ประเพณีท้องถิ่นภาคกลาง - ประเพณีแห่ธงตะขาบ

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
27/11/2008
ที่มา: 
ประเพณีไทยดอทคอม http://www.prapayneethai.com/

ประเพณีแห่ธงตะขาบ

ภาค     ภาคกลาง
จังหวัด  ฉะเชิงเทรา
ช่วงเวลา ช่วงเทศกาลสงกรานต์ ระหว่างวันที่ ๑๓-๑๕ เมษายน ของทุกปี

  • ความสำคัญ

การถวายธงตะขาบเป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับ เป็นประเพณีของชาวรามัญที่ตั้งรกรากอยู่ใกล้วัดพิมพาวาส ในเขตอำเภอบางปะกง เชื่อกันว่าธงที่แขวนส่ายเพราะแรงลมเป็นการบอกรับบุญกุศลของบรรพบุรุษ และช่วยให้ผู้ล่วงลับได้ขึ้นสวรรค์

  • พิธีกรรม

ธงตะขาบแต่เดิมเป็นธงกระดาษ ต่อมาเปลี่ยนเป็นผ้า ปัจจุบันใช้เชือกเป็นเส้นขอบผูกขวางคั้นด้วยซี่ไม้ไผ่เป็นช่วง ๆ ใช้เสื่อผืนยาวปิดทับแทนผ้าหรือกระดาษเป็นลำตัว ปลายไม้ที่ยื่นสองข้างทุกซี่ประดับด้วยช้อนผูกห้อยแทนขา สลับกับพู่กระดาษเพื่อความสวยงาม หัวและหางสานผูกด้วยโครงไม้ปิดกระดาษสี จะทำกี่ตัวแล้วแต่กำลัง จากนั้นจะทำการแห่ไปที่วัด เมื่อถึงก็จะขึงธงไว้กับต้นเสาในศาลา จากนั้นพระจะนำสายสิญจน์มาวงรอบธง แล้วจึงทำพิธีถวายธงตามด้วยการสรงน้ำพระ เสร็จแล้วจึงนำธงไปชักขึ้นแขวนบนเสาหงส์

  • สาระ

ประเพณีแห่ธงตะขาบเป็นกุศโลบายที่แสดงออกถึงความเชื่อในเรื่องชีวิตหลังความ ตายและความกตัญญูต่อบรรพบุรุษโดยมีศาสนาเป็นตัวเชื่อมประสานความเชื่อ อีกทั้งเป็นการกำหนดกิจกรรมที่รวบรวมผู้คนของสังคมให้ร่วมแรงร่วมใจกันทาง หนึ่ง