วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
24/11/2008
ที่มา: 
เว็บไซต์ล้านนาคดี มหาวิทยาลัยแม่โจ้ http://lanna.mju.ac.th/ "ทุกภาพ ทุกตัวอักษร มอบเป็นวิทยาทานแด่ทุกท่าน"

พระตำหนักดอยตุง


พระตำหนักดอยตุง เคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้รับการก่อสร้างขึ้นตามแนวพระราชดำริของพระองค์ และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

การก่อสร้างพระตำหนักดอยตุง เริ่มขึ้นเมื่อสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงมีพระชนมายุได้ ๘๘ พระชันษา โดยลักษณะการก่อสร้างเป็นการผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมล้านนา บ้านปีกไม้ และบ้านแบบพื้นเมืองของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ มี ๒ ชั้น และชั้นลอยที่ประทับ ชั้นบนแยกเป็น ๔ ส่วน ทว่าเชื่อมเป็นอาคารหลังเดียวกันเสมอกับลานกว้างของยอดเนินเขา

  

อนึ่งชั้นบนที่แยกออกเป็น ๔ ส่วนนั้น ได้แก่ ที่ประทับของสมเด็จพระศรีนคริทราบรมราชชนนี ซึ่งประกอบด้วยห้องพระโรง และห้องเตรียมพระกระยาหาร นอกจากนี้ เป็นห้องท่านผู้หญิงทัศนาวลัยฯ และที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

สำหรับชั้นล่าง ซึ่งสร้างให้เกาะไปตามไหล่เขา ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เป็นที่อยู่ของข้าราชบริพาร ด้านนอกพระตำหนักมีเชิงชายไม้แกะสลักเป็นลายพื้นเมือง เรียกว่า “ ลายเมฆไหล ” เหนือหลังคามีกาแลลงรักปิดทอง ๑๔ คู่ แยกเป็นลายพรรณพฤกษาแบบล้านนา ๒ คู่ อีก ๑๒ คู่ เป็นลวดลายพฤกษาสลับกับสัตว์ทั้ง ๑๒ ราศี อันเป็นตัวแทนของแต่ละปีในรอบนักษัตร

นอกจากนี้ที่บานทวารเข้าพระตำหนัก มีลวดลายรูปพระอาทิตย์ฉายแสง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพลังอันแก่กล้าเหนือบานประตูเป็นภาพต้นไม้ทิพย์และหมู่ วิหค ทางมุมซ้ายเป็นรูปนกเค้าแมวคอยดูแลสอดส่อง มิให้สิ่งชั่วร้ายเล็ดลอดเข้าไปในพระตำหนักได้ ที่กรอบทวารมีข้อความว่า “ สรีสวัสสดี พุทธศักราช ๒๕๓๑ ” อนึ่ง บนหลังคาพระตำหนัก มีท่อน้ำฝนทำจากเครื่องปั้นดินเผาชนิดไม่เคลือบ รูปหัวเหรา ปลา กบ สลับกับพญานาค

ภายในพระตำหนักใช้ไม้สนภูเขาบุผนัง พื้นเป็นไม้สักทอง ซึ่งองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์น้อมเกลาฯ ถวาย สำหรับผนังในท้องพระโรง ประดับด้วยภาพวาดสีน้ำมันขนาดใหญ่ ๓ ภาพ ภาพแรกชื่อ “ ตำนานดอยตุง ” ศิลปินคือ นายปัญญา ไชยะคำ สองภาพหลังชื่อ “ ยามตะวันชิงพลบ ” และ “ ดอยตุงยามราตรีสงัด ” ฝีมือของนาย บรรณรักษ์ นาคบรรลังค์

ส่วนของเพดานท้องพระโรง ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สมาคมดาราศาสตร์แห่งประเทศไทยออกแบบแกะสลักเป็นสุริยจักรวาลประกอบด้วย กลุ่มดาวในระบบสุริยะเรียงรายกันไปตามองศาของวันที่ ๒๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๔๓ อันเป็นวันพระราชสมภพรวมทั้งรูปดาวนพเคราะห์กลุ่มต่างๆ ซึ่งทรงเลือกมารวบรวมไว้ด้วยพระองค์เอง

ฝาผนังท้องพระโรงด้านหนึ่ง บุด้วยผ้าปักรูปดอกไม้นานาพันธุ์บนผ้าไหม ซึ่งชาวบ้านอำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ น้อมเกล้าฯ ถวาย ส่วนอีกด้านหนึ่งแขวนผ้าปักครอสติสรูปดอกไม้จากฝีพระหัตถ์ของพระองค์

นอกจากนี้บริเวณด้านหน้าของพระตำหนักยังมีสวนดอกไม้ประดับนานาพันธุ์ เรียกว่า “ สวนแม่ฟ้าหลวง ” มีเนื้อที่ประมาณ ๑๐ ไร่ ออกแบบรูปทรงเป็นลายผ้าพื้นเมืองเหนือด้วยการปลูกไม้ดอกเมืองหนาวหลากหลาย พันธุ์ เปิดให้ประชาชนเข้าชมได้โดยเก็บค่าบำรุง