วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
26/11/2008
ที่มา: 
ประเพณีไทยดอทคอม http://www.prapayneethai.com/

ลากพระ

ภาค     ภาคใต้
จังหวัด     สุราษฎร์ธานี
ช่วงเวลา วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑

  • ความสำคัญ

ลากพระเป็นพิธีบุญอย่างหนึ่งของชาวจังหวัดสุราษฎร์ธานีและชาวปักษ์ใต้ที่ กระทำสืบต่อกัน มาตั้งแต่โบราณกาล จนกระทั่งปัจจุบันนี้ สำหรับจังหวัดสุราษฎร์ธานีถือว่า ประเพณีนี้มีความสำคัญและยิ่งใหญ่กว่าประเพณีใด ๆ ที่จัดขึ้นในจังหวัดทั้งสิ้น โดยเฉพาะที่อำเภอเมืองจะมีลากพระบกและพระน้ำ กำหนดการลากพระ คือ วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ของทุกปีเป็นวันที่พระสงฆ์ ออกพรรษา หรือที่เรียกว่า "วันปวารณา

  • พิธีกรรม

ก่อนการลากพระ ๑๐-๑๕ วัน ชาวบ้านและชาววัดจะช่วยกันจัดเตรียมทำเรือพระสำหรับที่จะลากกันอย่างหรูหรา ข้างบนทำเป็นบุษบกสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูป ในช่วงเวลาก่อนถึงวันชักพระนี้จะมีการ "คุมโพน" หรือ "คุมพระ" คือการประโคม ฆ้อง กลอง ตะโพน เพื่อเป็นการซ้อมหรืออุ่นเครื่อง และเป็นการสร้างบรรยากาศอันคึกคักให้ชาวบ้านได้เตรียมตัวสำหรับกาลอันสำคัญ นี้
เรือพระบกแต่เดิมจะมีตัวไม้ใหญ่ ๒ อัน วางรองเป็นที่สร้างบุษบก การลากพระจึงเป็นการลากจริง ๆ ปัจจุบันใช้รถยนต์แทน การลากพระบกจะลากผ่านหมู่บ้าน จากวัดหนึ่งไปยังอีกวัดหนึ่ง หรือไปยังที่ชุมนุมเรือพระ ส่วนเรือพระน้ำจะทำเป็นแพโดยใช้เรือ ๑-๓ ลำ เป็นที่ตั้งของแพสำหรับลากไปในแม่น้ำลำคลองหรือทะเล

ในวันชักพระ คือ วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ตอนเช้าตรู่ชาวบ้านจะพากันไปทำบุญตักบาตรหน้าเรือพระเมื่อพระสงฆ์ฉัน ภัตตาหารแล้วจะเริ่มชักพระไปสู่ที่ชุมนุมเรือพระ ในอำเภอเมืองสุราษฎร์ธานีเรือพระจะมาชุมนุมกันที่ริมแม่น้ำตาปี บริเวณท่าเรือเกาะสมุย เมื่อพระสงฆ์ฉันเพลแล้วจะมีการ "ซัดต้ม" ซึ่งเป็นเกมการแข่งขันปากันด้วยต้ม นอกจากนั้นในจังหวัดนี้ยังมีการ "แข่งเรือ" ตามปกติเรือพระจะกลับวัดในตอนเย็นของวันชักพระ แต่สำหรับในจังหวัดสุราษฎร์ธานี หลังจากมีการสมโภช ๑ คืนแล้ว เรือพระจะยังคงอยู่เพื่อให้ชาวบ้านไปทำบุญ ๓-๔ วัน จึงจะกลับวัด