วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
06/11/2008
ที่มา: 
เว็บไซต์ล้านนาคดี http://lanna.mju.ac.th/ "ทุกภาพ ทุกตัวอักษร มอบเป็นวิทยาทานแด่ทุกท่าน"

หลองเข้า

 

หลองเข้า ตรงกับยุ้งข้าวในภาษาไทยกลาง เป็นองค์ประกอบสำคัญที่มีอยู่คู่กับเรือนของชาวล้านนา ส่วนใหญ่จะปลูกอยู่บริเวณหน้าบ้านเยื้องมาด้านข้างของเรือน หลองเข้า ของล้านนาเป็นของคู่กับเรือนถาวร ใช้เก็บข้าวเปลือกไว้กินได้ตลอดปี เนื่องด้วยในสมัยก่อนเป็นสังคมเกษตรกรรม มีการปลูกข้าวไว้กินเอง หลองเข้ามีลักษณะเฉพาะ กล่าวคือเป็นอาคารไม้ใต้ถุนสูง หลายแห่งใต้ถุนสูงกว่าเรือน มีระเบียงโดยรอบหลังคาลาดต่ำกคุลมระเบียงและมีจั่ว หลองเข้ามีลักษณะแข็งแรง เนื่องจากโครงสร้างใช้ไม้ขนาดใหญ่ เสามีขนาดใหญ่ บางแห่งใหญ่มากขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาร ๔๐ เซนติเมตร มีผู้กล่าวว่าต้องใช้เสาใหญ่เพราะต้องการให้แข็งแรงป้องกันช้างมาทำลายเพื่อ กินข้าว แวง (รอด) มีขนาดใหญ่เช่นกัน ที่ใหญ่มีขนาดประมาณ ๑๕ x ๒๕ เซนติเมตร เสาส่วนเหนือแวงขึ้นไปจะผ่าครึ่งเพื่อตีฝากรุจากด้านใน เมื่อใส่ข้าวแล้วโอกาสที่ฝาจะหลุดออกจึงเป็นไปได้ยาก

หลองเข้า มีหลายขนาด ขนาดเล็กใช้เสา ๓ คู่ ขนาดใหญ่ใช้เสา ๕ คู่หรือมากกว่า หลองเข้าขนาดเล็กก็มีเสาขนาดเล็กตามไปด้วย หลองเข้าขนาดใหญ่ก็จะใช้เสาใหญ่ด้วยเช่นกัน เนื่องจากหลองเข้ามีขนาดกลางและขนาดใหญ่ นิยมทำระเบียงล้อมรอบ จึงมีเสารับระเบียงควบคู่ไปกันด้วย เสาระเบียงจะปักลงดินเช่นกัน และมีขนาดเล็กกว่า รอบนอกของระเบียงอาจปล่องโล่งหรือมีไม้ฉลุเป็นแผ่นๆ ติดโดยรอบทำให้ดูสวยงาม ซึ่งยุ้งข้าวของภาคอื่นไม่มีการตกแต่งเช่นนี้

หลองเข้าล้านนานั้น ส่วนใหญ่เสาจะล้มสอบส่วนบนเข้าหากันเหมือนเรือนฝาปะกนของภาคกลาง โครงสร้างของหลองเข้านี้จะคล้ายกับเรือนกาแลมี เสา แวง ตง ส่วนเครื่องบนประกอบด้วย ขื่อ แป หัวเสา อกไก่ และอื่นๆ เช่นเรือนกาแล รูปของหลังคามี ๒ ลักษณะ คือ

•  ทรงจั่วหลังคาลาดคลุมตัวยุ้งต่ำ จั่วมีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับขนาดหลังคา

•  หลังคาทรงคล้ายเรือนกาแลทั่วไป สำหรับปั้นลมนั้นเป็นชนิดมีกาและและไม่มีกาแล

โดยปกติประตูของยุ้งข้าวจะทำเป็นกรอบไม้ และทำร่องไว้ทั้งสองข้าง ใช้แผ่นไม้กว้างประมาณ ๑๕ เซนติเมตร หลายแผ่นเรียงต่อๆ กัน และเขียนเลขกำกับไว้ตามลำดับเพื่อเป็นประตูที่ข้างๆ ประตูจะมี ปักขทืนกระด้าง คือ ปฏิทินถาวรหรือแผ่นไม้ขนาดประมาณ ๖ x ๒๕ เซนติเมตร แขวนไว้บนผิวของแผ่นไม้นี้จะขีดช่องทำเป็นตารางไว้สามแถว แถวบนบอกวันข้างขึ้น แถวกลางบอกเดือน และแถวล่างบอกวันข้างแรม โดยมีสัญลักษณ์บอกไว้ว่าวันไหมเหมาะแก่การเอาข้าวออกจากยุ้งและวันไหมห้าม การนำข้าวออกจากยุ้ง ซึ่งจากตำราแผนโบราณพื้นเมืองสรุปไว้ว่า วันที่ควรนำข้าวออกจากยุ้ง คือ

เดือนใดก็ตาม ขึ้น ๕ , ๖ , ๗ ค่ำ ดี ขึ้น ๑๐ และ ๑๑ ค่ำ ดีนัก

แรม ๖ , ๑๐ ค่ำ ดี แรม ๑ ,๒ ,๓ ,๔ ,๑๒ , ๑๓ , ๑๔ , ๑๕ ค่ำ ดีนัก

ทั้งนี้เพื่อเป็นการให้แน่ใจว่าจะมีข้าวไปตำหรือไปสีกินได้โดยไม่ต้องกังวลว่าวันดี หรือไม่ดีนั้น ชาวล้านนาจะมีหลองพราง หรือหลองเข้าด่วนไว้บนหลองเข้า หรือยุ้งข้าวนี้ด้วยโดยมากมักจะทำเป็นยุ้งข้าวขนาดเล็ก หรืออาจใช้บุ่งหรือภาชนะสานขนาดใหญ่ยาด้วยมูลวัวมูลควายไว้ด้วย เมื่อถึงวันดีที่ควรนำข้าวออกจากยุ้งก็จะตักข้าวเปลือกออกมาพักไว้ที่หลองพรางหรือหลองข้าวด้วน นี้ เมื่อข้าวสารขาดมือลงก็จะมาตักไปจากยุ้งสำรองเพื่อการบริโภคได้โดยไม่ติดขัด

เนื่องจากหลองเข้าเป็นสิ่งปลูกสร้างที่สำคัญต่อวิถีชีวิตเป็นอันมาก ทั้งในแง่การผลิตและการบริโภค ดังนั้นในการที่บุคคลจะปลูกสร้างหลองเข้านั้น จึงเป็นเรื่องที่จะต้องกระทำด้วยความรอบคอบ

ในตำราแผนโบราณพื้นเมืองกล่าวว่า การที่บุคคลจะปลูกสร้างยุ้งข้าวเพื่อให้อุดสมบูรณ์ด้วยข้าวปลานั้นให้ตรวจ ดูตามข้อกำหนด ดังนี้

ลูกคนหัวปี ให้ปลูกยุ้งข้าวทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเรือน

ลูกคนที่สอง ให้ปลูกยุ้งข้าวทางทิศตะวันออกของเรือน

ลูกคนที่สาม ให้ปลูกยุ้งข้าวทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเรือน

ลูกคนที่สี่ ให้ปลูกยุ้งข้าวทางทิศใต้ของเรือน

ลูกคนที่ห้า ให้ปลูกยุ้งข้าวทางทิศตะวันตกของเรือน

ลูกคนที่หก ให้ปลูกยุ้งข้าวทางทิศเหนือของเรือน

ลูกคนที่เจ็ด ให้ปลูกยุ้งข้าวทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเรือน

ลูกคนที่แปด ให้ปลูกยุ้งข้าวทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเรือน

ลูกคนที่เก้า ให้ปลูกยุ้งข้าวทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเรือน

ส่วนลูกคนที่ ๑๑ , ๑๒ , ๑๓ ...... ให้ไล่วนไปตามลำดับที่กล่าวไว้แล้วนั้น
หลองเข้านี้ บางแห่งเรียก ถุเข้า หรือเยียเข้า

(ขอบคุณภาพจากเว็บไซต์ คนเมืองดอทคอม http://www.khonmuang.com/)