เรือนไทลื้อ (หม่อนตุด) - เรือนไทยโบราณ สถาปัตยกรรมล้านนา

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
31/10/2008
ที่มา: 
สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ http://art-culture.chiangmai.ac.th/

พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณ - เรือนไทลื้อ

  


เรือนหลังนี้เดิมเป็นของ นางตุด ใบสุขันธ์ (หม่อนตุด) ชาวไทลื้อบ้านเมืองลวง ตำบลลวงเหนือ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ดังนั้นจึงเรียกเรือนหลังนี้อีกชื่อหนึ่งว่า "เรือนหม่อนตุด"

    

นักวิชาการส่วนใหญ่มีความเห็นว่า คนไทลื้อในจังหวัดเชียงใหม่มีบรรพบุรุษ อยู่ใน เขตสิบสองปันนา ตอนใต้ของจีน แต่ถูกกวาดต้อนมาในสมัยพระเจ้ากาวิละ ประมาณ 200 กว่าปีที่แล้ว ในครั้งนั้นเมืองเชียงใหม่ร้างผู้คน พระเจ้ากาวิละมีนโยบาย "เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง" จึงยกกำลังขึ้นไปถึงเมือง เชียงรุ่ง เชียงตุง เมืองยอง เมืองพยาก ฯลฯ และได้กวาดต้อนเอาผู้คน ในเขตนั้นลงมาอยู่ในเขตเมืองเชียงใหม่ และลำพูน แต่สำหรับ ชาวไทลื้อบ้านเมืองลวงเชียงใหม่ ถิ่นกำเนิดของหม่อนตุดนี้ จากการศึกษาของรัตนาพร เศรษกุล และคณะ ได้ข้อสรุปที่แตกต่างออกไปว่า ได้อพยพมาอยู่บริเวณนี้ได้ 600 กว่าปีแล้ว

  

สำหรับเรือนหม่อนตุดนี้ เป็นเรือนไม้ขนาดกลางลักษณะเป็น "เรือนสองหลังหน้าเปียง" หมายถึงมีองค์ประกอบของเรือน 2 หลังคือ ห้องด้านตะวันออกเป็น "เฮือนนอน" โล่งกว้าง สมาชิกในครอบครัวจะนอนรวมกันในห้องนี้ โดยใช้มุ้งหรือม่านกั้น เพื่อแบ่งเป็นสัดส่วน อีกเรือนด้านตะวันตกคือ "เฮือนไฟ" หรือครัวอยู่เสมอระดับเดียวกับพื้นเรือนนอน ตรงกลางระหว่างชายคาของเรือนทั้งสองเชื่อมต่อกับรางน้ำฝน เรียกว่า "ฮ่องลิน" หน้าเรือนทั้งสองเป็นพื้นโล่งเรียกว่า "เติ๋น" ถัดจากเติ๋นออกมานอกชายคาเป็นชานหน้าบ้าน มีระเบียงเลาะไปเชื่อมกับชานหลังบ้าน หลังคามุงด้วยแป้นเกล็ด (เดิมมุงกระเบื้องดินขอ) ส่วนใต้ถุนสูง 1.5 เมตร (เดิมสูง 2 เมตร ใช้เป็นคอกวัวควายหรือนั่งทำงานบ้าน เช่น ทอผ้า ปั่นฝ้าย จักสาน และเป็นที่เก็บครกมองตำข้าว) บันไดมี 2 ด้าน คือที่ชานหน้า และชานหลังบ้าน

     

เรือนหลังนี้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2460 พ่อน้อยหลวงสามีหม่อนตุดเป็นผู้สร้างขึ้น โดยซื้อเรือนไม้เก่าจากบ้านป่าก้าง อ.ดอยสะเก็ด แล้วใช้ช้างถึง 3 เชือก พร้อมทั้งวัวควายที่พ่อน้อยหลวงมีอยู่ไปชักลากมา นำมาสร้างเป็นเรือนไม้ ซึ่งมีรูปร่างงดงามเรียบง่าย แบบเรือนสามัญชน ไม่ใช่เรือนของคหบดีผู้มั่งคั่ง หรือคุ้มเจ้านาย

พ่อน้อยหลวง และหม่อนตุดพร้อมด้วยลูก 4 คนได้อาศัย และเติบโตมาบนเรือนหลังนี้ตลอดมา ลูกแต่ละคนเมื่อแต่งงาน ก็แยกไปตั้งครอบครัวใหม่ ยกเว้นพ่อคำปิง ใบสุขันธ์ เมื่อแต่งงานกับแม่แก้ววรรณาแล้วยังคงอาศัยเรือนหลังนี้ต่อไป และมีลูกด้วยกัน 4 คน และในบรรดาลูกพ่อคำปิงและแม่แก้ววรรณานี้ มีนางอุพิมซึ่งแต่งกับนายบุญเนตร แก้วประภา ได้อาศัยอยู่บนบ้านหลังนี้ต่อไป

ในครอบครัวใบสุขันธ์ หม่อนตุดมีอายุยืนยาวกว่าสามีและลูกทุกคน หลังจากพ่อน้อยหลวงผู้สามีเสียชีวิตเมื่ออายุ 80 ปี ในปี พ.ศ.2503 แล้ว หม่อนตุดซึ่งอยู่ในวัยชราภาพก็อยู่ในความดูแลของนางอุพิมผู้เป็นหลาน นางอุพิมซึ่งเป็นหม้ายตั้งแต่ยังสาว ต้องรับผิดชอบเลี้ยงดูบุตร 2 คน และหม่อนตุดซึ่งมีอายุเกินร้อย ที่แม้สุขภาพทั่วไปยังแข็งแรง แต่ด้วยความเสื่อมของร่างกาย ตามวัย นางอุพิมจึงต้องดูแลใกล้ชิดตลอดเวลา

ด้วยความอายุยืนเกิน 100 ปี ของหม่อนตุดแต่ว่ายังมีความจำเป็นเลิศ สามารถเล่าขานเรื่องราวในอดีตได้อย่างดี และความโดดเด่นของเรือนไม้เก่าแก่ที่หาชมได้ยาก จึงทำให้มีผู้ไปขอเยี่ยมเยือนอยู่เสมอ ภาพที่ผู้มาเยือนจำได้ติดตาคือ ภาพหญิงชราผมขาวสีเงินยวงเกล้ามวยไว้เบื้องหลัง ใบหน้าส่อเค้าความงามและแฝงด้วยความเมตตา นั่งตำหมากอยู่บนเติ๋น ของเรือนไม้ ข้างกายมีของใช้ประจำตัวคือขันหมาก กระโถน และน้ำต้น แม้อยู่ในวัย 105 ปี (พ.ศ.2535) หม่อนตุดยังสามารถ พยุงกายเกาะฝาเรือนจากเติ๋น เดินเลาะไปตามระเบียงด้านข้างเพื่อไปอาบน้ำที่ชานหลังบ้านได้เอง โดยไม่ต้องพยุง

ในขณะที่ร่างกายผู้เป็นเจ้าของเรือนเสื่อมไปตามสังขาร ตัวเรือนเองก็ทรุดโทรมไป ตามเวลา กระเบื้องดินขอมุงหลังคาที่เก่าแก่ เริ่มเปราะและแตกหัก ฝนรั่ว แดดลอด พื้นเรือน ก็ทรุดเอียง เกินกว่ากำลังที่นางอุพิมหลานสาวผู้รับผิดชอบครอบครัวจะทำการ ดูแล ซ่อมแซมบ้านไม้เก่าหลังนี้ จึงเอ่ยขออนุญาตผู้เป็นย่าที่จะขายเรือนนี้ เพื่อจะปลูกสร้าง เรือนใหม่ ที่แข็งแรงให้ผู้เป็นย่า ได้อยู่อย่างสะดวกสบายกว่านี้ ซึ่งกว่าหม่อนตุด ผู้เป็นย่า จะตัดใจ จากความผูกพันกับเรือนหลังเก่า อนุญาตให้หลานเหลน ประกาศขายบ้านหลังนี้ได้ ก็ใน พ.ศ.2533 ซึ่งก็มีผู้สนใจมาดูหลายราย ปลายปี พ.ศ.2534 นายศิริชัย นฤมิตรเรขการ เมื่อได้ทราบเรื่องจากนายธเนศวร์ เจริญเมือง อาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ท่านหนึ่ง ซึ่งเคย ไปเยี่ยมคารวะหม่อนตุดที่บ้าน ว่ามีบ้านไม้เก่าแก่ที่มีคุณค่าต่อการศึกษา และควรแก่ การอนุรักษ์ จึงได้ไปเยี่ยมชม และเมื่อเห็นสภาพบ้านก็ตัดสินใจซื้อ ซึ่งสัญญาซื้อขาย ครั้งนั้น ผู้ซื้อประสงค์จะให้หม่อนตุดอาศัยอยู่ต่อไปเรื่อยๆ โดยจะไม่เร่งรัดรื้อถอน และจะไม่มี การรื้อถอน เป็นอันขาด อย่างน้อยภายในเวลา 6 เดือน ภายหลังการทำสัญญา

นายศิริชัย
ในฐานะกรรมการประจำสถาบันวิจัยสังคม ได้นำความประสงค์ ที่จะมอบ เรือนหม่อนตุด ให้แก่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อเป็นจุดเริ่ม ในการอนุรักษ์ อาคารโบราณ เข้าหารือคณะกรรมการ ประจำสถาบัน ซึ่งคณะกรรมการ ต่างก็เห็นว่าเรือนไทลื้อหลังนี้ นอกจากจะมีประโยชน์ ต่อการศึกษาแล้ว ยังเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการชาติพันธุ์วิทยา จึงได้เสนอเรื่อง ไปยัง คณะกรรมการ ใช้ที่ดินของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่พิจารณา ซึ่งก็ได้รับ การอนุมัติให้ใช้ที่ดินเขตอนุรักษ์ ที่อยู่ตรงข้ามตลาดต้นพยอม ริมถนน เลียบคลองชลประทานเป็นที่ปลูกสร้างเรือนหลังนี้ได้ตามวัตถุประสงค์ โดยใน พ.ศ.2536 ทางมหาวิทยาลัย ได้แต่งตั้งคณะกรรมการโครงการ เรือนไทลื้อ ขึ้นมาชุดหนึ่ง ซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากน่วยงานต่างๆ ของมหาวิทยาลัย มีวาระ 4 ปี โดยมีภาระหน้าที่ดำเนินการก่อสร้าง และบริหารงานให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของผู้บริจาค

หม่อนตุด เสียชีวิตก่อนอายุครบ 107 ปีเพียงไม่กี่วัน หลังจากนั้นลูกหลานมีความต้องการ ปลูกเรือนใหม่แทนที่เดิม เรือนหม่อนตุด จึงถูกรื้อย้ายตั้งแต่วันที่ 1-28 กุมภาพันธ์ 2536 และเริ่มดำเนินการขุดหลุมตั้งเสาเรือนในที่แห่งใหม่เดือนมีนาคม สร้างเรือนเสร็จ ประมาณเดือนกรกฎาคม 2536 โดยมีนายสามารถ สิริเวชพันธุ์ เป็นผู้ควบคุมการทำงาน และมี นายปาน เป็นผู้รับเหมาดำเนินงาน งบประมาณการรื้อถอนปลูกสร้าง และดำเนินงาน เกี่ยวกับเรือนหลังนี้ทั้งหมด ได้รับการสนับสนุน จากมูลนิธิจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์

ในเดือนมกราคม พ.ศ.2537 ทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ประกอบพิธี "ขึ้นเฮือนใหม่" โดยมีเจ้าหม่อมคำลือ กษัตริย์องค์สุดท้าย ของชาวสิบสองปันนา เป็นผู้กระทำพิธีเปิดเรือน และอุทิศส่วนกุศลไปให้หม่อนตุดเจ้าของเรือนผู้ล่วงลับไป

ขอบคุณข้อมูลจาก พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณ สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 

ต้นฉบับ : http://art-culture.chiangmai.ac.th/oldhome/thailue/


สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม ได้อนุรักษ์เรือนโบราณ และมีกลุ่มเรือนโบราณที่เป็นศูนย์รวม แหล่งศึกษาค้นคว้าด้านศิลปวัฒนธรรมและสถาปัตยกรรมของล้านนา รวมทั้งการจัดการเพื่อให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ด้านศิลปวัฒนธรรมล้านนา  ซึ่งในปัจจุบันมีเรือนโบราณอยู่ 8 หลังดังนี้

ชื่อเรือน พ.ศ. ที่สร้าง อายุ ย้ายมาปลูก พ.ศ.
1. เรือนไทลื้อ (หม่อนตุด) 2460 91 2536
2. เรือนกาแล (อุ๊ยผัด) 2460 91 2537
3. เรือนพื้นบ้านล้านนา (อุ๊ยแก้ว) สงครามโลกครั้งที่ 2 - 2540
4. เรือนกาแล (พญาวงศ์) 2440 111 2541
5. ยุ้งข้าว ของเรือนกาแล
(พญาวงศ์)
2440 111 2542
6. เรือนชาวเวียงเชียงใหม่
(พญาปงลังกา)
2439 112 2547
7. เรือนปั้นหยา (อนุสารสุนทร)

2467

84

2548

8. เรือนทรงโคโลเนียล (ลุงคิว)

2465

86

-