การกองข้าว - วิธีเก็บเกี่ยวข้าว

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
05/11/2008
ที่มา: 
สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ http://www.sri.cmu.ac.th/

การกองข้าว
ในอดีตนั้นเกือบทุกขั้นตอนในการทำนาจนกระทั่งถึงการเก็บข้าวใส่ยุ้งฉาง ต้องอาศัยแรงงานคนเป็นส่วนใหญ่ และบางช่วงต้องการใช้แรงงานคนเป็นจำนวนมาก จึงเกิดความขาดแคลนแรงงานขึ้นในบางช่วง งานที่สามารถรอได้ก็จะชลอเวลาไว้ก่อน      ในขณะเดียวกันก็หาวิธีที่จะไม่ทำให้เกิดความเสียหายขึ้น เช่น หลังจากข้าวที่ตากแดดไว้แห้งดีแล้ว ชาวไร่ชาวนาที่ยังไม่สามารถฟาดข้าวได้ในขณะนั้น จะหาวิธีเก็บรักษาผลผลิตไว้ก่อน      โดยจะเก็บรวบรวมข้าวที่แห้งแล้วนั้นนำไปวางซ้อนกันหลายๆ ชั้น เรียกว่า “กองข้าว” เพื่อป้องกันไม่ให้ข้าวเกิดความเสียหายจากการถูกสัตว์มากินและป้องกันไม่ให้เปียกน้ำ แล้วรอจนกว่าจะมีแรงงานพอหรือจนกว่าจะมีเวลาว่าง จึงจะทำการนวดหรือฟาดข้าวต่อไป

  • ลักษณะกองข้าว
  • วิธีการกองข้่าว

ลักษณะกองข้าว
การกองข้าวมี 2 ลักษณะ คือแบบกลมและแบบสี่เหลี่ยม



:: กองข้าวแบบกลม ::


:: กองข้าวแบบสี่เหลี่ยม ::

วิธีกองข้าว
การกองข้าวมักจะทำใกล้หรือในตาราง เมื่อทำตารางแล้วก่อนจะเอาข้าวเฟ่ามาวาง ในอดีตบางคนจะเอาฟางข้าวหรือใบสักหรือใบตอง (ตามแต่จะหาได้) วางซ้อนกันหลายๆ ชั้นบนตาราง เพื่อป้องกันไม่ให้เมล็ดข้าวร่วงลงไปที่พื้นดิน แล้วจึงเอาข้าวเฟ่าหรือมัดข้าวมาวาง

ในการกองข้าวแบบกลมนั้น จะเอาข้าวเฟ่าวางเรียงเป็นวงกลม โดยวางให้ปลายข้าวเฟ่าด้านที่มีรวงข้าวเข้าข้างในวงกลม หันส่วนโคนของข้าวเฟ่าออกด้านนอก เพื่อป้องกันไม่ให้รวงข้าวเปียก เมื่อวางข้าวเฟ่าซ้อนขึ้นไปหลายๆ ชั้นจนสูงประมาณ 1.5-2 เมตร ถ้ายังมีข้าวเฟ่าเหลืออยู่ก็ทำกองใหม่ต่อไป บางคนจะหาฟางข้าวหรือใบสักหรือใบตองคลุมด้านบนของกองข้าวแต่ละกอง เพื่อไม่ให้รวงข้าวเปียกฝนหรือน้ำค้าง

ภายในกองข้าวแบบกลม บางคนจะเว้นช่องว่างตรงกลางวงกลมไว้เล็กน้อย เรียกว่า “ใจกองข้าว” ถ้ามีกล้วยที่แก่แล้วก็จะนำกล้วยทั้งเครือมาใส่ไว้ที่ใจกองข้าว เพื่อบ่มให้สุก

สำหรับการกองแบบสี่เหลี่ยม จะเอาข้าวเฟ่าวางเรียงเป็นแนวสี่เหลี่ยม โดยวางให้ปลายข้าวเฟ่าด้านที่มีรวงข้าวเข้าข้างในเช่นกัน


:: หันรวงข้าวเข้าด้านในกองข้าว ::


:: กองข้าวที่ใช้ฟางคลุมด้านบน ::

เอกสารอ้างอิง
มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด และ คณะ ,โครงการศึกษาภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อส่งเสริมเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว. รายงานวิจัย เชียงใหม่ : สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่,2545..


ขอบคุณข้อมูลจาก สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ http://www.sri.cmu.ac.th/~postharvest/
และ โครงการพัฒนาบัณฑิตศึกษาและวิจัย เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

อ่านเรื่อง ภูมิปัญญาท้องถิ่นหลังการเก็บเกี่ยวทุกหัวข้อ คลิ๊กที่นี่จ้า