ประเพณีท้องถิ่นภาคกลาง - ประเพณีแห่หงส์ ธงตะขาบ

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
28/11/2008
ที่มา: 
ประเพณีไทยดอทคอม http://www.prapayneethai.com/

ประเพณีแห่หงส์ ธงตะขาบ

ภาค      ภาคกลาง
จังหวัด   สมุทรปราการ
ช่วงเวลา ๑๓ เมษายน ของทุกปี

  • ความสำคัญ

เพื่อบูชาและเฉลิมฉลองเมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าเสด็จกลับจากดาวดึงส์เทวโลก ใน งานฉลองงานบุญการกุศล ชาวรามัญจะใช้เสาหงส์และธงตะขาบคู่กัน

"หงส์" เป็นสัญลักษณ์ของรามัญประเทศ มีตำนานที่เล่าขานกันมาดังนี้
หลังจากที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ได้ ๘ ปี ได้เสด็จไปโปรดเวไนยสัตว์ในแคว้นต่างๆ จนกระทั่งวันหนึ่งได้เสด็จมาถึงภูเขาสุทัศนมรังสิต ซึ่งอยู่ทางเหนือของเมืองสะเทิม ทรงผินพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก ทอดพระเนตรเห็นเนินดินกลางทะเล เมื่อน้ำงวดสูงได้ประมาณ ๒๓ วา ครั้งน้ำเปี่ยมฝั่งพอน้ำกระเพื่อม บนเนินดินนั้นมีหงส์ทอง ๒ ตัวเล่นน้ำอยู่ ตัวเมียเกาะอยู่บนหลังตัวผู้ เนื่องจากเนินดินที่ยืนอยู่มีขนาดเล็กเพียงนิดเดียว พอที่หงส์ยืนได้ตัวเดียว ว่ากาลสืบไปภายหน้า เนินดินที่หงส์ทองทั้งสองเล่นน้ำนี้จะกลายเป็นแผ่นดินอันกว้างใหญ่ไพศาล เป็นมหานครมีพระเจ้าแผ่นดินปกครอง และศาสนาของพระองค์จะเจริญรุ่งเรืองขึ้น ณ ที่นี้

ครั้นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานล่วงไปแล้ว ๑๐๐ ปี เนินดินกลางทะเลใหญ่นั้นก็ตื้นเขินขึ้นจนกลายเป็นแผ่นดินอันกว้างใหญ่ มีพระราชบุตรของพระเจ้าเสนะคงคา ทรงพระนามว่าสมลกุมาร และวิมลกุมาร เป็นผู้รวบรวมไพร่พลตั้งเป็นเมืองขึ้น เป็นอันว่าเมืองหงสาวดี ซึ่งมอญเรียกว่า อองสาแวะตอย ได้เกิดขึ้น ณ ดินแดนที่มีหงส์ทองลงเล่นน้ำอยู่นั่นเอง ดังนั้นชาวมอญในหงสาวดีจึงใช้หงส์เป็นสัญลักษณ์ของประเทศแต่นั้นมา
ดังได้กล่าวแล้วว่า คนมอญนั้นมีชีวิต จิตใจ และความเป็นอยู่ผูกพันอยู่กับพุทธศาสนา จึงสร้างเสาหงส์ตั้งตระหง่านอยู่หน้าวัด เป็นการแสดงว่าวัดนั้นเป็นวัดมอญ

  • ที่มาของธงตะขาบ

เมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ทรงรำลึกถึงพระมารดาซึ่งดับขันธ์ขึ้นไปสู่ดาวดึงส์เทวโลก พระองค์ปรารถนาที่จะโปรดพุทธมารดาด้วยพระอภิธรรม ๗ คัมภีร์ ซึ่งเป็นธรรมชั้นสูง จึงเสด็จขึ้นไปจำพรรษาอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์และแสดงธรรมดังกล่าว จนพระมารดาได้สำเร็จพระโสดาปัตติผลเบื้องต้น เมื่อการแสดงพระธรรมเทศนาครบ ๓ เดือน (หนึ่งไตรมาส) พระมารดาบรรลุธรรมชั้นพรหมวิหารสุขากาโม ส่วนเทพทั้งหลายที่ได้มีโอกาสฟังธรรมในครั้งนี้ก็พาบรรลุโสดาปัตติผล เช่นกัน

เมื่อครบไตรมาสแล้วพระพุทธองค์ก็เสด็จกลับมายังมนุษยโลก เมื่อวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ก่อนพุทธศก ๘๐ ปี ในครั้งนั้นได้มีมวลเทพพระอินทร์ พระพรหม ได้เนรมิตให้เกิดเป็นบันไดเงิน บันไดทองรองรับ บ้างก็ถือเครื่องสูงอันประกอบด้วยราชวัตร ฉัตร ธง และเครื่องดนตรี ดีด สี ตี เป่า มาประโคม ส่วนมวลมนุษย์ในโลกที่เลื่อมใสในพระองค์ต่างพากันดีใจ นำอาหารมาใส่บาตร แต่เนื่องด้วยจำนวนคนที่ไปใส่บาตรนั้นมจำนวนมากไม่สามารถนำอาหารเข้าไปถึง พระองค์ได้จึงทำเป็นข้าวต้มมัดเล็กๆ แล้วโยนใส่บาตร จึงเกิดเป็นประเพณีใส่บาตรข้าวต้มลูกโยนตั้งแต่ครั้งนั้นมา

  • สาระ

นอกจากประชาชนจะนำอาหารไปใส่บาตรแล้ว ยังได้ทำการต้อนรับเฉลิมฉลองด้วยการปักธงรูปต่างๆ เป็นทิวแถว กล่าวโดยเฉพาะชนชาติมอญที่ใกล้กับประเทศอินเดียมากที่สุดนั้นได้ทำธงเป็นรูป ตะขาบหรือเรียกว่า ธงตะขาบ (ภาษามอญ เรียกว่า อะลายเทียะกี) เล็กบ้าง ใหญ่บ้าง เป็นการต้อนรับสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า และสาเหตุที่ทำเป็นธงตะขาบ เนื่องจาก

๑. ทางโลก ตะขาบเป็นสัตว์ที่มีลำตัวยาวมาก มีเท้ามาก มีเขี้ยวเล็บที่มีพิษ สามารถต่อสู้กับศัตรูที่มาระราน และรักษาตัวเองได้ เปรียบเสมือนคนมอญที่มิเคยหวาดหวั่นต่อข้าศึกศัตรู สามารถปกป้องคุ้มครองประเทศของตนเองได้ เช่นกัน
อีกนัยหนึ่งตะขาบเป็นสัตว์ที่มีลูกมากคือ ๒๐-๓๐ ตัว แม่ตะขาบจะคอยดูแลปกป้องลูกเอาไว้ในอ้อมอก เปรียบเสมือนกับว่า หากประเทศรามัญสามารถปกครองดูแลประชาราษฎร์ได้เหมือนตะขาบแล้ว รามัญประเทศจะเจริญรุ่งเรืองและอยู่ต่อไปอีกยาวนานด้วยความร่มเย็นเป็นสุข

๒. ทางธรรม ทุกส่วนของตะขาบนั้นคนมอญจะตีความออกเป็นปริศนาทั้งสิ้นนับตั้งแต่ลำตัวจาก หัวถึงหางมี ๒๒ ปล้อง ขาทั้งสองข้างนับได้ ๒๐ คู่ คือ ๔๐ ขา มีหนวด ๒ เส้น มีหาง ๒ หาง มีเขี้ยว ๒ เขี้ยว มีตา ๒ ข้าง กล่าวโดยละเอียดได้ดังนี้
๒.๑ หนวด ๒ เส้น ได้แก่ ธรรมที่มีอุปการะมาก ๒ อย่าง คือ
- สติ คือ ความระลึกได้
- สัมปชัญญะ คือ ความรู้ตัว
๒.๒ หาง ๒ หาง ได้แก่
- ขันติ คือ ความอดกลั้น
- โสรัจจะ คือ ความเสงี่ยม เจียมตัว
๒.๓ เขี้ยว ๒ เขี้ยว ได้แก่
- หริ คือ ความละอายแก่ใจเมื่อทำชั่ว
- โอตัปปะ คือ ความเกรงกลัวเมื่อทำบาป
๒.๔ ตา ๒ ข้าง หมายถึง บุคคลที่หาได้ยาก ๒ ประเภท คือ
- บุพการี บุคคลผู้ทำอุปการะมาก่อน
- กตัญญูกตเวที บุคคลผู้รู้อุปการะที่ท่านทำแล้ว และเราทำตอบแก่ท่าน
๒.๕ ลำตัวมี ๒๒ ปล้อง ได้แก่
- สติปัฎฐาน ๔
- สัมมัปปธาน ๔
- อิทธิบาท ๔
- อินทรีย์ ๕
- พละ ๕
๒.๖ ขาที่เป็นคู่ๆ รวมแล้ว ๔๐ ขา ได้แก่
- กุศลกรรมบท ๑๐
- บุญกริยาวัตถุ ๑๐
- นาถกรณธรรม ๑๐
- อนุสติ ๑๐

จากการที่ชาวมอญเป็นผู้ที่นับถือศาสนาพุทธอย่างเคร่งครัด สิ่งใดที่เป็นการกระทำเพื่อพุทธศาสนาแล้ว ชาวมอญจะต้อนรับเสมอดังเช่นธงตะขาบที่มีตำนานเล่าขานกันมาและเมื่อทำธงตะขาบ แล้วก็จะนำขึ้นแขวนบนเสาหงส์ จึงถือว่าเป็นการบูชาองค์สัมมาสัมพุทธเจ้านั่นเอง

ปัจจุบัน ชาวมอญในอำเภอพระประแดงมีอยู่ ๑๐ หมู่บ้าน จะมีการเวียนกันซึ่งเป็นการแบ่งเบาภาระการจัดงาน โดยเวียนกันเป็นประธานจัดงานปีละ ๑ หมู่บ้าน ซึ่งแต่เดิมมานั้นจะกระทำกันเฉพาะแต่ละหมู่บ้านเท่านั้น ถึงอย่างไรก็ตามเมื่อมีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือ เพื่อเป็นการบูชาแล้ว หมู่บ้านมอญทั้งหลายจึงร่วมมือกันจัดงานพร้อมกัน เป็นขบวนแห่แหนที่งดงามมาก ในวันที่ ๑๓ เมษายนของทุกปี หมู่บ้านที่เป็นต้นแบบของประเพณีนี้ คือ หมู่บ้านทรงคนอง ซึ่งวัดประจำหมู่บ้านคือ วัดคันลัด วัดนี้มีเสาหงส์เป็นแห่งแรกในบรรดาวัดมอญทั้งหลาย เมื่อถึงเทศกาลตรุษสงกรานต์ ชาวมอญในหมู่บ้านจะช่วยกันทำธงตะขาบขึ้นแขวนบนยอดเสาที่ประดิษฐ์ด้วยตัวหงส์