเทพ  กันธิมา

   พ่อครูวิเทพ  กันธิมา

   


แหงนผ่อ        บนฟ้า            อากาศ          กลางหาว         บ่มี
แล้วดาว         ดวงงาม          ส่องแจ้ง        จักหา              ดวงใด
ที่ไหน            มาแถ้ง          บ่เหมือน        นึ่งเจ้า              คนเดียว
อกเหมือน       จะไหม้          เป๋นไฟ          แสนเปี๋ยว         เคยเหยาะ
หยอกเคียว     ขึ้นเหนือ         ล่องใต้         บ่ทัน               ได้จ๋า
อำลา             สั่งไห้            โอนหนอ       ฟั่งไป              แต๊เล้า…


บทคร่าวนี้ คุณพ่อบุญรัตน์  ทิพย์รัตน์ ช่างทำเครื่องดนตรีไทยชั้นครูรจนาขึ้น เพื่อรำลึกถึงเพื่อนรักที่เปรียบเสมือน  “ดวงดาว”  ดวงงามที่ดับไปจากด่านฟ้ากลางหาว ดวงดาวที่ว่า ศาสตราจารย์ ดร.ประสิทธ์  เลียวสิริพงศ์  มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่  ร่ายเป็นบทโคลงไว้ว่า

    วิเทพดุจเทพไท้              ประทานพร
คือดุริยสิปปกร               เอกอ้าง
ไป่ควรด่วนเมือมรณ์         ละโลก
ให้มิตรศิษย์อ้างว้าง         โศกเศร้าสะเทือนใจ

ใช่แล้วดวงดาวเจิดจรัสบนฟ้าแห่งล้านนาดุริยัมพรนั้น คือ ผู้ยิ่งใหญ่ที่ชื่อ “วิเทพ  กันธิมา”  ผู้ลาลับสู่โลกหน้า


    

ครูวิเทพ  เกิดเมื่อวันที่  ๑๖  พฤศจิกายน  พ.ศ.   ๒๔๙๗  เป็นบุตรคนโตของพ่อคำอ้าย   กันธิมา  แม่บัวไหล  คำป๊ก  เมื่อถึงวัยอันควรได้สมรสกับนางจันทร  มีบุตรธิดาด้วยกัน  ๓  คน  บุตรชายคนโต คือ รุ่งศักดิ์  น้องสาวถัดมาคือจตุพร  และน้องสาวสุดท้องคือ น้องปิยะธิดา บิดาของครูวิเทพเป็นนักดนตรี มีอาชีพรับจ้างแสดงดนตรีพื้นบ้าน ครูจึงมีโอกาสติดตามบิดาไปในงานต่าง ๆ ศิลปะทางด้านดนตรีจึงซึมซับเข้าสายเลือด ยิ่งได้รับวิชาโดยตรงจากบิดา ฝีมือครูจึงเป็นเลิศ นอกจากนี้ครูได้ฝากตัวเป็นศิษย์ของเจ้าสุนทร  ณ  เชียงใหม่ ครูจึงได้รับความรู้ด้านดนตรีชั้นสูงขึ้น ขณะเดียวกันก็ได้รับการถ่ายทอด วิชาการประดิษฐ์และซ่อมแซมเครื่องดนตรีไปด้วย ครูวิเทพเข้ารับราชการเป็นอาจารย์ ประจำหมวดวิชาดนตรีพื้นบ้าน วิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๕ จนถึงปัจจุบัน ผลงานของครุมีมากมายทั้งเทปและซีดี ก่อนหน้านี้ครูได้รับรางวัลเพชรราชภัฎ – เพชรล้านนา ล่าสุดได้รับการคัดเลือกเป็นครูภูมิปัญญาไทยรุ่นที่ ๔  สาขาศิลปกรรม (ภาคเหนือ) ครูวิเทพเป็นคนใจกว้างดังมหาสมุทร ลูกศิษย์ของครูมีเต็มบ้านเต็มเมือง ปี๋ใหม่เมืองทุกปีบ้านของครูคับแคบจนไม่มีที่อยู่ แต่ปีนี้งานชุมนุมของศิษย์ และมิตรสหายไปอยู่ที่วัดศรีวารีสถาน ทุกคนไม่ได้ไปดำหัวแต่ไปร่วมไว้อาลัย ในวันเผาศพ  ๑๓  เมษายน  ๒๕๔๙ ครูจากพวกเราไปเสียแล้ว

วิเทพ…เทพรับแล้ว                           เมื่อบน
ประสาธน์ศิษย์ประสิทธิผล                 ฝากหล้า
ดีใดจุ่งดาลดล                                 ดวงจิต  พ่อเฮย
สถิตเสถียรสถานฟ้า                         เสพสร้างสวรรค์ภูมิ

สนั่น   ธรรมธิ
สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
(ภาพประกอบโดยเนติ  พิเคราะห์ และเสาวณีย์  คำวงค์)

ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่