ชนเผ่ากะเหรี่ยง - เรื่องการทำไร่หมุนเวียน

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
04/12/2007
ที่มา: 
มูลนิธิกระจกเงา โครงการพิพิธภัณฑ์ชาวเขาออนไลน์ http://www.hilltribe.org

ชนเผ่ากระเหรี่ยง : การทำไร่หมุนเวียน

การทำไร่หมุนเวียน
ระบบการทำไร่ของชาวกะเหรี่ยง เป็นระบบการทำไร่ลักษณะหมุนเวียน โดยมีการหมุนเวียนใช้เวลาประมาณ 7- 10 ปีเพื่อ ทำให้ระบบนิเวศที่ถูกทำลายไปเหล่านั้น มีการฟื้นตัวกลับสู่สภาพเดิมมีการปลูกพืช หลายชนิดในไร่ เช่น พันธุ์ข้าวประมาณ 2 - 3 ชนิด ถั่วประมาณ 2-3 ชนิด แตงกวา ฟักทอง ฟักเขียว และเครื่องเทศหลายชนิด อย่างไรก็ตามชาวกะเหรี่ยง มีความเชื่อว่า การทำไร่เปรียบเสมือนการเหยียบบนท่อนไม้ไผ่ อันหมายถึง ความไม่แน่นอนในด้านผลผลิต ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับคุณภาพของดิน และสภาพดินฟ้าอากาศของแต่ละปี ในด้านเรื่องราวหรือตำนานที่เกี่ยวกับการทำไร่หมุนเวียนมีหลายเรื่อง เช่น หน่อ ส่อ ซริ (คนกับผี) จอ ปา จอ โผ่ แฆ (กษัตริย์กับยาจก) กอ แกละ (สิงห์โตกับเด็กสาว)

ขั้นตอนและวัฎจักรการทำไร่หมุนเวียน
1. การเลือกที่ถางไร่
ประมาณต้นเดือนกุมภาพันธ์ ชาวกะเหรี่ยงจะเริ่มต้นเลือกหาพื้นที่สำหรับถางไร่ ซึ่งหมายความว่าการผลิต และวงจรชีวิตเริ่มต้นในรอบปีใหม่มาถึงอีกครั้งหนึ่ง หลังจากได้พื้นที่แล้ว ก็จะทำเครื่องหมายเอาไว้ โดยจะทำเครื่องหมายกากบาทไว้ที่ต้นไม้ เพื่อแสดงให้รู้เห็นกันว่า พื้นที่ตรงนี้มีเจ้าของจับจองแล้ว กระบวนการคัดเลือกพื้นที่ทำไร่มีดังนี้
* ไม่เป็นพื้นที่ป่าต้องห้ามตามประเพณี
* ไม่เป็นข้อห้ามตามประเพณีในการเลือกพื้นที่ทำไร่
* ไม่มีลางบอกเหตุ
อีกประมาณหนึ่งสัปดาห์ถึงเวลาลงมือฟันไร่ ก่อนลงมือฟันไร่หัวหน้าครอบครัวจะอธิฐานภาวนามีใจความว่า "ผีเอ๋ยจงออกไป เทพยดาเอ๋ยจงออกไป ปัญหาอุปสรรค์เอ๋ยจงออกไปจากพื้นที่นี้ เพราะข้าจะฟันไร่และทำมาหากินที่นี่ เกรงว่าเจ้าจะไม่มีที่อยู่อาศัย ต้นไม้ตายให้แตกหน่อ ไม้ไผ่ตายให้แตกหน่อ เพราะนี่คือถิ่นที่บรรพบุรุษเคยทำมาหากินมาก่อน" จากนั้นจะลงมือฟันไร่สักหน่อยหนึ่งแล้วก็กลับบ้าน

2. การปลูกข้าวไร่

การทำมาหากินของชาวกะเหรี่ยงตามประเพณีจะมีการลงแขก เมื่อถึงเวลาหว่านข้าวก็จะไปช่วยกันให้เสร็จทีละครอบครัว การลงมือหว่านข้าวเจ้า ของไร่จะเตรียมพื้นที่สำหรับการปลูกแม่ข้าว โดยชายหนุ่มจะปักหลุมและหญิงสาวจะหยอดข้าว ชายหนุ่มผู้ซึ่งปักหลุมจะไม่สามารถหยอดข้าวได้เลย ในตลอดวันนั้น และหญิงสาวผู้ซึ่งหยอดข้าวจะไม่สามารถปักหลุมได้ เมื่อเสร็จแล้วหากยังมีเชื้อข้าวเหลืออยู่ในมือของผู้หยอดข้าว เจ้าของไร่จะบอกกับพวกเขา ให้เก็บรวมกันไว้ในกระชุ หญิงสาวผู้หยอดข้าวแรกจะหยิบมาหน่อยหนึ่ง แล้วหยอดเป็นหลุมสุดท้าย จากนั้นก็จะแยกย้ายกันกลับบ้าน

พิธีกรรมที่เกี่ยวข้อง
1. กินเชื้อข้าว
เชื้อข้าวที่เหลือจากการหว่านข้าวเจ้าของไร่จะกลับไปต้มเหล้า เรียกชายหนุ่มและหญิงสาวที่ปักหลุม และหยอดข้าวแรกมาดื่มด้วย พร้อมกับขอเชิญผู้เฒ่าผู้หนึ่งมาทำพิธีรินหัวเหล้าและอธิฐานขอพรจากเทพยดา ให้ลงมาดื่มหัวเหล้าและมาโปรดให้ข้าวเจริญงอกงามดี พิธีกรรมนี้เรียกว่า "พิธีกินเชื้อข้าว"

2. พิธีเลี้ยงผีไร่
เมื่อข้าวงอกงามเขียวชะอุ่มเต็มท้องไร่อายุประมาณ 2 เดือน จะมีพิธีอีกอย่างหนึ่งคือพิธีเลี้ยงไร่ พิธีเลี้ยงไร่มีพิธีย่อยอีกหลายพิธีแยกตามวัตถุประสงค์ ได้แก่พิธีเลี้ยงไร่ขอพร พิธีเลี้ยงไร่ปัดรังควาญ พิธีเลี้ยงไฟ พิธีเลี้ยงขวัญข้าว และพิธีเลี้ยงไร่ไล่ความชั่ว ทั้งหมดนี้จะใช้เครื่องเซ่นไหว้ และการทำพิธีจะเหมือนกัน แต่จะต่างกันที่คำอธิฐาน ซึ่งได้บ่งบอกถึงวัตถุประสงค์ของแต่ละพิธีเอาไว้

3. พิธีเลี้ยงผีไร่ขอพร
พิธี เลี้ยงไร่ขอพรเป็นพิธีย่อยขั้นแรก วัตถุประสงค์เพื่อขอพรจากเทพยดาให้ลงมาโปรดให้ข้าวงอกงามเจริญเติบโตและได้ ผลผลิตที่ดี เครื่องเซ่นไหว้ในพิธีประกอบด้วยไก่หนึ่งตัว เหล้าสองขวด หมากสองคำ บุหรี่สองมวน พริก เกลือและปูนขณะทำพิธีจะมีการอธิฐานดังนี้ "เจ้าแห่งโลกเจ้าแห่งแผ่นดินเอ๋ย วันนี้เลี้ยงท่าน โปรดลงมาดื่มหัวเหล้ากินหัวข้าวด้วยเถิด จงบันดาลให้ข้าวเจริญงอกงามดี เพื่อข้าและครอบครัวจะได้เป็นเจ้าของยุ้งเจ้าของฉางด้วยเถิด

4. พิธีเลี้ยงไร่ปัดรังควาญ
คำอธิฐานของพิธีกล่าวว่า " ไร่เอ๋ยขณะที่ข้าทำมาหากินบนเจ้าอาจจะมีสัตว์ป่า เก้งร้องทัก เสือร้องทัก งูเลื้อยผ่าน ตะขาบเลื้อยข้าม ทำให้เจ้าได้รับความเดือดร้อน วันนี้ข้ามาเลี้ยงปัดรังควาญให้เจ้า ให้เจ้าจงได้รับความสงบร่มเย็นกลับคืนมาด้วยเถิด"

5. พิธีเลี้ยงเทพอัคคี
คำอธิฐานของพิธีกล่าวว่า " ไฟเอ๋ย ใช้เจ้าให้เผาไหม้รอยมีดรอยขวาน ตนไม้นอนราบต้นไผ่นอนลง ทำให้เจ้ามีความรุ่มร้อน วันนี้ข้ามาเลี้ยงเจ้าให้สงบและเย็นลง อย่างได้ร้อนถึงข้าว อย่างได้ร้อนถึงพืชพรรณต่างๆในไร่เลย"

6. พิธีเลี้ยงเทพขวัญข้าว
คำอธิฐานของพิธีกล่าวว่า " ปรือ..ขวัญข้าวเอ๋ย จงกลับมาเถิด พันธุ์ข้าวสิบอย่าง พันธุ์ข้าวจากทิศเหนือ จากทิศไต้ ขอจงกลับมาวันนี้ กลับมาอยู่ในไร่กลับมาอยู่ในนา ให้กลับมาอุดมสมบรูณ์เต็มท้องไร่ด้วยเถิด

7. พิธีไล่ความชั่วในไร
คำอธิฐานของพิธีกล่าวว่า " ไร่เอ๋ย วันนี้ข้ามาเลิ้ยงเจ้าเพื่อปัดเป่าความชั่วร้ายให้หมดสิ้นไป ปัดเป่านก ปัดเป่าหนู ปัดเป่าปลวกให้ออกไป หากมีสิ่งใดมากินเจ้า ขอให้ความเหี่ยวเฉาจงตามสิ่งนั้นไปเถิด"

ปัจจุบัน
การทำไร่ในสมัยนี้เริ่มเลือนหายไปจากชนเผ่ากะเหรี่ยง เนื่องจากกะเหรี่ยงส่วนใหญ่ได้ยึดอาชีพทำนา และเมื่อมีความเจริญเข้ามามาก วิถีชีวิตแบบเก่าๆก็เริ่มจางหายไปตามกาลเวลา อาชีพใหม่ๆก็เริ่มมาบดบางความเป็นอดีตของชนเผ่ากะเหรี่ยง