วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
06/11/2008
ที่มา: 
เว็บไซต์ล้านนาคดี http://lanna.mju.ac.th/ "ทุกภาพ ทุกตัวอักษร มอบเป็นวิทยาทานแด่ทุกท่าน"

ฟ้อน


คำว่าฟ้อน หมายถึงการแสดงออกด้วยท่าทางต่าง ๆ จะโดยธรรมชาติหรือปรุงแต่งไปแล้วก็ตาม ตรงกับคำว่า “ รำ “ ในภาษาถิ่นภาคกลาง ด้วยเหตุนี้ ภาษาถิ่นล้านนาจึงเรียกกระบวนรำชุดต่างๆ ทั้งหมดว่าฟ้อนมาตั้งแต่อดีต เช่น ฟ้อนแห่ครัวทาน ฟ้อนผี ฟ้อนม่าน ฟ้อนเงี้ยว ฯลฯ

การฟ้อน ของชาวล้านนาในอดีตประกอบไปด้วยลีลาท่าทางที่เลียนแบบหรือดัดแปลงแบบหรือ แปลงมาจากธรรมชาติ มักมีลักษณะเป็นศิลปะตามเผ่าพันธุ์โดยแท้จริง กล่าวคือเชื่องช้าแช่มช้อยสวยงาม ไม่มีลีลาท่ารำที่ซับซ้อนยุ่งยาก ไม่มีกฎเกณฑ์ข้อบังคับใด ๆ เป็นกระบวนท่าง่าย ๆสั้น ๆมักแสดงเป็นชุด ๆมีมากมายหลายรูปแบบ และขนานนามชุดการแสดงหรือกระบวนฟ้อนนั้นๆ ตามเชื้อชาติของผู้ฟ้อน ซึ่งเรียกตามภาษาถิ่นพื้นเมืองว่า ช่างฟ้อน ( อ่าน “ จ้างฟ้อน “ ) และหมายรวมกันไปหมดทั้งชายและหญิง ดังนั้น ตนม่านหรือชาวพม่าฟ้อน ก็จะเรียกการแสดงหรือการฟ้อนชุดนั้นว่า ฟ้อนม่าน คนไตหรือคนไทใหญ่หรือหรอคนเงี้ยว หรือฟ้อนไท ( อ่าน “ ไต ” แต่ไม่เรียก ฟ้อนไทใหญ่ ”

ครั้นบ้านเมืองเจริญขึ้น การคมนาคมติดต่อสื่อสารสะดวกสบายมากขึ้น ประชากรมีการศึกษาแพร่หลายมากขึ้นมีการติดต่อกับสยามประเทศมากขึ้น อิทธิพลของ “ รำไทย ” . ในราชสำนักสยาม ซึ่งมีระเบียบแบบแผนที่ดีกว่า สวยงามกว่าจึ่งเริ่มเข้ามาเกี่ยวพันกับการฟ้อนพื้นเมืองล้านนาเริ่มแปร เปลี่ยนไป กระบวนฟ้อนชุดต่างๆ ที่มีอยู่เดิมและมีประดิษฐ์ขึ้นใหม่จึงเริ่มผิดแผกแตกต่างกันออกไป

หลังปีพุทธศักราช ๒๔๕๖ เป็นต้นมา การฟ้อนในล้านนาเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น เหตุเป็นเพราะพระราชชายาเจ้าดารารัศมีฯได้กราบบังคมลาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎ เกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖กลับไปประทับ ณ นครเชียงใหม่ พร้อมกับเจ้าแก้วนวรัฐฯ ซึ่งเป็นเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ท่านสุดท้ายแห่งมณฑลพายัพ ( พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ยุบเลิกประเทศราชรวมเป็นมณฑลหนึ่งของประเทศสยาม เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๓๖ ) ที่ขึ้นไปรับพระราชทานยศและตำแหน่งเป็น “ เจ้าแก้วนวรัฐประพันธอินทนันทพงษ์ ดำรงพีสีนครเขตร ทศลักษณ์เกษตรอุดม บรมาราชสวามิภักดิ์ บริรักษ์ปัจฉิมานุทิศ สุจริตธรรมธาดา มหาโยนางคราชวงศาธิบดี เจ้านครเชียงใหม่ ( แก้ว )”

ในการเสด็จฯ กลับมาครั้งนี้ พระราชชายาฯ ได้นำแบบอย่างการฟ้อนรำในราชสำนักสยามมาเผยแพร่ในเชียงใหม่พร้อมทั้งนำครู ละคร ดนตรี จากกรุงเทพฯ ขึ้นมาฝึกหัดถ่ายทอดให้กับพวกตัวละครทั้งในวังของท่านและในคุ้มเจ้าผู้ครอง นครเชียงใหม่ เป็นเหตุให้การฟ้อนรำในเชียงใหม่เกิดการแตกต่างขึ้น เป็น ๒ แบบ คือ

แบบที่ ๑ เป็นแบบที่มีมาแต่เดิม เรียกทางวิชาการว่า “ แบบพื้นเมืองหรือแบบดั้งเดิม “

แบบที่ ๒ เป็นแบบที่ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงและประดิษฐ์ขึ้นใหม่เรียกทางวิชาการว่า “ แบบราชสำนัก “

แบบพื้นเมือง หรือแบบพื้นบ้าน หรือแบบดั้งเดิม

มีลักษณะเชื่องช้า แช่มช้อย เรียบง่าย ไม่ค่อยพิถีพิถันในเรื่องการกรีดนิ้ว ตั้งข้อมือ ย่อเข่า ยกเท้า วางเท้า การทรงตัวรวมทั้งการยืดตัว ยุบตัวตามจังหวะเพลง

แบบราชสำนัก

เป็นลักษณะการฟ้อน การรำใกล้เคียงกับภาคกลางหรือมีลีลา ท่ารำ ใกล้เคียงกับละคร ( นาง ) ใน ด้วยมูลเหตุเหล่านี้ ทำให้ชุดฟ้อนของเดิมเกิดความแตกต่างกันมากมาย ในความคิดรวบยอดของชนทั่วไป และเกิดกระบวนฟ้อนใหม่ๆ ขึ้นมากมายพอสมควร

สาเหตุที่เกิดการผิดแผกแตกต่างกันไปนั้น มีอยู่ ๒ ประการ ได้แก่

๑ . การแสดงแต่ละกระบวนฟ้อนมักประดิษฐ์ขึ้นมาโดย “ ผู้รู้ “ ในท้องถิ่น ตัวอย่างเช่น ฟ้อนแห่ครัวทาน ดังนั้นช่างฟ้อนของศรัทธาวัดต่างๆ แห่งหนึ่ง ซึ่งประดิษฐ์ขึ้นมาโดยผู้รู้คนหนึ่ง ย่อมแตกต่างกับช่างฟ้อนของศรัทธาอีกวัดหนึ่งที่มาร่วมเพราะประดิษฐ์โดยผู้ รู้อีกคนหนึ่งแต่อาจมีส่วนคล้ายกันเนื่องจากมีการถ่ายทอดให้กัน หรือเลียนแบบกัน แต่จะไม่เหมือนกันหรือตรงกันทุกอย่าง

๒ . เมื่อมีการรับเอาลีลาท่ารำของราชสำนักสยามเข้ามาเผยแพร่ เกี่ยวโยงกัน ทำให้การฟ้อนของช่างฟ้อนในวังพระราชชายาเจ้าดารารัศมีฯ หรือช่างฟ้อนในคุ้มเจ้าหลวงเชียงใหม่ผิดแผกแตกต่างกับลีลาท่ารำของช่างฟ้อน ที่เป็นชาวบ้านศรัทธาวัดต่างๆ เมื่อเป็นเช่นนี้ ลัทธิเอาอย่างจะด้วยเพื่อความถูกต้องสวยงามหรือเอาใจผู้มีอำนาจก็ตาม จึงเ ริ่มเข้าไปมีอิทธิพลในกลุ่มชนบางกลุ่ม จะเป็นเพราะความสนิทสนมทางครอบครัวส่วนตัว หรือขอร้องก็ตาม

เมื่อ เป็นเช่นนี้คำกล่าวหาที่ว่าศรัทธาคณะนั้นผิด ศรัทธาคณะนั้นถูกจึงเกิดขึ้น ครั้นมีการก่อตั้งวิทยาลัยนาฎศิลป์เชียงใหม่ขึ้น ทางราชการเชิญช่างฟ้อนในวังในคุ้มมาถ่ายทอดให้นักเรียนนักศึกษาและนำออกแสดง เผยแพร่ต่อสาธารณชนบ่อยครั้งขึ้นทำให้เกิดคำครหาว่า สถาบันราชการที่มีหน้าที่อนุรักษ์โดยตรงกลับเป็นผู้ทำลายเสียเอง

อย่าง ไรก็ตามหากเราจะศึกษาเรื่องการฟ้อนของชาวล้านนาเท่าที่มีอยู่แล้ว เราควรจะแยกกระบวนฟ้อนของชาวล้านนาออกเป็นประเภทใหญ่ๆ เสียก่อน คือ

๑ . ฟ้อนพื้นเมืองหรือฟ้อนแบบดั้งเดิม

การฟ้อนแบบนี้หมายถึงการฟ้อนต่าง ๆ ที่ตกทอดมาโดยไม่มีการปรับปรุง ซึ่งอาจมีอายุมากเท่ากับอายุของเมืองเชียงใหม่ หรือเกินกว่า ๕๐๐ ปี มาแล้ว แต่เราไม่อาจบอกได้ว่าเรียงร้อยด้วยท่าฟ้อนที่มีชื่อว่าอะไรบ้าง เกิดขึ้นในสมัยใด มีลีลาท่าทางอย่างไร เพราะไม่มีหลักฐานเหลือไว้ให้ศึกษาสืบค้นหารายละเอียดได้เลย แต่ก็พอจะสรุปวัตถุประสงค์ของการฟ้อนได้จากสาเหตุ ๒ ประการ คือ

ก . เพื่อใช้ประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อและศรัทธาต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย เริ่มจาก “ ผี “ ก่อน ได้แก่ ฟ้อนผีจากนั้นพัฒนาไปหา “ พุทธ “ ได้แก่ ฟ้อนแห่ครัวทาน ฟ้อนทานข้าวใหม่ฯ

•  เพื่อความสนุกสนานบันเทิงในกลุ่มของตน เช่นงานปีใหม่ ( สงกรานต์ ) งานขึ้นบ้านใหม่ งานบวชลูกแก้ว ฯลฯ

ทั้งนี้พอจะจำแนกการฟ้อนของล้านนาออกมาได้เป็น ๗ กระบวนฟ้อน ดังนี้

๑ . ฟ้อนแห่ครัวทาน ( อ่าน “ แหคัวตาน ”)

๒ . ฟ้อนผี

๓ . ฟ้อนหางนกยูง

๔ . ฟ้อนปั่นฝ้าย

๕ . ฟ้อนแง้น

๖ . ฟ้อนเชิง ( อ่าน “ ฟ้อนเจิง ”)

๗ . ฟ้อนดาบ

๘ . ฟ้อนหอก

๙ . ฟ้อนกลายลาย ( อ่าน ‘' ฟ้อนก๋ายลาย )

ฟ้อนที่ประดิษฐ์ในราชสำนัก

การฟ้อนแบบนี้หมายถึง การฟ้อนที่พระราชชายาเจ้าดารารัศมีทรงประดิษฐ์ขึ้น หรือการฟ้อนที่ผู้ใกล้ชิดกับพระราชชายาฯ ได้ประดิษฐ์ ซึ่งพบว่ามี ๙ กระบวนฟ้อน คือ ๑ . ฟ้อนเล็บ - ฟ้อนแห่ครัวทาน

๒ . ฟ้อนเทียน

๓ . ฟ้อนเงี้ยว ( แบบในวัง )

๔ . ฟ้อนล่องน่าน ( น้อยไชยา )

๕ . ฟ้อนกำเบ้อ

๖ . ฟ้อนม่านมุ้ยเชียงตา

๗ . ฟ้อนมูเซอ

๘ . ฟ้อนโยคถวายไฟ

๙ . ฟ้อนสาวไหม

๓ . ฟ้อนเงี้ยว

ฟ้อนเงี้ยวหมายถึงการฟ้อนแบบไทใหญ๋ พบว่าอยู่ ๖ อย่าง คือ

๑ . ฟ้อนเงี้ยว

๒ . ฟ้อนไท ( ฟ้อนไต )

๓ . ฟ้อนโต

๔ . ฟ้อนนก หรือ ฟ้อนกิงกะหร่า

๕ . ก้าลาย

๖ . ก้าไท ( ก้าไต )

๔ . ฟ้อนที่ประดิษฐ์ขึ้นในระยะหลัง

เมื่อศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นเริ่มเป็นที่สนใจของคนทั่วไปแล้ว ก็ได้มีผู้ประดิษฐ์การฟ้อนรำขึ้นอีกหมายแบบ เช่น ฟ้อนหริภุญชัย ฟ้อนที ( ฟ้อนร่ม ) ฟ้อนพัด ฟ้อนเก็บใบยาสูบ ฟ้อนยอง ฟ้อนศิลามณี ฯลฯ เป็นต้น ในจำนวนฟ้อนที่ประดิษฐ์ใหม่ซึ่งเป็นที่ยอมรับพอสมควร เช่น

๑ . ฟ้อนหริภุญชัย

๒ . ฟ้อนยอง

ในที่นี้จะกล่าวถึงการฟ้อนแต่ละอย่างพอให้ป็นที่รู้จักตามหัวเรื่องโดยลำดับ


  • ฟ้อนกำเบ้อ ( ฟ้อนผีเสื้อหรือฟ้อนม่านมุ้ยเชียงตา )

เป็นกระบวนฟ้อนที่เกิดขึ้นจากพระดำริของพระราชชายาฯโดยการจ้างนักแสดงชาวพม่าและ มอญมาสอนให้ ชาวพม่าที่มาสอนให้เป็นชาย ส่วนนักแสดงชาวมอญเป็นหญิงชื่อเม้ยเจ่งต่าการถ่ายทอดแต่ละครั้งพระราชชายาฯ จะเสด็จมาควบคุมอย่างใกล้ชิด ทรงเห็นว่าท่ารำของผู้ชายไม่น่าดูนัก จึงรับสั่งให้ครูผู้หญิงแสดงท่ารำของระบำม่าที่คยแสดงในที่รโหฐานของ กษัตริย์พม่าให้ทอดพระเนตร ครั้นได้ชมก็พอพระทัยจึงได้ทรงดัดแปลงร่วมกับครูฟ้อนในวัง กลายเป็นระบำหรือฟ้อนชุดใหม่ทรงให้ผู้ฟ้อนทั้งหมดแต่งกายเป็น “ กำเบ้อ “ ซึ่งตรงกับคำในภาคกลางว่า “ ผีเสื้อ ” แสดงครั้งแรกในงานฉลองตำหนักของพระองค์ ที่สร้างขึ้นใหม่บนดอยสุเทพ ใช้วงปี่พาทย์ผสมพิเศษบรรเลงประกอบการฟ้อน

เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเลียบมณฑลพายัพและเสด็จมาเสวยพระกระยาหารค่ำ พระราชชายาฯจึงจัดฟ้อนชุดนี้แสดงให้ทอดพระเนตร แต่ทรงเปลี่ยนเครื่องแต่งกายจากชุดผีเสี้อมาเป็นชุดระบำในรโหฐานตามคำบอก เล่าเดิมผสมกับภาพในหนังสือเรื่องพระเจ้าสีป้อ ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ เป็นแบบอย่าง ฟ้อนกำเบ้อ หรือระบำผีเสื้อ “ ฟ้อนม่านมุ้ยเชียงตา ” เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๖๙

หลังปีพุทธศักราช ๒๔๖๙ มีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องการแต่งตัวของผู้ฟ้อนเกิดขึ้น ทำให้กลายเป็น ๒ แบบ กล่าวคือ

แบบ ที่ ๑ ผู้แสดงทั้งหมดเป็นสตรีล้วน จำนวนประมาณ๑๐ – ๑๖ คน แต่งกายแบบพม่าคือ นุ่งผ้าถุงแบบพม่ายาวกรอมเท้า สวมเสื้อสั้นแค่เอวมีขอบลวดอ่อนให้ชายงอนขึ้นไปจากเอวเล็กน้อย มีผ้าแพรสีต่างๆ คล้องคอชายผ้ายาวลงมาถึงระดับเข่า เกล้าผมมวยไว้กลางศรีษะและปล่อยชายผมลงข้างแก้ม มีดอกไม้สดประดับมวยผมและมีอุบะห้อยลงมากับชายผม

แบบที่ ๒ ผู้แสดงแต่งกายเป็นชายพม่าแถวหนึ่ง สตรีพม่าแถวหนึ่ง ทั้ง ๆ ที่มีบันทึกแสดงไว้เป็นหลักฐานชัดแจ้งว่า …. ในงานฉลองกู่ ( สถูป ) ที่ทรงสร้างขึ้นใหม่ ( เพื่อบรรจุอัฐพระญาติที่กระจัดกระจายอยู่ในสถานที่ต่าง ๆ มารวมไว้เป็นแห่งเดียวกัน ) หม่อมแส หัวหน้าครูฝึกได้ทูลถามว่า ฟ้อนม่านมุ้ยเชียงตานี้จะใช้การแต่งกายเป็นชายแถวหนึ่ง หญิงแถวหนึ่งจะสมควรไหม ทรงรับสั่งตอบว่า …. เราซ้อมโดยใช้แบบอย่างระบำในที่รโหฐานของเขา ก็ต้องรักษาระเบียบประเพณีของเขาไว้ระบำชุดนี้ต้องใช้หญิงล้วนตามธรรมเนียม หากว่าท่ารำซ้ำกันจะตัดออกเสียบ้างก็ดีจะได้ไม่เบื่อตา การรักษาประเพณีเดิมเป็นเรื่องสำคัญมาก ถ้าอยากจะใช้การแต่งกายเป็นพม่าชายบ้างก็ดัดแปลงม่านเม่เล้เป็นชายแถวหนึ่ง หญิงแถวหนึ่งได้

สำหรับผู้ร่วมประดิษฐ์ดัดแปลงท่ารำของพม่ามาเป็นของเชียงใหม่นั้น เป็นแม่ครูในวังพระราชชายาฯ และในคุ้มเจ้าหลวงเชียงใหม่ ได้แก่ แม่ครูจาด หม่อมแส หม่อมพัน หม่อมดำฯ
ดนตรีบรรเลงประกอบการฟ้อน

ใช้วงปี่พาทย์ไม้แข็งบรรเลงประกอบการฟ้อน เพลงที่ใช้บรรเลงมีสำเนียงพม่าจึงเรียกกันว่า “ เพลงม่าน “ แต่คนไทยที่ไปได้ยินคนพม่าบรรเลงเพลงนี้ในพม่า บอกว่าชาวพม่าเรียกเพลงนี้ว่า “ เพลงโยเดีย ” ( ไทยอยุธยา ) และไม่สามารถสืบหาความเป็นมาของเพลงได้

ทำนองเพลงม่านดังกล่าวอาจารย์มนตรี ตราโมท ได้วิจารณ์ไว้ในบทความเรื่อง “ ฟ้อนม่านมุ้ยเชียงตา ‘' ในวารสารศิลปากร ฉบับที่ ๑ปีที่ ๒ ( มิถุนายน ) ๒๔๙๑หน้า ๒๗ กล่าวว่า

‘' ทำนองเพลงที่บรรเลงประกอบฟ้อนม่านมุ้ยเชียงตา ถ้าถอดออกมาพิจารณาทีละประโยค ๆ จะเห็นว่า เพลงต้นจะมีทำนองของไทยภาคกลางผสมอยู่มาก แต่จะมีสำเนียงแบบพม่าส่วนเพลงที่สองจะมีสำเนียงเพลงแบบไทยเหนือคือ ‘' เพลงล่องน่าน ‘' เป็นพื้น ส่วนเพลงถัดๆไปก็มีทั้งทำนองไทยภาคกลาง ไทยเหนือ พม่า และมอญ ผสมผสานกันไป ‘'
คำร้อง

คำร้องของเพลงประกอบฟ้อนม่านมุ้ยเชียงตาเป็นสำเนียงภาษาพม่า แต่ชาวพม่าบอกว่าไม่ใช่ภาษาพม่า มอญก็บอกว่าไม่ใช่ภาษามอญ สันนิษฐานกันว่าเดิมคงเป็นภาษาพม่าแต่การรับช่วงสืบต่อกันมาหลายทอด จึงทำให้เกิดอักขระวิบัติกลายรูปจนเจ้าของภาษาเดิมฟังไม่เข้าใจ เนื้อร้องมีดังนี้

ล้ายูเมตาเมี้ย สู่เค สู่เค สุ่เค

ล้าโอลาซินเย้ ขิ่น ขิ่น เลบาโล๊ะ

ซูเพาดูหู กระตกกระแตบาโล๊ะ เวลายูหูโอเมลา

ซอยตองปู ปู่เลเลเส โอมะเพ่ เฮ เฮ เฮ เฮ่มิสตามาตาบ่าเล๊

ดีเมาเซท แดละแม่กวา ดีเมาเซท แดละแม่กวา

แม่วพีลา กันทาซองซวยไล โอดีแลแมแวตอย

ยี่ยอมไม ส่านค้านกวาแดะ ปู่เลเส โอนิสันเลเพ่

ปุ่เลเส เซนิเก เพมาเพ

ตี่ตาแมวเย เจ้าพีละซิ กระแตเตียวโว คานุชานุเว

แด่เวลา ยี่หงี่แง้ หย่าสา ยี่หงี่แง้ หย่าสา

ลีล่าท่ารำของกินนรและกอนรีที่แสดงออกมานั้น จะเลียนแบบพฤติกรรมของนก เช่น ขยับปีกขยับหาง ท่าบิน ท่ากระโดดโลดเต้น เป็นต้น ส่วนจังหวะในการฟ้อน และความสัมพันธ์ต่อเนื่องของท่วงท่านั้นขึ้นอยู่กับจังหวะกลองและความคล่อง ตัวของผู้ฟ้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าผู้ฟ้อนมีความสามารถด้านฟ้อนเชิงเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว จะทำให้ ก้ากิงกะหร่า มีลีลาที่สวยงาม มีลูกเล่นลูกล่อ ดูแล้วสนุกสนานยิ่งขึ้น

การรำนกนี้ บางครั้งก็ใช้รำเพียงคนเดียว นิยมแต่งเป็นกินรี ในขณะดียวกันรูปแบบการแต่งกายก็เปลี่ยนแปรไปตามสภาพสังคมและเศรษฐกิจอย่าง ไม่หยุดยั้ง จนไม่อาจระบุให้แน่ชัดลงไปได้ว่ามีอะไรบ้างและรูปแบบที่เคยเป็นมาแต่เดิม เป็นอย่างไร แต่ที่ยังรักษาไว้อย่างดี คือศิลปะในการทำ ‘' หาง ‘' ซึ่งสามารถกางขยายแผ่ออกไปอย่างคล่องแคล่วรวดเร็วและสามารถหุบลงเหมือนเดิม ได้อย่างรวดเร็วเช่นเดียวกัน ปัจจุบันมีการพัฒนาส่วนหางออกไปเพื่อให้สะดวกรวดเร็วและประหยัดคือทำด้วยไม้ ไผ่ผูกเป็นโครงสำเร็จรูป แผ่กาง หรือหุบไม่ได้ ไม่ต้องมีเข็มขัดใช้เชือกผูก ส่วนที่เป็นวงกลมแทนเข็มขัดเอาไว้ตรงกลางวงทั้งสองข้าง แล้วให้คนรำเข้าไปยืนในวง จากนั้นผู้ร่วมงานจะช่วยกันยกขึ้นแล้วเอาเชือกที่ผูกโครงหางที่กางอยู่แล้ว คล้องคอคนแสดง

เครื่องดนตรีบรรเลงประกอบการฟ้อน

๑ . กลองก้นยาว ๑ ลูก

๒ . มอง ( ฆ้อง ) ๔ - ๕ ใบ ( ซึ่งมักจะเป็นฆ้องราว )

๓ . แส่ง ( ฉาบ ) ๑ คู่

การตีกลองประกอบการ ‘' ก้านก ‘' จะมีลักษณะสัมพันธ์กับการ ‘' ก้า ‘' หรือฟ้อน เช่น เมื่อนกบินก็จะตีกลองเป็นทำนองหนึ่ง เมื่อเปลี่ยนท่าเป็นกระโดดโลดเต้น กลองจะเปลี่ยนจังหวะและทำนองการตีไปเป็นอีกทำนองหนึ่ง เป็นต้น

นอกจากการฟ้อนกิงกะหร่านี้แล้ว ยังมีการรำลักษณะนี้อีกแบบหนึ่งมีชื่อว่า
‘' กำเบ้อคง ‘' แปลเป็นภาษาภาคกลางว่ารผีเสื้อ (‘' กำเบ้อ '' แปลว่า ผีเสื้อ ‘' คง ‘' หมายถึงแม่น้ำสาละวิน ) ผู้แสดงชุดนี้จะแต่งกายแตกต่างกับรำนกกิงกะหร่า คือ แต่งกายด้วยเสื้อลายดอก มีสีสันแพรวพราว นุ่งกางเกงขาสามส่วนลายเดียวกับเสื้อ นิยมทำปลาบขาเป็นจีบ ( ขาตะเกียบ ) ศรีษะเกล้ามวยประดับดอกไม้ ใช้ผ้าดอกทำปีกมีห่วงสวมไว้ที่นิ้วก้อยทั้งสอง เวลาร่ายรำเท่าที่มี จะเป็นวงมองเซิง วงกลองก้นยาว ก็ได้ไม่บังคับทำนองหรือจังหวะ การร่ายรำขึ้นอยู่กับความรู้ความสามารถของผู้แสดงซึ่งแตกต่างกันไป


  • ฟ้อนเงี้ยว

ฟ้อนเงี้ยว เป็นการแสดงออกด้วยกิริยาท่าทางอันเป็นธรรมชาติของชาวเงี้ยวหรือไทใหญ่ ผู้แสดงออกมีความตั้งใจเป็นพิเศษ พิถีพิถันกว่าที่เคยทำเพราะมีวัตถุประสงค์ที่พิเศษกว่าปกติคือประกอบ พิธีกรรมบ้าง เป็นพุทธบูชาบ้าง หรือแสดงปมเด่นของตนเองบ้าง

การฟ้อนเงี้ยวหรือฟ้อนแบบชาวไทใหญ่นี้ไม่มีรูปแบบใด ๆ ทั้งสิ้น แต่ละกลุ่มแม้จะเป็นชนในหมู่บ้านเดียวกันก็ไม่เหมือนกัน เพราะดุพฤติกรรมนั้นเกิดจากภูมิปัญญาของแตะละบุคคล ที่เกิดเป็นรูปแบบมาตรฐาน ในปัจจุบันนี้นั้นก็ไม่สามารถจะยึดถือเป็นหลักฐานทางวิชาการได้ เพราะยังมีความแตกต่างกันอยู่อย่างชัดเจน เช่น ฟ้อนเงี้ยวของวิทยาลัยนาฎศิลป์เชียงใหม่ซึ่งฟ้อนตามแบบฉบับของพระราชชายา เจ้าดารารัศมีฯ แต่ฟ้อนเงี้ยวของวิทยาลัยนาฎศิลป์กรุงเทพมหานคร ที่ใช้แสดงและถ่ายทอดให้ครูผู้เข้ารับการฝึกอบรมเพื่อใช้เลื่อนวิทยฐานะฯ ซึ่งคุณครูละมุล ยมะคุปต์ เป็นผู้ประดิษฐ์ขึ้น ก็แตกต่างกันทั้งคำร้อง ท่ารำและขั้นตอนการแสดง

สำหรับฟ้อนเงี้ยว ของชาวไทใหญ่นั้น สามารถแยกออกมาเป็น ๒ กลุ่ม ได้ดังต่อไปนี้

กลุ่มที่ ๑ เป็นชายล้วน มีเครื่องดนตรีประกอบ ๓ ชนิดได้แก่ กลองก้นยาว ฆ้อง ฉาบ คนที่ตีเครื่องดนตรีเหล่านั้นจะร้องออกมาทีละคน ขณะร้องก็แสดงท่าทางออกมาด้วยท่าทางที่แสดงออกมานั้นมักเป็นท่าตลกคะนอง แม้คำร้องบางครั้งก็ใช้ถ้อยทำตลกคะนองบ้าง เกี้ยวสาวที่มาชมบ้าง สลับกันไป ร้องจบความท่อนหนึ่ง นักดนตรีคนอื่น ๆ ก็ตีฆ้อง กลอง ฉาบ รับพร้อม ๆ กัน เป็นเช่นนี้ตลอดไป จนยุติการแสดง

กลุ่มที่ ๒ มีทั้งชายและหญิง มีเครื่องดนตรีประกอบ ๓ ชนิดเหมือนกัน แต่เปลี่ยนจากกลองก้นยาว เป็นกลองหน้าตัด ๒ หน้า เรียกว่า กลองมองเชิง ตี ( บรรเลง ) แทน แต่เปลี่ยนกลวิธีการแสดงเป็นร้องเกี้ยวกัน โดยฝ่ายชายเป็นผู้เริ่มก่อน พอจบท่อนดนตรีบรรเลงรับ ทั้งสองฝ่ายก็ฟ้อนร่วมกันเป็นคู่หรือเป็นหมู่ก็ได้ พอดนตรีจบท่อน ฝ่ายหญิงก็เริ่มร้องตอบโต้ พอจบความดนตรีก็บรรเลงรับ สลับต่อเนื่องกันไปทีละคู่ ทีละคน จนพอใจก็ยุติการแสดง

การฟ้อนเงี้ยวแบบนี้ไม่คำนึงถึงการแต่งกาย เพราะนิยมแสดงในเวลาเกี่ยวข้าวหรือเวลาทำกิจกรรมร่วมกัน ยังมีเหลือให้ได้ชมกันอยู่ในยุคปัจจุบันบ้างในบริเวณอำเภอเชียงดาวรอบนอก จังหวัดเชียงใหม่
ฟ้อนเงี้ยวแบบในวัง ในคุ้ม

เป็นการประดิษฐ์ กระบวนฟ้อนและท่าฟ้อนขึ้นใหม่ โดยพระราชดำริของพระราชชายาเจ้าดารารัศมีฯ ทรงมอบหมายให้แม่ครูหลง บุญชูหลง ร่วมกับแม่ครูหลายท่านในวังฯ ร่วมกับคิด ครูรอด อักษรทับ เป็นผู้ประดิษฐ์ทำนองเพลงทีใช้ร้องประกอบฟ้อน ความว่า ….

เขี้ยวลายสันถง สมเนอ ปี้บ่หย่อน เมียงนาง น้องโลม ยาลำต้ม ตวยสู ปี้เมา หล่า

อะโหลโลโล ไปเมืองโก ตวยพี่เงี้ยว หนตางคดเลี้ยว ข้าน้อยจะเหลียวถาม หนทางเส้นนี้ เปนถนนเมืองพาน เฮย พ่อเฮย ผ้าสีปูเลย พาดเกิ่งตุ๊มเกิ่ง

เสเลเมา บ่าเดี้ยวเปิ๊กเซิ๊ก ข้ามน้ำเล๊ก บ่ได้ขอดสายถง หนามเก็ดเก็า มาจ่องขนแมวพง ปอต๋าวันลง เจ้นจะแผวต๋าผั่ง

เสเลเมา บ๋าเดี๋ยวป๊อกซ็อก เล่นพ้ายป๊อก เสตึงลูก ตึงหลาน เล่นไปแหมน้อย จะเสตึงปิ่นตึงลาน เหนาะ ปี้เหนาะขี่เฮือเหาะ ขึ้นบนอากาศ

อะโหลโลโล ส้มบ่โอจิน้ำพริก เหน็บดอกปิ๊กซิก แป๋งต๋าเหลือกต่าแล ไปตางปุ๊นตี้ประตู๋ต้าต้าแป งามนักแก อะโหลโลโล แม่ฮ้างแม่หม้าย

ฟ้อนเงี้ยวแบบราชสำนักนี้ ใช้ผู้หญิงแสดง นิยมแสดงเป็นชุด ๆละ ๘ คน นิยมแต่งกายเป็น ๒ แบบ

แบบที่ ๑ แต่งเป็นแบบไต ( ไทใหญ่ ) นุ่งกางเกงเป้ากว้าง ขายาวครึ่งแข้ง สวมเสื้อคอกลมแขนกระบอก ผ่าอก ผูกเชือกแบบไต สีน้ำเงิน มีผ้าสีชมพูโพกศรีษะ มีเครื่องประดับ เช่น กำไลข้อมือ ข้อเท้า ฯ

แบบที่ ๒ แต่งแบบม่าน ( พม่า ) ตาหมากรุกแบบลอยชาย หรือโจงกระเบน เสื้อคอกลมแขนกระบอก หรือเสื้อปัด โพกศรีษะ อาจสวมเครื่องประดับได้ตามใจชอบ

ท่ารำมีทั้งการรำตีบท การรำเข้ากับจังหวะเพลง มีทั้งท่ารำที่สนุกสนานและท่ารำที่ตรงกับคำร้อง ระหว่างที่วงดนตรีบรรเลงรับ ( คำ ) มีการแปรรูปด้วยท่าฟ้อนด้วยลีลาทั้งที่เป็นพื้นบ้านและราชสำนัก

วงดนตรีที่ใช้ประกอบ การแสดง มีทั้งวงกลองเต่งถิ้งหรือวงพาทย์ค้อง ( อ่าน ‘' ป๊าดก๊อง '') และวงปี่พาทย์ภาคกลางอาจใช้วงกลองมองเซิงประสมด้วย เพลงที่ใช้ประ

อบคำร้องและการฟ้อน มีหลายทำนอง เช่น ทำนองพม่า ทำนองซอเงี้ยว

กระบวนการฟ้อนเงี้ยว แบบราชสำนักของเชียงใหม่นี้ ได้รับการอนุรักษ์ไว้โดยวิทยาลัยนาฎศิลป์เชียงใหม่และได้ถูกพัฒนาไปอีกขั้น หนึ่งกลายเป็นฟ้อนเงี้ยวของภาคกลาง โดยคุณครูลมุล ยมะคุปต์ ใช้อบรมครู พ . ม . มานานเป็นทศวรรษ มีเนื้อร้องว่า ….

ขออวยชัยพทธิไกรช่วยค้ำ ทรงคุณเลิศล้ำไปทุกทั่วตัวตน

จงได้รับสรรพมิ่งมงคล นา ท่านนา

ขอเทวาช่วยรักษาเถอะ ขอหื้ออยู่สุขา โดยธรรมมานุภาพเจ้า

เทพดาช่วยเฮา ถือเป็นมิ่งมงคล
มง แซะมง แซะ แซะมง ตะลุ่มตุ้ม มง


  • ฟ้อนแง้น

การฟ้อนแง้ เป็นการฟ้อนแบบดั้งเดิมอย่างหนึ่งของช่างซอชาย หญิง ในเขตจังหวัดน่าน แพร่และอาณาบริเวณใกล้เคียง ดนตรีที่ใช้บรรเลงประกอบการฟ้อนได้แก่ สะล้อ ซึง ชุดที่ใช้ประกอบกับการขับซอแบบเมืองน่าน เป็นการฟ้อนในช่วงพักในระหว่างการซอ หรือการขับเพลงปฏิพากย์โต้กันของช่างซอคือนักขับชายและหญิง

การฟ้อนแง้นนี้ มักให้ช่างซอหญิงฟ้อน โดยฟ้อนไปตามจังหวะและทำนองเพลง เริ่มจากยืนฟ้อนเป็นเส้นตรงก่อนแล้วค่อย ๆ หงายลำตัวไปทางด้านหลังจนศรีษะจนถึงพื้นเวทีคล้ายการหงายหลังหกกลับของตัว วานรในโขน หรือการเล่นกายกรรม ผู้ชมนิยมเอาธนบัตร บุหรี่ หรือผ้าเช็ดหน้า วางไว้ที่พื้นเวทีเพื่อให้ช่างซอหญิงฟ้อนแล้วอ่อนตัวลงไปคาบสิ่งของเหล่า นั้น

การแต่งกายภายในการฟ้อนแง้นนี้ก็ไม่มีรูปแบบหรือกฎเกณฑ์ใด ๆ คงใช้เครื่องแต่งกายชุดเดียวกับที่แต่งมาซ่อนั่นเอง

วัตถุประสงค์ของการมีฟ้อนแง้นประกอบการซอ น่าจะเกิดจากเหตุผลบางประการ เช่น

๑ . สร้างความหลากหลายทางสุนทรียรสให้แก่ผู้ชม

๒ . ยืดเวลาออกไป เพื่อให้เหน็ดเหนื่อยน้อยลงเพราะฟ้อนเหนื่อยน้อยกว่าซอ ( ร้อง )

๓ . มีผลพลอยได้เพิ่มขึ้น

๔ . สร้างความนิยมให้กับคณะของตนมากขึ้น


  • ฟ้อนเชิง

ฟ้อนเชิงเป็นการร่ายรำตามกระบวนท่าตามแบบแผนที่แสดงออกถึงศิลปะในการต่อสู้ของชาย ซึ่งท่ารำนั้นมีทั้งท่าหลักและท่าที่ผู้รำแต่ละคนจะใช้ความสามารถเฉพาะตัว พลิกแพลงให้ดูสวยงาม ในระยะแรก ฟ้อนเเชิง หมายรวมเอาทั้งการฟ้อนประกอบอาวุธและไม่มีอาวุธโดยเรียกลักษณะการฟ้อนตาม นั้นคือ

ใช้ไม้ค้อนหรือไม้พลองประกอบการรำ เรียกว่า ฟ้อนเชิงไม้ค้อน

ใช้หอกประกอบการร่ายรำ เรียกว่า ฟ้อนเชิงหอก

ใช้ลา คือดาบสั้ประกอบการร่ายรำ เรียกว่า ฟ้อนเชิงลา

ร่ายรำด้วยมือเปล่า เรียกว่า ฟ้อนเชิงมือ

ต่อมาคำว่าเชิง ในการฟ้อนประกอบอาวุธต่างๆ ได้กร่อนหายไป และเรียกการฟ้อนเชิงประกอบอาวุธต่าง ๆ ตามชื่อของอาวุธนั้น ๆ เช่น ฟ้อนไม้ค้อน ฟ้อนหอก ฟ้อนดาบ ฟ้อนลาและเรียกการร่ายรำในลีลาการต่อสู้ด้วยมือเปล่านี้ว่า ฟ้อนเชิง

การฟ้อนเชิงประกอบอาวุธบางประเภทนั้น ในระยะหลังไม่ค่อยได้รับความนิยม เช่น ฟ้อนเชิงไม้ค้อน และฟ้อนเชิงหอกแต่อาจพบอยู่บ้างในการพิธีฟ้อนผี ส่วนการฟ้อนเชิงลานั้นไม่ปรากฎว่ามีการฟ้อนให้เห็น ส่วนการฟ้อนเชิงดาบนั้นได้รับความนิยมมาก ทั้งในการแสดงประกอบในการตีกลองอย่างในขบวนแห่ครัวทานเข้าวัด และเป็นที่นิยมมากในการแสดงเชิงศิลปวัฒนธรรมบนเวที สำหรับการ ฟ้อนเชิงมือ หรือฟ้อนเชิงนั้น จะมีลูกเล่นได้มากกว่าการฟ้อนประอบอาวุธเพราะคล่องตัวมากกว่าที่จะต้องแสดง การรำอาวุธควบคู่กับการฟ้อน

การฟ้อนเชิงนี้ มักดำเนินร่วมกับตบบ่าผาบ หรือตบขนาบ คือการตบไปยังส่วนต่าง ๆของร่างกายเพื่อให้เกิดเสียงดัง การฟ้อนเชิงหรือฟ้อนรำแสดงลีลาประกอบกับการตบไปตามร่างกายดังกล่าวมักเรียก รวมกันว่า ตบบ่าผาบ หรือตบขนาบ คือการตบไปยังส่วนต่าง ๆของร่างกายเพื่อให้เกิดเสียงการฟ้อนเชิงหรือฟ้อนรำแสดงลีลาประกอบกับการตบ ไปตามร่างกายดังกล่าวมักเรียกรวมกันว่า ตบบ่าผาบฟ้อนเชิง และมักเป็นการเริ่มต้นก่อนที่จะมีการฟ้อนอาวุธ หรือกิจกรรมอื่นที่คล้ายคลึงกัน

การฟ้อนเชิงที่จะนำเสนอต่อไปนี้จะขอกล่าวเฉพาะการฟ้อนเชิงมือ ที่เรียกว่าฟ้อนเชิง ส่วนการฟ้อนเชิงประกอบอาวุธนั้น จะได้แยกกล่าวถึงในส่วนอื่น

การเรียนฟ้อนเชิงนั้น ผู้เรียนต้องหามื้อจันวันดี ( อ่าน ‘' มื้อจั๋นวันดี ‘') คือวันที่เป็นอุดมฤกษ์ ไปขอเรียนกับครูที่มีความสามารถ โดยต้องมีการขึ้นขันหรือการจัดเครื่องคารวะคือ กรวยดอกไม้ธูปเทียน พลู หมาก ข้าวเปลือก ข้าวสาร สุรา ผ้าขาว ผ้าแดง กล้วย อ้อย มะพร้าว และค่าครูตามกำหนด บางท่านอาจเสี่ยงทายโดยให้ผู้จะสมัครเป็นศิษย์นำไก่ไปคนละตัวครูชิงคือผู้ สอนฟ้อนเชิงจะขีดวงกลมที่ลานบ้านแล้วชือดคอไก่และโยนลงในวงนั้น หากไก่ของผู้ใดตายอยู่ในวงแล้วก็ถือว่าจะได้เป็นผู้รับการถ่ายทอดได้ แต่หากไก่ของผู้ใดดิ้นออกไปตายนอกเขตวงกลม ก็ถือว่าผีครูไม่อนุญาตให้เรียน และหากเรียนจนสำเร็จแล้ว ครูเชิงอนุญาตให้นำวิชาไปใช้ได้เรียกว่าปลดขันตั้ง โดยทำพิธียกขันตั้งคือพานเครื่องสักการะจากหิ้งผูครูแจกธูปเทียนดอกไม้จากใน พานให้แก่ศิษย์

การฝึกฟ้อนเชิงจะเริ่มจาการหัดย่างให้มีกระบวนท่าเสียก่อน โดยฝึกย่างไปตามขุนเชิงาคือตำแหน่งที่กำหนดซึ่งมักจะปักไม้ ฝังก้อนอิฐหรือหิน ไว้ตามตำแหน่งที่ถูกต้อง การย่างจะต้องไปตามขุมทั้งในจังกวะรับและหนี พร้อมนั้นจะต้องวาดมือออกไปไม่ว่าจะถืออาวุธหรือไม่ก็ตามให้สัทพันธ์กับเท้า ที่ก้าวอยู่ให้สมดุลและเพื่อความสวยงาม

ขุนสำหรับการหัดย่างหรือเดินของครูแต่ละสำนักนั้นมีจำนวนต่างกันไป นับตั้งแต่ ๓ ถึง ๓๒ ขุม เช่น

ขุมสิบอง ขุมสิบหก ขุมสิบเจ็ด

การต่อสู้ที่ใช้ดาบ ไม้พลอง หรือมือเปล่า จะต้องเดินตามขุมแต่ละชนิด ซึ่งก็อาจมรการพลิกแพลงตามความเหมาะสมการที่เดินตามขุม หรือวาดมือตามแม่ลายหลักนั้น ถือว่าเป็น ‘' แม่ไม้ '' และผู้ฟ้อนอาจเดิม ‘' ลูกเล่น ‘' ได้ตามที่เห็นว่าเหมาะสมหรือตามบุคลิกของตนนั้น ถือได้ว่าเป็น ‘' ลูกไม้ ‘'

สำหรับแม่ลายฟ้อนเชิงสาวไหมของพ่อครูกุยและพ่อครูคำสุข มีดังนี้

‘'… สางฟ้อน ยกขาซ้ายเข้าจิ ควักตาตีนซ้าย หงายอ้งทั่งออก ตบมือตบขนาบ กำสามติดหน้าผาก ติดก้อยลวาดตีนผมปัดสันขาไว้แอว หย่อนซ้ายลงทืบพืด ตบมืออุ่มออก ตีนขวาย่ำเข้าไป ผายมือหื้อจอด ตบมือนอกอุ่มอก ยกขาซ้ายผัดไสเข้าตาศอก แป็บขาซ้ายย่ำลง ปัดสันขาไว้แอว ตบพืดผายมือขึ้นทวยกันจื้ด ๆ ฝวใ

. ตบมืออุ่มอก ตีตาตีนซ้ายย่ำออกไปเหลียวซ้ายยกขาขาวไล่สันขาตาตีน ตบมือฮูดเข้าศอก ตีสันขาซ้ายแป็บๆ กำสามติดหน้าผาก ติดก้อยลวาดตีนผม ปัดสันขาไว้แอว หย้อตัวนั่งลง เอาซ้ายเกิ้งหน้าเอาขวาไว้แอว ลุกเข้าคว่างหย่อนซ้ายลงผายมือขึ้นทวยหากันจื้ด ๆ ยอเทะ ตบมือไล่ศอก ตบมือตบขนาบ สันขาตาตีน ตบมือฮูดย่ำเข้าไป ผายมือไปหื้อจอด ตบมือออก อุ่มอก เหลียว ยกขาซ้าย ไสมือตบขนาบหนี เหลียวขวาปักง่อน ย่ำเข้าไปในข่วง ยกซ้ายเข้าจิ เทียวออกไป เหลียว ยกซ้ายบิดบัวบานหน้าต่างฉีก ยกขาขงวายันออก ขกขาซ้าย ยันออกซ้าย ยกขาขาว ในอ้งออกหลัง ยันออกทั่งซ้าย ตีนตาตีนขวาผ็อกเข้าในข่วงเปิก็กะเดิก็ ตีตาตีนขวาทืบพืด เข้าแม่มะกอก เหลียวขวาปักท้อง ซ้ายปกง่อนหลั่งมือติดกัน ผี อ้งทวยอ้ง …''

แม่ลายฟ้อนดังกล่าวนี้ พบว่ามีการประยุกต์ใช้ตามความชำนาญเฉพาะตน และยังใช้ในการฟ้อนที่ประดิษฐ์ใหม่ในภายหลังด้วย

และลีลาการฟ้อนเชิงของแต่ละสำนักก็มีลวดลายต่างกันออกไป แต่ก็ให้อรรถรสที่เร้าใจในลีลาท่วงท่าในการต่อสู้ไม่ยิ่งหย่อนกัน ดังจะเห็นได้จากลีลาของ ‘' พ่อครูเชิง ‘' ท่านหนึ่ง ชื่อ คำปวน คำมาแดง ( เสียชีวิตแล้ว ) ได้บญญัติท่าฟ้อนเชิงของท่านไว้ว่า

‘' ตีนซ้ายเข้าจิ กยุด ลางซ้าย ควัดตาตีนซ้าย หงายอ้ง ทั่งออก ตบมือตบขนาบ ตีมะผาบวิดขึ้นฟ้อน ยกขาขวาสันขาตาตีน ตบมือฮูดเข้าหาตาศอก ขาซ้ายไปแป็บ ปัดสันขาไว้แอว ไส ผายมือขึ้นชืดชืด ทืบตีนลง ควักบนตบบน ตบมือตบมะผาบวิดขึ้นฟ้อน ซ้ายเข้าหาแอว ผายมือไปหื้อจอด ตบมือนอกอุ่มอก ซ้ายเกี้ยวกัน ตีเจหลังมือหล่อ เหลียว แป็บ ตาตีนซ้าย สางฟ้อนเขิง แทงมือไล่ศอก ยุ่มเอาตาศอกออกผ็อก ปลายมือ ค้อมขึ้นค้อมลง ซ้ายเข้าอกก่องขวา ขวาเข้าอกก่องซ้าย ยุ่มสามในอกขึ้นหน้าผาก นิ้วก้อยลวาดตีนผมซ้ายเข้าอกขวาปดเข้าง่อน ขวาเข้าอกซ้ายปดเข้าง่อน ยกขาขวาในอ้องนอกหลัง บิดบัวบานหน้าแค่ง ฉีก สาวไหม เข้าแม่บ่ากอก งมปลา ตีตาตีนขวาคว่างเข้าไป '' ซึ่งสนั่น ธรรมธิ ได้อธิบายท่าฟ้อนเชิงต่าง ๆ ดังกล่าว เรียงไปตามลำดับโดยสังเขป ดังนี้

ตีนซ้ายเข้าจิ หยุด ยื่นเท้าซ้ายไปข้างหน้าแตะพื้นแล้วหยุด ชักกลับ หยุดชั่วขณะ

สางซ้าย ยกเท้าซ้าย ผายมือซ้ายปลายเท้า

ควัดตาตีนซ้าย ตวัดข้อมือซ้ายบริเวณตาตุ่มเท้าซ้าย

หงายอ้งทั่งออก หงายมือซ้าย พุ่งปลายนิ้วออกไป

ตบมือ ตบมือทั้งด้านหน้าและด้านหลัง

ตบขนาบ มือทั้งสองตบหัวไหล่ในลักษณะไขว้กัน

ตีมะผาบ ตบมือหน้าหลัง ตบลอดใต้ขาทั้งสองให้มีเสียงดัง

วิดขึ้นฟ้อน กระโดดขึ้นแล้วฟ้อน

ยกขาขวา ยกขาขวาตั้งไว้ครู่หนึ่ง

สันขาตาตีน ตบที่หน้าขาด้านในด้วยหลังมือขวา ตบตาตุ่มเท้าขวาด้วยฝ่ามือ

ตบมือฮูดเข้าหาตาศอก ตบมือแล้วใช้มือขวาลูบแขนซ้ายมาถึงหัวไหล่ โน้นตัวพับศอกขวาตีที่ฝ่ามือซ้าย
ขาซ้ายไปแป็บ ยกขาซ้ายขึ้น ตบขาด้านในหรือด้านนอกด้วยหลังมือซ้าย
ปัดสันขาไว้แอว ปัดสันหน้าขาขวาด้วยหลังมือขวาแล้วพักมือไว้ที่สะเอว
ไส ย่องไปด้านหน้า ผลักมือซ้ายออกไป
ผายมือขึ้นชืดชืด หงายมือทั้งสองขึ้นฟ้อนสลับกัน
ทืบตีนลง กระทืบเท้าขวา
ควักบนตบบน ตวัดมือซ้ายและตบมือที่เหนือศรีษะ
ตบมือ ตบมือทั้งด้านหน้าและด้านหลัง
ตบมะผาบ ตบมือทางด้านหน้าและหลัง ตบมือลอดใต้ขาทั้งสองให้มีเสียงดัง
วิดขึ้นฟ้อน กระโดดขึ้นแล้วฟ้อน
ซ้ายเข้าหาแอว วาดมือซ้ายเข้าพักที่สะเอว
ผายมือไปหื้อจอด วาดมือขวาจากด้านหน้าไปซ้าย
ตบมืออกอุ่มอก ตบมือแล้วกุมที่อก
ซ้ายกี้ยวกัน ยกขาซ้ายไปด้านหน้าแล้วตวัดปลายเท้าไปด้านขวา
ตีเจ มือขวาตบหลังเท้าซ้าย ( เป็นท่าต่อเนื่องจาก ซ้ายเกี้ยวกัน )
หลังมือหล่อ หลังมือขวากระทบฝ่ามือซ้ายที่ยกรออยู่ด้านหน้า เป็นการต่อเนื่องจากท่าตีเจ
เหลียว เอี้ยวตัวด้านซ้าย เหลียวไปด้านหลัง
แป็บตาตีนซ้าย ยกเท้าซ้าย ตบที่ตาตุ่มซ้ายด้วยหลังมือซ้าย
สางฟ้อน ฟ้อนมือในท่วงท่าธรรมดา เดินวนเป็นวงกลม
เขิง กางมือซ้ายยกสูง มือขวาพักที่เอวแล้วย่องเดินวน
แทงมือไล่ศอก ยื่นมือทั้งสองไปด้านหน้าสลับกัน
ยุ่มเอาตาศอกออกผ็อกปลายมือ มือขวาขยุ้มใต้ศอกซ้ายแล้วรูดไปปลายมือซ้ายและทำท่าซัดฝุ่นไปทางปลายมือซ้าย
ค้อมขึ้นค้อมลง ฟ้อนมือแบบธรรมดา ทำอาการย่อตัวสูงต่ำสลับกันไปด้วย
ซ้ายเข้าอกก่องขวา จีบมือซ้ายที่บริเวณอก วาดมือขวาอ้อมศีรษะจากหน้าไปหลัง
ขวาเข้าอกก่องซ้าย จีบมือขวาที่บริเวณอก วาดมือขวาอ้อมศีรษะจากหน้าไปหลัง
ยุ่มสามในอกขึ้นหน้าผาก มือขวาขยุ้มบริเวณอกโดยใช้หัวแม่มือกับนิ้วชี้และนิ้วกลาง วาดขึ้นไปบริเวณหน้าผาก
นิ้วก้อยลวาดตีนผม วาดมือขวาผ่านขึ้นเหนือศีรษะโดยให้ปลายนิ้วก้อยเฉียดผ่านตีนผม
ซ้ายเข้าอกขวาปลดเข้าง่อน จีบมือซ้ายที่บริเวณอก วาดมือขวาขึ้นอ้อมศีรษะจากหลังไปหน้า
ขวาเข้าอกซ้ายปลดเข้าง่อน จีบมือขวาที่บริเวณอก วาดมือซ้ายขึ้นอ้อมศีรษะจากหลังไปหน้า
ยกขาขวาในอังนอกหลัง ยกขาขวาขึ้น ตวัดมือขวาเข้าออกบริเวณหน้าแข้งขวา
บิดบัวบ้านหน้าแต่ง ยกขาซ้ายแล้วทำท่าบิดบัวบานบริเวณหน้าแข้ง
ฉีก แยกมือทั้งสองที่บิดบัวบานออกจากกัน
สาวไหม ทำท่าคล้ายผูกเส้นด้ายบริเวณหัวแม่เท้าซ้ายที่ยกอยู่แล้วสาวออกมา
เข้าแม่บ่ากอก ก้าวเท้าขวา กำมือให้หัวแม่มือยื่นออกแล้ววนหัวแม่มือรอบก้นเป็นวงกลม
งมปลา ทำอาการเหมือนงมหาปลาในน้ำ
ตีตาตีนขวาคว่างเข้าไป ใช้หลังมือฟาดตาตุ่มเท้าขวาก้าวขวาไปพร้อมกับตวัดมือขวาเหมือนฉวยเอาวัตถุขว้างออกไปด้วย

การฟ้อนเชิงในสมัยก่อนนิยมฟ้อนกับกลองแซะหรือกลองแสะ ( อ่าน “ ก๋องแสะ ”) ซึ่งเป็นกลองขนาดใหญ่ ใช้ผู้ดีสองคน คนตีหลักใช้ค้อนส่วนคนตีด้านหลังใช้ไม้ไผ่เป็นกีบตีให้มีจังหวะรับกับการตี ด้วยไม้ค้อน มีฆ้องและฉาบเดินจังหวะค่อนข้างเร็ว ต่อมาใช้กลองสะบัดชัยชนิดมีลูกตุบประกอบฆ้องและฉาบและภายหลังใช้กลอง สิ้งหม้องหรือกลองยาว และท้ายสุดใช้กลองปู่เจ่คือกลองก้นยาวแบบไทใหญ่ แต่โดยสรุปแล้วจะใช้เครื่องดนตรีที่มีกลองเดินจังหวะเร็วเพื่อให้สอดคล้อง กับท่าฟ้อนที่ดำเนินไปอย่างคึกคัก


  • ฟ้อนดาบ

การใช้ดาบและอาวุธต่างๆ เป็นวิชาต่อสู้ป้องกันตัวเองชายชาวล้านนา เช่นเดียวกับชายฉกรรจ์ในทุกมุมโลก ซึ่งจะได้รับการฝึกฝนการใช้อาวุธเพื่อต่อสู้ศัตรูในยามสงคราม และในกลุ่มผู้ที่มีความชำนาญในการใช้อาวุธดังกล่าวก็อาจแสดงการเคลื่อนไหว ประกอบอาวุธเพื่อแสดงถึงความรี่นเริง เมื่อมีการแสดงมากครั้งขึ้นก็จะมีลีลาที่ดัดแปลงจากการเคลื่อนไหวประกอบ อาวุธ ให้เป็นกระบวนท่ารำประกอบอาวุธ และเรียกผู้รำประกอบอาวุธดังกล่าวว่า ช่างฟ้อนหอก หรือ ช่างฟ้อนดาบ ตามชื่ออาวุธที่ใช้ในตำนานสิงหนวัติ ( ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 6) กล่าวว่า

“… พระเจ้าสามฝั่งแกน ได้ให้เจ้าขุนแสงผู้หลานไปตีเมืองยอง ซึ่งถูกพวกฮ่อยึดครองไว้ เมื่อขุนแสงขับไล่พวกฮ่อออกไปแล้วก็รั้งให้พระยายองให้รักษาพระมหาธาตุจอม ยองตามปรเพณีที่พระยาโศกราชได้ตั้งไว้ว่า เมืองยองเป็นเมืองข้าพระธาตุ ไม่ต้องไปเสียส่วนแต่อย่างใด แต่เมื่อถึงปีให้ไปคารวะเจ้าขุนแสงซึ่งครองเมืองเชียงแสนและพระเจ้าสามฝั่ง แกนยังเมืองเชียงใหม่ และให้นำเอา ช่างฟ้อนหอก ฟ้อนดาบ ลงไปฟ้อนถวายต่อพระพักตร์ด้วย และให้ถือเป็นประเพณีอย่างนั้นตลอดมา …”

จากข้อความข้างต้น แสดงว่าการฟ้อนดาบนั้นเป็นที่นิยมของชาวล้านนามาเป็นเวลานานแล้ว นักรบในสมัยโบราณต่อสู้กันด้วยหอกดาบ ก่อนจะออกรบก็จะร่ายรำเพลงอาวุธก่อน เพื่อเป็นการระลึกถึงครูอาจารย์ที่ได้ฝึกฝนตนมาเป็นการเตรียมกายเตรียมใจให้ พร้อมให้เกิดความคล่องแคล่ว เช่นเดียวกับนักกีฬาที่จะลงแข่งขัน จะต้องเตรียมร่างกายให้พร้อมก่อนการรำเพลงอาวุธนี้เป็นการรำเพื่อให้เกิด ความสวยงาม เกิดความฮึกเหิมปลุกใจและเกิดความอบอุ่นใจแก่ประชาชน เมื่อชนะศึกกลับมาก็จะมีการร่ายรำอาวุธถวายเป็นพุทธบูชาอีกด้วย

ปัจจุบันเป็นศิลปะการแสดงอย่างหนึ่ง ดาบที่ใช้ฟ้อนเป็นดาบเทียมที่ทำเลียนแบบจากโบราณ มีรูปร่างและขนาดสั้นกว่า บางและเบากว่า ในที่นี้จะเสนอเฉพาะการฟ้อนดาบ 2 เล่ม ล้านนา “ แม่ลายฟ้อน ” หรือแบบการฟ้อนของ นายคำ กาไวย์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาการแสดงพื้นบ้าน พ . ศ . 2535 ดังนี้

เครื่องแต่งกาย

การแต่งกายในการฟ้อนดาบ ใช้เครื่องแต่งกายแบบชายล้านนาทั่วไป ชายล้านนาทั่วไป ซึ่งประกอบด้วย

•  กางเกงขาก๊วยขาสั้น ที่เรียกว่า เตี่ยวสะดอ

•  เสื้อหม้อห้อมแขนสั้น

•  ผ้าต่องหรือผ้าขาวม้าคาดเอว

•  ผ้าโพกศีรษะ

เครื่องดนตรี

เครื่องดนตรีที่ใช้บรรเลงเพลงฟ้อนดาบ เพื่อประกอบการแสดงฟ้อนดาบ มีดังนี้

•  ฆ้องโหม่ง

•  ฉาบกลาง

•  กลองปู่เจ่

โอกาสที่แสดง

ใช้แสดงเมื่อถึงคราวมีงานนักขัตฤกษ์ต่างๆ เช่น งานประเพณีขึ้นปีใหม่ สงกรานต์ หรืองานพอย ( อ่าน “ ปอย ”) คืองานฉลองต่างๆ ในวัด และแม้พิธีดำหัวพระหรือดำหัวบุคคลสำคัญ ก็จะมีการฟ้อนดาบร่วมในขบวนด้วย

วิธีแสดง

การแสดงฟ้อนดาบ จะเริ่มด้วยการตีฆ้องนำ แล้วต่อจากนั้น ก็จะตีฉาบและกลองให้เข้าจังหวะเร้าใจเป็นทำนองเพลงปู่เจ่ ผู้แสดงก็จะเริ่มฟ้อนดาบตามหลักเกณฑ์ที่ครูประสิทธิ์ประสาทวิชาให้

หลักเกณฑ์ที่ครูคำ กาไวย์ ได้กำหนดไว้นั้นมี 2 ช่วง คือ ช่วงที่ 2 ไหว้ครู เพื่อให้ช่างฟ้อนได้ระลึกถึงพระคุณของครูที่ได้ประสิทธิ์ประสาทวิชาการฟ้อน ดาบให้ และมุ่งหมายจะให้ช่างฟ้อนได้รวบรวมสมาธิตั้งสติให้มั่น เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการแสดง การปฏิบัติของช่างฟ้อนในการไหว้ครูจะแตกต่างกัน หากช่างฟ้อนเป็นชายก็จะแสดงความห้าวหาญโดยการตบบ่าผาบ คือร่ายรำและตบไปตามส่วนต่างๆ ของร่างกายให้มีเสียงดัง หากช่างฟ้อนเป็นหญิงก็ไม่ต้องตบบ่าผาบก็ได้ ช่วงที่ 2 หลังจากไหว้ครูแล้ว ก็เริ่มฟ้อนดาบท่าต่างๆ ซึ่งภาษาล้านนาเรียกว่า แม่ลาย ครูคำ กาไวย์ ได้คิดค้นและเรียบเรียงไว้ 32 ท่าด้วยกัน

ท่าฟ้อนดาบ

ท่าฟ้อน หรือในภาษาล้านนาใช้ว่า “ แม่ลายฟ้อน ” ที่นายคำ กาไวย์ ศิลปินแห่งชาติได้เรียบเรียงให้เป็นคำคล้องจองกันเพื่อง่ายแก่การจดจำชื่อ ท่าอย่างต่อเนื่อง โดยอาศัยแนวจากการพรรณนาชื่อแม่ลาย ในการร่ายรำอาวุธในเรื่องมหาชาติฉบับสร้อยสังกร กัณฑ์มหาราช เพื่อสอนให้แก่นักศึกษาของวิทยาลัยนาฎศิลป์เชียงใหม่ ดังนี้

1. บิดบัวบาน 2. เกี้ยวเกล้า 3. ล้วงใต้เท้ายกแหลก 4. มัดแกลบก้องลงวาง 5. เสือลากหางเหล้นรอก 6. ช้างงาทอกตวงเต็ก 7. กำแพงเพ็กดินแตก 8. ฟ้าแมบบ่ทันหัน 9. ช้างงาบานเดินอาจ 10. ปลาต้อนหาดเหินเทียน 11. อินท์ทือเทียนถ่อมถ้า 12. เกินก่ายฟ้า 13. สวักก้นพระยาอิทน์ 14. แซวซูดน้ำบินเหิน 15. สางลายเดินเกี้ยวกล่อม 16. คีมไฮ ( คีมไร ) 17. ถีบฮ้วง 18. ควงโค้งไหลสองแขน 19. วนแวนล้วงหนีบ 20. ชักรีบแทงสวน 21. มนม้วนสีไคล 22. ชักแทงใหม่ถือสัน 23. ช้างตกมันหมุนวนเวียนรอบ 24. เสือคาบรอกลายแสง 25. สินส้น 26. สินปลาย 27. ลายแทง 28. กอดแยง 29. แทงวัน 30. ฟันโข่ 31. บัวบานโล่ 32. ลายสาง
นบน้อม ขอกราบก้มลงวาง

หลักเกณฑ์ในการฟ้อนดาบของครูคำ กาไวย์ ได้กำหนดไว้ 2 ช่วงคือ

ช่วงที่ 1 ไหว้ครู กำหนดท่า ดังนี้

•  วางดาบไขว้กัน เอาสันดาบหันเข้าหากันห่างกันพองาม

•  ( ชาย ) ให้เดินตีวงรอบดาบ 1 รอบ แล้วเริ่มตบบ่าผาบ หรือ ฟ้อนสาวไหม อย่างใดอย่างหนึ่ง จบแล้วจึงนั่งลงไหว้

•  ( หญิง ) นั่งลงไหว้ 3 ครั้ง

•  จับดาบ

•  ไขว้ดาบจรดหน้าผากแล้วเงยขึ้น เรียกว่าไหว้จรดดาบก้มหน้าลงแล้วชักดาบรั้งไปข้างหลังทั้งสองข้างแล้วซุย ขค้นไปข้างหน้าเป็นท่าบวกดาบ คือเอาตัวดาบพาดกันเริ่มจากด้านตรงหน้าก่อน แล้วหันไปทำด้านขวา เสร็จแล้วบิดกลับมาทำด้านซ้าย ( ท่านี้เลียนแบบของไทยกลาง )

ท่าที่ 1 บิดบัวบาน

ทำท่าบิดบัวบานกลางบึง โดยมือทั้งสองจับดาบคู่ประกบ ชิดกัน ม้วนข้อมือที่ถือดาบตวัดดาบให้หมุนวนในลักษณะเป็นวงกลม เดินเป็นวงกลม 1 รอบ โดยเริ่มออกเดินด้วยเท้าซ้ายก่อน จังหวะที่ด้านหน้าของข้อมือแนบชิดกันเรียกว่า “ บาน ” จังหวะที่ด้านหลังของข้อมือชิดกันเรียกว่า “ บิด ” การบิดบัวบานจะหมุนเป็นวงกลม ต่อเนื่องกันไปทางด้านซ้าย - ขวาใน 3 ระดับ คือเหนือศรีษะระดับใบหน้าและระดับลำตัวโดยยกมือขึ้นเหนือศรีษะก่อน แล้วเอียงลงระดับกลาง แล้วระดับล่างตามลำดับ คล้ายวนเฉียงเข้าหาตัว

ช่วงที่ 2 แม่ลายฟ้อน

ฟ้อน ดาบแม่ลายทั้ง 32 ท่าโดยเริ่มจากท่าที่ 1 ถึงท่าที่ 32 แล้วจบลงด้วยท่านบน้อมขอกราบก้มลงวาง ซึ่ง สนั่น ธรรมธิ ได้อธิบายท่าฟ้อนไว้ ดังนี้

แม่ลายแต่ละท่ามีดังนี้

ท่าไหว้จรดดาบ

หลังจาก ตบบ่าผาบ แล้ว จะไหว้โดยพนมมือระหว่างอก แล้วจับดาบทั้ง 2 มือขึ้นจรดเหนือศรีษะ เปิดศอกสันดายห่างกันปลายดายติดกันชี้ไปเบื้องล่าง การไว้ท่านี้เพื่อเป็นการรวบรวมจิตใจมุ่งหมายระลึกถึงคุณอาจารย์ที่ได้ถ่าย ทอดความรู้เชิงอาวุธให้ ( เลียนแบบไทยภาคกลาง - พรหมสี่หน้า )

ท่าบวกดาบ

เริ่มจากด้านหน้าตรง ยกดาบทั้งสองซุยสอดแทงขึ้นไปข้างหน้าแล้วเลยขึ้นเหนือศรีษะโน้มตัวไปข้าง หน้า ดาบขวาง วางทับดาบซ้าย อยู่ในลักษณะเครื่องหมาย “ บวก ” ให้ปลายดาบชี้ขึ้นหันคมออกด้านนอก แล้วหันไปทำด้านซ้ายแบบเดียวกันแล้วหันมาทำด้านขวาแบบเดียวกัน ( เลียนแบบไทยภาคกลาง )

ท่าที่ 2 เกี้ยวเกล้า

เชื่อมท่าโดยแยกมือทั้งสองออก มือซ้ายอยู่ล่างมือขวายกอ้อมศรีษะไปด้านหลัง มือซ้ายถือดาบล่างหงายเปลี่ยนพลิกมือซ้ายล้อมหลัง ลักษณะการหมุนมือคือมือซ้ายอ้อมศรีษะด้านหลังมือขวาอ้อมศรีษะด้านหน้า ท่าที่ใช้ดาบ “ เวียนรอบเศียรเกล้า ” นี้นับเป็นท่าป้องกันอาวุธที่อาจฟาดฟันลงจากด้านบน ซึ่งในขณะที่ฟ้อนท่านี้อยู่ ให้ฟ้อนสัมพันธ์กับการเคลื่อนที่ของเท้าด้วย

ท่าที่ 3 ล้วงใต้เท้ายกแหลก ( เกี้ยวเกล้าล่าง )

เชื่อมท่าโดยดายหมุนวนอยู่รอบศรีษะ มุ่งหมายว่า เป็นดาบรับดาบข้าศึก อีกดาบนั้นคอยทำรายศัตรู โดยยกเท้าขึ้นสูงวนดาบซ้ายคว่ำมือลงมาข้างหน้า วนดาบขวาปาดบนเหนือศรีษะ ปาดดาบซ้ายตั้งวงระดับแค่ศรีษะป้องกันส่วนหน้า หันคมออกนอก ดาบขวาพันเฉียงลงใต้เท้าขวาในลักษณะฟันเข้าและออกติดต่อกันเหมือนอาการล้วง เข้าใต้เท้าขวา โดยหมุนตัวแล้ววางเท่าขวาลงยกเท้าซ้ายขึ้นล้วงบ้าง ท่านี้ให้ดำเนินไปในจังหวะที่ไม่ช้าหรือไม่เร็ว

ท่าที่ 4 มัดแกลบก้องลงวาง

ท่า “ วางมัดเครือเถาชื่อก้องแกลบ คือเถาวัลย์เปรียง ” เป็นท่าต่อจากท่าที่ 3 เริ่มท่านี้โดยรำเป็นท่า “ เกี้ยวเกล้า ” ทางขวาโดยวางดาบไขว้กันทางขวา ไหล่ขวาบิดไปข้าวหลังมือขวาถือดาบอยู่ข้างสะโพก ปลายดาบชี้ลงล่าง วนมือซ้ายมาทางขวาปลายดาบชี้ลงพาดดาบซ้าย ก้าวเท้าซ้ายไขว้ทอดขาขวาตะแคงฝ่าเท้าออกนอก

ทำ สลับด้านซ้าย เท่าไม่เปลี่ยนจุด แต่ใช้วิธีเอี้ยวตัวช่วย ให้ดาบไขว้กันด้านซ้าย การหมุนเอี้ยวตัวเป็นท่า “ มัดแกลบก้อง ” การวางปลายดาบนั้นเป็นท่า “ ลงวาง ”

ท่า นี้จะปิดป้องส่วนบนของร่างกายคล้ายท่าเกี้ยวเกล้า การที่ให้ปลายดาบไขว้กันวางลงก็จะเป็นไปในลักษณะใช้ดาบทั้งสองกดดาบของศัตรู ก่อนที่จะ “ เต้น ” หรือโดดหลบออกไปหาจังหวะใหม่

ท่าที่ 5 เสือลากหางเหล้นรอก

เป็นท่าเลียนแบบเสือ โดยสมมติเอาดาบทั้งสองเป็นหนวดเสือ เท้าซ้ายแทนหางเสือ เท้าขวาเหยียบมั่นคงด้านหน้า เท้าขวายกเหยียดขาตึงไปข้างหลัง น้ำหนักตัวอยู่ขาขวา มือถือดาบยื่นเหยียดตรงระดับอก จับดาบขนานวาดดาบไปทางซ้ายข้าง ๆ ตัว แล้วกระโดดเปลี่ยนขาจากขวาเป็นซ้าย วาดมือกลับมาข้างขวา มือซ้ายถือดาบคว่ำลง มือขวาถือหางดาบหงายขึ้น ทั้ง 2 มือขนานกัน ท่านี้ตะหลอกล่อศัตรูให้ตายใจ คิดว่าจะมีช่องทางโจมตีได้ก็อาจจู่โจมทันที ซึ่งจะแก้โดยท่าถัดจากนี้ไป

ท่าที่ 6 ช้างงาทอกตวงเต็ก ( อ่าน “ จ๊างงาต้อกต๋วงเต๊ก ”)

เป็นท่าแทน้างงานสั้นกระโดดประชิดศัตรู คือเมื่อศัตรูหลงกลถลำเข้าหา ก็จะก้าวเท้าที่ยกเป็นหางเสืออยู่ไปด้านหลัง พร้อมกับมือซ้ายยกดาบป้องกันส่วนบนแล้วแทงสวนด้วยดาบในมือขวาในแนวต่ำ ซึ่งจะเห็นว่าเป็นการนั่งลงบนเท้าซ้ายก้าวเท้าขวา ยกเข่าชันขึ้นยกดาบขวางอแขนรับส่วนสันดาบกระแทก ลงกับพื้นตั้งปลายดาบขึ้นตรงหันคมออกนอก มือซ้ายสอดดาบไว้ใต้แขนขวาบริเวณรักแร้ ปลายชี้ไปทางขวาหันคมออกทางแขนขวา ในการฟ้อนจะดำเนินไปอย่างรวดเร็ว ในขณะตอกสันดาบนั้นจะตอกด้านขวาก่อน ดาบซ้ายเหน็บรักแร้ จากนั้นหมุนตัวยกดาบขึ้นฟ้อนเหมือนเกี้ยวเกล้า เปลี่ยนเป็นตอกสันดาบด้านซ้ายและดาบขวาจะเหน็บที่รักแร้ การไขว้เท้านั้นจะช่วยให้เกิดท่ารำที่งดงาม

ท่าที่ 7 กำแพงเพ็กดินแตก ( อ่าน “ กำแปงเป๊กดินแตก ”)

ในท่า นี้ ผู้ฟ้อนจะก้าวเท้าขวาเหยียบมั่นคงด้านหน้าเท้าซ้ายยกเหยีดขาไปข้างหลัง เหมือนท่านที่ 5 มือทั้งสองถือดาบไขว้ แล้วฉีกออกขนานไปข้าง ๆ การถือดาบจะอยู่ในท่าคว่ำมือ

ท่า นี้จะใช้เมื่อคู่ต่อสู้รุกเข้ามาด้วยอาวุธจึงใช้ดาบไขว้รับไว้แล้วดันให้ถอย มิฉะนั้นก็บุกปะทะด้วยความเร็วและรุนแรง ในขนาดที่ “ กำแพงที่สร้างด้วยหิน ( เพ็ก ) ก็มิอาจต้านได้ ”

ท่าที่ 8 ฟ้าแมบบ่ทั้นหัน ( อ่าน “ ฟ้าแมบบ่ตันหัน ”)

ท่า นี้ผู้ฟ้อนกระโดดไปข้างหน้าพร้อมฟันสลับกันอย่างรวดเร็วชนิดที่ “ เร็วปานฟ้าแลบ มองตามไม่ทัน ” แล้วจบท่าลงด้วยการไขว้มือระดับหน้าผาก โดยให้สันดาบชี้ขึ้นด้านหน้า ปลายดาบชี้ไปด้านหลัง

ท่าที่ 9 ช้างงาบานเดินอาจ ( อ่าน “ จ๊างงาบานเดินอาจ ”)

ทั้ง สองมือถือดาบวาดลงมาวางพักไว้ทีเอวทั้งสองข้างลักษณะของดาบหันปลายดาบออก หันด้านคมเข้าหากันเงยหน้าตามดาบ เดินวงกลมหมุนหน้า ลักษณะคล้ายช้างงาบานเดินอย่างองอาจเข้าต่อด้วยศัตรู

ท่าที่ 10 ปลาต้อนหาดเหินเหียน ( อ่าน “ ป๋าต้อนหาดเหินเหียน ”)

ทั้งสองมือถือดาบยื่นไปข้างหน้า ตึงแขนระดับต่ำบริเวณ เอว มือขวาถือดาบหงายมือขึ้น มือซ้ายถือดาบคว่ำมือลงหันคมดาบออกนอก ปลายดาบชี้มาทางขวา เท้าขวาก้าวมาข้างหน้า ย่อเข่านั่งบนส้นเท้า โน้มตัวลงมาก้อมหน้าให้ต่ำ แล้วบิดตัวไปทางซ้ายครบรอบ มืออยู่ระดับต่ำเสมอกัน ความหมายของท่านี้เปรียบดังปลายที่เกยน้ำตื้นดาบที่ฟันออกด้วยท่านี้จะเรี่ย ขนานกับพื้น ซ้ายขวาสลับกัน

ท่าที่ 11 อินท์ทือเทียนถ่อมถ้า ( อ่าน “ อินตือเตียนถ่อมถ้า ”)

ความหมายของชื่อท่านี้คือพระอินทร์ถือเทียนรอคอยโดยมือขวาถือดาบตั้งขึ้นเหยียด แขนตึง มือซ้ายถือดาบงอแขนไว้ข้างตัว เอียงคอมองดูดาบที่ตั้งขึ้นทั้งสอง เท้าขวาเหยียบหน้าหนัก เท้าซ้ายเปิดส้นเท้าขึ้น สลับทำขวาซ้ายเดินวน 1 รอบ เป็นท่าที่รอจังหวะจะจู่โจมศัตรู

ท่าที่ 12 เกินก่ายฟ้า ( อ่าน “ เกิ๋นก่ายฟ้า ”)

ท่า นี้มีความหมายว่าก่ายบันไดพาดฟ้ามือขวาถือดาบชี้ขึ้น มือซ้ายถือดาบขนายราบระดับอก เท้าขวายกสูงขึ้นทำสลับกัน เดินหน้าหรือถอยหลังก็ได้ 4-6 ครั้ง ตามองมือที่ชูดาบสูง พร้อมที่จะฟันศัตรู

ท่าที่ 13 สวักก้นพระญาอินท์

ความหมายของท่านี้ว่า ทิ่มปลายดาบที่ก้นของพระอินทร์ มือขวาม้วนดาบแล้วเหยียดแขนตึงไปข้างหน้ามือซ้ายไว้ที่สะเอวสลับกัน มือซ้ายม้วนดาบแล้วเหยียดแขนดึงไปข้างหน้ามือขวาวางไว้ที่สะเอวสลับกันอย่าง ละ 4-5 ครั้ง เดินหน้าหรือถอยหลัง เท้าขวานำ เปลี่ยนเท้าพร้อมมือตามองมือสูง คือปลายดาบที่แทงไป ทั้งนี้ ท่าที่ 12 และ 13 นี้จะเป็นแม่ลายที่ผสมกัน

ท่าที่ 14 (นกแซง) แซวซูดน้ำบินเหิน

ท่านกแซงแซวโฉบเอาน้ำแล้วเหินขึ้น เป็นท่าที่ใช้ดาบทั้งคู่ฟันพร้อมกันในแนวล่างปัดขึ้นแนวบน โดยมือขวาเงื้อสูงปลายดาบชี้ลง มือซ้ายถือดาบขนานมือขวา ยกเท้าขวา เมื่อแทงลงทั้งสองมือแล้วหมุนขึ้นสลับกันเท้าซ้ายยกขึ้น ศีรษะเอียงไปตามดาบสลับซ้ายขวา 4 ครั้ง

ท่านี้มีลีลานุ่มนวล ปลายดาบทั้งคู่เหมือนปลายหางของนกแซงแซวซึ่งโฉบลงจากที่สูง ปลายดาบจะแตะพื้นนิดหนึ่งแล้วจึงตวัดขึ้น ดังอาการของนกที่โฉบลงที่ผิวน้ำแล้วเหินขึ้นทันที

ท่าที่ 15 สางลายเดินเกี้ยวกล่อม

ทั้งสองมือถือดาบหันคมออก ปลายดาบไขว้กันแล้ววาดออกไปข้างๆ ลักษณะเหมือนถางหญ้า มีลักษณะถาง 3 ระดับ คือระดับหน้าหรือบน ระดับเอวหรือกลาง ระดับขาหรือล่าง เดินถอยหลังเดินหน้าสลับกัน ท่านี้เป็นการใช้ดาบปิดป้องตัวเอง สร้างความสับสนให้แก่คู่ต่อสู้

ท่าที่ 16 คีมไร (อ่าน “ กีมไฮ ” )

ท่าที่ภาษาไทใหญ่เรียกว่า “ กรรไกร ” นี้ ผู้ฟ้อนจะจับดาบไขว้กันเป็นรูปกรรไกรไว้ในระดับต่ำแล้วเดินไปมาโดยรอบ ท่านี้เป็นเหมือนการกดอาวุธของคู่ต่อสู้ด้วยคีมหรือกรรไกรมิให้หลุดไปได้

ท่าที่ 17 ถีบฮ้วง

ท่านี้ผู้ฟ้อนจะถีบดาบที่ไขว้ขวางอยู่ให้แยกออกโดยอาจถีบด้วยเท้าด้านไหนก่อนก็ ได้ ผู้ฟ้อนจะจับดาบคว่ำมือแล้วควบดาบมาไขว้กันตรงด้านเท้าซ้าย ยกเท้าขวาขึ้นถีบกระโดดแล้วย่อตัวลงสลับถีบซ้ายขวา แล้วกระโดด

ท่าที่ 18 ควงโค้งสองแขน

จับดาบควงทั้ง 2 แขน พร้อมทั้งหมุนมือในระดับไหล่ เท้าก้าวเดินเป็นวงกลม 1 รอบ ท่านี้ใช้ปัดป้องอาวุธที่จู่โจมมาจากด้านข้าง

ท่าที่ 19 วนแวนล้วงหนีบ

กระทืบเท้านั่งลงพร้อมทั้งสองควบดาบเอาปลายดาบสอดเข้ารักแร้ทั้ง 2 ข้าง ให้ปลายดาบหันไปข้างหลังนั่งอยู่บนส้นเท้าข้างที่ถนัด

ท่าที่ 20 ชักรีบแทงสวน

เมื่อพักดาบไว้เพื่อลวงคู่ต่อสู้ระยะหนึ่งแล้ว ก็จะชักดาบออกจากรักแร้มือจับตรงตัวดาบ พลิกข้อมือหงายขึ้นแขนถึงระดับไหล่คมดาบอยู่ข้างใน การแทงสวนให้แทงไขว้กัน มือขวาแทงไปทางซ้าย มือซ้ายแทงไปทางขวาสลับกัน

ท่าที่ 21 มนม้วนสีไคล

ท่านี้เป็นการประกาศว่าตนเป็นผู้คงทนต่ออาวุธแม้ใช้ดาบขูดขี้ไคลก็ยังไม่ระคาย ผิว ผู้ฟ้อนจะนั่งบนส้นเท้าซ้ายหน้าตรง มือถือตัวดาบตรงกลางคมดาบ ยกมือซ้ายวนดาบจากเบื้องหน้าผ่านไหล่ขวามาไหล่ซ้าย ในลักษณะหันคมดาบออก ปลายดาบชี้ลงล่าง ปาดดาบผ่านลำตัวจากอกลงมาถึงเอว มือขวายกดาบวนผ่านหน้ามาอ้อมไหล่ซ้ายวนรอบศีรษะ แล้วปลายดาบมาอยู่ไหล่ขวาปาดดาบไล่ลงมาแนบลำตัว ก้มศีรษะ ทำอย่างเร็วพร้อมกับหมุนตัวรอบ คำว่าสีไคล เลียนกิริยาอาการถูขี้ไคลขณะอาบน้ำ

ท่าที่ 22 ชักแทงใหม่ถือสัน

เมื่อสีขี้ไคลด้วยดาบแล้วก็จะพักดาบไว้ที่รักแร้อีกครั้งโดยแทงดาบเข้ารักแร้แล้ว ก้าวเท้าซ้ายโน้มไปด้านหน้าเท้าซ้ายอยู่หลัง เปิดส้นเท้า มือทั้ง 2 ถือสันดาบชี้ปลายเข้าหาตัวเอง

ท่าที่ 23 ช้างตกมันหมุนวนเวียนรอบ

จับที่โคนดาบทั้ง 2 มือกางแขนออก ยกดาบระดับเสมอไหล่ น้ำหนักตัวอยู่ที่ขาซ้าย ขาขวายกกระดกไปด้านหลัง หมุน 1 รอบ

ท่าที่ 24 เสือคาบรอกลายแสง

ใช้ปากคาบดาบไว้ทั้ง 2 เล่ม โดยเอาปลายดาบมาซ้อนกันไว้ ใช้มือประกอบกันหมุนบิดบัวบานย่อตัวลงนั่ง หมุนวนบัวบาน 1 รอบ ขยับมือกระดิกนิ้วเหมือนหนวดเสือ เอียงหัวซ้ายขวาตามจังหวะ เป็นลีลานท่าทางของเสือแล้วจับด้ามดาบ เอาดาบออกจากปาก

ท่าที่ 25 สินส้น

ผู้ฟ้อนนั่งชันเข่าขวามือ มือซ้ายจับด้ามดาบหันส้นดาบมาหา มือขวาฟันลงขณะนั่งบนส้นเท้าซ้าย

ท่าที่ 26 สินปลาย

นั่งย่อเข่าลงบนส้นเท้าซ้าย เหมือนท่าที่ 25 หันปลายดาบมือซ้ายเข้าหามือขวา ใช้ดาบในมือขวาฟันลง ให้ฟันเฉียงที่ปลายดาบ

ท่าที่ 27 ลายแทง (อ่าน “ ลายแตง ” )

ก้าวเท้าซ้าย เท้าขวาอยู่หลังเปิดส้น มือซ้ายแทงตรงออกไป ลำตัวพุ่งไปข้างหน้า แล้วแทงดาบคู่ แล้วหมุนตัวแทงเดี่ยว โดยมือขวาอยู่ท้ายทอง แล้วหมุนแทงคู่แล้วกลับเปลี่ยน โดยมือซ้ายอยู่ท้ายทอง สลับกัน

ท่าที่ 28 กอดแยง

ยืดลำตัว เอาแขนไขว้กัน กอดอกหมุนไป 1 รอบ ใบหน้าตั้งตรง หันไปดูรอบๆ มือถือดาบปลายชี้ไปด้านหลังใช้สายตาเล็งไปที่ศัตรู

ท่าที่ 29 แทงวัน (อ่าน “ แตงวัน ” )

แทงวันหรือแทงตะวัน ยกเท้าซ้ายชี้ขึ้นไปข้างหน้าน้ำหนักตัวอยู่ที่ขาขวา ใบหน้าแหงนมองดูตะวัน มือซ้ายชูปลายดาบขึ้น มือขวาแทงดาบขึ้น

ท่าที่ 30 ฟันโข่

ท่า “ ฟันไม้ที่รุงรัง ” นี้ ผู้ฟ้อนจะย่อตัวนั่งบนส้นเท้าซ้าย มือซ้ายถือดาบเอาปลายดาบใส่ไว้ที่รักแร้ขวามือขวาถือดาบฟันถางเข้าหาตัวใน ลักษณะฟันกิ่งไม้ที่รกรุงรัง ทำตรงข้ามกันอีก 1 ครั้ง รวม 2 จังหวะ

ท่าที่ 31 บัวบานโล่

ท่านี้คล้ายกับท่า “ บิดบัวบาน ” เพียงแต่ข้อมือทั้งสองอยู่ในลักษณะโล่(ไม่ติดกัน) ผู้ฟ้อนจะเดินฟ้อนวนไปมา

ท่าที่ 32 ลายสาง

มือทั้ง 2 จับดาบไขว้กัน หันคมออกนอก วาดดาบเข้าออกในระดับอก นั่งย่อเข่า น้ำหนักอยู่ที่เท้าซ้ายหน้าเท้าขวาหลัง เปิดส้น

จบลงด้วยท่านบน้อมขอกราบก้มลงวาง

พนมมือไหว้ระหว่างหน้าผากเงยหน้าขึ้น แล้วก้มตัวลงลดมือไหว้ระดับอก แล้วก้มลงกราบที่ดาบ รวบดาบไว้ในอุ้งมือให้ปลายดาบทั้ง 2 ชิ้นไปในทางเดียวกัน แล้วลุกขึ้นเท้าชิดหันหลังเข้าสู่เวที

ท่า ฟ้อนดาบทั้ง 32 ท่านี้ สนั่น ธรรมธิ ให้ทัศนะว่า บางท่าใช้ชื่อที่ปรากฏมาแต่เดิม บางท่าแต่งเติมให้คล้องจองและบางท่าแต่งขึ้นใหม่ โดยอาศัยแนวจากการพรรณนาท่ารำอาวุธที่ปรากฏในมหาชาติภาคพายัพฉบับ สร้อยสังกร ซึ่งสอบทานโดยพระธรรมราชานุวัตร(ฟู อตต สิวเถร) ที่ว่า

“ ...ดาบกับลานี้กูถือเอาหอก ด้ามยาวศอกปลายสามฝูเชิงกลิ้งดูไววะวาด คระครุบคระคราบเยียะทะลิงทะลาย ชะเลยดายเชิงจ้าน แม้สี่ด้านเลยไป เชิงชายไวทรงแทบ เชิงหอกอันนึ่งชื่อว่าแม่หมัดนอนแกลบกองวาง แม่เสือลากหางเหินหอกช้างงาทอกตวงเต็ก กำแพงเพ็กดิ้นตาย พาดพิกแวดไวเวียนอินท์ทือเทียนถ่อมถ้า เ กินก่ายฟ้าเอาพระยาอินท์ นางเกี้ยวเกล้าชิดชินเชิงถี่ ช้องนางควี่เวียนวน อีเพ็กชายสนกินหยาบใจเคริงขาบปานไฟ ตีนมือไวเที่ยงเท้า เขานันละเล้าจากันว่า จักบิดเบี่ยงฟ้าเอาอินท์... ”

ท่าต่างๆ แม้จะมีชื่อใหม่ แต่ก็แตกแขนงจากของเดิมที่ครูคำ กาไวย์ มีอยู่ 16 ท่า คือ

1.บิด บัวบาน

2.เกี้ยวเกล้า

3.ปลาต้อนหาด

4.แทงวัน

5.ฟันโข่

6.แซวจุ่มน้ำ

7.ทือเทียน

8.คีมไฮ

9.ถีบฮ้วง

10.ฮ้วงบน

11.เกินกายฟ้า

12.แวนควง

13.เหน็บแฮ้

14.สีไคล

15.แถวปลาย

16.ลอยลม

เมื่อเทียบท่าฟ้อนดาบทั้ง 32 ท่าที่ครูคำ กาไวย์ ได้กำหนดไว้เทียบกับชื่อของแม่ท่าเดิมที่มีอยู่ 16 ท่านั้น เห็นว่าบางท่าใช้ชื่อเดิม บางท่าขยายความเพิ่ม และบางท่าบัญญัติขึ้นใหม่ โดยต้องการให้ง่ายต่อการจดจำและการถ่ายทอด ทั้งนี้ท่ารำทั้ง 32 ท่านั้น อาจมีการเรียกแผกไป ดังนี้

บิดบัวบานบางแห่งหรือบางสำนักเรียก บัวบาน

เกี้ยวเกล้าบางแห่งเรียก เกล้าเกี้ยว หรือ หมอกมุงเมือง

ล้วงใต้เท้ายกแหลง ท่านี้เป็นการบัญญัติขึ้นใหม่โดยแตกออกจากท่าเกี้ยวเกล้าที่ฟ้อนอยู่ส่วนบน โดยท่าใหม่นี้จะใช้ดาบล้วงใต้เท้า ซึ่งเป็นการเคลื่อนดาบให้สามารถคลุมส่วนล่างของร่างกายได้ มัดแกลบก้องลงวาง โดยทั่วไปเรียก หมัดนอนแกลบซึ่งไม่ชัดเจนว่าฟ้อนอย่างไร แต่ท่ารำของครูคำ กาไวย์ จะไขว้ขา เอี้ยวตัวเหมือนการมัดตอก

เสือลากหางเหล้นรอก ทั่วไปมักเรียก เสือลากหาง หรือ เสือต่อหาง ซึ่งมักจะมีท่าตามมาว่า กวางเหลียวเหล่าซึ่งทั้งเสือลากหางและกวางเหลียวเหล่า ต่างก็ยังไม่ชัดเจนเรื่องท่าฟ้อน ในขณะที่ท่าของครูคำ กาไวย์ กำหนดให้สมมติเท้าเป็นหางเสือแล้วยกยื่นไปด้านหลัง

ช้างงาทอกตวงเต็ก ซึ่งพบในมหาชาติ ฉบับสร้อยสังกรนั้น ทั่วไปเรียก ช้างงาทอก
กำแพงเพ็กดินแตก ชื่อของแม่ท่านี้ยังไม่พบในตำราของสำนักอื่น
ฟ้าแมบบ่ทันหัน ชื่อและท่าฟ้อนของแม่ท่านี้ยังไม่พบในสำนักอื่นเช่นกัน
ช้างงาบานเดินอาจ บางแห่งเรียก ช้างงาแบน
ปลาต้อนหาดเดินอาจ ทั่วไปมักเรียกคลาดเคลื่อนกัน เช่น ปลาเหลื่อมหาด ปลาเหลื้อมหาด ปลาเหลี่ยมหาด และปลาเลียมหาด เป็นต้น
อินท์ทือเทียนถ่อมถ้า ทั่วไปเรียก ทือเทียน หรือ ถือเทียน
เกินก่าฟ้า ท่านี้ไม่ปรากฏว่าพบในสำนักอื่น
สวักก้นพระญาอินท์ ท่านี้ก็ไม่ปรากฏว่ามีในสำนักอื่นเช่นกัน
แซวซูดน้ำบินเหิน ทั่วไปเรียก แซวซูดน้ำ หรือ แซวจุ่มน้ำ
สาง ลายเดินเกี้ยวกล่อม ทั่วไปเรียก สาง สนส้น สวนส้น หรือ สำส้น เพราะในขณะฟ้อนจะให้ส่วนส้นของด้ามดาบสวนทางกันและสางออกเป็นการสลับกัน
คีม ไฮฮ่อม ทั่วไปเรียก คีมไฮ ถีบฮ้อง ท่านี้มาจาก ฮ้วง ซึ่งมีทั้ง “ ฮ้วง ” ด้านล่างและด้านบน โดยคำ “ ฮ้วง ” แปลว่าอ้อมหรือรอบ การฟ้อนดาบโดยอ้อมดาบเป็นวงโดยรอบด้านหน้าแล้วหยุด เอาปลายดาบแตะไขว้กันทั้งด้านล่างและด้านบนเรียกว่า “ ฮ้วง ” เมื่อถีบดาบให้แยกจากกันจึงเรียก ถีบฮ้วง
ควงโค้งไหล่สองแขน เป็นชื่อที่ตั้งใหม่เนื่องจากการควงดาบทั้งสองมือ ทั่วไปเรียก แวนควง
วนแวนล้วงหนีบ เป็นชื่อที่บัญญัติใหม่ ทั่วไปเรียกเหน็บแฮ้ คือสอดดาบเข้าที่รักแร้
ชักรีบแทงสวน เป็นชื่อที่บัญญัติขึ้นใหม่
มนม้วนสีไคล ทั่วไปเรียก สีไคล
ชักแทงใหม่ถือสัน เป็นชื่อที่บัญญัติขึ้นใหม่
ช้าง ตกมันหมุนวนเวียนรอบ เป็นชื่อที่บัญญัติขึ้นใหม่ โดยเหตุจากแสดงถึงการทรงตัวของผู้ฟ้อน เสือคาบรอกลายแสง เป็นชื่อที่บัญญัติขึ้นใหม่จากท่าที่แสดงการหลอกล่อ
สินส้น เป็นชื่อที่บัญญัติขึ้นใหม่
สินปลาย เป็นชื่อที่บัญญัติขึ้นใหม่
ลายแทง เป็นชื่อที่บัญญัติขึ้นใหม่
สอดแยง เป็นชื่อที่บัญญัติขึ้นใหม่
แทงวัน เป็นท่าและชื่อที่มีอยู่ทั่วไป
ฟันโข่ เป็นท่าและชื่อที่มีอยู่ทั่วไปเช่นกัน
บัวบานโล่ เป็นท่าฟ้อนผสมของท่าบิดบัวบาน และเกี้ยวเกล้า
ลายสาย ทั่วไปเรียก สางหรือสางลาย

อนึ่งท่านอาจารย์ ธีรยุทธ ยวงศรี ได้เสนอความคิดไว้เกี่ยวกับการฟ้อนดาบว่า แต่เดิมเป็นการฝึกปรือให้เกิดทักษะในการใช้ดาบ เพื่อให้เกิดความคล่องแคล่ว เริ่มตั้งแต่ดาบเล่มเดียว ที่อยู่ในฝัก เพราะการมีดาบที่ไม่มีฝักเป็นอันตรายได้ง่ายทั้งแก่ตัวเอง และผู้ที่อยู่ใกล้เคียง นอกจากนั้นวิธีเก็บดาบไว้กับตัวของชาวล้านนาแตกต่างกับภาคอื่น นิยมถักวัสดุอย่างใดอย่างหนึ่งที่มีความสวยงามและเหนียวพอไว้ที่ฝักดาบ แล้วปล่อยเป็นบ่วงเพื่อใช้คล้องไหล่ข้างใดข้างหนึ่งตามความถนัดของผู้เป็น เจ้าของ ดังนั้นการฟ้อนดาบของชาวล้านนาจึงมีเพียงตัวดาบ และฝักดาบในมือทั้งสิงของผู้ฟ้อนเท่านั้น ภายหลังดัดแปลงเป็นการแสดงจึงใช้ดาบ 2 เล่ม ออกมาฟ้อนแทนฝักดาบ ปัจจุบันนิยมฟ้อน 2 เล่มก่อนแล้วจึงต่างอาบ คือบรรทุกดาบอีกจำนวนหนึ่งเพิ่มเข้าไปบนไหล่คนฟ้อน และการฟ้อนดาบ 2 เล่ม ครบทั้ง 32 ท่านั้น แทบจะหาชมไม่ได้แล้วเพราะคนฟ้อนนิยมฟ้อนแบบใหม่ คือ ฟ้อนเพียง 7-10 ท่า แล้วต่างดาบ หรือติดดาบต่อเนื่องไปเลย แล้วจบการแสดง


  • ฟ้อนโต/เต้นโต

ฟ้อนโต เป็นลีลาท่าทางของสัตว์ชนิดหนึ่ง ซึ่งเชื่อกันมาแต่โบราณว่ามีอยู่ในป่าหิมพานต์ ตามตำนานทางพุทธศาสนาที่แพร่หลาย ยอมรับกันในกลุ่มชาวไทใหญ่ที่นับถือพุทธว่า หลังจากพระพุทธองค์กลับจากการเทศน์โปรดฯ พุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์แล้ว ได้เสด็จกลับลงมาสู่โลกมนุษย์ในวันเทโวโรหณะ บรรดาสัตว์ทั้งหลายจึงพากันมาเฝ้าพระองค์ทุกตัวต่าง แสดงความลิงโลกลำพอง ด้วยท่าทางตามธรรมชาติของตนด้วยเหตุนี้ กิริยาท่าทางของ “ โต ” จึงแตกต่างกันไปตามภูมิปัญญาของผู้แสดงหรือผู้ถ่ายทอด นอกจากนั้น โดยที่แต่งมาแสดงก็ยังแตกต่างกันไปตามความเชื่อหรือคำถ่ายทอดจากบรรพชน เช่น โตบางตัว บางแห่งมีหน้าเป็น(คล้าย) เลียงผา ลำตัวสั้น แต่บางตัวหน้าคล้ายมังกรหรือกิเลน ลำตัวยาวเป็นต้น

เครื่องดนตรีที่ใช้บรรเลงประกอบการเต้นโต มีทั้งวงกลองก้นยาวและวงกลองมองเซิงตามแต่ความต้องการของคณะแสดงนั้นๆ

การแสดงเต้นโตทั้งแบบตัวสั้นและตัวยาว จะใช้ผู้เต้น(แสดง) ตัวหนึ่ง 2 คน คล้ายการเชิดสิงโตจีนหรือช้างม้า ในการแสดงโขนของไทย คนหนึ่งจะเชิดด้านหัวอีกคนหนึ่งจะเชิดด้านหาง ทั้ง 2 คนจะต้อมีการนัดหมายกันอย่างดี มีสัญญาณให้รู้กันโดยอัตโนมัติว่าจากท่าที่ 1 ไปสู่ท่าที่ 2 จะเริ่มตรงไหนและเคลื่อนไหวอย่างไร จึงจะสร้างสุนทรียรสให้แก่ผู้ชนได้เป็นอย่างดี และได้รับการยกย่องยอมรับจากผู้ชม

การเต้นโตของชาวไทยใหญ่ ด้านจังหวัดเชียงราย ในอำเภอแม่สาย อำเภอเมือง และที่บริเวณใกล้เคียง มีผู้แสดงอีกคนหนึ่งเข้ามาร่วมฟ้อนด้วย คล้ายแป๊ะยิ้มในการเชิดสิงโตของจีน แต่ในจังหวัดแม่ฮ่องสอนและเชียงใหม่ไม่มี และไม่นิยมทว่าที่มีเหมือนกันทุกแห่งคือ โตคาบธนบัตร โดยการสนับสนุนจากผู้ชมหรือผู้จ้าง (เจ้าภาพ)

วงกลองก้นยาวของชาวไทใหญ่ จะประกอบไปด้วยกลองหน้าเดียว ความยาวเกินกว่า 2 เมตรขึ้นไป (คล้ายกลองยาวของภาคกลาง แต่ท่อนไม้ที่นำมาใช้ขุดเป็นหุ่นกลองนั้นมีขนาดกว้างและยาวมากกว่า) 1 ลูก ฉาบใหญ่หรือกลาง 1 คู่และฆ้อง (ระดับเสียงที่ใกล้เคียงกัน) อย่างน้อย 3 ลูกขึ้นไปใช้ผู้ตีลูกละ 1 คน ส่วนวงกลองมองเซิงจะประกอบไปด้วยกลองหน้าตัด 2 ด้าน(คล้ายกลองทัดหรือตะโพนของภาคกลาง) 1 ลูก ฉาบขนาดใหญ่หรือกลาง 1 คู่ ฆ้องที่มีระดับเสียงเรียงลำดับกัน 1 ชุด(ตั้งแต่ 5-9 ลูก) วงกลองมองเซิงนี้ จะเน้นที่เสียงฆ้องเป็นหลัก เพราะเสียงที่ดังออกมานั้นผสมกลมกลืนกันค่อนข้างจะไพเราะมาก เนื่องจากเสียงกลองที่บรรเลงร่วมอยู่ด้วยมีหน้า(กลอง)ใหญ่ ทั้งเสียงต่ำและเสียงสูง ทำให้สอดผสานกับเสียงต่างๆได้ดีกว่า ไพเราะกว่า สมกับคำเรียกว่า “ (กลอง)มองเซิง ” ซึ่งเป็นคำภาษาถิ่น แปลเป็นภาษากลางตามตัวว่า มอง-ฆ็อง เซิง-ชุด และใช้คนตีลูกละหนึ่งคน ทุกคนจะตีด้วยมือที่มีน้ำหนักต่างกัน ปัจจุบันมีการพัฒนารูปแบบการตีฆ้องแปลกไปกว่าเดิมเพื่อประหยัดคนตีด้วยการทำ เป็นราว มีที่แขวนลูกฆ้องตามจำนวนที่ต้องการ แล้วทำปุ่มที่ใช้ตีขึ้นให้ตรงกับตำแหน่งที่แขวนไป โดยใช้ไม้บังคับเพียงอันเดียวมีบานพับยกขึ้นยกลงได้ ใช้ตีแทนคน เป็นเหตุให้ประหยัดคนตีไปมากจะเหลือเพียง 2 คน คือ คนหามเรือแบกด้านหน้า 1 คน คนหามหรือแบกด้านหลัง 1 คน และคนหามด้านหลังจะเป็นคนตีไปด้วย


  • ฟ้อนไต

ฟ้อนไต ซึ่งหากเขียนด้วยระบบปริวรรตอักษรจะเป็น “ ฟ้อนไท ” หมายถึงการฟ้อนของชน เผ่าไท (อ่าน “ เผ่าไต ” ) หรือชาวไทใหญ่ ซึ่งมีอยู่ประปรายในเขตจังหวัดเชียงรายและจังหวัดแม่ฮ่องสอน เพราะมีชาวไทใหญ่อพยพเข้ามาตั้งภูมิลำเนา และสืบเชื้อสายติดต่อกันมาจนถึงทุกวันนี้ และมีจำนวนมากพอสมควร สำหรับชาวไทใหญ่ในจังหวัดแพร่ได้สูญหายไปหมดแล้ว

ฟ้อนไต แต่เดิมนิยมแสดงเป็นพุทธบูชา ใช้สตรีเป็นผู้แสดง เกิดจากภูมิปัญญาชาวบ้านที่เลื่อมใสศรัทธาต่อองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่มีท่าฟ้อนมากนัก ใช้วงกลองก้นยาวบรรเลงประกอบในการฟ้อน ผู้ฟ้อนแต่งกายแบบชาวบ้านธรรมดาจะสวยงาม วิจิตรพิสดารมากน้อยเพียงใด ขึ้นอู่กับฐานะและศรัทธาของผู้ฟ้อน ทำนองดนตรีที่นิยมบรรเลงประกอบฟ้อนมักเป็นทำนอง ที่มีชื่อว่า ปานแซง หรือ ล่องตง ใช้เวลาฟ้อนไม่มากก็จบ แต่อาศัยที่จบแล้วก็เริ่มใหม่วนเวียนไปมา จึงสรุปว่านานพอสมควร

การ ฟ้อนไต ของแต่ละคณะบางครั้งก็ไม่เหมือนกันบางคณะใช้กลองมองเซิงบรรเลงประกอบการฟ้อน ไม่ใช้กลองก้นยาว แต่ยังคงใช้ทำนองเดิม ทว่ามีบางคณะใช้วงดนตรีที่ผสมขึ้นใหม่บรรเลงประกอบการแสดง วงดนตรีที่ผสมขึ้นใหม่นี้จะประกอบไปด้วยเครื่องดนตรี 9 ชนิด มีทั้งที่เป็นของเดิม และของที่ผลิตมาจากต่างประเทศ เพราะได้รับอิทธิพลมาจากประเทศเพื่อนบ้านนานพอสมควร เครื่องดนตรีทั้งหมดประกอบด้วย

1. ตะยอ รูปร่างคล้ายไวโอลิน แต่มีลำโพง ให้เสียงระบายออก 2. แบนโจ 3. มองเซิง-ฆ้องแผง 4. แอ๊คคอร์เดี้ยน 5. กลองแบบพม่า 1 ชุด 6 ลูก
6. ฉิ่งแบบพม่า 7. ฉาบ 8. กรับ แบบที่ใช้บรรเลงประกอบการแสดงของไทย อาหม หรือในแคว้นมณีปุระ 9. เกราะ

วงดนตรีชนิดนี้ กลายเป็นวงดนตรีประจำจังหวัดแม่ฮ่องสอนและใช้ประกอบการแสดงต่างๆ ของชาวไทใหญ่ไปเสียแล้ว ทั้งๆที่มีการผสมวงขึ้นใหม่ไม่เกิน 40 ปีมานี้ มีการเพิ่มระนาดโลหะเข้าไปอีก 1 ชิ้นในปัจจุบัน

อนึ่งการฟ้อนแบบไทใหญ่นี้ ยังมีที่เรียกชื่อว่า ก้าลายและก้าแลว ด้วย โดยการก้าลายนั้นคล้ายกับการฟ้อนเซิงของชาวล้านนา หรือการรำทำท่าต่อสู้ด้วยมือเปล่าเพียงแต่แตกต่างกันที่ลีลาและชื่อท่ารำ ส่วนการก้าแลวนั้นหมายถึงการรำดาบแบบชาวไทใหญ่


  • ฟ้อนเทียน (อ่าน “ ฟ้อนเตียน ” )

ฟ้อนเทียน เป็นพัฒนาการขั้นที่ 2 จากฟ้อนเล็บหรือฟ้อนแห่ครัวทาน ซึ่งเป็นพระราชประสงค์ของพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ในการแสดงถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ซึ่งเสด็จพระราชดำเนินฯ ภาคเหนือ เมื่อปีพุทธศักราช 2469 เนื่องในงานถวายพระกระยาหารค่ำ ณ พลับพลาที่ประทับ และฉลองช้างเผือกที่บริษัทป่าไม้เบอร์เนียวถวาย (ภายหลังได้รับพระราชทานนามว่าพระเศวตคชเดชดิลกฯ) พระราชชายาฯ ทรงให้ช่างฟ้อนถอดเล็บทองเหลืองออกแล้วถือ “ เทียน ” แทนทั้งสองมือ เวลาฟ้อนก็เปลี่ยนแถวและเดินลอดใต้ท้องช้างเผือกคู่บารมีฯ ซึ่งยืนอยู่ในโรงฯ แสงไฟในมือช่างฟ้อนทำให้สวยงามยิ่งนัก เลยกลายเป็นแบบแผนต่อมาจนปัจจุบันว่า หากมีการฟ้อนจะด้วยวัตถุประสงค์ใดก็ตาม ในเวลากลางวันจะใช้ฟ้อนเล็บแสดง หากเป็นเวลากลางคืนก็จะใช้ฟ้อนเทียนแสดง

วงดนตรีที่ใช้บรรเลงประกอบการฟ้อนยังคงใช้วงตึ่งนงอย่างเดิม ทำนองที่ใช้บรรเลงชื่อแหย่งหลวง ช่างฟ้อนจะทำผมแบบใหม่ เรียกว่าเกล้าผม “ อี่ปุ่น ” คือมีกระบังข้างหน้า ซึ่งพระราชชายาฯ เอาแบบอย่างทรงผมของเกอิชาญี่ปุ่นมาให้แต่งเลยกลายเป็นแบบใหม่ของช่างฟ้อน ตั้งแต่ยุคนั้นเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน สำหรับการแต่งกายของช่างฟ้อนยังคงเป็นแบบเดิมแต่มีการประดับอย่างประณีตยิ่ง ขึ้นเพื่อให้สมเกียรติ


  • ฟ้อนน้อยไชยา/ฟ้อนล่องน่าน (อ่าน “ ฟ้อนน้อยไชยา-ไจยา ” )

เป็นกระบวนฟ้อนชุดหนึ่งที่พระราชชายาฯ ทรงให้ประดิษฐ์ขึ้นเพื่อใช้ประกอบการแสดงละครเรื่อง น้อยไชยา (อ่าน “ น้อยไจญา ” คำว่า “ น้อย ” หมายถึงผู้ที่เคยบวชเป็นสามเณรมาแล้ว ส่วน “ ไจยา ” คือ ไชยา ตรงกับ “ ชัยยา ” ในภาษาภาคกลาง) ผู้ร่วมนิพนธ์ละครเรื่องนี้ คือท้าวสุนทรโวหาร เสนาแผนกอาลักษณ์ของเจ้าอินทวโรรสฯ ผู้ให้ทำนองคือ นายศรีหมื่น ช่างซอที่มีชื่อเสียงมากที่สุด มีเคหสถานอยู่ที่ข้างสถานีรถไฟนครเชียงใหม่ จึงได้รับสร้อยชื่อว่า “ ปลายราง ” (ยุคนั้นยังไม่มีการใช้นามสกุลเหมือนปัจจุบัน จึงใช้ “ สร้อย ” เพื่อจำแนกบุคคล) ผู้ประดิษฐ์ท่าฟ้อนเป็นแม่ครูในวังพระราชชายาฯ ผู้แสดงเป็นตัวน้อยไชยาชื่อนาย น้อย ชมพูรัตน์ ผู้แสดงเป็นตัวแว่นแก้ว ชื่อนาย บาง วาฤทธิ์ สิ่งที่ควรทราบอีกข้อหนึ่ง คือผู้แสดงคณะมหาดเล็กในพระองค์ทั้งหมดยกเว้นแม่ครูหลง บุญชูหลง เพียงคนเดียวที่เป็นหญิงและไม่ได้เป็นมหาดเล็ก แต่เป็น “ แม่ครูฟ้อน ” (บทบาทที่แม่ครูหลงแสดงคือ ตัวนางบัวคำ พี่เลี้ยงนางแว่นแก้ว)

วงดนตรีที่ใช้บรรเลงประกอบการแสดงในครั้งนี้เป็นวงผสมพิเศษ มีทั้งวงปี่พาทย์ไทย วงปี่ซอ หัวหน้าวงดนตรี คือ ครูรอด อกษรทับ และวงปี่ซอคณะ (นาย) ศรีหมื่น “ ปลายราง ” การแต่งกายของตัวละคร ฝ่ายชายนุ่งกางเกงแพร สวมเสื้อหม้อห้อม คาดผ้าขาวม้า ฝ่ายหญิงแต่งกายตามลักษณะนิยมสุภาพสตรีที่มีฐานะระดับสูง เพราะเป็นลูกสาวบุคคลที่มีตำแหน่งหน้าที่ระดับ “ พระญา ” เหมือนกัน ส่วนที่ฝ่ายชายแต่งเช่นนั้นเพราะมีฐานะทางเศรษฐกิจด้วยกว่าฝ่ายหญิง แม้บิดาจะมีตำแหน่งหน้าที่เป็น “ พระญา ” เหมือนกัน


  • ฟ้อนปั่นฝ้าย

ฟ้อนปั่นฝ้าย เป็นการฟ้อนแบบดั้งเดิมของช่างซอชายหญิงประกอบการขับซอตอน “ ลำบำ หรือระบำ ” (ซึ่งตรงกับภาษาภาคกลางว่า ทำนอง) ปั่นฝ้าย ซึ่งมีอยู่ในเขตจังหวัดน่าน แพร่และบริเวณใกล้เคียงเท่านั้น มักฟ้อนในขณะที่ช่างซอ(ร้อง) จบแต่ละท่อน แล้วทอดเสียงให้ช่างปี่หรือนักดนตรีบรรเลงรับท่าทางที่ฟ้อนเป็นการเลียนแบบ พฤติกรรมของชาวชนบท ปั่นฝ้าย ตีฝ้าย ปั่นไนฯ วงดนตรีที่ใช้บรรเลง ก็คือ วงปี่ชุม ที่ใช้บรรเลงประกอบการขับซอนั่นเอง แต่ต่างกันที่เครื่องดนตรีบางชิ้น เพราะวงดนตรีที่ใช้บรรเลงประกอบการขับซอของจังหวัดน่าน แพร่ และบริเวณใกล้เคียงเท่านั้น มักใช้สะล้อกับซึงเป็นหลัก อาจมี “ ปี่ ” บ้างแต่ไม่มีทั้ง “ ชุม ” (คือ 3 เล่มบ้าง 4 เล่มบ้าง 5 เล่มบ้าง) เหมือนวงซอในจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง

ทำนองเพลงซอปั่นฝ้ายและท่าฟ้อนซอปั่นฝ้ายนี้น่าจะเป็นต้นกำเนิดของฟ้อนสาวไหม เนื่องมาจากภาษาถิ่นล้านนาเรียกสิ่งที่ทำขึ้นเป็นเส้นโดยเฉพาะเส้นฝ้ายว่า ไหม (สำหรับไหมที่ได้จากรังไหมนั้นทั้งๆ มีระบุไว้ในธัมม์หรือคัมภีร์เรื่องนางอุทธรา ซึ่งคล้ายกับเรื่องปลาบู่ทองว่า การนำรังไหมมาต้มเพื่อกรอไหมนั้นมีบาป ทำให้นางอุทธราต้องถูกผลักลงในหม้อน้ำร้อน) ดังนั้น ชาวล้านนาจึงไม่นิยมใช้ไหมจากรังไหม

การแต่งกายสำหรับฟ้อนปั่นด้ายนั้น เป็นเครื่องแต่งกายชุดเดียวกับที่ใช้ในการขับซอ เพราะเป็นการฟ้อนโดยช่างซอชายหญิงเพื่อประกอบในการซอเท่านั้น