ประเพณีท้องถิ่นอีสาน - ฮีตสิบสองคองสิบสี่

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
27/11/2008
ที่มา: 
ประเพณีไทยดอทคอม http://www.prapayneethai.com/

ฮีตสิบสองคองสิบสี่

ภาค     ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
จังหวัด  อำนาจเจริญ
ช่วงเวลา ตลอดปี

  • ความสำคัญ

ชาวจังหวัดอำนาจเจริญ มีวิถีชีวิตอยู่บนพื้นฐานความเชื่อทางพระพุทธศาสนา ผีสางเทวดาและธรรมชาติอย่างผสมกลมกลืน ประเพณีและวัฒนธรรมที่ปรากฏทางด้านจิตใจ วัตถุและพิธีกรรมยังเป็นไปตามประเพณีและวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวอีสานทั่วไป คือ "ฮีตสิบสองคองสิบสี่" ซึ่งยึดถือปรากฏกันจนมาถึงปัจจุบัน

  • สาระสำคัญ

ฮีตสิบสองเป็นประเพณีที่ชาวอีสานประพฤติปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่โบราณกาล คำว่า "ฮีต" มีความหมายตรงกับคำว่า "รีต" อันหมายถึงจารีตประเพณี ดังนั้น "ฮีตสิบสอง" จึงหมายถึงประเพณีที่ชาวอีสานจะต้องประพฤติปฏิบัติในรอบปีทั้งสิบสองเดือน ถ้าใครฝ่าฝืนถือว่าเป็นความผิด เรียกว่า "ผิดฮีต" สังคมทั่วไปจะตั้งข้อรังเกียจ ฮีตสิบสองจึงเป็นข้อบัญญัติที่นักปราชญ์ชาวอีสานโบราณ ได้บัญญัติขึ้นเพื่อให้คนในชุมชนได้ประกอบกิจกรรมร่วมกัน ทำให้คนในชุมชนได้มีโอกาสพบปะกันเดือนละ ๑ ครั้ง นอกจากนี้ยังเป็นประเพณีจรรยาทางสังคมอีสานทั่วไป จึงยึดมั่นในการปฏิบัติตามฮีตสิบสองอย่างเคร่งครัด ซึ่งส่วนมากจะเป็นงานบุญที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาเป็นหลัก โดยเริ่มงานบุญตั้งแต่เดือนอ้าย (เดือนธันวาคม)

ฮีตสิบสอง การทำบุญในรอบปีมี ๑๒ เดือนคือ

เดือนอ้าย บุญเข้ากรรม เป็นการทำบุญกับพระภิกษุที่ต้องอาบัติและเข้าปริวาสกรรม
เดือนยี่ บุญคูณลาน เป็นการทำบุญขวัญข้าวที่ลานนวดข้าว
เดือนสาม บุญข้าวจี่ คือการจี่ข้าวถวายแด่พระภิกษุ
เดือนสี่ บุญพระเวส คือการทำบุญเทศน์มหาชาติ
เดือนห้า บุญสงกรานต์ คืองานสงกรานต์
เดือนหก บุญบั้งไฟ เป็นประเพณีขอฝน
เดือนเจ็ด บุญชำฮะ เป็นการล้างสิ่งที่เป็นเสนียดจัญไรต่างๆ
เดือนแปด บุญเข้าพรรษา คือการทำบุญเข้าพรรษา
เดือนเก้า บุญข้าวประดับดิน เป็นการทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่เปรต
เดือนสิบ บุญข้าวสาก เป็นการทำบุญถวายสลากภัต
เดือนสิบเอ็ด บุญออกพรรษา คืองานออกพรรษา
เดือนสิบสอง บุญกฐิน คือการทำบุญกฐิน
นอกจากนี้ ชาวจังหวัดอำนาจเจริญยังมีความคิดที่จะพื้นฟู ประเพณีลงข่วง ซึ่งเป็นวิถีชีวิตแบบหนึ่งของชาวจังหวัดอำนาจเจริญในสมัยเก่า ให้เป็นประเพณีประจำจังหวัด ประเพณีลงข่วง เป็นประเพณีที่ทำกันในบริเวณลานบ้าน ในช่วงจากการเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว โดยจะมีการชุมนุมระหว่างบ่าวสาว และฝ่ายหญิงจะมีกิจกรรม เช่น ดีดฝ้าย เข็นฝ้าย สาวไหม ขณะเดียวกันฝ่ายชายก็จะมีการร่วมวงโดยมีการ "เล่นสาว" หรือ "เว้าสาว" โดยดีดพิณและเป่าแคนเป็นทำนองพื้นเมืองของชาวอีสาน พร้อมทั้งสนทนาเกี้ยวพาราสีกันด้วยภาษาเฉพาะที่เรียกว่า "ผญาเครือ" หรือ "ผญาเกี้ยว"
คองสิบสี่ คือการครองธรรมสิบสี่อย่าง คือ

๑. ฮีตเจ้าคองขุน คือการปฏิบัติระหว่างพระเจ้าแผ่นดินกับขุนนาง
๒. ฮีตท้าวคองเพีย คือ การปฏิบัติระหว่างเจ้านายชั้นผู้ใหญ่กับขุนนางชั้นผู้ใหญ่
๓. ฮีตไพร่คองนาย เป็นการปฏิบัติของราษฎรต่อนายของตน
๔. ฮีตบ้านคองเมือง คือกฎระเบียบของบ้านเมือง
๕. ฮีตปู่คองย่า
๖. ฮีตพ่อคองแม่
๗. ฮีตสะใภ้คองเขย
๘. ฮีตป้าคองลุง
๙. ฮีตลูกคองหลาน
จาก ๕-๙ เป็นธรรมเนียมที่พึงปฏิบัติระหว่างคนในครอบครัว
๑๐. ฮีตเฒ่าคองแก่ เป็นธรรมเนียมที่พึงปฏิบัติของผู้เฒ่าผู้แก่ ซึ่งถือเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ที่จะต้องวางตนให้เป็นที่เคารพของลูกหลาน
๑๑. ฮีตปีคองฮีตเดือน หมายถึงการปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมประเพณีใน ๑๒ เดือน
๑๒. ฮีตไร่คองนา หมายถึงธรรมเนียมที่ต้องปฏิบัติในการทำไร่ทำนา
๑๓. ฮีตวัดคองสงฆ์ เป็นหลักสำหรับบุคคลที่ต้องปฏิบัติต่อพระศาสนา
๑๔. ฮีตเจ้าคองเมือง เป็นแบบแผนสำหรับผู้ปกครอง