วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
31/10/2008
ที่มา: 
สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ http://art-culture.chiangmai.ac.th/

บทความ นาฏดุริยการล้านนา นาฏดุริยการล้านนา วันอังคารที่  6  มิถุนายน  2549 - จักเข้

 

    จักเข้


    เครื่องดนตรีไทยประเภทเครื่องดีดชนิดหนึ่งมีสาย ๓ สาย เวลาบรรเลงจะบางกับพื้นได้แก่ “จะเข้” เครื่องดีดชนิดดังกล่าว ในล้านนา เคยมีปรากฏในเอกสารโบราณประเภทใบลาน เรียกว่า “จักเข้”

   

    ในคัมภีร์ใบลานเรื่องมหาเวสสันดรชาดก ฉบับหิ่งแก้วกัณฑ์มหาราชของวัดนันทาราม อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ตอนที่พระญาสัญไชย (สญชัย) สั่งให้เสนาเตรียมขบวนทัพไปรับพระเวสสันดร ณ เขาวงกต มีความตอนหนึ่งว่า “…ฅนฝู่งช่างดีดตลิงปลิงจักเข้ แลดีดเพียะ สีทะร้อสีซอ…”

    คัมภีร์ใบลานเรื่องมหาเวสสันดรชาดก ฉบับป่าเหียงหลวง กัณฑ์มหาราชของวัดสูงเม่น อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ ตอนเดียวกับฉบับหิ่งแก้ว กล่าวว่า “…ดีดติ่งจักเข้ แลทะล้อ พาทย์ พิณ เพ็ง เป็นระบำโตงเตงเสียงสว่าง…”

    ส่วนคัมภีร์ใบลาน มหาราชเวสสันดรชาดก ฉบับ แม่กุกัณฑ์มหาราชของวัดพระธาตุลำปางหลวง อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง กล่าวว่า “…ปี่ลิ้นทองเสียงสม หอยสังข์ อมปากเสียงผาย ติ่งจักเข้สายดีดนัน…”

    นอกจากนี้ยังมีคัมภีร์ใบลานเรื่องเดียวกันอีกฉบับหนึ่งของวัดพระสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย กัณฑ์มหาราช ตอนเดียวกันมีการยกศัพท์ภาษาบาลีขึ้นก่อน พร้อมคำแปลเป็นภาษาล้านนาตามหลัง ซึ่งทำให้ทราบว่า “จักเข้” แปลจากภาษาบาลีคือ  “โคธา” จากข้อความว่า “ตุ ริยวาทการี ฅนฝูงช่างตีตุริยะนนตรีทังหลาย กโรตุ จุ่งมากระทำการอันเป่าอันตี มุทฺทิงฺคา ยังแม่พาทย์ ปณฺฑวา ยังบัณเฑาะว์ สงฺขารา ยังหอยสังข์ โคธา ยังติ่งจักเข้ ก็ดี ปริเวเทน ตีกาละสับติ่งธะล้อสามสาย…”

  
    อันที่จริงแล้วคำว่า “โคธา” แปลว่า “เหี้ย” แต่โบราณไม่เอาเป็นชื่อเครื่องดนตรีชนิดนี้ แต่ไพล่ไปเอาชื่อ “จักเข้” (จระเข้) ซึ่งอาจเห็นว่ามีรูปร่างลักษณะคล้ายกันก็ได้ ที่น่าสนใจอีกประการหนึ่ง คือมีคำว่า “ติ่ง” นำหน้าคำว่า “จักเข้” เสมอ ซึ่งจะพบเป็นประจำในบริบททางภาษาโดยเฉพาะการกล่าวถึงเครื่องดนตรีในวรรณกรรมต่าง ๆ และเรื่องของติ่ง ผู้เขียนเคยนำเสนอไปแล้ว เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา

    อย่างไรก็ตาม ตัวอย่างข้อความ ที่ยกมานำเสนอ เป็นข้อความที่จารด้วยอักษร และภาษาล้านนา น่าจะเป็นหลักฐาน ยืนยันได้ว่ามีเครื่องดนตรีชนิดนี้ และเคยเป็นที่นิยมในแถบนี้ด้วย แต่อดคิดอีกแง่ไม่ได้ว่า แม้จะจารด้วยอักษรและภาษาล้านนา แต่ภาษาล้านนานั้นแปลจากภาษาบาลีอีกทีหนึ่ง เครื่องดนตรีที่ปรากฏอาจติดมากับต้นฉบับภาษาบาลีก็ได้ ดังนั้น จักเข้ เป็นเครื่องดนตรีของอินเดียที่คนอินเดียเรียก “โคธา” ก็เป็นได้ แต่ถ้าคิดถึงความเลื่อนไหลทางวัฒนธรรม ล้านนาก็มีสิทธิรับเอาเครื่องดนตรีชนิดนี้มา โดยผ่านทางศาสนาได้ด้วยเช่นกัน ดังนั้นล้านนาในอดีตน่าจะมีจักเข้ตามหลักฐานและเหตุผลที่กล่าวมา ซึ่งควรมีการศึกษาสืบค้นโดยละเอียดต่อไป
    
    สนั่น   ธรรมธิ
    สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
    (ภาพประกอบโดย นภาวรรณ  อาชาเพ็ชร วนิดา  เชื้อคำฟู และรพีพรรณ  ศรีทะ)

    
ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่