เรือนกาแล (อุ๊ยผัด) - เรือนไทยโบราณ สถาปัตยกรรมล้านนา

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
31/10/2008
ที่มา: 
สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ http://art-culture.chiangmai.ac.th/

พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณ - เรือนกาแล

  


เรือนกาแลหลังนี้มีเจ้าของผู้อาศัยเดิม คือ อุ๊ยผัด โพธิทา เป็นคน ต.ป่าพลู อ.จอมทอง เชียงใหม่ เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "เรือนอุ้ยผัด" สันนิษฐานว่าตัวเรือนสร้างขึ้นกว่า 80 ปีแล้ว เป็นเรือนยกพื้นที่ทำจากไม้ทั้งหลัง ขนาดของบ้านก็ดูกระทัดรัด ด้วยความกว้างราว 7 เมตร ส่วนความยาวจากเสาต้นแรกตรงบันได ถึงชานหลังบ้าน ประมาณ 12 เมตร หลังคามุงด้วย "แป้นเกล็ด" หรือกระเบื้องไม้ หากลองเดินไปรอบๆ จะเห็นเสาบ้านค่อนข้างมาก นับได้ถึง 48 ต้น โดยรวมแล้วมีสภาพค่อนข้างดี อันเนื่องมาจากการซ่อมแซม หลังการขนย้ายมาไว้ที่ สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536



เมื่อเดินขึ้นไปตรงบันไดด้านหน้าจะพบกับชานบ้าน หรือที่คนเมืองเรียกว่า "ชานฮ่อม" ด้านซ้ายมือมีร้านน้ำ (ออกเสียงว่า "ฮ้านน้ำ") แยกเป็นสัดส่วนกับชานบ้าน ร้านน้ำเป็นชั้นไม้ยกระดับติดกับข้างฝา สำหรับตั้งหม้อน้ำบรรจุน้ำให้ผู้อาศัย และแขกเหรื่อได้ดื่มกันกัน ร้านน้ำนี้เจ้าของบ้านบางหลัง จะสร้างตั้งไว้ตรงหน้ารั้วบ้านด้วย เพื่อให้เพื่อนบ้านและคนที่ผ่านไปมาได้แวะดื่มน้ำกัน โดยถือตามคติว่า "ทานน้ำเป็นเศรษฐี ทานมูลีเป็นสะค่วย" (ให้ทานน้ำจะเป็นเศรษฐี ให้ทานบุหรี่จะเป็นคนมีเงิน)

ถัดเข้าไปจากชานฮ่อมเรียกว่า "เติน" (ออกเสียงว่า "เติ๊น") เป็นส่วนที่ยกระดับให้สูงกว่าพื้นชานฮ่อมราวหนึ่งคืบ และอยู่ในเขตหลังคาบ้าน ส่วนนี้มีเนื้อที่มากและสามารถใช้ประโยชน์ได้สารพัด ตั้งแต่เป็นที่นั่งกินข้าว นั่งคุยกับแขกที่มาเยี่ยม เป็นที่พักของแขกเหรื่อ และเป็นที่นั่งสำหรับการ "อยู่นอก" ของลูกสาวเจ้าของเรือน ที่จะมานั่งทำกิจกรรมต่างๆ เวลากลางคืน เช่น ปั่นฝ้าย สานแห ฯลฯ เพื่อให้หนุ่มๆ มาแวะเยียมคุย

     

ส่วนของเติ๋นบนเรือนอุ๊ยผัดนี้ พื้นที่ด้านขวามือจะตีฝาไม้คั่นระหว่างเติ๋นกับชานฮ่อมเพื่อกั้นเป็นห้อง สำหรับเป็นมุมหิ้งพระ โดยจะทำชั้นไม้ติดกับผนังฝั่งขวา หิ้งพระจะได้หันหน้าไปทางทิศตะวันตก (ตัวเรือนหันหน้าไปทางทิศใต้) ตรงกลางเติ๋นจะเป็นทางเดินยาวตรงกลางบ้านตลอดไปถึงชานหลังบ้าน ดังนั้นถัดจากเติ๋นขั้นไปจึงเป็นบริเวณห้องนอนอยู่ทางด้านขวา และซ้ายมือเป็นห้องครัว ในห้องนอนมีพื้นที่ค่อนข้างมาก เนื่องจากต้องใช้นอนรวมกันทั้งครอบครัว

น่าสนใจว่าในเรือนนอนนั้นมีหน้าต่างขนาดเล็กอยู่ 4 บาน จึงมีผู้ให้ความเห็นว่าที่เรือนส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีหน้าต่างหรือมีก็ขนาดเล็ก ซึ่งอาจเป็นเพราะอากาศทางภาคเหนือค่อนข้างหนาวจึงเปิดรับลมแต่น้อย แต่ก็ยังไม่หนาวมากเหมือนกับทางแถบสิบสองพันนาถิ่นคนไทลื้อ ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศจีน เรือนไทลื้อที่นั่นจะต้องมีเตาไฟไว้ในห้องนอน เพื่อประทังความหนาวเย็นไปด้วย แต่เรือนกาแลจะแยกครัวออกจากห้องนอน จึงนับเป็นข้อแตกต่างกันประการหนึ่ง

    

    สำหรับลักษณะที่เป็นจุดเด่นของเรือนประเภทนี้คือ "กาแล" (อ่านว่า "ก๋าแล") อันเป็นที่มาของชื่อเรียกประเภทเรือน เป็นไม้แบนเหลี่ยมแกะสลักลาย เชื่อมต่อจากปลายบนของปั้นลมเหนือจั่วบ้านในลักษณะที่ไขว้กันอยู่ สงวน โชติสุขรัตน์ เล่าว่าสมัยก่อนคนจะเรียกเรือนชนิดนี้ว่าเรือนแบบเชียงแสน ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากเรือนแบบฉบับอย่างที่นิยมปลูกสร้างกันในเมืองเชียงแสน (ปัจจุบันอยู่ในเขตจังหวัดเชียงราย ตัวเมืองติดแม่น้ำโขง บริเวณสามเหลี่ยมทองคำ)

   

    สำหรับที่มาของกาแล (คือส่วนปั้นลมที่ไขว้กัน) ยังค่อนข้างคลุมเครือ บ้างก็ว่าทำเพื่อกันแร้งกาเกาะหลังคา เพราะถือว่าขึด หรือพม่าบังคับให้ทำสมัยเป็นเมืองขึ้นเพื่อให้ดูต่างกับเรือนพม่า ส่วนอาจารย์ไกรศรี นิมมานเหมินท์ เห็นว่า กาแลน่าจะมาจากประเพณีของคนลัวะที่จะฆ่าควาย เพื่อบวงสรวงบรรพบุรุษ และนำเขาควายไปประดับยอดหลังคาเป็นการอวดความร่ำรวย ที่สุดจึงทำกาแลขึ้นแทนเขาควาย และจากหลักฐานการศึกษารูปแบบบ้านในเอเชียหลายแห่งพบว่า ลักษณะการประดับจั่วบ้านด้วยไม้ หรือเขาสัตว์ไขว้กันนี้สามารถพบเห็นได้ทั่วไป เช่น ในเกาะสุมาตรา สิงคโปร์ ชวา รัฐอัสสัมในอินเดีย และศาลที่สถิตดวงพระวิญญาณของจักรพรรดิในญี่ปุ่น เป็นต้น

กาแลจึงเป็นวิวัฒนาการของการสร้างเรือนที่มีปั้นลมไขว้กัน เพราะสร้างได้สะดวกทำให้ยึดไม้ได้แข็งแรง ต่อมาจึงแกะสลักลวดลายให้สวยงาม ดังนั้นรูปแบบของปั้นลมที่ไขว้กันนี้จึงถือเป็นลักษณะร่วมกันในเรือนของชนชาติต่างๆ มิใช่เป็นของชาติใดโดยเฉพาะ ดังเข้าใจกันว่าเป็นลักษณะของเรือนล้านนาเท่านั้น

และสิ่งหนึ่งที่ถือเป็นเอกลักษณ์ของเรือนกาแลล้านนาก็คือ ลายสลัก ซึ่งในเรือนอุ๊ยผัดนี้ก็มีกาแลที่สลักลายเป็นแบบกนกสามตัว ประกอบด้วยโคนช่อกนกมีกาบหุ้มช้อนกันหลายชั้นคล้ายก้านไม้เถาตามธรรมชาติ ตรงส่วนก้านจะสลักเป็นกนกแตกช่อขึ้นไปสลับหัวกันจนถึงยอดกาแล สร้างลวดลายที่อ่อนช้อยแสดงถึงภูมิปัญญาเชิงช่าง และจิตใจที่อ่อนโยนของผู้อยู่อาศัยอย่างแท้จริง

ความเรียบง่ายของวิถีชีวิตแบบชาวบ้านปรากฏในจินตนาการอย่างแจ่มชัด เมื่อเราลองนั่งลงบนเติ๋นเราอาจมองเห็นภาพสาวนั่งปั่นฝ้ายพลางส่งคำคร่าวคำเครือกับหนุ่มผู้มาติดพัน เห็นภาพครอบครัวนั่งกินข้าวล้อมวงกันครบหน้า เห็นการนั่งสนทนาของเจ้าบ้านกับแขกเหรื่อมีถาดใส่หมาก และมูลีขี้โย (บุหรี่มวนโต) ช่วยสร้างความเป็นกันเอง และแสดงน้ำใจอันดีงาม

ถึงตอนนี้ความงดงามที่อยู่ตรงหน้า บางทีอาจทำให้ใครหลายคนที่แวะมาเยี่ยมเยือนติดอกติดใจจนต้องขอมานั่งเล่นตรงชานบ้าน ซึมซับเอากลิ่นโบร่ำโบราณจากเนื้อไม้ เพื่อระงับความวุ่นวายจากโลกภายนอก จนเกิดสมาธิความสงบเย็นภายในจิตใจ รู้สึกสดชื่นแจ่มใสจนมีพลังที่จะต่อสู้กับชีวิตต่อไปก็ได้

ขอบคุณข้อมูลจาก พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณ สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 

ต้นฉบับ : http://art-culture.chiangmai.ac.th/oldhome/kalae/


สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม ได้อนุรักษ์เรือนโบราณ และมีกลุ่มเรือนโบราณที่เป็นศูนย์รวม แหล่งศึกษาค้นคว้าด้านศิลปวัฒนธรรมและสถาปัตยกรรมของล้านนา รวมทั้งการจัดการเพื่อให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ด้านศิลปวัฒนธรรมล้านนา  ซึ่งในปัจจุบันมีเรือนโบราณอยู่ 8 หลังดังนี้

ชื่อเรือน พ.ศ. ที่สร้าง อายุ ย้ายมาปลูก พ.ศ.
1. เรือนไทลื้อ (หม่อนตุด) 2460 91 2536
2. เรือนกาแล (อุ๊ยผัด) 2460 91 2537
3. เรือนพื้นบ้านล้านนา (อุ๊ยแก้ว) สงครามโลกครั้งที่ 2 - 2540
4. เรือนกาแล (พญาวงศ์) 2440 111 2541
5. ยุ้งข้าว ของเรือนกาแล
(พญาวงศ์)
2440 111 2542
6. เรือนชาวเวียงเชียงใหม่
(พญาปงลังกา)
2439 112 2547
7. เรือนปั้นหยา (อนุสารสุนทร)

2467

84

2548

8. เรือนทรงโคโลเนียล (ลุงคิว)

2465

86

-