วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
26/11/2008
ที่มา: 
ประเพณีไทยดอทคอม http://www.prapayneethai.com/

พุ่มผ้าป่า

ภาค     ภาคใต้
จังหวัด     สุราษฎร์ธานี
ช่วงเวลา คืนวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑

  • ความสำคัญ

ประเพณีทำพุ่มผ้าป่าหรือทอดผ้าป่า กระทำควบคู่กับประเพณีลากพระ ประเพณีนี้จะทำในคืนซึ่งในวันรุ่งขึ้นจะมีประเพณีลากพระ มีทำกันเฉพาะในอำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานีเท่านั้น แท้จริงตั้งแต่เดิมมาประเพณีนี้เป็นพิธีหนึ่งทางพุทธศาสนา ที่กระทำต่อกันมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล คือพระพุทธองค์อนุญาตให้พระภิกษุสงฆ์แสวงหาผ้าบังสกุล คือ ผ้าเปื้อนฝุ่นที่ไม่มีเจ้าของ ที่ทิ้งอยู่ตามป่าดงบ้าง ห่อศพไว้ตามป่าช้าบ้าง หรือเศษผ้าที่ทิ้งอยู่ตามถนนหนทางบ้าง นำมาซักตัดเย็บด้วยตนเองใช้เป็นจีวร ต่อมาเมื่อบรรดาพุทธศาสนิกชนสมัยนั้นเห็นความลำบากของพระภิกษุ จึงได้นำผ้าดีๆ ไปแขวนทิ้งไว้ตามริมทางหรือตามป่าช้าข้างทางที่พระจะผ่านไปมา เพื่อพระจะได้นำไปใช้ประโยชน์

  • พิธีกรรม

ประเพณีทำพุ่มผ้าป่าที่ทำกันในจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยเฉพาะในอำเภอเมืองฯ ในการจัดพุ่มผ้าป่าจะจัดไว้ที่หน้าบ้านของตน โดยใช้ต้นไม้หรือกิ่งไม้ปักไว้ที่ดังกล่าวตั้งแต่หัวค่ำของคืนวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ อาคารบ้านเรือนและร้านค้าจะจัดพุ่มผ้าป่ากันอย่างสวยงาม บางบ้านที่มีกำลังทรัพย์มีกำลังคนมาก นอกจากจะมีต้นไม้หรือกิ่งไม้ไว้แล้วจะมีผ้าเหลือง ๑ ผืนห้อยไว้ และมีสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นสำหรับพระภิกษุนำมาผูกไว้ที่กิ่งไม้ด้วย เช่น ปิ่นโต ธูป เทียน ยาสีฟัน ไม้ขีด น้ำมัน และยังจัดเป็นซุ้ม โดยจัดเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับ พุทธประวัติ ชาดก สวรรค์ นรก และอื่น ๆ อย่างวิจิตรงดงาม ส่วนผู้ที่มีทุนน้อยก็จะจัดตามกำลังทรัพย์ของตน การจัดพุ่มจะเสร็จเรียบร้อยก็ประมาณเที่ยงคืน หลังจากนั้นจะมีประชาชนเที่ยวเดินชมพุ่มผ่าป่ากันเป็นหมู่ ๆ จนกระทั่งสว่าง

ในเวลารุ่งเช้าของวันแรม ๑ ค่ำ ประมาณ ๕.๓๐ นาฬิกา พระภิกษุจำนวนเท่ากับพุ่มผ้าป่าจากวัดต่าง ๆ จะจาริกไปยังพุ่มผ้าป่าตามสลากที่ได้รับ ครั้นเวลา ๖.๐๐ - ๖.๓๐ นาฬิกา ก็จะทำพิธีชักผ้า โดยเจ้าของพุ่มและประชาชนที่ร่วมทำบุญกับผ้าป่าจะนั่งลง พนมมือตรงไปยังพุ่มผ้าป่าด้านหน้าตน เมื่อพระภิกษุชักผ้าเสร็จแล้วก็เป็นอันเสร็จพิธี หลังจากนั้นพระภิกษุจะจาริกกลับวัด

ประเพณีจัดพุ่มผ้าป่าเป็นประเพณีที่แสดงออกถึงความเจริญทางวัฒนธรรมของชาว จังหวัดสุราษฎร์ธานีประเพณีหนึ่ง มีปฏิบัติกันเฉพาะในเมืองนี้เท่านั้น เป็นประเพณีที่ควรส่งเสริมเผยแพร่ให้คงอยู่สืบไป