การพัดข้าวปลือก - อุปกรณ์ และวิธีการพัดข้าวเปลือก

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
06/11/2008
ที่มา: 
สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ http://www.sri.cmu.ac.th/

การพัดข้าวเปลือก - อุปกรณ์ และวิธีการพัดข้าวเปลือก

เมื่อนวดหรือฟาดข้าวหรือซ้อมขี้เฟื้อนจนได้ข้าวเปลือกจำนวนหนึ่งแล้ว ในกองข้าวเปลือกนั้นจะมีทั้งเศษฟางข้าว ข้าวลีบ ปะปนอยู่ในกองข้าวเปลือก ก็จะต้องกำจัดสิ่งเหล่านั้นก่อนที่จะขนข้าวเปลือกไปไว้ในยุ้งฉางต่อไป



:: กองข้าวที่มีเศษข้าวลีบปนอยู่ ::


:: ข้าวลีบที่พัดออกจากข้าวเปลือก ::

อุปกรณ์
การกำจัดสิ่งที่ปนอยู่กับข้าวเปลือกนั้น ใช้อุปกรณ์ดังนี้

ผากหรือกระจุ้น

“ผาก“ หรือ “กะจุ้น” หรือ “ไม้โจ้ข้าว” ทำด้วยไม้สักท่อนใหญ่ นำมาทำให้มีลักษณะคล้ายพลั่วตักดิน ผากมีหลายขนาด ใช้สำหรับตักข้าวเปลือกโยนขึ้นไปบนอากาศ แต่บางคนจะใช้เปี้ยด หรือกระบุง (ปัจจุบันบางคนใช้กระป๋อง) ตักข้าวเปลือกแทนผาก


:: ผากขนาดต่างๆ ::



:: ก๋าวี หรือ วี ::

ก๋าวีหรือวี
ก๋าวีหรือวี ทำจากไม้ไผ่นำมาสานให้เป็นวงกลม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 50 เซนติเมตร ยึดติดกับไม้ไผ่ที่ทำเป็นด้าม ก๋าวีเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการพัดข้าวเปลือก เพื่อให้เศษข้าวลีบและฝุ่นผงที่ปนอยู่กับข้าวเปลือกหลุดออกไป (ปัจจุบันมีการดัดแปลงเครื่องตัดหญ้าแบบสะพายไหล่ โดยเอาใบพัดของพัดลมใส่แทนใบเลื่อย หรือใช้พัดลมไฟฟ้า พัดข้าวแทนก๋าวีเป็นการทุ่นแรง)

วิธีการพัดข้าว
การกำจัดเศษฟางข้าว ฝุ่นผง และข้าวลีบออกไปจากข้าวเปลือก สามารถทำได้หลายวิธี
วิธีที่ 1 เอาสาดกะลาปูใกล้ๆ บริเวณกองข้าวเปลือก แล้วใช้ภาชนะ เช่น กระบุง ตักข้าวเปลือกจากกอง ยกกระบุงข้าวเปลือกนั้นชูขึ้น แล้วเทข้าวเปลือกลงมาบนสาดกะลา ในขณะที่ข้าวเปลือกตกลงสู่สาดกะลานั้น จะมีคน 1-2 คนยืนอยู่ข้างๆ คอยใช้ก๋าวีพัด


:: การพัดข้าวโดยวิธีตักใส่ภาชนะแล้วยกเทลงมา :: (เอื้อเฟื้อภาพโดยคุณบุญเสริม สาตราภัย)
    

:: การใช้พัดลมไฟฟ้าพัดเศษข้าวลีบออกจากข้าวเปลือก ::

วิธีที่ 2 วิธีนี้จะพัดเมื่อฟาดข้าวในตารางหรือฟาดบนแคร่ได้ข้าวเปลือกจำนวนหนึ่งแล้ว โดยใช้ก๋าวีพัดบนกองข้าวเปลือกสลับกับการฟาดข้าวเป็นระยะๆ
สำหรับการพัดข้าวเปลือกที่ได้จากการฟาดบนแคร่รูปร่างคล้ายกับโต๊ะ ในช่วงแรกที่ได้ข้าวเปลือกจำนวนไม่มากนักจะพัดใต้แคร่เป็นระยะๆ โดยยังไม่ต้องยกแคร่ออก (เนื่องจากแคร่มีความสูง) ฟาดข้าวไปก็พัดไป ส่วนในช่วงหลังถ้าฟาดข้าวจนได้ข้าวเปลือกสูงท่วมแคร่แล้ว ต้องยกแคร่ออกก่อนถึงจะพัดได้


:: เมื่อได้ข้าวเปลือกจำนวนหนึ่งจะพัดข้าว :: (ถ่ายภาพโดยอาจารย์สมเจตน์ วิมลเกษม)


:: การพัดกองข้าว :: (เอื้อเฟื้อภาพโดยคุณนิพนธ์ บุญมี)


วิธีที่ 3
ใช้ไม้ผากหรือเปี้ยดหรือน้ำครุ (กระป๋อง) ตักข้าวเปลือกโยนขึ้นไปบนอากาศ เรียกว่า “หะข้าว” หรือ “โจ้นข้าว” หรือ “โจ้ข้าว” เพื่อให้ข้าวเปลือกไปตกที่สาดกะลาที่ปูใกล้ๆ บริเวณกองข้าวเปลือก ในกรณีที่ฟาดข้าวโดยใช้ครุรองรับบางคนอาจจะหะข้าวจากในครุเลย


:: กองข้าวเปลือกที่ยังมีข้าวลีบและฝุ่นปนอยู่ ::


:: การหะข้าวเป็นงวงเป็นงา ::

ในขณะที่หะข้าวต้องเอียงไม้ผากเล็กน้อย การหะต้องทำให้ได้จังหวะพอดี ไม่แรงหรือเบาเกินไป ให้มีลักษณะ “เป็นงวงเป็นงา” (โค้งลง) ซึ่งจะทำให้เศษข้าวลีบและฝุ่นปลิวออกไปได้ง่าย และยังช่วยไม่ให้ข้าวเปลือกกระเด็นออกไปนอกสาดกะลาในขณะที่หะ ในจังหวะที่หะข้าวคนที่ยืนอยู่ข้างๆ จะใช้ก๋าวีพัด

วิธีที่ 4
ชาวม้งบางพื้นที่จะหาต้นไม้ที่แข็งแรงสูงประมาณ 4-5 เมตร เก็บเศษหิน เศษกิ่งไม้บริเวณด้านล่างของต้นไม้ออกให้หมด เพื่อให้พื้นราบเสมอกัน แล้วใช้สาดกะลา จำนวน 4-5 แผ่น ปูไว้ได้ต้นไม้นั้น แล้วนำบันไดฟาดต้นไม้ แล้วปีนขึ้นไปค่อยๆ เทข้าวลงมาบนสาดกะลาที่เตรียมไว้ เพื่อให้ลมช่วยพัดเศษข้าวลีบต่าง ๆ ออกให้หมด


:: การพัดข้าวของชาวม้ง :: (รูปจากหนังสือการเกษตรแบบตัดฟันโค่นเผาบนพื้นที่สูง วิทยาการพื้นบ้าน)

วิธีที่ 5 ชาวกะเหรี่ยงนำไม้ไผ่มาทำบันได โดยฝังเสาลึกลงไปในดิน ให้บันไดตั้งฉากกับพื้นดิน แล้วนำข้าวเปลือกใส่ตะกร้าแบกขึ้นไปบนบันได ค่อยๆ เทข้าวเปลือกลงสู่พื้นด้านล่าง ซึ่งจะมีสาดกะลาปูอยู่ ถ้าในขณะที่เทข้าวลงมาไม่มีลมพัด คนที่อยู่ด้านล่างก็จะใช้ก๋าวีพัด


:: การพัดข้าวของชาวกะเหรี่ยง :: (รูปจากหนังสือการเกษตรแบบตัดฟันโค่นเผาบนพื้นที่สูง วิทยาการพื้นบ้าน)

เอกสารอ้างอิง

จันทบูรณ์ สุทธิ ,การเกษตรแบบตัดฟันโค่นเผาบนพื้นที่สูง วิทยาการพื้นบ้าน เชียงใหม่ : หจก.นันทกานต์ กราฟฟิคการพิมพ์,2539.

มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด และ คณะ ,โครงการศึกษาภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อส่งเสริมเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว. รายงานวิจัย เชียงใหม่ : สถาบันวิจัยสังคม      มหาวิทยาลัยเชียงใหม่,2545.


ขอบคุณข้อมูลจาก สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ http://www.sri.cmu.ac.th/~postharvest/
และ โครงการพัฒนาบัณฑิตศึกษาและวิจัย เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

อ่านเรื่อง ภูมิปัญญาท้องถิ่นหลังการเก็บเกี่ยวทุกหัวข้อ คลิ๊กที่นี่จ้า