วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
26/11/2008
ที่มา: 
ประเพณีไทยดอทคอม http://www.prapayneethai.com/

สวดมาลัย

ภาค      ภาคใต้
จังหวัด   สุราษฎร์ธานี
ช่วงเวลา สวดในงานศพ

  • ความสำคัญ

ประเพณีการสวดมาลัยเป็นประเพณีประจำงานศพ แต่เดิมพระเป็นผู้สวดซึ่งสวดหลังจากการสวดมนต์แล้ว พระที่สวดมีจำนวน ๔ รูป หรือ ๑ เตียง ใช้ตาลปัตรบังหน้า บทสวดได้จากหนังสือมาลัย หรือเรียกว่า พระมาลัยคำสวด หนังสือดังกล่าวนี้ เป็นสมุดข่อยหรือสมุดไทย ยาวเกือบ ๑ เมตร ตัวอักษรที่บันทึกใช้ขอมไทยโดยมีขอมบาลีแทรกบ้าง มักมีภาพประกอบอย่างสวยงาม เนื้อเรื่องเป็นธรรมะสั่งสอนให้ผู้ฟังกลัวบาป
ประเพณีสวดมาลัยนอกจากมีจุดมุ่งหมายเพื่ออบรมสั่งสอนแล้ว ยังมุ่งให้เป็นรายการแสดงแก้ความเงียบเหงาในขณะที่เฝ้าศพและเพื่อไม่ให้เจ้า ภาพหรือญาติผู้ตายเศร้าโศกเกินไปด้วย

  • พิธีกรรม

ผู้สวดมาลัยคณะหนึ่งเรียกว่า "วงมาลัย" วงหนึ่ง ๆ ที่พอเหมาะควรจะมี ๔-๖ คน เป็นแม่เพลง ๒ คน เรียกว่า "แม่คู่" หรือ "ต้นเพลง" ส่วนที่เกินเป็น "ลูกคู่" หรือ "คู่หู" ลูกคู่มีหน้าที่ร้องรับ การสวดของแม่เพลงนั้นจะต้องมีการแสดงท่าประกอบด้วย โดยทุกคนในวงจะร่วมกันแสดงท่าและเสียงประกอบให้เหมาะสมกับเนื้อเรื่องที่ ร้องสวด เครื่องดนตรีไม่ต้องมีประกอบ แต่บางวงมีขลุ่ยและรำมะนา ส่วนเครื่องแต่งกายจะแต่งอย่างไรก็ได้ แต่ส่วนใหญ่แต่งตามปกติจะมีอยู่บ้างบางวง ที่มีการแต่งตัวตามท้องเรื่องหรือบทสวด

เมื่อมีผู้ตาย เจ้าภาพจะไปบอกกล่าวให้วงมาลัยรู้เพื่อให้ไปสวด การสวดจะเริ่มขึ้นหลังจากพระสวดพระอภิธรรมเสร็จแล้ว โดยเริ่มจากบท "ตั้งนโม" เพื่อเป็นการสรรเสริญคุณพระรัตนตรัย และ "ไหว้คุณ" คือไหว้ครูอาจารย์สิ่งที่เคารพนับถือ ต่อจากนั้นจึงสวดบท "ในกาล" อันเป็นบทเริ่มเนื้อเรื่องในหนังสือพระมาลัย ที่เรียกบท "ในกาล" เพราะว่าขึ้นต้นด้วยการสวดตอนนี้ขึ้นว่า "ในกาลอันลับล้น..." เนื้อหาของบทนี้เป็นการเล่าประวัติของพระมาลัย เกี่ยวกับการโปรดสัตว์ทั้งในสวรรค์และนรกผู้ร้องบทนี้จะเป็นผู้ชาย เมื่อจบบทในกาลแล้วจะขึ้นบท "ลำนอก" หรือเรียกว่า "เบ็ดเตล็ด" เรื่องที่นำมาร้องมักเป็นเรื่องเกี่ยวกับวรรณคดีต่าง ๆ เช่น ขุนช้างขุนแผน สังข์ทอง พระอภัยมณี อิเหนา จันทโครพ ฯลฯ การแทรก "ลำนอก" เข้ามาเพื่อเปลี่ยนบรรยากาศให้สนุกสนาน ในบทลำนอกนี้อาจจะใช้ท่วงทำนองเพลงลำตัด เพลงฉ่อย เพลงนา ก็ได้แต่ส่วนมากนิยมลำตัดแต่เดิม การเล่น"ลำนอก" หรือเรื่องเบ็ดเตล็ดไม่มี เพิ่งจะมีขึ้นภายหลังเพื่อให้การสวดมาลัยสนุกสนานยิ่งขึ้น

ในสมัยก่อนการสวดมาลัยมีปัญหาในการฝึกหัดฝึกซ้อมเป็นอันมาก ทั้งนี้เพราะมีความเชื่อว่าหากฝึกหัดหรือซ้อมการสวดมาลัยบนบ้านจะเป็นเสนียด จัญไรแก่บ้าน ดังนั้นผู้ฝึกหัดจึงต้องหาสถานที่นอกบ้าน เช่น ขนำกลางนา ชายป่าช้า ในวัด หรือในโรงนาแต่สำหรับในปัจจุบันความเชื่อเช่นนี้หมดไป ผู้เฒ่าผู้แก่ที่มีอายุมากกว่า ๗๐ ปีขึ้นไปเล่าว่า แต่ก่อนการสวดมาลัยมีแพร่หลาย งานศพทุกงานจะต้องมีสวดมาลัยเสมอ การสวดมาลัยที่มีชื่อเสียงมาก ได้แก่วงมาลัยของไชยา กาญจนดิษฐ์ ท่าฉาง ท่าชนะ เป็นต้น แต่ปัจจุบันการสวดมาลัยหมดความนิยม นักสวดมาลัยที่เหลืออยู่ก็แก่เฒ่า ผู้สนใจฝึกหัดเพื่อสืบต่อก็ไม่มี จึงเป็นที่แน่ชัดว่าในอนาคตไม่นานนักการสวดมาลัยคงเหลือเพียงชื่อ