ประเพณีท้องถิ่นภาคกลาง - ประเพณีทำบุญกลางทุ่ง

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
28/11/2008
ที่มา: 
ประเพณีไทยดอทคอม http://www.prapayneethai.com/

ประเพณีทำบุญกลางทุ่ง

ภาค      ภาคกลาง
จังหวัด   ระยอง
ช่วงเวลา เดือนสาม

  • ความสำคัญ

ประเพณีทำบุญกลางทุ่ง มี ๒ อย่าง คือทำบุญเพื่อขอฝน และทำบุญลาน (ทำบุญข้าวใหม่หรือทำบุญข้าวหลาม)

  • พิธีกรรม

การทำบุญเพื่อขอฝน เล่ากันว่าปีใดฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาลต้องมีการทำบุญเพื่อขอฝน โดยเลือกสถานที่ที่ชาวบ้านไปมาสะดวกและเป็นศูนย์กลางของประชาชน ตั้งศาลเพียงตาและปักฉัตร นำดินเหนียวมาปั้นเป็นรูปปลาช่อน ๒ ตัว เอาวางไว้บนบ่อน้ำหรือแอ่งเก็บน้ำที่ขุดขึ้นใกล้ ๆ แต่บางแห่งก็ตัดพิธีนี้ออกไปจัดเหมือนทำบุญธรรมดา นิมนต์พระมาสวดมนต์เย็น แต่ต้องมีการขอฝน มีชาวบ้านเรียกว่า คาถาปลาช่อน รุ่งเช้าชาวบ้านก็นำสำรับอาหารไปถวายพระ เมื่อฉันเสร็จให้พรและสวดคาถาขอฝนอีกก็เสร็จพิธี

การทำบุญลาน คือ การทำบุญที่ลานนวดข้าวถือเป็นการทำบุญข้าวใหม่ประจำปี โดยประมาณเดือนสาม ดังนั้นจึงเรียกอีกชื่อว่า ทำบุญเดือนสาม คือเมื่อชาวบ้านเก็บเกี่ยวข้าวใหม่เรียบร้อยแล้วก็จะกำหนดวันทำบุญ นิยมเลือกทำที่ลานชายทุ่ง และอยู่ในชุมชนหนาแน่น แล้วไปนิมนต์พระที่วัดในหมู่บ้านของตนมาเจริญพระพุทธมนต์เย็นและฉันเช้า ในวันเจริญพระพุทธมนต์เย็นนั้นชาวบ้านจะนิยมทำข้าวหลาม (เผาข้าวหลาม) เพราะข้าวหลามเป็นข้าวใหม่แต่ละบ้านจะเผากันมาก คือทำแจกจ่ายลูกหลานและนำไปทำบุญข้าวเปลือกด้วย ถือว่าเป็นการบูชาพระคุณแม่โพสพ ในตอนเช้าชาวบ้านก็จะนำสำรับกับข้าวพร้อมข้าวหลาม ข้าวเปลือกถวายพระ เมื่อพระฉันเสร็จก็จะให้พรเป็นอันเสร็จพิธี

  • สาระ

ประเพณีทำบุญกลางทุ่งแสดงให้เห็นถึงการนึกถึงบุญคุณ เป็นการบูชาพระคุณแม่โพสพ