ประเพณีท้องถิ่นภาคกลาง - ประเพณีนมัสการหลวงพ่อปาน

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
28/11/2008
ที่มา: 
ประเพณีไทยดอทคอม http://www.prapayneethai.com/

ประเพณีนมัสการหลวงพ่อปาน

ภาค      ภาคกลาง
จังหวัด   สมุทรปราการ
ช่วงเวลา วันขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๑๒ ของทุกปี เป็นเวลา ๒-๓ วัน

  • ความสำคัญ

ประเพณีนมัสการหลวงพ่อปาน เป็นงานประจำปีของชาวอำเภอบางบ่อ ทั้ง ๘ ตำบลร่วมแรงร่วมใจกันจัดขึ้นเพื่อระลึกถึงคุณงามความดีของหลวงพ่อปาน ซึ่งมีสมณศักดิ์ในทางสงฆ์ว่า พระครูพิพัฒน์นิโรธกิจ อดีตเจ้าอาวาสวัดมงคลโคธาวาส (วัดบางเหี้ย) ที่ตำบลคลองด่าน หลวงพ่อปานเกิดที่ตำบลบางเหี้ย บิดาเป็นคนจีน มารดา ชื่อ ตาล ได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดอรุณราชวราราม (วัดแจ้ง) โดยมีเจ้าคุณศรีศากยะมุณีเป็นอุปัชฌาย์ หลวงพ่อปานเป็นเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียง เป็นพระที่เมตตา มีวาจาศักดิ์สิทธิ์ วัตถุมงคลของท่านมีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับของประชาชนทั่วไป คือ เขี้ยวเสือ จากคุณงามความดีของท่านปัจจุบันยังฝังอยู่ในจิตใจของชาวอำเภอบางบ่อ ทุกปีขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๑๒ ประชาชน ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ได้พร้อมกันจัดงานขึ้น

  • พิธีกรรม

เดิมการจัดงานนี้จะจัดขึ้นที่วัดมงคลโคธาวาส ตำบลคลองด่านก่อน ๑-๒ วัน แล้วอัญเชิญรูปเหมือนหลวงพ่อปานลงเรือ ล่องไปตามลำคลองคลองด่าน ในเวลาเช้า มีขบวนเรือตกแต่งอย่างสวยงาม ไปที่หน้าอำเภอบางบ่อ ซึ่งจัดมณฑปไว้เตรียมรับ หลังจากนั้นจะเริ่มแข่งเรือ ส่วนภาคกลางคืนจะมีมหรสพสมโภชกันจนถึงสว่าง ในงานนี้ มีการละเล่นชนิดหนึ่งซึ่งเล่นกันมานาน คือ "โจ๊ก" เป็นที่สนใจของประชาชนที่มาร่วมงานเป็นอันมาก จึงถือกันเป็นประเพณีเลยว่า เมื่อมีงานหลวงพ่อปาน จะต้องมีการทาย"โจ๊ก" ด้วย แต่ในปัจจุบันประมาณ ๑-๒ ปีที่ผ่านมา "โจ๊ก" ในงานหลวงพ่อปานไม่มี แต่ไปเล่นในงานลอยกระทงแทน สำหรับงานนมัสการหลวงพ่อปานนี้ เดิมจะใช้เวลา ในการจัด ๑ วัน ๑ คืน คือมีงานตลอดคืนจนถึงรุ่งเช้า
แต่ปัจจุบันระยะเวลาในการจัด ใช้เวลา ๒-๓ วัน โดยเริ่มจากวันขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๑๒ ในงานจะมีการแข่งเรือยาว เพื่อเป็นการรักษาประเพณีอันดีงามของท้องถิ่น เพื่อความสามัคคีของประชาชน นอกจากนี้ยังมีการประกวดหนุ่มสาวพายเรือ และมหรสพต่าง ๆ เหมือนงานวัดทั่วไป เช่น ลิเก ดนตรี ภาพยนตร์ นอกจากนี้ยังมีการจำหน่ายสินค้าพื้นบ้านที่เป็นสัญญลักษณ์ของอำเภอบางบ่อ คือ ปลาสลิดแห้ง รสดี คนในปัจจุบันนี้จะเรียกหลวงพ่อปานว่า "หลวงปู่ปาน"

  • สาระ

ความศรัทธาต่อหลวงพ่อปาน และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชาวบ้าน