วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
24/11/2008
ที่มา: 
เว็บไซต์ล้านนาคดี มหาวิทยาลัยแม่โจ้ http://lanna.mju.ac.th/ "ทุกภาพ ทุกตัวอักษร มอบเป็นวิทยาทานแด่ทุกท่าน"

เวียงกุมกาม


เวียงกุมกาม
เป็นชุมชนโบราณที่ตั้งอยู่ระหว่างเส้นละติจูดที่ ๑๘ํ ๔๔ ' ๔๔" เหนือ และเส้นลองจิจูดที่ ๙๙ํ ๐๐ ' ๓๔" ตะวันออก ตั้งอยู่บริเวณตำบลท่าวังตาล อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ห่างจากเมืองเชียงใหม่ประมาณ ๕ กิโลเมตร จากภาพถ่ายทาง อากาศ มาตราส่วน ๑ : ๕๐ , ๐๐๐ เวียงกุมกามมีรูปลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง ๖๐๐ เมตร ยาว ๑ , ๐๐๐ เมตร ขนานไปตามลำน้ำปิงสายเก่า ซึ่งเรียกกันว่า ปิงห่าง กล่าวคือเป็นบริเวณแม่น้ำปิงที่ถูกทิ้งร้าง อันเนื่องจากลำน้ำปิงเปลี่ยนทิศทาง ลักษณะของตัว เมืองวางแนวทะแยงจากทิศ ตะวันออกเฉียงใต้สู่ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ โดยกำแพงเมืองด้านเหนือเลียบปิงห่างและขุดคูเวียงทั้งสีด้าน ไขแม่น้ำปิงให้ไว้ในคูเวียง สภาพของเวียงกุมกามถูกทำลายไปมาก แต่ก็ยังพบร่องรอยของกำแพงเมืองซึ่งเป็นคันดิน และเห็นเป็น กำแพง ๒ ชั้น ตรงกลางระหว่าง กำแพงคั่นด้วยคูเมืองสำหรับกักเก็บน้ำไว้ใช้ภายในเมือง


จากรายงานการปฏิบัติงานทางโบราณคดี ณ ตำบลท่าวังตาล อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ของหน่วยศิลปากรที่ ๔ กองโบราณคดี กรมศิลปากร กระทรวงศึกษาธิการได้พบร่องรอยกำแพงเมือง ซากโบราณสถาน เศษเครื่องปั้นดินเผา ซากโบราณสถาน ได้มีการบูรณะ จากหน่วยศิลปากรที่ ๔ เช่น วิหารวัดกานโม ซึ่งถือเป็นวัดที่เป็นศูนย์กลางของเวียงกุมกาม วัดอีค่าง วัดปู่เปี้ย วัดธาตุขาว เป็นต้น

พัฒนาการของเวียงกุมกามนั้น น่าจะสันนิษฐานได้ว่า บริเวณที่ตั้งเวียงกุมกามนี้ที่น่าจะเป็นชุมชนที่เป็นบริเวณของ แคว้นหริภุญไชยมาก่อน ทั้งนี้เนื่องจากว่าผลการปฏิบัติงานทางโบราณคดีของหน่วยศิลปากรที่ ๔ ปรากฏว่าได้พบพระพิมพ์ดินเผา ศิลปะหริภุญไชยที่บริเวณใต้ฐานของสถูปด้านหลังวิหารโถงและซุ้มประสาท

เมื่อพญามังรายครองเมืองลำพูนได้ ๒ ปี ก็ย้ายมาสร้างเวียงกุมกามขึ้นในปี พ.ศ. ๑๘๓๗ และสร้างเรือนหลวงเป็น ที่ประทับ ตลาดเวียงกุมกามสำหรับเป็นที่ชุมชนการค้า สร้างเจดีย์กู่คำเป็นวัดแรกในเวียงกุมกามสำหรับบรรจุอัฐิมเหสี ลักษณะของเจดีย์กู่คำเป็น เจดีย์เหลี่ยมมีพระพุทธรูปด้านละ ๑๕ องค์ รวม ๖๐ องค์ เจดีย์กู่คำได้มีการบูรณะในปี พ.ศ. ๒๔๕๑ โดยหลวงโยนการพิจิตรได้ให้ ช่างชาวพม่าเป็นผู้บูรณะทำให้พระเจดีย์กลายเป็นศิลปะพม่าไปในที่สุดต่อมาได้ ทรงสร้างวัดกานโม ( วัดช้างค้ำ) วิหาร พระเจดีย์ พุทธรูปและปลูกต้นพระศรีมหาโพธิ์รวมทั้งกัลปนาผู้คนและที่ดิน วัดกานโมได้รับการอุปัมภ์จากกษัตริย์ราชวงศ์มังรายตลอดมา

ภายหลังฐานะของเวียงกุมกามเป็นเวียงบริวารของเมืองเชียงใหม่ ซึ่งกษัตริย์เชียงใหม่ได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยทรง ปกครองด้วยตนเอง ไม่ปรากฏว่าส่งโอรสหรือขุนนางใดไปปกครอง จนถึงสมัยพญาติโลกราช เวียงกุมกามได้เปลี่ยนเป็นพันนา กุมกาม ขึ้นตรงต่อเมืองเชียงใหม่ ทรงแต่งตั้งขุนนางไปปกครองพันนากุมกาม ซึ่งผู้ปกครองพันนากุมกามมีความใกล้ชิดต่อพญาติโลกราชเป็น อย่างมาก ประกอบกับเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการช่างและโหราศาสตร์เป็นที่ยิ่งดังนั้นกุม กามจึงเป็นเสมือนเมืองด้านหน้าด่านของเมือง เชียงใหม่ ซึ่งกษัตริย์เชียงใหม่จำเป็นจะต้องให้อยู่ในอำนาจให้ได้ เมื่อเมืองเชียงใหม่อยู่ภายใต้อิทธิพล พม่าในระยะต่อมาเวียงกุมกาม ก็คงจะมีลักษณะเดียวกัน

จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๓๑๙ - ๒๓๓๙ เวียงกุมกามกลายเป็นเมืองร้าง ชื่อที่ปรากฏในภายหลังจึงเป็นท่าวังตาล ซึ่งพระเจ้าตากสิน ได้ยกทัพมาตั้งมั่นอยู่ เพื่อมาช่วยพระยาจ่าบ้านและพระเจ้ากาวิละต่อสู้กับพม่า ซึ่งยึดครองเชียงใหม่อยู่ ช่วงสมัยพระเจ้ากาวิละท่าวังตาลจึงเป็นแต่เพียงท่าน้ำที่สำคัญ ซึ่งเมื่อพระเจ้ากาวิละเดินทางกลับมากรุงเทพฯ ก็จะพักค้างคืน ที่ท่าวังตาลก่อนเข้าเมืองเชียงใหม่ และเมื่อจะเดินทางไปกรุงเทพฯ ก็จะขึ้นเรือที่ท่าวังตาลเรื่องราวของท่าวังตาล ในระยะต่อมาใช้เป็นที่ประหารนักโทษของเชียงใหม่ใน สมัยพระเจ้าอินทรวิชยานนท์ (พ.ศ. ๒๔๑๖ - พ.ศ. ๒๔๓๙) ท่าวังตาลหมดความสำคัญลงไปเมื่อรถไฟมาถึงเชียงใหม่ใน พ.ศ. ๒๔๖๔