วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
24/11/2008
ที่มา: 
เว็บไซต์ล้านนาคดี มหาวิทยาลัยแม่โจ้ http://lanna.mju.ac.th/ "ทุกภาพ ทุกตัวอักษร มอบเป็นวิทยาทานแด่ทุกท่าน"

พระธาตุหิริภุญชัย

 
วัดพระธาตุหิริภุญชัย นับ เป็นวัดหลวงมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๗ ดังนั้นจากระยะเวลาที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันทำให้วัดนี้เป็นแหล่งสะสมศิลปกรรม มาหลายยุคหลายสมัย และหลายรูปแบบ สิ่งสำคัญที่สุดของวัดนี้ซึ่งถือว่าเป็นหลักหรือเป็นศูนย์กลางของวัดคือ องค์พระบรมธาตุเจ้าหิริภุญชัย ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสามรีริกธาตุขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ประวัติความเป็นมา
ของพระบรมธาตุเจ้าหริภุญชัยในตอนต้นนั้น ได้มีการกล่าวถึงพระพุทธเจ้าเสด็จมาบิณฑบาตยังชัยภูมิซึ่งเป็นชุมชนที่อยู่ ของชาวเม็ง เมื่อรับบิณฑบาตแล้วได้เสด็จเลียบฝั่งแม่น้ำระมิงค์ขึ้นไปทางทิศเหนือจนถึง สถานที่แห่งหนึ่ง พระพุทธองค์มีพระราชประสงค์ที่จะประทับนั่ง ก็ปรากฏหินก้อนหนึ่งโผล่ขึ้นมาจากพื้นดิน พระพุทธองค์ทรงวางบาตรแล้วประทับบนหินก้อนนั้น ในขณะนั้นมี พระญาชมพูนคราช และ พระญากาเผือก ออก มาอุปัฏฐากพระองค์ และชาวลวะผู้หนึ่งนำหมากสมอมาถวายพระองค์ เมื่อพระองค์เสวยแล้วทรงทิ้งเมล็ดหมากสมอลงบนพื้นดิน เมล็ดหมากสมอได้ทำประทักษิณ ๓ รอบ พระพุทธองค์ทรงมีพุทธทำนายว่า สถานที่แห่งนี้ต่อไปในอนาคตจะเป็นที่ตั้งของ “ นครหริภุญชัยบุรี ” และสถานที่แห่งนี้จะเป็นที่ประดิษฐาน “ พระสุวรรณเจดีย์ ” และหลังจากที่พระองค์นิพพานแล้ว จะมีพระบรมสารีริกธาตุเป็นต้นว่า ธาตุกระหม่อม ธาตุกระดูกอก ธาตุกระดูกนิ้วมือ และ ธาตุย่อยอีกเต็มบาตรหนึ่ง มา ประดิษฐานอยู่ ณ ที่นี้ด้วย หลังจากทรงมีพุทธพยากรณ์แล้ว พระอรหันต์ พระญาอโศก พระญาชมพูนาคราช และพระญากาเผือก จึงพร้อมกันกราบบังคมทูลขอ “ พระเกศธาตุ ” จาก พระพุทธองค์ซึ่งทรงใช้พระหัตถ์เบื้องขวาลูบพระเศียรประทานให้เส้นหนึ่ง ดังนั้นพระอรหันต์และพระญาทั้งสามได้นำเอาพระเกศธาตุใส่ไว้ในกระบอกไม้รวก บรรจุในโกศแก้วใหญ่ ๓ กำ นำไปบรรจุไว้ในถ้ำใต้ที่ประทับนั้น พระพุทธองค์พร้อมด้วยพระอรหันต์ทั้งหลายจึงเสด็จกลับพาราณสี ส่วนหินก้อนที่พระพุทธองค์ประทับนั้นก็จมลงไปในแผ่นดินเหมือนเดิม โดยชมพูนาคราชและพระญากาเผือกได้ทำหน้าที่เฝ้าพระเกศธาตุนั้น

กาลเวลาล่วงมาจนถึงปีจุลศักราช ๒๓๘ พระพุทธศาสนาล่วงไปได้ ๑ , ๔๒๐ ปี พระญาอาทิตยราชได้ครองเมืองหริภุญชัย พระองค์โปรดฯ ให้สร้างปราสาทราชมณเฑียรเป็นที่ประทับ ครั้นเสร็จแล้ว พระองค์ก็เข้าประทับอยู่ภายในปราสาทราชมณเฑียรแห่งนั้น อยู่มาวันหนึ่งพระองค์เสด็จไปสู่ห้องทรงพระบังคน ปรากฏมีกาตัวหนึ่งได้บินโฉบลงมาเป็นทำนองกันไม่ให้พระองค์เข้าไปถึงฐานนั้น ได้ ด้วยความกริ้วพระองค์จึงต้องย้ายไปใช้ห้องทรงพระบังคนแห่งอื่น และทรงมีกระแสรับสั่งให้จับกาตัวการนั้นมาฆ่าเสีย แต่เทวดาได้ดลใจให้อำมาตย์ผู้หนึ่งทัดทานไว้เพราะสงสัยในพฤติกรรมของกานั้น

คืนนั้นยามใกล้รุ่ง เทวดาผู้รักษาพระเกศธาตุได้สำแดงฤทธิ์มาในพระสุบิน ถวายคำแนะนำให้พระองค์นำทารกมาอยู่กับกา ๗ วัน และอยู่กับคน ๗ วัน เป็นเวลา ๗ ปี เมื่อถึงเวลานั้นเด็กก็จะสามารถแปลภาษากาให้คนได้รับทราบเหตุการณ์อันเป็น ปริศนานั้นได้โดยชัดแจ้ง ครั้นพระญาอาทิตยราชทรงทราบเรื่องราวเกี่ยวกับพระเกศธาตุโดยละเอียด จึงโปรดฯ ให้เชิญพระญากาเผือกซึ่งเป็นปู่ของกาดังกล่าวมาสู่ปราสาท โดยพระองค์โปรดฯ ให้จัดสถานที่สำหรับต้อนรับพระญากาเผือกอย่างสมฐานะพระญาแห่งกาทั้งปวง พระญากาเผือกจึงเล่าเรื่องถวายดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น พระญาอาทิตยราชทรงมีพระราชหฤทัยอภิรมย์ยินดีเป็นอย่างยิ่ง จึงตรัสสั่งให้รื้อราชมณเฑียรทั้งปวงออกไปจากสถานที่แห่งนั้นจนหมดสิ้นแล้ว โปรดฯ ให้ปรับพื้นที่อันเป็นมงคลนั้นให้เรียบงามตา พระองค์โปรดฯ ให้พระสงฆ์สวดพระปริตรมงคล เพื่ออาราธนาพระบรมธาตุให้ออกมาปรากฏ พระธาตุก็สำแดงฤทธาภินิหาร โผล่ขึ้นมาพ้นแผ่นดินทั้งโกศแก้วลอยขึ้นไปในอากาศสูงเท่าต้นตาล พระบรมธาตุได้เปล่งฉัพพรรณรังสีเจิดจ้าไปทั่วนครหริภุญชัย เป็นเวลา ๗ วัน ๗ คืน แล้วจึงลอยลงมาประดิษฐานบนแผ่นดินดังเดิม พระญาอาทิตยราชโปรดฯ ให้ขุดเอาโกศบรรจุพระธาตุขึ้นมา แต่ยิ่งขุดโกศนั้นก็ยิ่งจมลงไป พระองค์จึงต้องบูชาอาราธนาพระธาตุจึงได้ยอมลอยขึ้นมาสูงถึง ๓ ศอก

พระญาอาทิตยราชโปรดฯ ให้สร้างโกศทองคำหนัก ๓ , ๐๐๐ คำ สูง ๓ ศอก ประดับประดาไปด้วยแก้วทั้ง ๗ ประการครอบโกศพระธาตุของพระพุทธเจ้านั้น แล้วโปรดฯให้สร้างมณฑปปราสาทสำหรับเป็นที่ประดิษฐานพระบรมะาตุเจ้าอีกด้วย สถานที่แห่งนั้นจึงได้แปรสภาพมาเป็นปูชนียสถานสำหรับชาวเมืองหริภุญชัยแต่ นั้นมา และมีฐานะเป็นพระอารามหลวงที่กษัตริย์ผู้ครองนครหริภุญชัยต้องถือเป็นราช ประเพณีที่จะต้องคอยดูแลเอาพระทัยใส่รักษาบูชาพระบรมธาตุอย่างดี

เมื่อ พระญากือนาครองเมืองเชียงใหม่ พระองค์ได้ปฏิบัติตามราชประเพณีที่จะต้องทำนุบำรุงพระบรมธาตุเฉกเช่นพระบูรพ กษัตริย์ทุกพระองค์ พระองค์จึงทรงตั้งสัตย์อธิษฐานปล่อยช้างมงคลชื่อ พู้ไชยหนองแขม ให้ออกไปหาดินแดนถวายพระธาตุ ได้ดินแดนมามากมายดังนี้

“ ช้างเชือกนั้นก็กระหวัดแปรไปทิศใต้ฟากน้ำแม่ระมิงค์ด้านตะวันตกไปถึงสบล้อ งงัวเฒ่า เกี้ยวไปข้ามสบแม่ทาน้อยแผวแสนข้าวน้อย ( ฉางข้าวน้อย ) ฟากน้ำแม่ทาฝ่ายตะวันตกถึงหนองสร้อยและสบห้วยปลายปืน แล้วไปกิ่วปลีดอยละคะแล้วถึงบ้านยางเพียง ไปดอยถ้ำโหยด ดอยเด็ดสอง ถึงดอยมดง่าม และดอยอี่หุยฝ่ายใต้ ลงคาวหาง ( ทุ่งข้าวหาง ) แล้วไปดอยแดนขุนแม ขุนกอง ลงไปถึงแม่ขุนยอด ไปม่อนมหากัจจายน์ ฝ่ายเวียงทะมอฝ่ายตะวันตก เกี้ยวขึ้นมาทางแปหลวงมาผีปันน้ำ ถึงกิ่วขามป้อมหินฝั่ง ถึงขุนแม่อี่เราะแล้วไปถึงขุนแม่ลานลงมาแม่ออน ล่องแม่ออนมาถึงสบแม่ออนแล้วกินผ่าเวียงกุมกามกลับมาถึงป่าจรดกับปล่อยตอน แรก ”

ในสมัยของพระเจ้าติโลกราช พระองค์โปรดให้ก่อพระมหาเจดีย์เจ้าองค์ที่เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้ โดยร่วมกับพระมหาเมธังกร ในปีดับเปล้า ( ปีฉลู ) เดือน ๘ ( เหนือ ) ออกค่ำวันพุธ พระจันทร์เสวยฤกษ์ที่ ๒๒ ชื่อุตราสาฒะจนถึงปีรวายยี ( ปีขาล ) จุลศักราช ๘๐๘ พระพุทธศาสนาล่วงแล้วได้ ๑ , ๙๙๐ ปี เดือนวิสาขะ ออก ๓ ค่ำ วันอังคาร ไทยกดสง้านับได้ ๖ เดือน จึงสำเร็จบริบูรณ์ พระเจดีย์องค์นี้ตีนฐานมนกว้าง ๑๒ วาครึ่ง สูงแต่ใจกลางขึ้นไป ๓๒ วา มีฉัตร ๗ ใบ เมื่อเสร็จแล้วก็โปรดให้มีการสวดปริตรมงคลและพุทธาภิเษกฉลองอบรมพระมหา เจดีย์องค์นี้ และจัดให้มีการมหรสพฉลอง ๗ วัน ๗ คืน ฝ่ายพระมหาเมธังกรก็โปรดเกล้าฯ สถาปนาพระราชทานนามเป็น “ อตุลสัตตยาธิกรณมหาสวามีเมธังกร ” และโปรดฯ ให้พำนักอยู่ที่ “ สังฆาราม ” ที่พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้สร้างอยู่ทางทิศใต้เวียงลำพูน

ความงามของพระบรมธาตุนั้น กวีผู้แต่งนิราศหริภุญชัย ได้พรรณาเอาไว้ในงานกวีนิพนธ์นี้ว่า

 

มหาชินธาตุเจ้า                      เจดีย์

เหมือนแท่งทิพย์สิงคี               คู่เพี้ยง

ฉัตรคำคาดมณี                      ควรค่า เมืองเอ่

เปลวเปล่งดินฟ้าเสี้ยง              สว่างเท้าอัมพเร

เจดีย์ชินธาตุเจ้า                    ศรีสถาน

โสภิตพะงาปาน                    เกษเกล้า

ทัศมนมิพอปาน                    พอคู่ ครบเอ่

ฦาเลิศไตรทิศเท้า                 เท่าเว้นจุฑาศรี

มหาชินธาตุเจ้า                  จอมจักร

เปนปิ่นทสลักขณ์               เลิศหล้า
 
เลงแลมิใครทัก                  เทียมแทก ได้เอ่

เทียมแทกวางไว้ฟ้า             ฟากฟ้าดาวดึงส์

ระวังเวียงแวดชั้น               สมสอง สว่างเอ่

ทุกแจ่งเฉลิมฉัตรทอง          แทกเอื้อม

พิหารสี่หลังยอง                ยังเงื่อน งามเอ่

เทียมระวังซ้อนเซื้อม           สี่ด้านเถิงตรู

ฯลฯ
        

ในปี ๒๔๗๒ เจ้าจักรคำขจรศักดิ์ เจ้าผู้ครองนครลำพูนคนที่ ๑๐ ได้อาราธนา ครูบาธรรมชัย จากวัด ประตูป่ามาทำการรื้อทองจังโกที่หุ้มองค์พระธาตุมาแต่เดิมออก และทำการบูรณะใหม่ โดยการหุ้มแผ่นทองเหลืององค์พระธาตุตลอดทั้งองค์แล้วเสร็จสมบูรณ์ในปี พ . ศ . ๒๕๐๐

ในปี พ. ศ. ๒๔๘๑ ได้มีการว่าจ้างช่างทองมาทำการหลอมไล่เอาทองคำแยกออกจากแผ่นทองจังโก เพื่อนำออกขาย นำเงินมาเก็บเป็นสมบัติของพระธาตุ เงินส่วนหนึ่งนั้นได้มีการนำไปซื้อที่ดินบริเวณห้องแถวหน้าตลาดสดเก่ากลาง เมืองลำพูน เพื่อใช้สำหรับเก็บผลประโยชน์สำหรับมาบำรุงพระธาตุ

องค์พระบรมธาตุหริภุญชัยมีรั้วทองเหลืองล้อมรอบ ๒ ชั้นทั้งสี่ด้าน โดยรั้วดั้งเดิมนั้นพระเมืองแก้วโปรดให้นำมาจากเมืองเชียงแสน ต่อมาในปี พ. ศ. ๒๓๒๙ พระเจ้ากาวิละได้มาบูรณะใหม่พร้อมกับให้สร้างฉัตรหลวงตั้งไว้ที่มุมทั้งสี่ ของรั้วที่ล้อมองค์พระธาตุ จากนั้นในปี พ. ศ. ๒๓๓๔ พระเจ้ากาวิละพร้อมกับน้องทุกคนได้ร่วมกันสร้าง “ หอยอ ” คือวิหารทิศประจำทิศทั้ง ๔ ด้าน และได้หล่อพระพุทธรูปองค์หนึ่งเพื่อประดิษฐานไว้ในวิหารด้านเหนือพระธาตุ เป็นพระพุทธรูปปางอุ้มบาตร ให้ชื่อว่า พระละโว้