เรือนอุ้ยแก้ว - เรือนไทยโบราณ สถาปัตยกรรมล้านนา

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
31/10/2008
ที่มา: 
สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ http://art-culture.chiangmai.ac.th/

พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณ - เรือนอุ้ยแก้ว


ควันไฟขาวจากเตาถ่านที่ค่อยๆ ลอยขึ้นสู่อากาศอย่างช้าๆ จากหลังเรือนแทบทุกหลัง เป็นภาพที่พบเห็นจนชินตา ทั้งช่วงเช้าและเย็น ชวนให้นึกถึงประดาของกินประจำถิ่นล้านนาแสนอร่อย ที่กำลังยกมาให้คนบนเรือนได้นั่งล้อมวงกินกันตรงชานหน้า และหากใครเผอิญเดินผ่าน ก็จะถูกคะยั้นคะยอให้ขึ้นเรือน ไปร่วมวงจนอิ่มท้องกันถ้วนหน้า เป็นมิตรไมตรีที่ผูกพันแนบแน่นกับเพื่อนบ้าน เพียงพอแล้วต่อการอาศัยอยู่ร่วมกัน

       

เมื่อกาลเวลาผ่านพ้น ภาพในอดีตเหล่านี้ มักถูกลืมเลือนด้วยภาระ และการดำรงชีวิตที่เปลี่ยนไป แต่หากเวลาและสถานที่ถึงพร้อม แล้วลองหวนนึกถึงความมีชีวิตชีวาที่เคยปรากฏ ในที่แห่งนั้น ก็จะพบด้วยตนเองว่า ความทรงจำจากจินตนาการ ที่น่าประทับใจอาจเกิดขึ้นได้ไม่ยากเลย

     

จากภายในบริเวณสำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม ตั้งต้นที่เรือนกาแล หากเดินต่อเข้าไปด้านในสุด ทางซ้ายเป็นที่ตั้งเรือนพญาวงศ์หลังใหญ่ ส่วนด้านขวาจะเป็นเรือนหลังเล็ก ชื่อว่า เรือนอุ๊ยแก้ว อันเป็นเรือนที่เราจะเข้าไปเยี่ยมเยือนกันในครั้งนี้

เรือนอุ๊ยแก้ว มีเจ้าของเดิมคือ อุ๊ยอิ่นกับอุ๊ยแก้ว ธาระปัญญา ชาวบ้านสันต๊กโต หรือย่านสันติธรรม ใกล้กับบริเวณแจ่งหัวลิน ถนนห้วยแก้วในปัจจุบัน เรือนหลังนี้ได้สร้างขึ้นเมื่อ 50 กว่าปีก่อน หรือราวสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นเรือนขนาดเล็กที่ปรับเปลี่ยนคลี่คลายมาจากเรือนล้านนาโบราณ เพื่อเน้นให้ได้ใช้ประโยชน์จากตัวเรือนอย่างเต็มที่ และให้เข้ากับยุคสมัย ตัวเรือนกว้างราว 7-8 เมตร ขณะที่มีความยาวประมาณ 10 เมตร ทั้งเสาเรือนยังสูงเพียง 1 เมตร เท่านั้น ขนาดจึงดูค่อนข้างเล็กหากเทียบกับเรือนหลังอื่นที่ตั้งอยู่โดยรอบ

บนเรือนยังมีพื้นที่ใช้สอยเป็นแบบดั้งเดิม และมีที่เพิ่มเติมบางส่วน คือ จากหน้าเรือน เมื่อขึ้นบันไดไป (บันไดจะหันข้างขณะที่เรือนโบราณยื่นออกมาด้านหน้า) จะเป็นชานหน้าบ้าน กว้างเพียงครึ่งของเรือน ส่วนนี้ในเรือนสมัยก่อนมักเปิดโล่งทุกหลัง แต่เรือนอุ๊ยแก้วได้ใช้ไม้ซี่ (ท่อนไม้ยาวมีขนาดเล็ก) มาตีกั้นเป็นฝาเว้นระยะให้มองผ่านได้เป็นช่อง สันนิษฐานว่าคงเกิดจากการที่ชุมชนหมู่บ้าน ได้เปลี่ยนกลายเป็นชุมชนเมือง จึงจำเป็นต้องทำที่อยู่ที่อาศัยให้แน่นหนาป้องกันโจรขโมยที่มีมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงหลังสงครามโลก ครั้งที่2

จากชานหน้าบ้าน ถัดเข้าไปเป็นส่วนที่เรียกว่า "เติ๋น" คือพื้นที่ยกสูงกว่าชานบ้านมีความกว้างเท่ากับตัวเรือน เป็นบริเวณสารพัดประโยชน์สำหรับสมาชิกในครัวเรือนได้มานั่งทำกิจกรรมร่วมกัน เติ๋นด้านที่ติดกับบันไดต่อจากชานบ้าน (ฝั่งขวาของเรือน) จะทำฝาจากไม้ซี่ให้มองลอดได้ เลยจากไม้ซี่มีหิ้งทำจากไม้แผ่นใหญ่ สำหรับวางหม้อน้ำได้ 2 – 3 หม้อ ใส่น้ำสะอาดให้คนในเรือนและแขกได้ดื่มกิน

เติ๋นฝั่งซ้าย จะตีฝาด้วยไม้ เป็นแบบที่เรียกว่า "ฝาเกล็ด" คือฝาไม้เนื้อแข็งตีเป็นแผ่นยาวตามแนวกว้างและยาวของเรือน ฝาด้านหน้าเรือนมีหน้าต่างแบบลูกฟัก 2 บาน (เรียกว่า "ประตูป่อง") ซึ่งหน้าต่างนี้ สมัยก่อนจะทำเพียงเจาะช่องไว้ไม่ใส่บานหน้าต่างส่วนด้านข้างมีหิ้งพระโดย เจาะฝาเป็นช่อง แล้วตีไม้เป็นกรอบสี่เหลี่ยมให้ยื่นออกไปนอกตัวเรือน หากมองจากภายนอกจะเห็นเหมือนมีกล่องไม้ติดกับฝาเรือน

หิ้งพระนี้กล่าวกันว่า สมัยก่อนไม่นำมาไว้ในบ้าน เนื่องจากคนล้านนาในอดีตเชื่อว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์สิ่งดีงามเช่นพระพุทธรูป สมควรอยู่แต่ภายในวัดเท่านั้น หากจะมีการสร้างหิ้งสำหรับบูชาผีปู่ย่า มีไว้เพื่อบูชาพรรพบุรุษของตน แต่เมื่อความเชื่อเปลี่ยนไปตามกาลสมัยหิ้งพระจึงกลายเป็นส่วนประกอบสำคัญของเรือนล้านนาไป คาดว่าคงมานิยมกันเมื่อ 70 – 80 ปีที่ผ่านมา

และเมื่อเราเดินขึ้นไปต่อจาก เติ๋น ตรงกลางเรือนจะมีทางเดินยาวไปถึงหลังเรือนเรียกว่า "ชานฮ่อม" ห้องทางซ้ายจะเป็นเรือนนอน เรือนนอนนี้จะมีประตูเปิดออกสู่ เติ๋นภายในเรือนนอนมีหน้าต่าง เพียงบานเดียว ส่วนห้องขวามือเป็นเรือนครัวซึ่งมีประตูติดกับชานฮ่อม มีพื้นที่เท่าๆกับเรือนนอน และจากห้องครัวไปทางหลังเรือน จะมีส่วนประกอบที่เพิ่มเติมจากเรือนโบราณคือ ห้องน้ำ ส่วนนี้จะตีฝาด้วย "ฝาไม้บั่ว" คือไม้ไผ่สาน ซึ่งปรกติฝาประเภทนี้จะใช้กับบางส่วนของห้องนอน มีประโยชน์เพื่อให้อากาศถ่ายเทได้ง่ายนั่นเอง

สำหรับห้องน้ำนั้น คนล้านนาสมัยก่อนมักจะออกไปทำธุระบริเวณที่มิดชิดนอกบ้าน ส่วนการอาบน้ำก็จะอาบตามแม่น้ำลำคลองหรือจากบ่อ สมัยต่อมาจึงมีการสร้าง "ท้อมน้ำ" (อ่านว่า "ต้อมน้ำ") คือที่กำบังอาบน้ำเป็นห้องสร้างไว้นอกตัวบ้าน อาจทำให้เป็นซุ้มหรือก่ออิฐถือปูนก็ได้ จากนั้นจึงได้นำห้องน้ำมาไว้ในตัวบ้านตามสมัยนิยม

(อุปกรณ์ในห้องน้ำของเรือนอุ๊ยแก้วได้ปรับปรุงตามอย่างปัจจุบันเมื่อนำมาตั้งที่สำนักฯ)

เมื่อเราลองเดินดูไปรอบๆ ตัวเรือนแล้ว ก็จะพบว่าเรือนหลังนี้ มีส่วนประกอบของเรือน ที่เพิ่มเติมนอกเหนือ จากเรือนแบบโบราณบางส่วน แต่โดยรวมแล้วก็เป็นเหมือนเรือนอื่นๆ คือ มีเรือนชาน เติ๋น เรือนนอน เรือนครัว ตามอย่างเรือนล้านนาขนาดเล็ก จึงมีคุณประโยชน์ ต่อการศึกษา ทางด้านพัฒนาการของสถาปัตยกรรม และวิถีชีวิตท้องถิ่นล้านนา เป็นอันมาก เมื่อทราบว่าเรือนหลังนี้ มีแนวโน้มจะถูกรื้อถอน อาจารย์วิถี พานิชพันธ์ จึงติดต่อขอซื้อเรือนมาปลูกสร้างไว้ที่สำนักฯ เมื่อ พ.ศ.2530 จากการสนับสนุนของมูลนิธิ มร.ยาคาซากิ มหาวิทยาลัยเกียวโตไซกะ แต่ได้นำมาปลูกสร้างที่สำนักฯ เมื่อปี 2540 เนื่องจากเมื่อซื้อเรือนไปแล้ว ก็ได้ให้อุ๊ยแก้วเจ้าของเรือน อาศัยอยู่ในเรือนต่อไปเรื่อยๆ ด้วยความรักความผูกพัน กับที่อยู่ที่เดิมของตน ถึงแม้ว่าลูกหลานจะมาสร้างเรือนใหม่ให้ และอุ๊ยอิ่นจะย้ายไปอยู่เรือนใหม่แล้วก็ตาม อุ๊ยแก้วก็ยังคงใช้ชีวิตช่วงสุดท้ายของตนเอง อยู่บนเรือนที่ตนรักหลังนี้ จนกระทั่งเสียชีวิตลงเมื่อ พ.ศ.2540

ใช่ หรือไม่ว่า ภาพในอดีตมักทำให้เราเกิดความรู้สึกผูกพันกับสถานที่แห่งใดแห่งหนึ่ง ไม่ว่าเราจะได้เคยพบเห็นเนิ่นนานหรือเป็นครั้งแรกที่ได้มาก็ตาม ยิ่งหากเราได้ทราบความเป็นมา และได้ยินเรื่องความรักอันน่าประทับใจระหว่างอุ๊ยแก้วกับเรือนหลังนี้ ผู้มาเยือนทุกคนคงจะต้องจินตนาการภาพเรือนอุ๊ยแก้วไปมากกว่าเป็นเพียงเรือน โบราณอีกแห่งอย่างแน่นอน

บทความโดย วีรยุทธ นาคเจริญ

ขอบคุณข้อมูลจาก พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณ สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 

ต้นฉบับ : http://art-culture.chiangmai.ac.th/oldhome/uykaew/


สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม ได้อนุรักษ์เรือนโบราณ และมีกลุ่มเรือนโบราณที่เป็นศูนย์รวม แหล่งศึกษาค้นคว้าด้านศิลปวัฒนธรรมและสถาปัตยกรรมของล้านนา รวมทั้งการจัดการเพื่อให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ด้านศิลปวัฒนธรรมล้านนา  ซึ่งในปัจจุบันมีเรือนโบราณอยู่ 8 หลังดังนี้

ชื่อเรือน พ.ศ. ที่สร้าง อายุ ย้ายมาปลูก พ.ศ.
1. เรือนไทลื้อ (หม่อนตุด) 2460 91 2536
2. เรือนกาแล (อุ๊ยผัด) 2460 91 2537
3. เรือนพื้นบ้านล้านนา (อุ๊ยแก้ว) สงครามโลกครั้งที่ 2 - 2540
4. เรือนกาแล (พญาวงศ์) 2440 111 2541
5. ยุ้งข้าว ของเรือนกาแล
(พญาวงศ์)
2440 111 2542
6. เรือนชาวเวียงเชียงใหม่
(พญาปงลังกา)
2439 112 2547
7. เรือนปั้นหยา (อนุสารสุนทร)

2467

84

2548

8. เรือนทรงโคโลเนียล (ลุงคิว)

2465

86

-