วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
31/10/2008
ที่มา: 
สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ http://art-culture.chiangmai.ac.th/

บทความ นาฏดุริยการล้านนา วันอังคารที่  23  พฤษภาคม  2549 - จาก “ติ่ง” ถึง “ซึง” (๑)

   จาก “ติ่ง” ถึง “ซึง” (๑)

“ติ่ง” เป็นเครื่องดนตรีประเภทหนึ่งที่เคยเป็นที่นิยมนำมาบรรเลงในโอกาสต่าง ๆ อย่างกว้างขวางในหมู่ชาวล้านนา ทั้งนี้มีหลักฐานปรากฏชัดเจน โดยเฉพาะงานวรรณกรรมต่าง ๆ เช่น โคลงนิราศหริภุญชัย ได้กล่าวถึง “ติ่ง” คู่กับ “ธะล้อ-ธล้อ-ทร้อ-ทล้อ” คือ ซอแบบล้านนาว่า

     ราตรีเทียนทีปแจ้ง    เจาะงาม
มัวม่วนดนตรีตาม     ติ่งธะล้อ

โอกาสที่จะกล่าวถึงเรื่อง “ติ่ง” ครั้งนี้ จึงขอประมวลเอาหลักฐานจากหนังสือ เอกสาร คำบอกเล่า ตลอดจนคำให้สัมภาษณ์มานำเสนออย่างค่อนข้างละเอียด โดยเฉพาะข้อความจากหนังสือบางตอน มีความเป็นจำเป็นต้องยกมาทั้งหมด เพื่อประโยชน์ทางการศึกษาเครื่องดนตรีไทยต่อไป

    สุจิตต์  วงษ์เทศ กล่าวถึง “ติ่ง” ของกลุ่มชมตระกูลไท-ลาว ทางตอนใต้ของจีนไว้โดยละเอียดว่าชาวจ้วง ในกวางสีมีเครื่องดีดสีสองสายเรียก “ติ่งติง” (ในภาษาจีนเรียกว่า “เทียนฉิน” ที่อาจมีความหมายว่า “พิณแถน”) นำกะโหลกจากลูกน้ำเต้าหรือมิฉะนั้นก็ทำจากกระบอกไม้ไผ่แล้วปิดฝาด้วยเปลือก น้ำเต้า มักใช้ในพิธีกรรมต้นเทียน (แถน) ที่ชาวจ้วงซึ่งอาศัยอยู่บริเวณพรมแดนจีน เวียตนาม แถบกวางสี ให้ผู้ขับฟ้อนที่เป็นผู้หญิงสูงอายุยืนเรียงแถวเป็นวงกลมแล้วถือติ่งติงเต้น ไปรอบ ๆ วง นอกจากนั้นยังใช้ติ่งติงในพิธีกรรมเพื่อรักษาโรค โดยแม่หมอจะดีดติ่งติงแล้วขับฟ้อนไล่ผี

ตระกูลไท-ลาวแถบเต๋อหงและหลินซ้งทางตอนใต้ของจีนยังมี “ติงสามสาย” หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ติงขวาง” แต่ทางเมืองแลมมี “ติ่งเลี่ย” (ที่ควรจะเป็นติงดีด) หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ติงเซิน” (หรือซึง) ถือเป็นเครื่องมือหลักในการ “ซอ” คือขับลำนำเล่าเรื่องคลอเคล้าด้วยเครื่องมือเบา ๆ กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เช่น สะล้อ (ภาคกลางเรียก “ซอ” หนังสือวรรณคดีโบราณเรียก “ทรอ” เอกสารล้านนาโบราณเรียก “ทร้อ” แล้วกลายเป็นสะล้อ) ซึง (ติ่ง/พิณ) และ ปี่ก้อย เป็นต้น ดังมีประเพณีสืบเนื่องอยู่ในล้านนาทุกวันนี้ว่า “ขับซอ” และในหนังสือพระลอเรียกว่า “ขับซอยอยศ” ซึ่งควรจะเป็นร่องรอยเก่าแก่ของประเพณี “ขับไม้” ในราชสำนัก

นอกจากจะเรียกเครื่องดีดว่าติงแล้ว เครื่องสีอย่าง “ซอ” หรือ ทรอ ก็เรียกว่า “ติง” ด้วย ดังมีประเพณีอยู่ในตระกูลไท-ลาวกลุ่มต่าง ๆ ทางตอนใต้ของจีน มีติงสายเดียวชนิดหนึ่ง สายทำด้วยเส้นไหมส่วนสายคันชักทำจากหางม้า กระโหลกทำจากกระบอกไม้ไผ่ ปิดผากระโหลกด้วยกาบหน่อไม้ ผู้บ่าวนิยมใช้สีแอ่วสาว โดยวางพักไว้ที่เอวแล้วเดินสีไปเรื่อย ๆ  ต่อมาได้เพิ่มสายกลางเป็นติงสองสาย แล้วมักใช้บรรเลงในประเพณี “ขับซอยอยศ”

ติงของตระกูลไท-ลาว ในเต๋อหงยังใช้เขาวัวหรือเขาควายทำกระโหลกด้วยดังมีชื่อเรียก “ติงเอ้อ” (เอ้อ หมายถึง เขาวัวเขาควาย)

เครื่องดีดสีในแบบแผนของติงดังกล่าวมานั้น มีอยู่ในกลุ่มชนเผ่าต่าง ๆ คล้ายคลึงกันเกือบทุกเผ่าพันธุ์ เช่น ตระกูล ไท-ลาว ขะมุ (ข่ามุ) วะ (ข่าวะ) เป็นต้น และมีต้นพัฒนาการอย่างเดียวกันจนกระทั่งเป็นได้ทั้งเครื่องดีดและเครื่องสี ซึ่งภายหลังเรียกเมื่อได้รับอิทธิพลภาษาบาลีและสันสกฤตแล้วจึงเรียก “พิณ” ดังปรากฏในกลอนเพลงร้องเทพนิมิตตอนหนึ่งว่า พระทรงฟังวังเวงด้วยเพลงชัย ร้องรีบดีดดิ้นดังพิณสี

ในวรรณกรรมรุ่นเก่า ๆ ยังใช้ติงร่วมกับพิณ เช่น อนิรุทธคำฉันท์ ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ๆ ระบุว่า “เต่งติงเพลงพิณ” เป็นต้น (สุจิตต์  วงษ์เทศ, ร้องรำทำเพลง: ดนตรีแลนาฎศิลป์ชาวสยาม หน้า ๑๑๖) ทองแถม  นาถจำนง กล่าวว่า “ติ่ง” ในฐานะเครื่องดนตรีโบราณแถบลุ่มน้ำโขงในหนังสือ “ดนตรีไทยอุดมศึกษาครั้งที่ ๒๓” โดยยกตัวอย่างจากวรรณคดีเรื่อง “ท้าวฮุ่งหรือ เจือง” เป็นโคลงบทหนึ่งว่า

        “สะอาดเหลื้อมใสส่อง             สังวาล
สรานไลตามบาทพิณ              เพงได้
นงศรีแก้วภูบาล                     บุตเรศ
ให้รีบพร้อมแคนห้าว                ติ่งตาม”

จากนั้นก็ได้นำเสนอเครื่องสีที่เรียกว่า “ติ่ง” โดยละเอียดเช่นกัน ดังที่ปรากฏในข้อความตอนหนึ่งดังนี้ “ติง.ตัง เป็นเครื่องเสียงของเครื่องสาย และก็ใช้เป็นชื่อของมันพร้อมกันไปด้วย หลักฐานก็คือ ชาวไทชาวจ้วง รวมทั้งชนชาติอื่นหลายชนชาติในจีน เรียกเครื่องดีดเครื่องสีประเภทพิณ ซอ ว่า ติง”

“เครื่องสีคงมีก่อนยุคโลหะเช่นกัน ของดึกดำบรรพ์คงจะเริ่มจากมีสายเดียว กะโหลกทำจากกระบอกไม้ไผ่ เช่น ติงเฮย ของชาวขมุในอำเภอเมืองลา คันติงและกะโหลกทำจากไม้ไผ่ สายทำจากใยส่วนโคนของปาล์มชนิดหนึ่ง (จีนว่า ต่งจง ไม่ทราบว่าเป็นต้นอะไร) ส่วนสายคันชักทำจากตอกไม้ไผ่”

ซอสายเดียวของชาววะในอำเภอซีเหมิ่ง เรียกว่า เจิง หรือ เยิง หรือ จียอง กะโหลกทำจากกระบอกไม้ไผ่ปิดด้วยกาบหน่อไม้แห้ง คันทำด้วยแขนงไม้ไผ่ สายทำจากลำต้นของพืชชนิดหนึ่ง (ไม่บอกว่าต้นอะไร) สายคันชักทำจากหางม้า

ซอสายเดียวของชาวไทในเต๋อหงเรียกว่า “ติงกาน่า” สายทำจากไหม สายคันชักทำจากหางม้า กะโหลกทำด้วยไม้ไผ่ปิดฝาด้วยกาบหน่อไม้ ผู้บ่าวโทนิยมติดตัวบรรเลงขณะไปแอ่วสาว เวลาเดินหรือยืนเล่นก็เอาวางที่เอวด้านซ้าย หากนั่งเล่นก็วางไว้บนต้นขาซ้าย

จากติงสายเดียวพัฒนาขึ้นเป็นติงสองสาย ชาวไทลื้อเรียกว่า ติงลี่ สายทำด้วยไหมหรือด้ายสองสาย กะโหลกทำด้วยมะพร้าว (ติงมะพร้าว) น้ำเต้า (ติงกล่องเต่า) เครื่องปั้นดินเผา (ติงกล่องดิน) วิธีเล่น วางติงบนขาซ้าย สายคันชักอยู่หน้าสุด กะโหลกอยู่ตรงกลาง ส่วนโครงคันชักอยู่หลังสุด (ตรงข้ามกับซอแบบจีน) ชาวไทลื้อมักจะใช้เล่นเดี่ยวหรือเล่นเองร้องเอง หรือประกอบคำขับ เครื่องดนตรีที่เรียกว่า “ติ่ง” มีเรื่องราวที่น่าสนใจอีกมาก วันอังคารหน้า อย่าพลาดติดตามนะครับ

    สนั่น  ธรรมธิ
สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
(ภาพประกอบโดยจรัสพันธ์  ตันตระกูล และเนติพิเคราะห์)

ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่