วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
11/11/2008
ที่มา: 
เว็บไซต์ล้านนาคดี http://lanna.mju.ac.th/ "ทุกภาพ ทุกตัวอักษร มอบเป็นวิทยาทานแด่ทุกท่าน"

หมู่บ้านบ่อสร้าง

 

หมู่บ้านบ่อสร้าง เป็นที่รู้จักกันดีในหมู่นักท่องเที่ยวว่าเป็รแหล่งทำร่มที่ใหญ่ที่สุดใน จังหวัดเชียงใหม่ ที่ตั้งของหมู่บ้านคือตำบลต้นเปา อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ การเดินทางใช้ถนน สายเชียงใหม่ - สันกำแพง เป็นระยะทางประมาณ ๙ กิโลเมตร แล้วแยกซ้ายมือเข้าไปอีกประมาณ ๕๐๐ เมตร ในแง่ชื่อของหมู่บ้านนั้น ในภาษาเก่าบางแห่งเรียกบ่อน้ำว่า ส้าง หรือ บ่อส้าง อีกด้วย

ผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านเล่าว่าประมาณ ๑๐๐ ปีแล้ว ( นับจาก พ . ศ . ๒๕๔๐ ) พระธุดงค์องค์หนึ่งชื่อพระอินถา มีภูมิลำเนาอยู่ที่บ้านบ่อสร้าง ได้เดินธุดงค์ไปทางชายฝั่งสหภาพพม่า มีชาวพม่าผู้หนึ่งนำกลดถวาย เมื่อพระอินถาได้เห็นลักษณะของร่มดังกล่าวจากผู้ถวาย ได้ความว่า

สหภาพ พม่าทำร่มแบบนี้ใช้กันทั่วไป ท่านจึงไปศึกษาวิธีทำร่มและจดจำวิธีการทำอย่างละเอียด เพื่อนำมาเผยแพร่ในหมู่บ้านบ่อสร้างในเวลาต่อมา โดยเริ่มจากการสอนให้ผู้หญิงทำเป็นก่อนด้วยการนำกระดาษสามาหุ้มร่ม แล้วฝ่ายผู้ชายทำโครงร่มจากไม้บง ( ไม้ไผ่ชนิดหนึ่ง ) สำหรับหัวและตุ้มของร่มใช้ไม้ส้มเห็ด คันร่มใช้ไม้รวก ( ไผ่รวก ) และใช้ยางตะโกแทนกาว ก่อนที่จะใช้น้ำมันยางท่าทับบนกระดาษสามอีกครั้ง เพื่อกันแดดกันฝนตอนหลังจึงเปลี่ยนมาใช้น้ำมันบะหมื้อ ซึ่งคนจีนเรียกว่าน้ำมันตังอิ๊วกแทน เพราะนุ่มและทนกว่าน้ำมันยางมาก เมื่อนำไปผสมกับหาง ( ชาด - ยางไม้สีแดง ) ก็ได้ผลดีกว่าด้วย

นับแต่นั้นเป็นต้นมา ชาวบ้านอื่นมาเห็นเข้าก็เกิดความสนใจสั่งซื้อไปเป็นจำนวนมาก คนที่สนใจก็มาฝึกทำกันมากขึ้นด้วย อาชีพทำร่มในหมู่บ้านบ่อสร้างจึงกลายมาเป็นอาชีพเสริมรองจากการทำนา และกลายมาเป็นสิ่งที่สร้างชื่อเสียงให้หมู่บ้านบ่อสร้างจนถึงทุกวันนี้

จุดเด่นของการทำร่มที่หมู่บ้านบ่อสร้าง คือการเลือกใช้วัสดุถึง ๓ ชนิด ได้แก่ ผ้าฝ้าย ผ้าแพรและกระดาษสานอกจากนี้ตลอดสองข้างทางซึ่งเป็นทางผ่านไปยังหมู่บ้านบ่อ สร้างยังมีร้านค้าที่น่าสนใจอีกหลายแห่ง ซึ่งล้วนแล้วแต่มีชื่อเสียงในด้านการผลิตงานหัตกรรมท้องถิ่นอื่น ๆ อีกหลายอย่าง เช่น พัดขนาดน้อยใหญ่สีสันสดใสที่ทำจากผ้าหรือกระดาษสา ใช้ในการตกแต่งบ้านหรือชื้อไปเป็นของฝาก ผ้าไหม ผ้าฝ้าย เครื่องสังคโลก เครื่องเงิน เครื่องเขิน และไม้แกะสลัก เป็นต้น ซึ่งผลิตภัณฑ์เหล่านี้สามารถซื้อไปเป็นของฝากเป็นที่ประทับใจแก่ผู้รับ ดังนั้นในทุก ๆ ปี นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ จึงให้ความสนใจมาเยี่ยมชมและเลือกซื้อสินค้าพื้นเมืองเหล่านี้กันเป็นจำนวน มาก

แต่เดิมที่หมู่บ้านบ่อสร้าง นักท่องเที่ยวสามารถเดินชมขั้นตอนการผลิตร่มจากชาวบ้าน ซึ่งนิยมทำกันตามใต้ถุนบ้านได้อย่างใกล้ชิด แต่ปัจจุบันจะมีร้านค้าบางแห่ง เช่นศูนย์ร่มบ่อสร้างที่จัดสถานที่ภายในศูนย์ ให้ช่างนั่งเขียนภาพอยู่ในศูนย์นั้นเลย เพื่อให้สะดวกแก่นักท่องเที่ยวและเป็นการประหยัดเวลา นอกจากนี้ในร้านค้าเหล่านั้นโดยมากจะมีการบริการอธิบายขั้นตอนการทำร่มหรือ กระดาษสาให้แก่นักท่องเที่ยวที่สนในฟังระหว่างการเที่ยวชมหรือเลือกซื้อของ ด้วย

อนึ่งนอกจากบรรยากาศในหมู่บ้านหัตถกรรมแห่งนี้จะเปลี่ยนไปแล้ว วิธีการผลิตร่มก็เปลี่ยนไปด้วย เริ่มตั้งแต่กระดาษจีนที่เข้ามาแทนที่กระดาษสาเกือบสิ้นเชิง เพราะราคาถูกกว่า ไม่กินน้ำมันมาก ไม่ต้องทาสีและเขียนลายเพิ่ม เพราะทางโรงงานได้พิมพ์มาให้แล้ว ทว่าคุณภาพของกระดาษก็ด้อยไปตามราคาที่ต่ำกว่าเช่นกัน สำหรับกระดาษสาจะใช้รองเพียงชั้นแรกเท่านั้น ที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือ ชาวบ้านบ่อสร้างไม่ได้เป็นผู้ผลิตร่มตลอดทั้งกระบวนการเช่นแต่ก่อน ทว่าแบ่งส่วนประกอบ เช่น โครงร่มไปให้หมู่บ้านอื่นทำ แล้วส่งมาอีกทอดหนึ่ง โดยรับกระดาษจีนมาจากร้านอีกที หน้าที่จริง ๆ ของชาวบ้านผู้ผลิตร่มก็คือติดกระดาษเท่านั้น อย่างไรก็ตามในปัจจุบันทางสหกรณ์ร่มของบ่อสร้างได้ขยายกิจการไปตั้งสาขาผลิต และจำหน่ายที่จังหวัดภูเก็ตแล้ว

ทุกๆปีหมู่บ้านบ่อสร้างจะจัดงานประจำปีขึ้นในช่วงวันที่ ๑๕ – ๑๗ มกราคม โดยใช้ชื่อว่า ‘' งานเทศกาลร่มบ่อสร้าง '' ภายในงานจะมีการจัดแต่งขบวนรถด้วยงานหัตถกรรมนานาชนิดซึ่งเป็นสินค้าปประจำ หมู่บ้าน และในรถแต่ละคันจะมีสาวงามนั่งประจำอยู่ นอกจากนี้ยังมีขบวนของ


‘' แม่ญิงขี่รถถีบกางจ้อง '' มาช่วยเพิ่มสีสันและบรรยากาศของงานให้สดใสครึกครื้นขึ้นด้วย ที่สำคัญคือสินค้าต่าง ๆ ภายในงานจะมีให้เลือกซื้อกันอย่างจุใจในราคาที่ไม่แพงจนเกินไป ดังนั้นหมู่บ้านบ่อมร้างจึงยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่ง ในจังหวัดเชียงใหม่